ชายหนุ่มร่างสันทัด บุคลิกเป็นกันเองคนนี้คือ แท็ต-พลวุฒิ โพธิรัตนังกูร หลานชายสุดรักสุดหวงของ ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ ผู้ก่อตั้งโรงแรมปาร์คนายเลิศ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยพี่และน้อง ดูแลเรือนไม้สักโบราณอายุกว่า 100 ปี ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ล้ำค่าใจกลางกรุงเทพฯ
แท็ต-พลวุฒิ นับเป็นลูกชายหนึ่งเดียวของ ร.ท.ชุติภัทร กับ สัณหพิศ โพธิรัตนังกูร ที่เกิดมาท่ามกลางพี่น้องสาวๆ และนับเป็นอีกหนึ่งทายาท โรงแรมสวิส โซเทล นายเลิศปาร์คฯ ที่ค้นพบตัวเองว่า มีความถนัดในงานหลายด้าน แต่ที่ชอบและสนใจมากที่สุดนอกเหนือจากการทำอาหารแล้วก็คือ งานด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบตกแต่งภายใน
ย้อนกลับไปวัยเด็ก เมื่อแท็ตอายุได้ 14 ปี เขาก็ต้องเดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอน ไปร่ำเรียนไฮสกูลที่อังกฤษ จนเมื่อจบจาก University of the arts London จึงหอบปริญญาบัตรกลับมาช่วยงานแม่และพี่สาว ดูแลธุรกิจโรงแรม “ผมไปอังกฤษตั้งแต่เด็ก พอจบก็ตั้งใจเที่ยวสนุกก่อน เพราะเพื่อนสนิทส่วนใหญ่อยู่ที่นั่นกันหลายคน แต่อยู่นานไม่ได้เพราะมีงานตรงนี้รออยู่ ซึ่งในส่วนโรงแรมพี่สาวดูแลเป็นหลักแล้ว จะเข้าไปช่วยบางเวลา ส่วนตัวผมเองชอบด้านสถาปัตย์ ก็ขอแยกออกมาทำงานออกแบบและตกแต่งภายในให้ลูกค้า ตั้งแต่ รีสอร์ต คอนโดมิเนียม และร้านอาหารต่างๆ ครับ”
แม้จะแยกออกไปเดินตามฝัน แต่ยามใดที่ครอบครัวต้องการตัว หนุ่มแท็ต ก็จะต้องปลีกตัวมาช่วยงานทันที ล่าสุด เมื่อ “สัณหพิศ” ผู้เป็นแม่ มีความต้องการบูรณะบ้านปาร์คนายเลิศหลังงาม ของท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ อายุกว่า 100 ปี ที่ได้รับเป็นมรดกตกทอด มาเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อถ่ายทอดประวัติศาสตร์ของครอบครัว ให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาชื่นชม จึงเรียกช่างที่รู้จักกันรวมถึงนายช่างสิบหมู่จากกรมศิลปากร ให้เข้ามาช่วยดูว่าควรจะต้องทำอย่างไรบ้าง จากนั้นจึงส่งต่อให้ลูกชายเข้ามาช่วยตกแต่งอีกหนึ่งแรง
การรีโนเวตมรดกล้ำค่าของครอบครัวชิ้นนี้ นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกคนในครอบครัวให้ความสำคัญมาก โดยใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท เพื่อเนรมิตเรือนไม้สักหลังงาม ให้แข็งแรงสมบูรณ์ มีเรื่องราวรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชม ให้กลับไปแล้วต้องคิดถึง โดยการปรับปรุงแยกเป็น 2 ส่วนคือ ภายนอกและภายในบ้าน
แท็ต ยังบอกอีกว่า สถาปัตยกรรมของบ้านปาร์คนายเลิศนั้น เป็นเรือนแฝดชั้นเดียว มีชานแล่นเชื่อมถึงกันแบบเรือนไทย แต่ไม่ใช่ไทยจ๋า เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยลื้อ คือโล่ง โปร่งสบาย ทั้งยังมีกลิ่นอายของลาว จีนเข้ามาผสม มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นพิเศษคือ หลังคาซ้อนกันเป็นเลเยอร์ ทำชายคาลึกซ้อน 2 ชั้น เพื่อการระบายอากาศ ทำให้อาคารหลังนี้อยู่ได้ในทุกยุคสมัย ไม่มีล้าสมัย การทำงานในส่วนนี้ไม่ยากมากนัก เพราะวัสดุและวิวัฒนาการด้านการก่อสร้างก็ทันสมัยมากกว่าอดีตเยอะ
“ความยากอยู่ตรงบ้านมีสเกลใหญ่ ห้ามไม่ให้มีการดัดแปลงใดๆ ทั้งสิ้น งานทุกชิ้นจึงต้องละเอียดมาก ทำให้ใช้เวลานาน ส่วนการตกแต่งภายในนั้นเป็นเรื่องยากกว่า เพราะอายุบ้านที่มาก เฟอร์นิเจอร์บางอย่างก็ผุพัง การหาวัสดุให้เข้ากับของเดิมไม่ใช่เรื่องง่าย ผมได้เข้ามาดูเรื่องตกแต่งภายใน ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อย่าง เฟอร์นิเจอร์เก่าเราไม่เปลี่ยน แต่ทำของเก่าให้ใหม่ขึ้น ก็ต้องเดินหาผ้ามาบุใหม่ ให้มีลวดลายต่างๆ เข้ากัน กว่าจะได้แต่ละผืนก็ยากมากครับ”
หนุ่มแท็ตในวัยเพียง 30 ปี บอกเล่าเรื่องราวของบ้าน พร้อมพาเราเดินชมรอบบ้าน จากห้องรับแขกที่มีความงดงามคลาสสิก ผ่านตู้โชว์ของโบราณหลายหมื่นชิ้น ที่สะสมไว้ตั้งแต่รุ่นคุณทวด ซึ่งถูกนำมาจัดวางไว้อย่างเป็นหมวดหมู่ เรื่อยไปจนถึงห้องทำงาน และห้องครัวของคุณหญิง สิน ภักดีนรเศรษฐ ทำให้เราสัมผัสรับรู้ได้ถึงรสนิยม ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่และอบอุ่นของเจ้าของบ้าน ที่มีต่อผู้อยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี
“ของโบราณเกือบทุกชิ้นของเรา ขึ้นทะเบียนกรมศิลปากรหมดครับ ทั้งหมดคือความภูมิใจของครอบครัวเรา” หนุ่มแท็ตกล่าวสั้นๆ ทั้งยังชี้ชวนให้เราดูที่สนามอีกด้านของบ้าน ซึ่งมีรถเมล์ขาวสายแรกที่นำมาใช้บริการคนไทย รวมถึงเรือที่นายเลิศใช้ล่องมหาสมุทร และหลุมระเบิดในบ้าน ร่องรอยทางประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลก ที่ยังคงเหลือร่องรอยให้ รวมถึงต้นไม้หลากหลายชนิด ทั้งไม้ยืนต้นและไม้ประดับ ซึ่งเป็นของรักของหวงของนายเลิศและคุณยาย ซึ่งสั่งกำชับลูกหลานทุกคนหนักหนาว่า “หลังยายตายแล้ว จะทำอะไรก็ทำ ห้ามอย่างเดียวคือห้ามตัดต้นไม้ยาย" ซึ่งคำสั่งเสียของท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ที่กำชับไว้นั้น ลูกและหลานก็ถือปฎิบัติอย่างเคร่งครัด
ถึงจะเติบโตไปพร้อมกับโลกยุคใหม่ หากแต่ใจของลูกและหลาน ของ นายเลิศ หรือ พระยาภักดีนรเศรษฐ์ ก็ถือว่ายังนิยมและรักษาคุณค่าความเป็นไทยไว้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะ หนุ่มแท็ต-พลวุฒิ โพธิรัตนังกูร ทายาทรุ่น 4 ที่ได้ก้าวมาช่วยงานพี่-น้องทำพิพิธภัณฑ์ปาร์คนายเลิศ ทำให้เขามีความสุขและภูมิใจอย่างยิ่ง
เรื่อง เดียว
ภาพ ธัชกร