xs
xsm
sm
md
lg

ธารินทร์ ธนากิจอำนวย ซีอีโอหนุ่มผู้มุ่งมั่น ทายาทคนเล็กแห่งบ้าน AIIZ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


>>“ความเป็นลูกแหง่ ขี้อ้อน รักสนุก เอาแต่ใจ” คงเป็นภาพลักษณ์เจนตาที่คนส่วนใหญ่นึกถึงเมื่อมองไปที่ลูกคนเล็กของครอบครัว แต่กลับเป็นเรื่องตรงข้ามโดยสิ้นเชิง เมื่อเรามีโอกาสมาสัมผัสชายหนุ่มคนนี้ “หมูแฮม-ธารินทร์ ธนากิจอำนวย” ลูกชายคนเล็กคนเดียวแห่งตระกูล AIIZ ทุกถ้อยคำของการสนทนาล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นคนจริงจัง มองการณ์ไกล และเต็มไปด้วยไฟแห่งความมุ่งมั่นอย่างคนรุ่นใหม่จนทำให้ลืมไปเลยว่าเขาเพิ่งเข้ามาช่วยดูแลธุรกิจของครอบครัว

หนุ่มไฟแรงวัย 20 ปลายๆ คนนี้ เป็นลูกชายคนเล็กและคนเดียวของ “ปิยะ-มยุรฉัตร ธนากิจอำนวย” นักธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปค่ายใหญ่ของเมืองไทย ผู้บุกเบิกแบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติไทยอย่าง AIIZ จนปัจจุบันมีแบรนด์อยู่ภายใต้การดูแลหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น AIIZ Career, Work Shop, VNC, Camel Active เป็นต้น ก่อนหน้านี้อาจไม่คุ้นหน้าค่าตาหนุ่มหน้าตี๋คนนี้สักเท่าไร เพราะไปศึกษายังต่างแดนอยู่พักใหญ่ในด้านเศรษฐศาสตร์ เอกภาษาจีน ที่ คอลเลจ ออฟ เดอะ ฮอลลีครอสส์ สหรัฐอเมริกา

ถึงจะเป็นลูกคนเล็ก แต่ความเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว ธารินทร์จึงรู้อยู่ในใจลึกๆ แล้วว่าต้องเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจของครอบครัว ร่วมกับพี่สาวอีก 2 คน (หมูหวาน ธนพร และน้ำหวาน ธนัญญา) โดยปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่ง Head of Menswear Product Development ของ รีโน (ประเทศไทย) แต่ถึงได้ชื่อว่าเป็นลูกเจ้าของบริษัทก็ใช่ว่าจะมาถึงจุดนี้ง่ายๆ

“ตอนเข้ามาช่วยงานที่บริษัทใหม่ๆ คุณพ่อให้ผมเปลี่ยนแผนกทุกๆ 6 เดือน เพื่อให้เรียนรู้ขั้นตอนของทุกอย่าง แรกๆ ก็ดู Camel Active จากนั้นจึงเข้าไปดูแลไลน์ผู้ชายของ AIIZ เต็มตัวคือคุณพ่อมองว่าความสำคัญของการทำธุรกิจนี้คือการรู้จักโปรดักต์จริงๆ โดยละเอียด เราต้องดูตั้งแต่ต้นน้ำของการผลิต ถึงตอนนี้ก็เกือบ 4 ปีแล้วที่ผมเข้ามาในธุรกิจนี้ ช่วงนี้ก็เข้าไปดู Business Management ภายในองค์กรและดูแล Overview หลายๆ อย่างในองค์กร” หมูแฮม เกริ่นถึงหน้าที่เมื่อเข้ามาในธุรกิจของครอบครัว

เมื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารที่ต้องดูแลลูกน้องมากถึง 2,000-3,000 คน แถมยังเป็นธุรกิจที่ได้ชื่อว่ามีการแข่งขันสูงเป็นอันดับต้นๆ ของเมืองไทย จึงเป็นความกดดันและความท้าทายสำหรับหนุ่มน้อยธรรมดาๆ คนหนึ่ง การทำงานและภาระความรับผิดชอบทำให้มุมมองของเขาที่มีต่อการเป็นผู้บริหารเปลี่ยนไป ชนิดที่ว่าส่งผลให้ชีวิตก้าวไปอีกขั้นเลยทีเดียว

“เราเคยคิดว่าการเป็นซีอีโอมันง่ายสั่งใครๆ ก็ทำให้เรา แต่พอเข้ามาจริงๆ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเรา ยิ่งเรามีหน้าที่ความรับผิดชอบมาก มีตำแหน่งสูง การตัดสินใจของเรายิ่งมีผลมาก เพราะมันกระทบถึงการใช้ชีวิตของคนอื่น ความเป็นอยู่ของครอบครัวพนักงาน กลายเป็นว่าแทนที่จะคิดถึงตัวเอง เรากลับคิดถึงคนอื่นก่อน เพราะพนักงานเขาฝากชีวิตไว้กับเรา ไม่ใช่เขามาทำงานให้เรา แต่เราทำงานให้เขามากกว่า”

“การเป็นเจ้านายไม่ต้องเข้า 9 โมงเช้าออก 6 โมงเย็นเหมือนคนอื่น อาจจะคิดว่าสบายจังเลย จริงๆ แล้วเป็นดาบสองคม เพราะเรามีเหตุผล เช่นต้องไปบิสซิเนส ดินเนอร์ ไปติดต่อเจรจางานยิ่งหนักเข้าไปอีก คือเราหยุดคิดไม่ได้ เพราะธุรกิจเป็นการแข่งขัน เราเป็นผู้นำขับเคลื่อนธุรกิจ จะเริ่มคิดตอน 9 โมงเช้า แล้วหยุดคิดตอน 6 โมงเย็นไม่ได้ จึงเป็นความรู้สึกหนักหน่วงแต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่เราเลือกแล้ว” ธารินทร์เล่าถึง ‘ภาระ’ ในฐานะผู้บริหารป้ายแดง

แต่ก็ใช่ว่าผู้บริหารหนุ่มมือใหม่จะเดินบนเส้นทางนี้อย่างโดดเดี่ยว เพราะข้างกายของเขามีที่ปรึกษาส่วนตัวถึง 3 คนเลยทีเดียว ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือ คุณพ่อและพี่สาวทั้งสองซึ่งแต่ละคนถือว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน อีกทั้งมีสไตล์การบริหารแตกต่างกันไป ทำให้ธารินทร์มีโอกาสซึมซับเรียนรู้และนำมาประยุกต์ผสมผสานกันไป แต่ผู้ที่ทรงอิทธิพลต่อความคิดของเขามากที่สุดก็คงไม่พ้นคุณพ่อ

“คุณพ่อจะให้แง่คิดการดูแลคน ไม่ใช่แค่คนในครอบครัว แต่รวมถึงคนในองค์กรด้วย คือคุณพ่อเป็นคนประคองลูกน้องตลอดเวลา ใครไม่เก่งเขาจะดันให้เก่ง คุณพ่อเชื่อในการปั้นคนมากกว่าการโละคนเก่าแล้วเอาคนใหม่เข้ามา และให้โอกาสลูกน้อง ผมเคยถามคุณพ่อว่าทำไมไม่เปลี่ยนใหม่ คุณพ่อตอบว่า ของที่อยู่กับเรามานาน เรามองว่าไม่ดี มันอาจต้องการการกระตุ้นบางอย่างในการพัฒนาตนเอง ไม่ใช่ว่าเราไม่ใช้แล้วจะโละทิ้ง ตอนที่คุณพ่อก่อร่างสร้างตัว ตอนนั้นเราไม่มีอะไร แต่พวกเขาอยู่กับเราด้วยใจ จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะทำอย่างไรในการกระตุ้นเขาไปในทางที่ดี”

“คุณพ่อเคยพูดว่าสามารถรีไทร์แล้วขายธุรกิจไปทำอะไรก็ได้ แต่เพราะคิดถึงอนาคตของลูกที่มีโอกาสที่ดีในการต่อยอดธุรกิจ เพราะเขาเคยเป็นลูกจ้างมาก่อน มันลำบาก ต้องใช้ชีวิตตามแบบคนอื่น แต่นี่เขาให้โอกาสเรากำหนดชีวิตของเราเอง แม้จะมีความกดดันก็ตาม ในการสร้างฝัน สร้างชีวิตเราเอง” ธารินทร์พูดถึงสิ่งที่เรียนรู้จากคุณพ่อและหล่อหลอมให้เขาเป็นอย่างวันนี้

แม้ธารินทร์จะเพิ่งกระโดดเข้าสู่สนามแห่งธุรกิจแฟชั่นแบบเต็มตัวได้ไม่นาน แต่เพราะเติบโตมาในครอบครัวนักธุรกิจที่ผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน บวกกับการได้รับการถ่ายทอดคติการทำงานมาจากสมาชิกทุกคนในครอบครัว เมื่อต้องมารับไม้ต่อในฐานะเจเนอเรชันที่ 2 ของอาณาจักรแฟชั่น AIIZ ธารินทร์ก็สามารถมองสถานการณ์ได้ตามความเป็นจริงและเฉียบขาดว่าการยืนหยัดอยู่บนตลาดอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยไม่ใช่เรื่องง่ายนักหากเทียบกับในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อนในยุคคุณพ่อของเขา นั่นทำให้ยุคของเขาและทีมงานต้องทำการบ้านมากขึ้นและลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพราะการขับเคลื่อนธุรกิจแฟชั่นสัญชาติไทยในยุคนี้ไม่ใช่แค่รักษาจุดยืนของแบรนด์ แต่ต้อง ‘ต่อสู้’ และ ‘ดัน’ ให้ตัวเองก้าวไปข้างหน้าอีกด้วย

“ธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่นในเมืองไทยตอนนี้กับ 50 ปีที่แล้วไม่เหมือนกัน แต่ก่อนไม่มีแบรนด์นอก ทำอะไรออกมาคนไทยก็ซื้อหมด ไม่แคร์แฟชั่น ขอให้คุณภาพดีราคาใช้ได้ก็จบ แต่ตอนนี้เราไม่ได้แข่งกับคนไทยอีกต่อไป เรามีแบรนด์อินเตอร์เนชั่นแนลเข้ามาในราคาที่ต่ำกว่าและดูโปรเฟสชันนัลกว่า ผมว่า AIIZ โชคดีเหมือนขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย เพราะเราเริ่มต้นมาก่อน มีทั้ง Knowledge, Know-How, Connection ผมว่าเราอยู่ในจุดที่ดีมาก แต่ก็ต้องพัฒนาตนเอง เนื่องจากการแข่งขันสูงและเราไม่ได้ต้องการเป็น Niche ที่มี Identity ขนาดนั้น เพราะเรารู้ว่าธุรกิจทุกอย่างในโลก ‘Mass คือผู้ชนะ’ เราจึงต้องการเป็นแบรนด์ Mass ที่ทุกคนซื้อได้ เป็น Mass ที่มี Identity ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากเหมือนกัน”

ตลอดการสนทนาจะสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจ ผ่านน้ำเสียงของชายหนุ่มที่เต็มไปด้วยพลังคนนี้ แต่ก่อนที่ความมาดมั่นเหล่านี้จะปรากฏอยู่ในตัวของเขา ธารินทร์สารภาพว่าเมื่อก่อนเขาไม่ได้มั่นใจ จริงจังแบบนี้ แต่เพราะผ่านประสบการณ์ที่เสมือนเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต ทำให้เขาได้เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตัวเอง แถมจุดหักเหนั้นยังเกิดจากงานอดิเรกที่คลั่งไคล้เสียด้วย นั่นก็คือ ความฝันในการเป็นโปรกอล์ฟอาชีพ ซึ่งเป็นกีฬาที่เขาเล่นมาตั้งแต่เด็ก และมาจริงจังขนาดขออนุญาตคุณพ่อไปเทรนถึงคลับกอล์ฟชื่อดังที่ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา กระทบไหล่นักกอล์ฟระดับโลกอย่าง ไทเกอร์ วูดส์ มาแล้ว

“ชีวิตที่ผ่านมาเราไม่เคยเลือกอะไรเอง เรียนคุณพ่อคุณแม่ก็เลือกให้ ซึ่งการเรียนเศรษฐศาสตร์มีผลดีกับธุรกิจแน่นอนสามารถเอาไปต่อยอดได้ ส่วนภาษาจีนในอนาคตคือดีอยู่แล้ว ไม่มีอะไรเสีย ตอนนั้นเลือกทุกอย่างเป็นออโต้ พอเรียนจบก็อยากจะพิสูจน์ตัวเอง จึงขอเวลาคุณพ่อ 1 ปี เพื่อลองอะไรอย่างจริงจัง” ธารินทร์ย้อนถึงช่วงเวลาที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต

แม้จะจับไม้กอล์ฟมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ จากจุดเริ่มต้นที่คุณพ่อลากไปสนามทั้งที่เจ้าตัวไม่ชอบด้วยซ้ำ แต่เมื่อได้จับไม้หวด ธารินทร์ที่เป็นเพียงเด็กน้อยในเวลานั้น กลับโชว์วงสวิงได้ดี ฉายพรสวรรค์ให้เห็นตั้งแต่ครั้งแรก นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ธารินทร์รักกีฬาชนิดนี้และออกรอบมาโดยตลอด จนเมื่อตัดสินใจจริงจังถึงขั้นจะเป็นโปรซึ่งในเวลานั้นการฝึกซ้อมประหนึ่งจะเป็นนักกีฬาก็มิปาน ตารางการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากเคยตื่นสายไปแฮงเอาต์กับเพื่อน กลายเป็นมาตื่นนอนตี 4 ครึ่ง ออกกำลังกายอาทิตย์ละ 5 วัน ช่วงเช้ายกเวต ออกรอบเล่นกอล์ฟวันละ18-36 หลุม กลับมากินข้าวเที่ยง เข้ายิม ซ้อมกอล์ฟ อ่านหนังสือ เข้านอน ชีวิตเป็นแบบนี้อยู่ราว 7-8 เดือน ก่อนบินไปฝึกที่กอล์ฟคลับที่ฟลอริดา

“เราอยากเห็นของจริงว่าการเป็นโปรกอล์ฟคืออะไร อยากรู้ว่าที่เราซ้อมมานาน ใช่หรือเปล่า พอดีรู้จักรุ่นพี่ที่มีบ้านอยู่ในคันทรีคลับที่โปรกอล์ฟระดับโลกใช้ฝึกกัน เรารู้สึกโชคดีมากที่ได้ไปซ้อมที่นั่น เราตื่นเช้ามากินกาแฟ ก็เห็นพวกเขานั่งอยู่โต๊ะข้างๆ เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นมากและพอเอาเข้าจริงๆ โปรอาชีพเขาก็ไม่ได้ซ้อมจริงจังขนาดนั้น ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรามากกว่า”

“ตอนนั้นร่างกายฟิตสุดๆ พอเล่นถึงระดับหนึ่ง เราก็มานั่งคิดว่าเฮ้ย! เราอายุ 23 แล้ว ทำอะไรอยู่ เราก็พยายามเต็มที่แล้ว เกือบจะเป็นโปรได้อยู่แล้ว แต่เหมือนเราเริ่มต้นช้าไป เพราะปกติโปรกอล์ฟจะรู้แววตั้งแต่เด็ก ก็มานั่งคิดว่าอีก 5 ปี เราก็ 28 แล้ว และถ้าระหว่าง 5 ปีนั้นเรามารู้ตัวว่าไม่เก่งพอ ก็ต้องมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ มันเป็นความเสี่ยงบวกกับต้องใช้เงินพ่อแม่ เพราะระหว่างนั้นเราหาเงินด้วยตัวเองไม่ได้ แล้วเราจะผลาญเงินพ่อแม่ไปถึงอายุ 28 เลยหรือ ทำให้กลับมานั่งรีวิวตัวเองว่า จริงๆ เราต้องการอะไรกันแน่ เราต้องการดูแลครอบครัวให้ได้ก่อนอายุ 30 เป็นหัวหน้าครอบครัวให้ได้เร็วที่สุด”
หลังจากบวกลบคูณหารรอบด้านแล้ว ในที่สุดธารินทร์ก็หาคำตอบให้กับตัวเองได้ว่าชีวิตจะเดินไปในทิศทางไหน เขาจึงหันมามุ่งมั่นสานต่อธุรกิจที่บ้าน ซึ่งเป็นการกลับมาโดยไร้ข้อกังขา เพราะเป็นการค้นพบเป้าหมายที่แท้จริงด้วยตัวเอง จึงเป็นการตัดสินใจที่จะเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงมากกว่าทุกครั้ง และถึงแม้จะละทิ้งการเป็นโปรกอล์ฟ แต่กีฬาชนิดนี้ก็มอบประสบการณ์และหลักคิดให้ธารินทร์ไว้มากมาย

“เราโชคดีแค่ไหน มีโอกาสที่ดี คุณพ่อสร้างธุรกิจมาขนาดนี้ให้คนอื่นทำตาม แล้วทำไมเราจะไม่กลับมาทำ อีกอย่างเรากลับมาเป็นผู้นำ มาช่วยดูแลคนอื่นได้ด้วย คุณพ่อก็สบายใจ ภูมิใจ และการเล่นกอล์ฟก็ให้อะไรเราหลายอย่าง เมื่อก่อนผมอาจจะตีเอามัน แต่พอมีโอกาสฝึกฝน มันสอนอะไรมากกว่ากอล์ฟด้วยซ้ำไป ไม่ว่าจะเป็นการชนะใจตัวเอง ความมีวินัย”

“ที่สำคัญสอนว่าทุกอย่างมีทางแก้ ไม่ใช่กลับไปแก้นะ แต่แก้เพื่ออนาคต สิ่งที่พลาดไปแล้วมันช่วยไม่ได้ ถึงจะมีสติก็มีโอกาสพลาดได้แต่เรายังมีช็อตต่อไป ตราบใดที่เราไม่ล้มเลิก คือถ้าเราตีช็อตหนึ่งพลาดแล้วปล่อย รอบนั้นก็จะพัง คือเราจะเฟลกับตัวเอง แต่เรามีทางเลือกว่าเราจะทำให้ดีที่สุด มองว่ามีโอกาสนะ มีช่อง เหมือนมองน้ำว่าเหลือตั้งครึ่งแก้ว ไม่ได้มองว่าแค่ครึ่งแก้ว คือเกมกอล์ฟทำให้ผมมีมุมมองหลายๆ อย่างในชีวิตเปลี่ยนไป ทำให้เรามีแรงสู้ต่อ และเอามาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ทุกอย่าง ทั้งเรื่องครอบครัว งาน ไปจนถึงมุมมองการให้ความรักกับตัวเองด้วยซ้ำ เรียนรู้ที่จะรักสิ่งที่เรามี”

เรียกว่าจากประสบการณ์ครั้งนั้น หนุ่มธารินทร์ได้ตกผลึกปรัชญาชีวิตจากเกมกีฬาที่เขารักเลยทีเดียว ถึงวันนี้จะหันหลังให้โอกาสการเป็นโปรกอล์ฟ แต่เขาก็ยังคงออกรอบฝึกวงสวิงบนกรีนอย่างสม่ำเสมอไปพร้อมกับระลึกถึงช่วงเวลาที่ทำให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างทุกวันนี้ :: Text by FLASH

Special Thanks : The Library Bar โรงแรม ยู สาทร กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0-2119-4888 เอื้อเฟื้อสถานที่ในการถ่ายภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น