xs
xsm
sm
md
lg

สาดน้ำเปียกแฉะ! หมอเตือน..ระวังผู้สูงวัยลื่นล้ม เสี่ยงกระดูกหัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

By Lady Manager

เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 13 เมษายน ถือว่าเป็นวันผู้สูงอายุ วันที่ 14 เมษายน จัดว่าเป็นวันครอบครัว ทุกคนจะได้มาอยู่ร่วมกัน มีกิจกรรมทำบุญ ร่วมรับประทานอาหาร รดน้ำดำหัวคุณปู่คุณย่าตาคุณยาย และการสาดน้ำกันสนุกสนาน

แต่ก่อนจะเล่นน้ำจนเปียกไปทั้งบ้าน ควรต้องนึกถึง จุดเสี่ยงลื่นล้มของผู้อาวุโสสูงวัยทั้งหลาย ด้วยนะคะ


“ที่ผ่านมาพบว่าการลื่นล้มในผู้สูงอายุกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นการลื่นล้มในบ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เป็นความดันโลหิตสูงที่มักต้องรับประทานยาลดความดัน ซึ่งมีฤทธิ์ขับปัสสาวะเพื่อช่วยลดโซเดียมที่จะช่วยให้ระดับความดันลดลงด้วย เมื่อระดับความดันโลหิตในเส้นเลือดลดลงจากสูงมาต่ำ จะทำให้ผู้สูงอายุเกิดอาการมึนงง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น เวลาจะลุก จะนั่ง จะเสี่ยงต่อการล้มได้ง่ายกว่าปกติ”

นพ.อิทธิชัย วัชรีคุปต์ แพทย์สาขาอายุรกรรมทั่วไป รพ.กล้วยน้ำไท (แผนกผู้สูงอายุ) อธิบายต่อ

“ยาลดความดันบางชนิดถูกออกแบบมาให้มีขนาดค่อนข้างใหญ่เพื่อให้ค่อยๆ ปล่อยตัวยาออกมา อาจจะรู้สึกว่ากลืนลำบาก แต่ถ้านำไปหักเม็ดหรือเคี้ยวก่อนกลืน ก็จะทำให้ร่างกายได้รับปริมาณยาสูงกว่าการกลืนครั้งเดียว ทำให้ความดันโลหิตลดลงเร็วเกินไปแทนที่จะค่อยๆ ลดลง ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการเป็นลม หน้ามืด ล้มหมดสติได้เช่นเดียวกัน

และนอกจากยาลดความดันแล้ว คุณตาคุณยายที่ต้องรับประทานยาเป็นประจำ ควรสอบถามผลข้างเคียงของการใช้ยาจากแพทย์หรือเภสัชกรด้วย เช่น ยาระงับประสาท ยานอนหลับ ก็ส่งผลให้เกิดอาการหน้ามืด เวียนศีรษะ มึนงง เสี่ยงทำให้เกิดการหกล้มได้ง่าย ยิ่งหากทานยามากกว่า 4 ชนิดขึ้นไป โอกาสเสี่ยงในการลื่นล้มจะมากขึ้น 8-10 เท่า”

ที่สำคัญ พบว่าผู้สูงอายุหญิงจะลื่นล้มมากกว่าผู้สูงอายุชาย ยิ่งถ้าเคยล้มมาก่อน โอกาสที่จะเกิดการล้มซ้ำจะมีมากขึ้นถึง 2-3 เท่า

“คุณตาคุณยายมีโอกาสลื่นล้มได้มากกว่าคนหนุ่มสาวเนื่องจากหลายปัจจัย เช่น ความสามารถในการมองเห็นและความยืดหยุ่นของร่างกายลดลง อายุมากขึ้นหลังจะค่อมลงทำให้การทรงตัวไม่ดีเหมือนเดิม ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลงโดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณช่วงขาและสะโพก”

คุณหมออิทธิชัย แนะนำให้ออกกำลังกายเบาๆ

“การออกกำลังกายบางชนิดมีส่วนช่วยให้การทรงตัวของร่างกายดีขึ้น และยังช่วยให้กล้ามเนื้อขาแข็งแรงขึ้นด้วย เช่น โยคะในท่ายืน รำมวยจีน หรือแอโรบิคส์ช้าๆ และไม่มีแรงกระแทก เมื่อต้องเปลี่ยนท่าควรเปลี่ยนท่าอย่างช้าๆ เช่น ถ้ากำลังนอนอยู่และต้องการลุกขึ้นยืน ควรให้นั่งสักครู่ก่อนแล้วจึงค่อยๆ เกาะราวให้มั่นด้วยมือทั้ง 2 ข้าง ก่อนจะลุกขึ้นยืน เป็นต้น”

ขณะเดียวกันการเลือกขนาดเสื้อผ้า รองเท้า รวมทั้งแว่นสายตามที่เหมาะสม ก็เป็นวิธีป้องกันการหกล้มได้ดีทีเดียว

“คุณตาคุณยายที่บางท่านอาจนึกไม่ถึงคือ ควรเลือกเสื้อผ้าการแต่งกายที่พอดีตัว ไม่ใหญ่ ยาว หรือหลวมเพราะอาจไปเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ในบ้านจนเสียหลักล้มได้ ควรใส่รองเท้าที่พอดีกับรูปเท้ามีที่รัดส้นและพื้นรองเท้าที่สามารถยึดเกาะพื้นได้ดี ส้นรองเท้าเรียบๆ ไม่สูงมาก การมองเห็นก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรต้องตรวจสายตาอย่างสม่ำเสมอ และเลือกแว่นสายตาที่เหมาะสมกับการมองเห็น ยิ่งคุณตาคุณยายที่มักบ่นว่าเวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่าบ่อยๆ ยิ่งต้องระวังเวลาจะลุกนั่ง หรือลุกขึ้นจากเตียง ควรมีคนช่วยพยุงและให้ท่านหาที่เกาะให้มั่นด้วยมือทั้ง 2 ข้าง

บริเวณพื้นที่ในบ้านที่มักจะเปียก เช่น ห้องน้ำหรือห้องครัว ควรใช้กระเบื้องที่มีผิวหน้าหยาบ หรือใช้แผ่นยางกันลื่น ที่ยึดเกาะกับพื้นห้องน้ำได้ดี หรือเพิ่มราวเกาะจับในห้องน้ำเพื่อให้ท่านได้มีที่เกาะคอยพยุงตัว หาเก้าอี้ให้ท่านนั่งอาบน้ำ บริเวณห้องที่ต้องเดินผ่านไปมาก็มีส่วนสำคัญ ควรให้ระดับพื้นเสมอกัน ระวังอย่าให้มีธรณีประตู พื้นต่างระดับ สายยาง สายไฟ ขวางพาดยาวข้ามห้อง รวมทั้งมีแสงสว่างทั่วถึง แต่สว่างเกินไปหรือมืดจนเกินไป พื้นไม่ควรมีลวดลายที่ดูแล้วงงหรือหลอกสายตา ห้องนอนควรย้ายมาอยู่ข้างล่างและหลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันได”

คุณหมออิทธิชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า

“การลื่นล้มในวัยสูงอายุนั้น แม้ว่าจะเป็นการล้มเบาๆ หรือการลื่นเสียหลักเล็กน้อย ก็มีอันตรายและอาจส่งผลกระทบระยะยาวกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุมากกว่าการลื่นล้มในวัยอื่นๆ ดังนั้นลูกหลานและคนใกล้ตัวจึงควรต้องสังเกตและให้ความสำคัญกับการป้องกันสถานที่หรือกิจวัตรที่มีความเสี่ยงต่อการลื่นล้มของท่าน โดยเฉพาะคุณตาคุณยายที่มีโรคประจำตัวและต้องรับประทานยาเป็นประจำ เช่น ยาลดความดันโลหิต ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท

นอกจากรับประทานตามที่แพทย์สั่งแล้ว ควรสังเกตหากท่านมักมีอาการหน้ามืด ใจสั่น ควรแจ้งแพทย์เพื่อปรับขนาดในการรับประทานให้เหมาะสมกับท่าน แต่หากเกิดการลื่นล้มแล้วมีอาการปวด เดินไม่ได้ กระดูกผิดรูป ควรนำส่งโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ให้ตรวจวินิจฉัยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปของคุณตาคุณยายนะครับ”
* ช่วยคลิก Like ด้วยนะคะ เพื่อเป็นแฟนเพจ Lady Manager รับข่าวสารแซ่บๆ ของผู้หญิงในแวดวงสุขภาพความงาม แฟชั่น และความสัมพันธ์ (**)

 

>>
อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ 
 http://www.celeb-online.net
 
กำลังโหลดความคิดเห็น