ART EYE VIEW--- “ผมชอบถ่ายภาพมาก แต่ทุกวันนี้รู้สึกว่าตัวเองถ่ายภาพได้ไม่ดีเท่าช่วงที่เดินทาง ทั้งที่สิ่งที่เราได้เห็นในปัจจุบันสวยไม่น้อยกว่า สิ่งที่เราเห็นระหว่างการเดินทางรอบโลก และอาจจะสวยมากกว่าด้วย ประเทศไทยเราสวยมาก
แต่ทุกวันนี้เราไม่สามารถถ่ายทอดออกมาไม่ได้ เหมือนเราเห็นอะไรลอยอยู่ในน้ำ แล้วเราไม่มีอะไรไปช้อนมันขึ้นมา มันทำไม่ได้ ณ เวลานี้มันทำไม่ได้ เพราะว่าบรรยากาศไม่เอื้อต่อความรู้สึกของเรา มีหลายเรื่องมันรุมเร้า ทำให้ความรู้สึกเรามันไม่ราบรื่น ไม่สวยงาม”
หมู - เจริญ โอทอง หรือที่รู้จักกันในนาม วรรณ (อรวรรณ โอทอง) กับ หมู สองสามีภรรยาชาวไทยคู่แรกที่เคยเดินทางรอบโลกด้วยการปั่นจักรยาน ) บอกเล่า
“ผมบอกตัวเองเสมอว่าถ่ายภาพทุกครั้งอย่าลืมเปิดหน้าต่างหัวใจ แต่ทุกวันนี้เวลาเปิดมันเหมือนเจอแต่หมอก เจอแต่ควัน เพราะเรื่องของการบ้านการเมือง เรื่องของเศรษฐกิจต่างๆ มันทำให้ชีวิตเราไม่แฮปปี้”
แม้จะมีคนบอกว่าภาพถ่ายไม่จำเป็นต้องถ่ายทอดด้านที่สวยงามเสมอไป แต่หมูบอกว่าเขาถ่ายภาพเพื่อตอบสนองหัวใจของตัวเอง ไม่ได้ตอบสนองหัวใจคนอื่น ไม่ได้ตอบสนองในเชิงธุรกิจ และบังเอิญว่าหัวใจของเขาอยากจะบันทึกแต่ด้านที่สวยงามมาฝากผู้คน
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเดินไปไหน นอกเหนือจากภรรยา และลูกสาว (น้องเย็นตา)
กล้องถ่ายภาพก็ยังเป็นสิ่งที่เขาต้องมีติดตัวไปด้วยทุกที่ แม้ความรู้สึกขณะบันทึกจะแปลกต่างไปจากช่วงเวลาที่เดินทางรอบโลก ดังที่บอกไปก็ตาม
“ผมเชื่อว่าทุกคนชอบถ่ายภาพ แม้ไม่ต้องเดินทาง แบบผม เพียงแต่สมัยก่อน บางคนอาจจะไม่ค่อยมีโอกาสได้ถ่ายภาพ เพราะกล้องถ่ายภาพค่อนข้างมีราคาแพง ขั้นตอนการล้างอัดก็ยุ่งยาก แตกต่างจากทุกวันนี้
สำหรับผมในการถ่ายภาพ ไม่มีใครถูก ไม่มีใครผิด เหมือนโฆษณาของกล้องยี่ห้อต่างๆที่พยายามบอกเราประมาณว่า จงหยิบกล้องออกไปถ่ายภาพเถิด แล้วถ่ายออกมาให้มันเป็นคุณ”
และในวันที่ 10 กรกฎาคมนี้ ภาพถ่ายในแบบที่เป็นเขา มุมมองของช่างภาพที่นั่งบนอานจักรยาน และบันทึกไว้ในช่วงเวลาที่ปั่นจักรยานผ่าน 42 ประเทศ กำลังถูกรวบรวมเพื่อไปจัดแสดง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ภาพถ่ายส่วนหนึ่งหลายคนคงเคยเห็นผ่าน Bicycle Wind หนังสือภาพสวยงามสองเล่ม ที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 ซึ่งหมูได้บอกถึงที่มาของชื่อว่า
“นักปั่นจักรยานทั้งหลาย โดยเฉพาะนักปั่นทางไกล เวลาเราเจอกัน เราจะมีคำอวยพรให้กัน เหมือนคนที่ไปปีนเอเวอเรสต์เขาก็มีคำอวยพรของเขา
แต่นักปั่นจักรยานจะมีคำอวยพรว่า ขอให้มี tailwind หรือขอให้มีลมส่งท้าย หรือ ลมหนุน และขออย่าให้มี headwind ลมปะทะ หรือ ลมต้าน ซึ่งมันจะทำให้ปั่นยากมาก
ดังนั้นคำว่าขอให้มี tailwind จึงเหมือนคำอวยพรประมาณว่า... ขอให้โชคดีนะ
ส่วน Bicycle Wind สำหรับผม มันมีความหมายคล้ายๆ Spirit of Bicycle ซึ่งผมได้มันมาตอนไปปั่นจักรยานรอบโลก เพราะตอนนั้นมันเหมือนเราได้ไปธุดงค์
มันเป็น Spirit หรือ จิตวิญญาณ ของเราตอนที่นั่งอยู่บนอานจักรยาน เป็นความมุ่งมั่นของการออกไปท่องโลก”
ขณะนิทรรศการที่จัดแสดง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีชื่อว่า “ทูตสองล้อ ปั่นจักรยานรอบโลกกับ วรรณกับหมู” จัดแสดงระหว่างวันที่ 10-31 กรกฎาคม 2558 บริเวณชั้นผู้โดยสารขาออก ประตู 5
“เรามองว่าภาพถ่ายเหล่านี้ คือของทุกคน และ ไม่ใช่แค่ของคนไทย ดังนั้นการเลือกไปจัดแสดงที่สนามบิ น เพราะเราต้องการให้คนซึ่งมาจากนานาชาติได้มีโอกาสเห็น”
จากเรื่องราวของการปั่นจักรยานรอบโลกที่เราเคยรับรู้มาบ่อยครั้งผ่านสื่อต่าง ๆ จึงเป็นอีกครั้งที่ภาพถ่ายของเขาและส่วนหนึ่งของภรรยา จะช่วยจุดประกายให้คนที่ได้ชม กล้าทำตามหาหรือทำตามความฝันของตนเอง และกล้าบอกความฝันของตนเองให้คนอื่นได้รับรู้
นอกจากนี้ภาพถ่ายทั้งหมดยังสะท้อนนิสัยและตัวตนของ “วรรณกับหมู” สองสามีภรรยานักปั่นจักรยานคู่นี้ได้เป็นอย่างดี
“ภาพของผม สะท้อนให้รู้ว่าเราสองคนชอบความเงียบ ชอบความเรียบง่าย และมีอารมณ์หยิกแกมหยอก
และที่สำคัญเราจะพยายามถ่ายทอดออกมาในด้านที่ไม่ทำให้ภาพของเราไปทำร้ายใคร หรือทำให้คนในภาพเกิดความทุกข์หรือรู้สึกไม่ดี”
และเมื่อเสร็จสิ้นจากการจัดนิทรรศการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นิทรรศการยังมีแผนที่จะสัญจรไปจัดแสดงตามท่าอากาศยานอื่นๆในส่วนภูมิภาคด้วย
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews