xs
xsm
sm
md
lg

รวมพลคนรักบริดจ์...กิจกรรมหนีโรคอัลไซเมอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คุณหญิงชดช้อย
จีรวัสส์,รัชนีบูล
ไทยส่วนใหญ่อาจไม่คุ้นกับ “กีฬาบริดจ์” ที่มีรูปลักษณ์แทบไม่แตกต่างจากไพ่ทั่วไป หากแท้จริงแล้ว “บริดจ์” ถือเป็นกีฬาลับสมองชั้นเลิศที่สามารถเล่นได้ทุกเพศทุกวัย และช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุอีกด้วย ทุกวันนี้จึงมีกลุ่มนักเล่นบริดจ์อาวุโส ที่นัดสังสรรค์เล่นบริดจ์กันในยามว่างเว้นจากภารกิจประจำวัน

หนึ่งในสมาชิกก๊วนบริดจ์ขาประจำ คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช ที่พ่วงตำแหน่งประธานสหพันธ์บริดจ์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และนายกสมาคมกิตติมศักดิ์ สมาคมบริดจ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงประโยชน์ของกีฬานี้ว่า “จากผลวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดพบว่า บริดจ์เป็นกิจกรรมที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งปัจจุบันมีผู้สูงอายุป่วยเป็นโรคนี้จำนวนมาก ซึ่งล้วนเป็นเกมที่ช่วยลับสมองเช่นกัน แต่ปัญหาคือ คนอายุมากมักเป็นโรคซึมเศร้ากันเยอะ เพราะต้องอยู่โดดเดี่ยวคนเดียวที่บ้าน ไม่มีสังคม ในขณะที่ การเล่นบริดจ์นั้นไม่สามารถเล่นคนเดียวได้ แต่จำเป็นต้องมีคู่เล่น และต้องสื่อกับคู่ของเราให้เข้าใจตรงกัน เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำคะแนน อีกทั้งการเล่นบริดจ์แต่ละครั้งต้องมีผู้เล่นถึง 4 คน จึงทำให้เรามีสังคม ได้พบปะพูดคุยผู้คนตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากของผู้สูงอายุ”

สองพี่น้องอาวุโส จีรวัสส์ ปันยารชุน วัย 94 ปี และ รัชนีบูล ปราณีประชาชน วัย 86 ปี ที่เล่นบริดจ์มาตั้งแต่รุ่นสาว กระทั่งล่วงเข้าวัยอาวุโส ทั้งคู่ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่เป็นไฮไลต์ของกีฬาบริดจ์คือ สามารถเล่นได้ตราบเท่าที่สมองยังใช้การได้อยู่
ชวนพิศ

“ตอนเด็กๆ จำได้ว่าเห็นคุณพ่อ (จอมพล ป.พิบูลสงคราม) ก็ชอบเล่นบริดจ์ กับ คุณหลวงประดิษฐ์
ขุนศรีสรากร และคุณแม่ เล่นกันเวลาไปพักผ่อนที่หัวหิน พอโตมาก็เลยชอบเล่น จำได้ว่าเริ่มตอนอายุ 19 ปี เวลานั้นไปศึกษาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วสมัยก่อนเล่นกันง่ายๆ ไม่ได้มีหลักเกณฑ์อะไรมากมาย ต้องบอกว่าการลับสมองด้วยกีฬาบริดจ์ เป็นสิ่งที่เยี่ยมยอดมากที่สุด หลายคนทักว่าดิฉันความจำดีมาก แม้ว่าจะอายุ 94 แล้วก็ตาม เพราะเล่นบริดจ์เป็นประจำ ทำให้ได้ฝึกสมองตลอดเวลา จึงอยากสนับสนุนให้เด็กนักเรียน หรือคนรุ่นใหม่ ได้ลองหันมาเล่นบริดจ์ที่ให้ประโยชน์มากจริงๆ”

ด้าน ชวนพิศ ธรรมศิริ อดีตผู้ว่าการประปานครหลวง ที่ยังคงกระฉับกระเฉง และสวยไม่สร่างแม้เข้าสู่วัย 70 ปี แล้วก็ตาม “ที่สำคัญ บริดจ์ เป็นกีฬาที่ต้องการพาร์ตเนอร์ชิปมาก จะเล่นเก่งคนเดียวไม่ได้เลย คู่ขาต้องมีความเข้าใจกันเป็นอย่างดี เหมือนการเต้นรำที่การเคลื่อนไหวไปซ้ายหรือขวาจะต้องรู้กัน เพราะฉะนั้น การพยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ สามารถนำมาใช้ในชีวิตการทำงาน หรือในครอบครัว คือการรู้จักเข้าใจคนอื่น มีน้ำใจนักกีฬา ไม่เอาเปรียบกัน โดยเรียนรู้ผ่านกีฬาบริดจ์นั่นเอง”

ร่วมสร้างประชากรบริดจ์ พัฒนาการคิดอย่างมีเหตุผล เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย โดย สมาคมบริดจ์แห่งประเทศไทย มีโครงการให้ความรู้เกี่ยวกับกีฬาบริดจ์ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่ www.thailandbridgeleague.com, เฟซบุ๊ก : สมาคมบริดจ์แห่งประเทศไทย

เจน  นำชัยศิริ

 
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net
กำลังโหลดความคิดเห็น