ART EYE VIEW---อีกไม่นานจะถูกขับไปเผยโฉมและสร้างความม่วนซื่นเป็นที่แรก ใน “งานลอยกระทง” ที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อด้วยงาน วันเดอร์ฟรุ๊ต (WONDERFRUIT) ที่พัทยา และจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม ซึ่งตรงกับฤดูกาลท่องเที่ยวฟาร์มฯ
ก่อนจะตะลอนไปทั่วภาคอีสานและทั่วประเทศไทยเพื่อให้บรรดาคนอีสานพลัดถิ่นได้คลายความคิดฮอดบ้าน แล้วข้ามแม่น้ำโขงไปที่ลาวและอีกหลายประเทศเพื่อนบ้าน เท่าที่สมรรถนะของรถจะไปต่อได้
สำหรับ รถหมอลำ โครงการซึ่งริเริ่มขึ้น โดย หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน และ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม
หลังจากที่ผ่านมาเคยจัดหลายกิจกรรมที่เกี่ยวกับ “หมอลำ”ศิลปะการขับร้องและการแสดงพื้นบ้านของภาคอีสานมาแล้วหลายครั้ง อาทิ จัดประกวดหมอลำ,จัดนิทรรศการ “แคนล่อง คะนองลำ” รวมถึงการมีแนวความคิดที่จะทำ “พิพิธภัณฑ์หมอลำ”
ชุติมา ดำสุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด (JIM THOMPSON) กล่าวว่า ที่ผ่านมา จิม ทอมป์สัน มีแนวความคิดที่จะอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านประเภทนี้ของภาคอีสานอยู่แล้ว เพราะนอกจากจะเชื่อมโยงกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายหมู่บ้านอีสาน ของ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา และเคยรับรางวัลจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะองค์กรที่ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอีสาน
เมื่อครั้งที่ จิม ทอมป์สัน ยังมีชีวิตอยู่ ถือเป็นผู้หนึ่งที่ชื่นชอบหมอลำ บ่อยครั้งในเวลาที่มีแขกมาเยี่ยมเยือน ก็จะเลือกหมอลำ มาแสดงเพื่อเป็นการต้อนรับแขก และในส่วนของพนักงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนอีสาน ก็รู้สึกมีความสุขและมีส่วนร่วม ดังที่สัมผัสได้จากเมื่อคราว หอศิลป์ฯ จัดนิทรรศการ แคนล่อง คะนองลำ
กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการหอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน เปิดเผยว่า ”รถหมอลำ” ถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ของหอศิลป์ฯ เป็นการนำศิลปะเข้าหาผู้ชม และเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยหาข้อมูลถูกต้องมาทำ “พิพิธภัณฑ์หมอลำ”ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต
”รถหมอลำ” มีทั้งหมด 2 คัน แบ่งเป็น รถ stage สำหรับใช้เป็นเวทีแสดงหมอลำ( ซึ่งเวลาตระเวณไปพื้นที่ไหนก็จะพยายามเชิญศิลปินหมอลำในพื้นที่มาแสดง ให้ชม) และรถนิทรรศการเกี่ยวกับกับหมอลำ
“เนื้อหาของนิทรรศการมีนับตั้งแต่ กำเนิดหมอลำ, พัฒนาการของหมอลำ และภาพสุดท้ายทำไมหมอลำจึงดังในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรม เราเอาเกือบทุกอย่างที่เกี่ยวกับหมอลำ มาใส่ไว้ในรถ
โดยผู้ที่มาช่วยทำข้อมูลให้กับนิทรรศการ คนแรกเป็น นักศึกษาปริญญาโทที่ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องหมอลำในบริบทของการเมือง และศิลปินแห่งชาติด้านหมอลำ และอีกคนเป็นนิสิตปริญญาโท เรียนเอกแคน โทพิณ เคยเรียนกับครูเพลงทางด้านหมอลำมาตั้งแต่เด็ก และจะเป็นคนที่อินมากเกี่ยวกับเรื่องหมอลำ"
ระหว่างนี้รถหมอลำกำลังอยู่ในระหว่างการ Modify อยู่ที่ จ.ราชบุรี จากรถที่เคยใช้เป็นรถรับส่งคนงานทอผ้าไหม ที่ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ให้กลายเป็นรถหมอลำที่ออกแบบโดย จิโร่ เอ็นโด สถาปนิกและนักออกแบบแสงชาวญี่ปุ่น
“คุณจิโร่เคยออกแบบเวทีให้กับเทศกาลดนตรีใหญ่ๆหลายๆงาน และเรารู้มาว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่ชอบหมอลำมาก เขาก็เลยแฮปปี้มาก ที่ได้มาเป็นคนออกแบบรถหมอลำให้เรา”
นอกจากจะเป็นปีที่เตรียมปล่อยรถหมอลำออกตะลอนทัวร์ ปีนี้ยังเป็นปีที่ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ดำเนินกิจกรรมด้านศิลปะมาครบ 12 ปี
นับตั้งแต่ก่อตั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2546 และนำเสนอนิทรรศการเปิดตัวครั้งแรก คือ Power Dressing โดย ซูซาน คอนเวย์ ทำหน้าที่ภัณฑารักษ์ จนถึงปัจจุบัน หอศิลป์ฯ ยังได้สร้างสรรค์และนำเสนอผลงานศิลปะจากศิลปินทั่วโลก ในรูปแบบการจัดนิทรรศการมากกว่า 30 นิทรรศการ อาทิ
นิทรรศการ Temporary Insanity โดย พินรี สันฑ์พิทักษ์, นิทรรศการ “ต้มยำปลาดิบ”,นิทรรศการศิลปะร่วมสมัย “เสือทอง/ซ่อนลิง: ศิลปะร่วมสมัย โหราศาสตร์ และ ผลงานจากคลังสะสมของจิม ทอมป์สัน”, นิทรรศการ “เจาะเวลาหา จิม ทอมป์สัน: แฟชั่น แฟนตาซี บาซาร์”, นิทรรศการศิลปะร่วมสมัย “[มณเฑียร บุญมา]: ภาพร่างโครงการ ที่ค้างคา และผลงานที่หาชมยาก”
นิทรรศการ “เมมโมนิกอส: - ศิลปะ ความทรงจำในสิ่งทอร่วมสมัย” ,นิทรรศการ TRANSMISSION, นิทรรศการ “แคนล่อง คะนองลำ” และล่าสุดกับ นิทรรศการ "Missing Links: นิทรรศการ งานภาพเคลื่อนไหวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
รวมถึงได้จัดกิจกรรม Educational Programs ที่เกี่ยวเนื่องกับนิทรรศการมากกว่า 100 กิจกรรม และได้รับเกียรติจากศิลปินมากกว่า 100 คน มาร่วมผลัดเปลี่ยนแสดงผลงานศิลปะ
กฤติยา กล่าวถึงทิศทางของการจัดนิทรรศการและกิจกรรมทางด้านศิลปะของหอศิลป์ฯ ว่า
“ช่วง 2—3 ปีที่ผ่านมา หลายคนคงจะได้เห็นว่า หอศิลป์ฯ นำเสนองานศิลปะที่เกี่ยวกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราปรับตัวให้เข้ากระแสที่มันเกิดขึ้นในบ้านเราด้วย ที่เราะจะก้าวเข้าไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
เพราะเราอยากให้คนไทยและคนที่มาเที่ยวเมืองไทยได้รู้จักกับคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านงานศิลปะมากขึ้น เนื่องจากเราเห็นว่าเราจะโกอินเตอร์ แต่เราไม่ค่อยรู้จักบ้านเราและรอบๆบ้านเราเท่าไหร่
เป็นทิศทางที่เราอยากจะก้าวต่อไป แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะทิ้งการนำเสนองานศิลปะที่เป็นอินเตอร์แนชั่นแนล
และที่ผ่านมาหอศิลป์ฯ ไม่ได้เสนองานศิลปะแค่สองสามโชว์ต่อปี แต่เรายังทำอะไรอีกเยอะมาก เพียงแต่เราไม่ได้บอกใคร ไม่ได้ออกข่าว เช่น เรามีโครงการทำร่วมกับต่างประเทศค่อนข้างจะเยอะเหมือนกัน มีคนเชิญเราคัดเลือกศิลปินและงานศิลปะไปแสดงหลายที่ เช่น เกาหลี ,ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น
นอกจากนี้ทุกครั้งที่หอศิลป์ฯ มีนิทรรศการ เราค่อนข้างให้ความสำคัญกับการให้ความรู้คน เรามีการจัดเสวนา และมีคลาสเปิดสอนอะไรที่ไม่มีสอนในสถาบันการศึกษา เช่น ปรัชญาศิลปะ,ทฤษฎีศิลป์ ฯลฯ”
นอกจากนี้ในส่วนของ พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน เรือนไทยหลังงามที่ จิม ทอมป์สัน เคยอาศัยอยู่นานถึง 8 ปี ก่อนจะหายตัวไป กระทั่งกลายเป็นสถานที่ๆเปิดให้นักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกได้เข้าไปเที่ยวชมบ้านและของสะสมซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลงานศิลปะในแถบเอเชีย มานานหลายปี ก่อนที่จะมี หอศิลป์ฯ เกิดขึ้นตามมา
สิ่งใหม่ๆที่เกิดขึ้นก็คือ เป็นครั้งแรกที่จะมีการทะเบียนผลงานศิลปะทั้งหมดโดยมี มิสเตอร์บรูโน่ เลเมอร์ซิเอร์ มาทำหน้าที่เป็น Senior Conservator
หลังจากที่ก่อนหน้านี้มิสเตอร์บรูโน่ เคยเป็นทั้งผู้แปลหนังสือที่เกี่ยวกับประวัติ พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน ให้เป็นภาษาอังกฤษ ,เป็นครูสอนภาษาฝรั่งเศสให้กับบรรดาไกด์นำชมพิพิธภัณฑ์ฯ, เคยได้รับทุนมาจัดห้องเก็บของให้กับ บริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย ฯลฯ
เนื่องจากที่ผ่านมาผลงานศิลปะเหล่านี้ ยังไม่เคยมีการทำทะเบียนหรือถูกจัดเก็บให้เป็นระบบมาก่อน
รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews