xs
xsm
sm
md
lg

[เซเลบแฝด] โชติช่วง & ชัชวาล ศูรางกูร ทายาทฝาแฝดแห่งหนุ่ม-สาวทัวร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

[ซ้าย]โชติช่วง ศูรางกูร [ขวา]ชัชวาล ศูรางกูร
11th Anniversary Celeb Online Magazine
ในโอกาสครบรอบ 11 ปี พบกับสัมภาษณ์พิเศษเซเลบริตี้คู่แฝดที่ประสบความสำเร็จ 11 คู่ ตลอดเดือนตุลาคมนี้

>>เฉพาะจุดเริ่มต้นของ “หนุ่ม-สาวทัวร์” ก็น่าสนใจมากพออยู่แล้ว เมื่อ “ศุกฤกษ์ ศูรางกูร” นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์จากรั้วเหลืองแดง ผู้ชื่นชอบในการเดินทางท่องเที่ยวเป็นชีวิตจิตใจ จัดทริปพาเพื่อนๆ หนุ่มสาวต่างคณะในมหาวิทยาลัยเดียวกัน ออกตระเวนบุกเบิกปักธงเที่ยวทั่วทุกหัวระแหงในเมืองไทย ต่อยอดจากงานอดิเรก กลายเป็นผู้นำในกลุ่มบริษัทนำเที่ยวสัญชาติไทย ที่แข็งแกร่งที่สุดยาวนานเกือบ 40 ปี

ก่อนส่งไม้ต่อให้ลูกชายฝาแฝด “ต้น-โชติช่วง” และ “ต่อ-ชัชวาล ศูรางกูร” รับหน้าที่บริหารงานต่อ และน่าทึ่งที่แฝดทั้งคู่ก้าวลงสู่สนามของวงการท่องเที่ยวด้วยไฟในการทำงานที่คุโชน ชนิดที่คุณพ่อสามารถไว้วางใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งในส่วนของบริษัททัวร์ และขยายต่อมาถึงธุรกิจโรงแรมในนามเครือเซเรานาต้า ที่มีเปิดบริการอยู่ในหลายจังหวัด



ปัจจุบันนี้คุณแบ่งหน้าที่ในการทำงานกันอย่างไร?

ต้น : เราแบ่งกัน 80/20 อย่างด้านโรงแรม ต่อจะดูเป็นหลักราว 80% ส่วนบริษัททัวร์ก็เป็นผม 80% เพื่อให้มีคนใดคนหนึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ

ต่อ : ส่วนเรื่องนโยบายบริหารเราก็มาคุยภาพรวมด้วยกัน เพราะเราจะรู้เทรนด์ในวงการท่องเที่ยวอยู่แล้วว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

คุณพ่อเคยบอกไหมว่าอยากให้คุณทั้งคู่มาช่วยงานเมื่อไร?

ต่อ : ผมตัดสินใจเข้ามาทำเอง ตอนนั้นเป็นช่วงที่เราติดอาวุธพร้อมแล้ว รู้สึกว่าควรจะต้องมีคนรีบมาต่อยอดให้เร็ว ไม่งั้นจะเป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายของการตลาด เพราะโลกของการตลาดกำลังเปลี่ยนไป

ต้น : คุณพ่อเคยบอกว่าถ้าไม่ชอบ ไม่จำเป็นต้องมาทำก็ได้ ตอนนั้นผมทำงานด้านนอกอยู่ 8 ปีกว่าๆ เป้าหมายในตอนนั้นคือ อยากทำงานที่ P&G และสุดท้ายก็ได้ทำในส่วนของ Asian Hub ด้านแบรนด์การตลาด ทำสักพักจนรู้สึกว่า Personal Goal ของเรา Acheive แล้ว และคุณพ่อก็เริ่มอายุมากแล้ว ต่อเองที่เข้ามาก่อนก็กำลังสนุกเมามันกับงานอยู่คนเดียวจนไม่หลับไม่นอน ผมรู้สึกว่าน่าสนใจ เลยมาช่วยบ้าง

โชติช่วง ศูรางกูร
ตอนเข้ามาทำงานวันแรกๆ ต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง?

ต่อ : ผมกับต้นเรียนรู้กับคุณพ่อมาโดยตลอดอยู่แล้ว พอเข้ามาทำงานได้สักสองเดือนก็เริ่มลงตัว อีกทั้งเราก็มีแพลนอยู่แล้วว่าจะทำอะไรบ้าง ปีแรกก็ขึ้นระบบใหม่หลายอย่าง ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น 300% ตอนนี้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี มีการปรับรูปแบบการทำงาน กลยุทธ์ในการทำการตลาด ซึ่งที่จริงก็เป็นจุดที่เราเห็นอยู่แล้วตั้งแต่อยู่ข้างนอก แต่ไม่มีเวลาที่จะมาทำเต็มตัว

คุณพ่อให้อิสระในการทำงานขนาดไหน?

ต่อ : แรกๆ อาจจะไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม เราไม่ได้บริหารงานแบบครอบครัวจนเกินไป มีอะไรเรานำเสนอในลักษณะที่เขาเป็น Managing Director สมมติถ้าผมจะปิดห้องอาหารสักห้องเพื่อทำเป็นห้องพักเพิ่ม ก็ต้องทำบัดเจ็ตเป็นเมโมไปเสนอก่อน

ต้น : ด้วยความที่หนุ่ม-สาวทัวร์อยู่มา 36 ปีแล้ว และพนักงานส่วนใหญ่จากทั้งหมดกว่า 200 คน อยู่ที่นี่มานานเกือบ 20 ปีโดยเฉลี่ย ดังนั้น คนรุ่นเก่าก็จะมีทัศนคติแบบหนึ่ง วันที่เข้ามาวันแรกๆ ผมจึงนัดคุยเรียงคนเลยว่าคุณมีปัญหาด้านไหนบ้าง ต้องการทำงานร่วมกันแบบไหน ให้เสนอโซลูชันมา

เพราะคนที่อยู่กับงานทุกวันเขารู้อยู่แล้วว่าปัญหาคืออะไร แต่บางครั้งอาจคิดวิธีแก้ปัญหาไม่ออก เพราะเขาผูกปมไปเรื่อยจนกลายเป็นเปียไปแล้ว จึงต้องหาคนมาช่วยกันแก้ เพราะเขาไม่รู้จะเริ่มต้นแก้ตรงไหน สไตล์การบริหารของผมคือ ให้พนักงานเป็นคนตัดสินใจ แล้วเรามาตรวจทานอีกทีว่าการตัดสินใจนั้นโอเคหรือไม่ เพราะเราจะเห็นภาพรวมขององค์กรมากกว่า
ชัชวาล ศูรางกูร
คุณพ่อเลี้ยงดูคุณสองคนแบบไหน?

ต้น : ตอนเดินทางเขาไม่ได้พาเราไปเที่ยวอย่างเดียว ยังปลูกฝังให้เรียนรู้ธรรมชาติ เดินป่าก็ดูว่ามีต้นไม้อะไร ไปต่างประเทศต้องทำยังไง สอนทุกสเต็ปไปเรื่อยๆ เหมือนเข้าห้องเรียนที่เป็นโลกแห่งความจริง ทำให้พอเข้าทำหนุ่ม-สาวทัวร์ เราเลยไม่ตื่นเต้นตกใจเท่าไร เพราะก่อนหน้านั้นเราก็ซึมซับมาเรื่อยๆ อยู่แล้ว

ต่อ : ที่สำคัญคือการซึมซับวิธีคิด เราสองคนค่อนข้างมีเหตุผลในการใช้ชีวิตมากกว่าคนอื่นๆ ในรุ่นเดียวกัน ซึ่งได้มาจากคุณพ่อที่มีเหตุและผลในการใช้ชีวิตสูง

ต้น : เที่ยวกลางคืนเราก็ไม่เที่ยว ไม่ค่อยชอบแสงสี เราเน้นทำงานมากกว่า ผมไม่ได้บอกว่าคนที่ใช้ชีวิตแบบนั้นไม่ดี เราแค่เลือกอีกแบบหนึ่ง ซึ่งซึมซับมาจากความสมถะของคุณพ่อ

ทริปแรกที่คุณพ่อคุณแม่พาไปเที่ยว?

ต่อ : เท่าที่ผมจำได้คือ เขาใหญ่ เพราะต้องไปเดินป่า เจอกวาง เจอทาก

ต้น : สมัยก่อนเวลาหนุ่ม-สาวทัวร์จัดงานสัมมนา ยังไม่มีโรงแรมให้พัก เราต้องนอนในเต็นท์เหมือนเข้าค่าย

ต่อ : ส่วนใหญ่คุณพ่อจะพยายามพาไปด้วย เพื่อให้เราเห็น จะได้เรียนลัดได้เร็วขึ้น

ต้น : ตอนเด็กๆ เราก็ไม่ได้อยากไปหรอก ติดวิดีโอเกม อยากนั่งเล่นเกมอยู่บ้านมากกว่า พ่อก็พยายามชักจูง ไม่ได้บังคับ ใช้วิธีหว่านล้อมเชิงการตลาดว่าที่นั่นมีโน่นมีนี่ให้เรารู้สึก โอ้โห...น่าสนใจจัง ซึ่งก็เป็นเสน่ห์ เป็นการโน้มน้าวใจที่ดี ทุกวันนี้เขาก็ยังใช้อยู่ แต่ไม่ค่อยได้ผลแล้ว พวกเรารู้แกวแล้ว
โชติช่วง ศูรางกูร
การทำธุรกิจท่องเที่ยวยากขึ้นไหมในยุคที่คนไปเที่ยวกันเองในราคาประหยัดได้แล้ว?

ต้น : ยากขึ้น แต่โลกหมุนไปข้างหน้าทุกวัน เราก็ต้องหมุนให้ทันโลก เราจึงปรับมาสักระยะแล้ว โดยกว่า 70% เป็นลูกค้า Corporate เราเจาะลูกค้าใหญ่ๆ อย่างเอสซีจี บางจาก ไฟเซอร์ ฯลฯ องค์กรที่ต้องพาลูกค้าไปเที่ยว เพราะธุรกิจตอนนี้ต้องขายด้วยการตลาดแล้ว เช่น การจัดกิจกรรม มอบรางวัลเป็นทริปพาโบรกเกอร์ไปเที่ยว ห้างสรรพสินค้า จัดกิจกรรมให้ท็อปสเปนเดอร์ไปเที่ยว

ตอนนี้หนุ่ม-สาวทัวร์มี 3 บริษัทในเครือคือ หนุ่ม-สาวทัวร์, เวิลด์คอนเนกชั่นทราเวล ที่เปิดมา 2 ปีแล้ว คล้ายหนุ่ม-สาวทัวร์ แต่เน้นตลาดสี่ดาว แล้วก็มีอีซี่วาเคชั่น ที่เพิ่งเปิดปีนี้ เน้นการขายแบบ Wholesale แทนที่จะทำตลาด BtoC เหมือนเดิม เพราะเราเห็นว่าตลาดนี้มีช่องว่างอยู่

สถานการณ์ตอนนี้คือ คนท่องเที่ยวกันเองเยอะ เอเยนต์จัดกรุ๊ปมาทีหาได้แค่ 5 คน ทั้งที่ต้องเต็ม 20 คน จึงจะออกทริปได้ เราก็เลยเป็นเซ็นเตอร์ รวมกรุ๊ป 2, 3, 5 คนจากแต่ละเอเยนต์ มารวมกันเป็น 20 คน แล้วก็ออกกรุ๊ปได้ สิ่งที่เราทำคือวางตัวเป็นกลางสุดๆ โดยเราไม่ไปหาลูกค้าเอง คุยกับเอเยนต์อย่างเดียว ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เราค่อนข้างแตกต่างจากโฮลเซลรายอื่น

ต่อ : วิชั่นของหนุ่ม-สาวทัวร์คือ เป็น One Stop Shop ในส่วนของโปรดักต์เกี่ยวกับทัวริซึ่มทั้งหมด

วางแผนอนาคตไว้อย่างไรกันบ้าง

ต่อ : ในส่วนของเซเรนาต้า ผมอยากให้เติบโตออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน ตอนนี้ผมพยายามเซตระบบโอเปอเรชันให้เสถียร มั่นคง มีคุณภาพสูง ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าจะปรับกันได้ง่ายๆ เราพยายามสร้างแต่ละแบรนด์ให้มีโปรดักต์ของตัวเอง แต่ถ้าพูดถึงเซเรนาต้า อยากให้คนนึกถึงพร็อพเพอร์ตี้ที่มีเอกลักษณ์ที่แตกต่าง ไม่ได้เป็นแค่ตึกหรืออาคาร

ต้น : อยากให้เมื่อคุณคิดถึงการท่องเที่ยว นึกถึงหนุ่ม-สาวทัวร์ เราพยายามยึดหลัก One Stop Service ไม่ว่าจะเป็นการเที่ยวเองหรือไปเป็นกลุ่ม ไม่ว่าเทรนด์ไปทางไหน เราจะพยายามปรับตาม เพื่อทำให้คนคิดถึงเรา
ชัชวาล ศูรางกูร
จากรุ่นพ่อส่งต่อสู่รุ่นลูก และยิ่งเป็นลูกแฝดอย่าง ต้น และต่อ ที่ผนึกแรงอย่างแข็งขัน ด้วยพลังคูณสองแห่งแฝด จึงไม่น่าแปลกใจที่เราได้เห็นความสำเร็จของ หนุ่ม-สาวทัวร์ ที่เจริญก้าวหน้าและผลิดอกออกผล ขยายธุรกิจในแขนงอื่นอย่างในทุกวันนี้

Same Same but Different

นิสัยที่ไม่เหมือนกัน
ต่อ : ต้นจะค่อนข้างเพลย์บอยนะผมว่า
ต้น : ต่อจะแนวขรึมกว่า ขี้อายกว่า นิ่งกว่า และเป็นผู้ใหญ่กว่า

สไตล์การท่องเที่ยว
ต่อ : เดินป่า เทร็กกิ้ง ชอบธรรมชาติเขียวๆ
ต้น : ผมชอบเที่ยวแบบช้าๆ นั่งชิลในห้องพักที่โรงแรม พักผ่อน เดินชายหาดสบายๆ :: Text by FLASH

กำลังโหลดความคิดเห็น