ART EYE VIEW---ในงาน Good Morning Bangkok ครั้งที่ 3 สวัสดีบางกอก ตอน วิชาใช้ชีวิตให้มีความสุข ณ สวนโมกข์ กรุงเทพ เมื่อไม่นานมานี้
ผลงานศิลปะของเด็กหญิงวัย 9 ขวบคนหนึ่ง ถูกนำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการขนาดย่อม ท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่นของร่มไม้ภายในสวนหิน
แรกที่เธอแนะนำตัวเองกับทุกคน ด้วยท่าทางที่มั่นใจ บวกกับพูดทักทายเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว ทำให้บางคนคาดเดาไปว่า เธอคงเป็นเด็กลูกครึ่งที่มีความสามารถโดดเด่นจากรั้วโรงเรียนนานาชาติบางแห่งในกรุงเทพ
แต่ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กหญิงคนนี้ ซึ่งถูกแนะนำไว้ในนิทรรศการ เธอคือ ด.ญ.สู่ขวัญ สมเงิน แห่งหมู่บ้านห้วยกุ ต.บ้านตุ้ม อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
และปัจจุบันไม่ได้ศึกษาอยู่ในรั้วโรงเรียนใด แต่ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านกับยาย แม่ พ่อ แมว 3 หมา 2 แมลง ตุ๊กแก นก ไก่ป่า กระรอกบิน กระต่ายป่า เสือปลา ฯลฯ และสรรพต้นไม้ภายในบ้านที่ราวถูกล้อมไปด้วยป่า
ชีวิตถูกจัดวางบนความเรียบง่าย สัมพันธ์และหลอมรวมกับธรรมชาติ ผนวกเข้ากับการศึกษาและเรียนรู้ บนพื้นฐานของความสุขเป็นหลัก
อย่างไรก็ตามข้อมูลเพียงเท่านี้ คงไม่ทำให้เธอน่าสนใจขึ้นมาเท่าใดนัก ก็แค่เด็กหญิงหน้าตาน่ารักคนหนึ่งที่ถูกเลี้ยงดูในระบบ Home School เพราะในปัจจุบันมีครอบครัวจำนวนไม่น้อยที่หันมาเลี้ยงลูกในวิถีนี้
หากเราไม่ทราบเพิ่มเติมว่า ในวัยเพียงเท่านี้ ด.ญ.สู่ขวัญ เป็นเจ้าของภาพลายเส้นกว่า 25,000 ภาพและภาพเพ้นท์ 500 ภาพ,ผลงานเขียนประเภทเรื่องสั้น 150 เรื่อง และประเภทเรื่องงยาว 5 เรื่อง โดยทุกเรื่องถูกแต่งขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ
นอกจากนี้ยังมีความสามารถในด้านการเล่านิทานเป็นภาษาอังกฤษ แต่งและเล่าให้ฟังได้แบบทันทีทันใดโดยไม่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า แถมยังเป็นนิทานที่ให้คติสอนใจในตอนท้าย จนทำให้คนทุกเพศทุกวัย ที่ได้ไปฟังเธอเล่านิทานที่สวนโมกข์ ในช่วงเว้นวรรคของเสวนาว่าด้วยเรื่อง “นักเรียนนอกกะลา การศึกษาเขย่าโลก” ต่างรู้สึกประทับใจและปรบมือให้กราวใหญ่
“สู่ขวัญ” ลูกพ่อ “สุขี”
ด้วยความที่อยากทำความรู้จักกับเธอให้มากขึ้น ว่าอะไรที่หล่อหลอมให้เธอกลายเป็นเด็กหญิงที่มีความสามารถประทับใจผู้พบเห็นได้มากขนาดนี้
จึงทำให้เราพลอยได้รู้จักกับคุณพ่อของเธอไปด้วย พ่อผู้ทำหน้าที่เป็นสารถี และช่วยภรรยาขนย้ายผลงานของลูกจากบ้านที่เชียงใหม่มาจัดแสดงที่กรุงเทพ
เขาคือ สุขี สมเงิน ศิษย์เก่าคณะมัณฑณศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เป็นเจ้าของผลงานภาพวาด “ขุนรองปลัดชู” และภาพวาดเทคนิควแอร์บรัช ที่จัดแสดงอยู่เป็นจำนวนมากภายในห้อง “ขุนช้างขุนแผน” ของ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย หรือ MOCA
ผู้ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตัดสินใจทิ้งงานบริษัทโฆษณาที่เคยทำมากว่า 30 ปี ไว้เบื้องหลัง แล้วย้ายครอบครัวจากกรุงเทพฯ ไปอยู่ที่เชียงใหม่ ด้วยเหตุผลเพราะ “อยากมีลูก”
“เราประสบปัญหาเรื่องมีลูกยาก จึงคุยกับแม่ของสู่ขวัญเค้า ซึ่งก็เคยทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ ส่วนผมทำงานด้านวาดรูป และทำบริษัทโฆษณาของตัวเอง เราคิดว่า น่าจะเป็นเพราะงานที่ทำอยู่ ทำให้เราเครียด จนเป็นสาเหตุทำให้มีลูกยาก และแม่ของสู่ขวัญเค้าก็อายุมากขึ้นด้วย เราจึงตัดสินใจเลิกทำงานทุกอย่างที่กรุงเทพฯ”
จนในที่สุด ด.ญ.สู่ขวัญ ลูกสาวที่ทั้งพ่อและแม่ต่างรอคอยมานาน มีโอกาสลืมตาขึ้นมาดูโลก และเติบโตขึ้นมาในบ้านที่ไม่มีแม้แต่ไฟ้าฟ้าจะใช้ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ 30 ไร่ ของ อ.พร้าว ที่ค่อยๆถูกเปลี่ยนจากไร่ข้าวโพดที่ถูกถางจนโล่งเตียน แทบไม่มีต้นไม้อื่นให้เห็นสักต้น กลายเป็นป่าขนาดย่อมในเวลาต่อมา
“แม้แต่ตอนที่ลูกเกิดมา ก็ยังไม่มีไฟฟ้าใช้นะ ต้องจุดตะเกียง เพิ่งมามีไฟฟ้าใช้ตอนที่ลูกอายุ 5 ขวบ
ดูเหมือนจะลำบาก แต่การได้ไปอยู่ในที่แบบนั้น ก็เป็นข้อดีนะ เพราะครอบครัว เราได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบ อยู่กับธรรมชาติ
เมื่อไม่มีไฟฟ้าใช้ บ้านจึงไม่มีทีวี ตั้งแต่เกิดมาจนอายุ 5 ขวบ สู่ขวัญไม่เคยเห็นทีวีเลย จะได้เห็นแค่เพียงบางครั้งที่เราเข้าเมือง
ผมมองว่าเป็นข้อดีสำหรับลูก เพราะสื่อที่มีอิทธิพลกับเด็กมากก็คือทีวี มีทั้งภาพและเสียง ที่คอยดึงดูดความสนใจของเด็กทุกอย่าง”
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ ด้านหนึ่ง ด.ญ.สู่ขวัญ จะเป็นเด็กที่รักการอ่านและมีความสามารถด้านการเขียนควบคู่ไปกับการวาดภาพและเล่านิทาน
“พอไม่มีทีวี ความสนใจของเค้าจึงมาอยู่ที่ การอ่านหนังสือ และการเล่น
ผมปูพื้นฐานให้เค้าอยู่กับหนังสือ และเล่นของเล่นที่มาจากธรรมชาติทั้งหมด ไม่ได้ซื้อของเล่นอะไรเลย อาจจะมีแปลกปลอมไปบ้าง ก็เฉพาะในเวลาที่พี่ป้าน้าอาซื้อไปฝาก แต่ส่วนใหญ่เค้าจะได้เล่นแต่สิ่งของที่มาจากธรรมชาติรอบตัวทั้งหมด เช่น บรรดาต้นหญ้า ก้อนหินรอบตัว เขาหยิบมาเล่น มาทำเป็นงานศิลปะได้หมด
เขาชอบอ่านหนังสือมาก จนเวลานี้ต้องคอยบอกให้เลิกอ่านบ้าง เพราะต้องให้เค้าหยุดเพื่อทานข้าว หรือในเวลาที่เดินทาง นั่งอยู่บนรถ เพราะเค้าจะไม่หยุดอ่านเลย
หนังสือที่เค้าอ่าน มีตั้งแต่การ์ตูนสำหรับเด็ก จนกระทั่งเรื่องสั้นของผู้ใหญ่ แฮรี่ พอร์ตเตอร์ ทั้งหมด 7 เล่ม เค้าอ่านมาแล้ว 4 รอบ รวมถึงหนังสือชุดเพอร์ซีย์ แจ็กสัน ที่เกี่ยวกับเทพเจ้า เค้าจะชอบอ่านหนังสือแบบนี้ เมื่ออ่านเยอะมาก จึงทำให้เค้าเขียนหนังสือออกมาได้ ถึงตอนนี้หนังสือที่เค้าอ่านน่าจะประมาณ 800 เล่ม และทุกเล่มผมยังคงเก็บไว้หมด คิดว่าอีกหน่อย จะเปิดเป็นห้องสมุดเพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นได้มาอ่านบ้าง”
ลุกขึ้นมาเขียนหนังสือตอนตี 2
และสิ่งหนึ่งที่คุณพ่อเชื่อว่ามีส่วนส่งเสริมในเรื่องการเขียนหนังสือของลูกคือ การเขียนบันทึกประจำวัน
“เค้าเขียนบันทึกด้วยลายมือทุกวัน จนทุกวันนี้เขามีสมุดบันทึกประจำวัน 40 -50 เล่ม
พอมาตอนหลังเหมือนเค้าอัดอั้น เขียนแค่บันทึกไม่พอแล้ว ต้องแต่งออกมาเป็นเรื่อง จากสิ่งที่เค้ามีในสมอง บางคืนประมาณตี 1- 2 เค้าลุกขึ้นมาเขียนหนังสือ และบอกเราว่า มันมาแล้ว มันมาในหัว(หัวเราะ) ต้องเอามันออกมา ถ้าไม่เอามันออกมา เค้าจะนอนไม่หลับ ลุกขึ้นมาเขียนด้วยมือประมาณ 2-3 หน้า แล้วค่อยไปพิมพ์ต่อในคอมพิวเตอร์อีกที
ตัวอย่างงานเขียนหลายเรื่องที่นำมาจัดแสดงและจำหน่ายนิทรรศการ คุณพ่อเล่าว่านอกจากลูกจะแต่งขึ้นเองเป็นภาษาอังกฤษ ยังเป็นคนออกแบบรูปเล่มและวาดภาพปกด้วยตัวเอง ขณะที่พ่อและแม่เป็นเพียงลูกมือช่วยปริ๊นและเข้าเล่มให้
โรงเรียนทำลายจินตนาการของเด็ก
ด.ญ.สู่ขวัญ เริ่มวาดมาตั้งแต่ อายุ 3 ขวบ โดยมีคุณพ่อเป็นเพียงผู้ทำหน้าที่คอยเตรียมกระดาษ ดินสอ และอุปกรณ์ต่างๆให้
“ อย่างกระดาษนี่ ผมต้องเตรียมให้เค้าเป็นรีมๆเลยนะ ใช้กระดาษ A4 นี่แหล่ะ ซึ่งเค้าก็จะวาดภาพไปตามเรื่องตามราวของเค้า แต่ผมมีหลักของผมว่าเด็กในวัยนี้ ตามหลักจิตวิทยา จะมีจินตนาการสูงมาก จนถึง 7 ขวบ ตอนนี้เขา 9 ขวบแล้ว แต่ผมยังอยากจะส่งเสริมเรื่องจินตนาการของเค้า ให้ยาวไปถึง 15 ปี หรือถ้าให้ดีที่สุดคือให้มีตลอดชีวิต
แต่เด็กปกติ พอเข้าโรงเรียน ป 1 จินตนาการจะหายไปทันที เพราะต้องเข้าสู่ระบบการเรียนตามรายวิชา ไม่ได้ต่อเนื่องในสิ่งที่สนใจ
อย่างเช่นกำลังวาดรูปอยู่ อยากวาดต่อ แต่วาดไม่ได้ เพราะครูสั่งห้ามให้หยุด เพื่อที่จะได้เรียนวิชาต่อไปตามตารางเรียน ซึ่งเด็กก็จะเบื่อ พอนานเข้า ไม่ชอบ กระทั่งไม่เอา ดังนั้นระบบการเรียนปกติ ทำให้จินตนาการของเด็กหายไป สำหรับผม โรงเรียนเป็นสถานที่ทำร้าย ทำลาย จินตนาการของเด็ก ผมคิดอย่างนั้นนะ
และสิ่งที่ลูกเค้าวาด ไม่ว่าจะเป็นภาพลายเส้นหรืองานเพ้นท์ ผมไม่สามารถไปวิพากวิจารณ์หรือแสดงความเห็นได้เลย ว่างานนี้ไม่ดี ต้องทำแบบนั้นแบบนี้ หรือต้องไกด์ให้ทำแบบนู้นแบบนี้ คือลูกจะไม่ชอบ ไม่ทำอย่างที่ผมสอน ทำตรงข้ามเสมอ สุดท้ายผมก็คิดว่าไม่ใช่แล้วล่ะ ดังนั้นสิ่งที่เป็นไปได้คือ ไม่สอนเลย
ผมถือว่าไม่มีมนุษย์คนไหนที่จะสอนเรื่องจินตนาการที่อยู่ในสมองคนได้ จินตนาการเกิดขึ้นเอง ตามสมองคน ตามสิ่งที่เค้าสัมผัส เค้าเพ้อฝัน ไม่มีใครสามารถไปนั่งอยู่ในความคิดของใครได้ แม้แต่พ่อแม่ของเด็ก ดังนั้นเราต้องปล่อย และการที่เราปล่อยก็เกิดมาเป็นผลแบบที่เห็นนี้” คุณพ่อเล่าพลางชี้ไปที่ผลงานของลูกซึ่งเป็นประจักษ์พยานแก่ผู้พบเห็น
ยังไม่คิดขายผลงานลูก
ถึงเวลานี้แม้ว่าลูกจะชอบวาดภาพมาก มากจนถึงขนาดต้องไปซื้อสีทาบ้านมาให้ใช้ควบคู่ไปกับบรรดาสีน้ำ สีโปสเตอร์ สีอะคริลิค สีน้ำมัน ฯลฯเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามคุณพ่อท่านนี้บอกว่ายังไม่คิดอยากขายผลงานลูก
ขณะที่ภาพวาดที่นำมาจัดแสดง ถ้าใครสนใจอยากซื้อ จะขายเฉพาะภาพ Re Print เท่านั้น เพราะต้องการเก็บภาพต้นฉบับไว้ให้ลูกตัดสินใจเองเมื่อโตขึ้น
“แม้ผลงานลูกจะมีเยอะ แต่ค่าใช้จ่ายของลูกมันก็เยอะขึ้นทุกวัน อยากให้เค้ามีทุนมาใช้ทำงานที่เค้ารักต่อ
และเรามาแสดงผลงานในงานนี้ได้ก็เพราะพ่อโจน จันได(ผู้ก่อตั้ง สวนพันพรรณ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่) ที่เชิญเรามาร่วมงาน โดยปกติก็ยังไม่เคยไปแสดงที่ไหนหรอก พ่อโจนบอกว่ามางานนี้ขายได้นะ จะได้มีเงินค่ารถกลับบ้าน และมีค่าสีไว้ให้สู่ขวัญวาดรูปต่อ
ไอ้เราก็ไม่อยากโดนข้อครหา ว่าหากินกับลูก เราก็เลยขายเฉพาะที่เป็น Re Print พิมพ์บนแคนวาสขนาด A4 ขายถูกๆ รูปละ 400 บาท ส่วนหนังสือขายเล่มละ 200 บาท
และอีกเหตุผลหนึ่งที่ผมไม่อยากขายงานต้นฉบับของลูก เพราะตอนนี้เค้าอายุ แค่ 9 ขวบ ยังไม่รู้เรื่อง ถ้าเกิดเค้าโตมา บรรลุนิติภาวะ แล้วมาถามว่า ทำไมพ่อแม่ขายงานของหนูไปหล่ะ เราจะไม่มีคำตอบให้เค้าเลย”
ด.ญ.สู่ขวัญ เคยไปโรงเรียนตั้ง 2 วัน
แม้ปัจจุบัน ด.ญ.สู่ขวัญ จะยังคงถูกเลี้ยงดูในระบบ Home School ทว่าก่อนหน้านี้เธอก็เคยมีโอกาสไปโรงเรียนเหมือนกับเพื่อนๆคนอื่นที่เรียนในระบบปกติเช่นกัน แต่เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆเพียงเท่านั้น
“ช่วงที่อายุ น่าจะราวๆ อนุบาล 3 เพราะเค้าได้ไปเห็นเด็กในหมู่บ้านแบกกระเป๋าไปโรงเรียน มีการบ้านกลับมาทำที่บ้าน เค้าเลยอยากมีแบบนั้นบ้าง เพราะแม้เราจะสอนเค้าอยู่ที่บ้าน แต่เรายังเปิดโอกาสให้เค้าได้ไปเจอเพื่อนคนอื่นๆอยู่ ครอบครัวเราไม่ได้ปิดตัวเอง
ก็เลยต้องพาไปเข้าโรงเรียน ทำให้ช่วงหนึ่งเราต้องย้ายจาก อ.พร้าวไปอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อพาเค้าไปเข้าโรงเรียน จ่ายเงินให้โรงเรียนไปประมาณ 3-4 หมื่นบาท แต่เรียนได้แค่ 2 วัน หลังจากนั้นเค้าก็ไม่ไปอีกเลย
เพราะว่าครูที่โรงเรียนบอกว่า ถ้าเค้าไม่ขยันเรียน ไม่ทำการบ้านส่ง จะมีเขางอกที่หัว แต่วัยนั้นเค้ายังเล็กอยู่ ไม่เข้าใจหรอกว่าเขางอกที่หัวหมายถึงอะไร กลับมาบ้านเค้าก็มาถามแม่ถามพ่อ
เราเลยถามเค้าย้อนกลับไปว่า แล้วลูกคิดว่าเป็นอะไรล่ะ เค้าบอกว่า กวางมั้ง (หัวเราะ) หลังจากนั้นเค้าก็ไม่ชอบไปโรงเรียน เพราะเค้าชอบอยู่บ้านวาดรูป อ่านหนังสือ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นลมหายใจของเค้าเลย วาดรูปทุกวัน สลับกับการอ่านหนังสือและเขียนเรื่อง”
ศีลธรรมไม่ได้อยู่ที่โรงเรียน
อย่างไรก็ตามครอบครัว ก็ไม่เคยละเลยที่จะสอนทักษะชีวิตในด้านอื่นๆให้กับลูกควบคู่กันไปด้วย
“ผมถือว่าศีลธรรมไม่ได้อยู่ที่โรงเรียน ศีลธรรมอยู่ที่บ้าน จิตใจที่อ่อนโยน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หรือว่าการมีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ หรือว่าสัตว์ ตุ๊กแก ตัวกว่าง ผีเสื้อ แมลง ไก่ หมา แมว เหล่านี้เป็นเพื่อนเค้า กล่อมเกลาจิตใจเค้า ได้หมด เพราะว่าถ้าเค้ามีจิตใจที่ดีกับสัตว์ขนาดนี้ มนุษย์ด้วยกันก็ต้องมีแน่
ตั้งแต่เด็ก เวลาขับรถพาเค้าไปไหน เจอสี่แยก ที่ขายพวงมาลัย เราไม่ได้บอกให้เค้าเงินเด็กที่ขาย แต่เราจะให้ลูกพกกล้วยบ้าง หรือว่าของกินอย่างอื่น ขนมต้ม ขนมปัง นม นมถั่วเหลือง พอเจอเด็กขายพวงมาลัย เราก็จะบอกเค้าว่า พี่เค้าร้อน เหนื่อย แบ่งให้เค้ากินบ้างสิลูก
จนกระทั่งต่อมา เค้าได้มีโอกาสไปช่วยดูแล เลี้ยงเด็ก ในมูลนิธิที่เชียงใหม่ เด็กเหล่านี้ เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นเอดส์ เค้าก็จะไปคอยช่วยป้อนนม ป้อนข้าวให้น้อง หรือเด็กที่โตหน่อย เค้าก็จะไปคลุกคลี เล่นด้วย เราจะปลูกฝังเขาแบบนี้
บางทีเขาก็จะไปกับกลุ่มเพื่อน ที่เป็นอาสาสมัคร จูงมือพี่ที่ตาบอดในโรงเรียนที่เชียงใหม่ เที่ยวชมสวนดอกไม้ เล่าให้ฟังว่าดอกนี้ชื่ออะไร สวยยังไง มีสีอะไร
และเค้ายังเป็นอาสาสมัครของห้องสมุดเคลื่อนที่ ซึ่งมีเจ้าของเป็นพี่ชาวญี่ปุ่นซึ่งตาบอด เค้าก็จะทำโปสเตอร์ของเค้าเอง ไปขอรับบริจาคหนังสือจากเพื่อนๆ หรือครอบครัวของเพื่อนๆ ที่เค้าไปเรียนบัลเล่ และเปียโนด้วย เจอเพื่อนเจอผู้ปกครอง เค้าก็จะเอาโปสเตอร์ไปติด ขอรับบริจาคหนังสือ
พอถึงฤดูหนาว ก็จะไปกับทีมห้องสมุด ขึ้นไปห้องสมุดสาขาที่อยู่บนดอยต่างๆ ไปอ่านหนังสือให้เด็กด้อยโอกาสบนดอยฟัง
หรืออย่างล่าสุดกมีนักปั่นจักรยานจากสวิสเซอร์แลนด์ มาพูดคุยกับเด็กตามโรงเรียนในอำเภอพร้าว มาโชว์เกี่ยวกับจักรยานและการใช้ชีวิตบนหลังอาน ที่เขาเดินทางไปทั่วโลก สู่ขวัญก็จะไปคอยเป็นล่าม ช่วยแปลภาษาให้กับพี่ๆในโรงเรียน”
ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้นี่เอง ที่เมื่อทำต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ไม่เพียงจะบ่มเพาะให้ ด.ญ.สู่ขวัญ เป็นเด็กหญิงที่มีความมั่นใจในตนเอง และชอบช่วยเหลือสังคม แต่ยังมีความสามารถในเรื่องการสื่อสาร นั่นคือ การเล่านิทาน และการใช้ภาษา โดยเฉพาะเรื่องภาษา คุณพ่อบอกว่า ลูกพัฒนาไปไกลเกินกว่าที่พ่อและแม่จะตามทันแล้ว ทั้งที่เธอเองก็ไม่ได้ไปเข้าคอร์สเรียนภาษาที่ไหน เพียงแต่เมื่อไหร่ที่เจอนักท่องเที่ยวที่เป็นชาวต่างชาติ เธอไม่เขินอายที่จะเข้าไปพูดคุยด้วย
วาดสิ่งที่ฝัน วาดสิ่งที่เห็น
“สู่ขวัญทำไมหนูไม่ไปโรงเรียน หนูเป็นคนเลือกเองหรือเปล่า”
คือหนึ่งในคำถามที่พิธีกรถามกับเด็กหญิงหลังจากที่เล่านิทานเรื่อง “สุนัขกับเต่า” จบลงที่สวนโมกข์ในวันนั้น เจ้าตัวตอบทันทีว่า
“หนูเลือกเองค่ะ เพราะเวลาที่หนูไปโรงเรียน ทุกวันก็จะเป็นเหมือนเดิมอย่างนั้น เข้าไปในห้อง นั่งเรียนๆแต่กับหนังสือ ไม่ได้ทำอะไรจริงๆ เสร็จแล้วก็ออกไปกินข้าวได้เล่นนิดนึง แล้วก็กลับมานั่งเรียนๆๆๆ จากหนังสือ มันรู้สึกอึดอัดค่ะ”
และอีกคำถามที่ทุกคนคงอยากรู้คำตอบจากปากของเจ้าตัวเองด้วย ว่าทำไมเธอถึงวาดภาพและมีงานเขียนมากมายขนาดนี้ เด็กหญิงให้ตอบว่า
“หนูเป็นคนชอบ(เพ้อ)ฝันค่ะ แล้วหนูก็อยากให้คนอื่นได้รู้ได้รู้สึกอย่างที่หนูฝันด้วย หนูก็เลยวาดรูปออกมา เขียนเรื่องออกมา จากสิ่งที่หนูฝัน จากสิ่งที่หนูคิด
ถ้าไม่ได้ทำมันออกมา หนูจะรู้สึกว่าเหมือนว่าตัวเองอยู่ในห้องที่มันถูกปิดทุกทาง และถ้าไม่เปิดประตูออกมา หนูก็จะรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในห้องที่ถูกปิดนั้นไปตลอด”
ซึ่งแน่นอนว่า อาชีพที่เด็กหญิงบอกกับ ART EYE VIEW ว่าฝันอยากทำเมื่อโตขึ้นคือ “ศิลปินและนักเขียน”
แต่ 3 สิ่งที่เธอชอบทำในปัจจุบันลดหลั่นกันลงมาคือ วาดภาพ เขียนหนังสือ และเล่านิทาน
โดยเฉพาะการวาดภาพสิ่งที่เด็กหญิงชอบวาดคือ
“หนูวาดหลายอย่างค่ะ สิ่งที่หนูฝันบ้าง หรือสิ่งที่หนูเห็น หนูประทับใจ หนูก็วาดออกมา
ส่วนมากหนูจะวาดจากจินตนาการ แต่บางที เช่นเวลาหนูเดินไปที่ตลาดกับแม่ เห็นดอกไม้สี มันสวยดี หนูก็จะกลับมาเพ้นท์”
เด็กหญิงบอกว่าเคยมีโอกาสได้ไปเห็นผลงานของคุณพ่อเช่นกัน และรู้สึกภูมิใจในตัวคุณพ่อมากๆ แต่สิ่งที่เธอรู้สึกอยากขอบคุณและสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าคุณพ่อเป็นคนพิเศษสำหรับเธอมาตลอดคือ
“หนูขอบคุณคุณพ่อที่เลี้ยงหนูมาอย่างดี สอนหนูหลายอย่าง ช่วยสอนหนูทำไม้ เพื่อทำเป็นบ้านสำหรับนก และเปิดประตูให้นกเข้าไปได้ เป็นบ้านจริงๆ แต่ว่ามันเล็กหน่อย
คุณพ่อใจดี จะไม่ว่าลูกโดยที่ไม่มีเหตุผล แต่ถ้าหนูทำอะไรผิด คุณพ่อก็จะเตือน แต่ก็ไม่ดุมาก แค่เตือน แล้วบอกว่าไม่ควรจะทำดีกว่า เพราะว่ามันจะทำให้บางที คนอื่นไม่ชอบหนูไงคะ”
ด้วยเหตุนี้สิ่งที่เด็กหญิง วัย 9 ขวบ คิดว่าตัวเองและเพื่อนๆคนอื่นน่าจะทำให้คุณพ่อได้ง่ายที่สุดคือ “เชื่อฟัง”
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews