xs
xsm
sm
md
lg

7 นิสัยต้องเลิก ถ้าไม่อยากเป็นมนุษย์ขี้ลืม/นพ.กฤษดา ศิรามพุช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช

ตั้งแต่เกิดมาผมเรื่องการเรียน “แอ็กติ้ง” ไม่เคยอยู่ในหัว เพราะผมเป็นเพียงหมอธรรมดาไม่ใช่ดารา แต่เหตุทำให้ต้องรู้คือเมื่อหลายปีก่อนผู้ใหญ่ทางช่องฟรีทีวีช่องหนึ่ง ท่านกรุณาให้ทำงานเป็นพิธีกรรายการใหม่ ในตอนนั้นจึงต้องทำตัวเป็นมนุษย์ไบโพลาร์คือ ขั้วหนึ่งตรวจคนไข้ส่วน อีกขั้วหนึ่งก็ต้องแบ่งเวลาไปเข้ากองวางบล็อกกิ้ง, รู้มุมกล้อง, และคุยกับพี่ผู้กำกับ

คุณดำรง พุฒตาล ก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่ผมถือเป็นอาจารย์ มีอะไรก็มักไปคุยกับท่าน

สิ่งหนึ่งที่ผมชอบตอนเรียนแอ็กติ้งคือ “การฝึกจำ” เพราะทางช่องมีวิธีฝึกพิเศษโดยการพยายามให้พูดสด งดการใช้คิวการ์ดหรือกระดานบอกบทตรงหน้า โดยเฉพาะ “ชื่อคน” อย่างแขกรับเชิญที่พิธีกรต้องจำได้ให้แม่นเหมาะ เพราะเมื่อเวลาผ่านมาหลายปีผมก็ซาบซึ้งในสิ่งที่ท่านสอน

เพราะมันทำให้จัดรายการได้อย่างเป็นธรรมชาติ

แถมยังช่วย “ฝึกสมอง” ไปในตัว

เป็นการออกกำลังสมองที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด เหมือนกับตอนเป็นมนุษย์เรียนที่ก้มหน้างุดท่องหนังสือก่อนสอบ ซึ่งการตอบโจทย์สมองเพื่อให้สุขภาพความจำดีไม่ลืมง่ายนี้ ในทางการแพทย์ส่วนหนึ่งก็เกิดมาจากการหาวิธีจัดระเบียบสมองเป็น

หาเทคนิกที่เหมาะกับตัวเองได้

ยกตัวอย่างเทคนิกง่ายๆ หนึ่งที่ผมใช้ประจำคือ “การจัดลำดับความสำคัญ” โดยแบ่งเป็น 3 อย่าง เริ่มจาก “ต้องทำ” ถัดมาคือ “ควรทำ” และอย่างหลังคือ “ทำได้ก็ดี(ถ้ามีเวลา)”

จากสำคัญสุดๆ ไล่ลงมา เป็นต้นว่า สำคัญสุดสำหรับผมคือ ตื่นเช้าต้องเทกระโถนให้คุณยายเพราะท่านตื่นตอนใกล้รุ่ง แล้วจากนั้นก็มาตรวจคนไข้หรือทำรายการที่มีคิวมา ถัดมาจากนั้นสำคัญอย่างสุดท้ายคือ กิจกรรมที่ทำได้ก็ดีหรือเอาไว้ก่อนก็ได้เป็นต้นว่าเดินไปตลาดนัดหรือไปกินข้าวกับเพื่อน

ถ้าทำได้อย่างนี้ก็พอจะช่วยจัดระเบียบเรื่องรอบตัวให้ไม่หนักหัวได้ นอกจากนั้นการเลี่ยงพฤติกรรมบางอย่างที่ยิ่งซ้ำให้ลืม ก็จะช่วยให้การฝึกความจำสมบูรณ์แบบขึ้นครับ

กับนิสัยที่พาให้ขี้หลงขี้ลืมดังต่อไปนี้

7 นิสัยเลิกทำ
ก่อนกลายเป็น “มนุษย์ลืม”

1) ทำงานหลายอย่างพร้อมกัน

เป็นสิ่งที่เกิดกับซีอีโอหนุ่มสาวและมนุษย์งานยุคใหม่ที่ต้องใช้ทรัพยากรชีวิตอย่างถวายชีวิตและจิตใจเพื่องาน การทำงานที่ “รอบตัว(Multitasking)” ทำให้ได้งานจริงแต่คุณภาพของงานนั้นอาจเป็นอีกเรื่อง

เพราะการทำทุกสิ่งพร้อมกันเสี่ยงต่อการ “ลืมง่าย” ถ้าไม่ได้ฝึกสติมาดีๆ ด้วยสมองมนุษย์จะจำได้ดีสุดเมื่อเราจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ดังนั้นหากใครรู้สึกตัวว่าลืมง่ายเพราะงานมาก

ขอฝากเทคนิกไว้คือ “ให้ทำทีละอย่าง(One at a time)” ดีกว่า “ทำพร้อมกันในเวลาเดียว” แม้จะเพิ่มเวลาขึ้นมาอีกนิดแต่จะช่วยให้ไม่ลืมง่ายและได้งานคุณภาพครับ

2) โกรธง่าย

ความโกรธและความเครียดมีผลต่อความจำโดยตรง ซึ่งผู้มีความโกรธเป็นเจ้าเรือนต้องคอยเตือนตัวเองว่าเสพความโกรธแต่ละครั้งเหมือนนั่งดื่มยาพิษล้างความจำเข้าสมอง เพราะความโกรธกระตุ้นให้ เคมีเครียด (Cortisol) ออกมาอาบสมองซึ่งถ้านานเข้าจะไปทำลายสมองส่วนความจำให้ง่อยไป

ดังนั้นความโกรธที่มาชั่วครั้งคราวถือว่าเป็นธรรมดาของมนุษย์แต่ถึงที่สุดแล้วอย่าให้มันอยู่นานเกินไป เพราะจะเป็นพิษต่อความจำได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแองกรี้เบิร์ดตลอดเวลาครับ

3) นอนดึก

การอดนอนมีผลให้ลืม ดังนั้นในทางตรงข้ามคือการนอนมีผล “ช่วยจำ” ซึ่งเคล็ดลับนี้ถูกเผยมาจากหลายการศึกษาว่าการนอนเป็นการ “ลับสมอง” ที่สำคัญ เพราะมันเป็นกลไกที่ช่วยย้ำความจำที่ได้มาช่วงกลางวันให้จำได้ติดแน่นทนนานขึ้นเหมือนกับได้ทบทวนรอบที่ 2 ซึ่งจะช่วยให้คนนอนอิ่มนั้นจำได้ดีกว่าคน “อดนอน”

ดังจะเห็นได้จากคนที่ได้นอนเต็มที่จะนึกถึงสิ่งที่ครูเคยสอนได้เวลาทำข้อสอบ ส่วนคนที่อดนอนนั้นแม้จะตอบได้แต่คำตอบนั้นอาจไม่ตรง เพราะสมองได้ความจำเพี้ยนช่วงอดนอนไปครับ

4) ดื่มเครื่องดื่มต้องห้าม

ควรเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีผลต่อสมองโดยเฉพาะ “แอลกอฮอล์” และสารเสพติดอื่นๆ เพราะแอลกอฮอล์มีผลต่อความจำในหลายแบบ

โดยกลไกของมันคือ เจาะลึกเข้าไปทำลายถึงเนื้อสมองส่วน “ฮิปโปแคมพัส” ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวกับความจำ ส่งผลต่อสารสื่อประสาทและการกระตุ้นความจำและการเรียนรู้ (Long-term potentiation) พูดให้เห็นภาพก็คือเข้าไปกวนเคมีสมองจนป่วยไปหมด

ส่วน “กาแฟ” มีการศึกษาว่าคาเฟอีนอาจมีผลช่วยกระตุ้นความตื่นตัวและความจำได้ แต่ขอแนะนำว่าการดื่มอย่างไม่มากไปจะดีที่สุดครับ

5) ไม่ชอบเขียน

เด็กสมัยก่อนแสนโชคดีที่ได้เรียน “เขียนเรียงความ” ทั้งได้ทำข้อสอบ “เขียนตอบ” ซึ่งเป็นการฝึกสมองอย่างดียิ่ง เพราะการเขียนช่วยให้เราจำซ้ำอีกรอบหนึ่งซึ่งทำให้จำได้แม่นแบบที่เรียกว่า “เห็นภาพ” เพราะการเขียนนั้นช่วยตราประทับเข้าไปในสมองครับ

เคล็ดลับก็คือ ให้หมั่นเขียนหรือพิมพ์ก็ได้เป็นการใช้สมองในทางที่ถูก โดยให้ฝึกทักษะการเขียนไปเรื่อยอย่าให้ขาด จะเป็นการช่วยความจำได้มากครับ

6) อยู่ว่างเกินไป

การอยู่ว่างอย่างไร้ความหมายทำให้อันตรายต่อสมองได้ ดังมีงานวิจัยจาก CUNY เผยว่าคนที่ว่างงานมีความเสี่ยงต่อโรคร้ายอย่าง “หัวใจวาย” และ “โรคหลอดเลือดสมอง(Stroke)” ได้มากกว่า 2 เท่าของผู้ที่มีงานทำ

ซึ่งแม้เรื่องนี้จะเกี่ยวกับงานแต่การอยู่ว่างไปด้วยเหตุอื่นก็เป็นเรื่องเสี่ยงสุขภาพอยู่แล้ว เพราะคนเราที่ว่างมีโอกาสฟุ้งซ่านได้ พาให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้า เสี่ยงต่อโรคอ้วนซึ่งจะชวนเพื่อนโรคอื่นมาด้วยอีกมาก

ขอให้คิดไว้เสมอว่าความว่างอย่างไร้สติคือ บ่อเกิดของโรคร้ายทั้งมวล

7) ติดโกหก

นิสัยสตรอเบอ เอ๊ย…นิสัยชอบพูดไม่จริงเป็นสิ่งหนึ่งที่มีผลต่อความจำได้ เพราะการโกหกที่เป็นการกระทำด้านลบนั้นมีผลต่อสมอง

เพราะการโกหกคำโตมีผลโดยตรงทำให้สมองเครียดอย่างไม่รู้ตัว เพราะลึกๆ เกรงคนจับได้ ซึ่งแทนที่จะได้ใช้เนื้อสมองไปกับการคิดสิ่งสร้างสรรค์กลับต้องมาคอยระวังและระแวงสร้างเรื่องไปเรื่อยไม่ให้ใครจับได้

แม้เจ้าตัวจะบอกไม่เครียดแต่มันก็สร้างตะกอนทุกข์ไว้ในจิตใต้สำนึก ดังนั้นแม้การโกหกจะไม่ได้ทำให้จมูกยาวเหมือนพิน็อคคิโอ แต่ก็ส่งผลต่อความจำได้นะครับ

ทั้งหมดนี้เป็นนิสัยที่ควรเลี่ยง เพื่อช่วยให้ความรู้สึกลืมง่ายหรือไม่มีสมาธิค่อยๆ ออกจากชีวิตไป เพราะในกลไกของความจำนั้นมีส่วนประกอบให้เห็นภาพง่ายอยู่ 3 ส่วนคือ ความจำชั่วขณะ, ความจำระยะสั้น, และความจำระยะยาว ซึ่งเมื่อมีสิ่งเร้าเข้ามาก็จะเริ่มผ่านเข้ามาที่ความจำชั่วขณะแรกก่อน แล้วถ้าเราตั้งใจจำ ก็จะได้เป็นความจำที่ถาวรขึ้นไป ดังที่ได้ฝากเทคนิกช่วยจำเลี่ยงลืมเอาไว้

เผื่อช่วยเบาแรงให้ท่านได้บ้าง
* ช่วยคลิก Like ด้วยนะคะ เพื่อเป็นแฟนเพจ Lady Manager รับข่าวสารแซ่บๆ ของผู้หญิงในแวดวงสุขภาพความงาม แฟชั่น และความสัมพันธ์ (**)

พิเศษสำหรับแฟนเพจ! ส่งความสวย เตรียมรับปี58 เชิญทำทรีตเมนต์ Tripolar Cellulite Free มูลค่า 6,500 บาท ฟรี! เพียงร่วมสนุกง่ายๆ เริ่มแล้ว 17 พย. - 1 ธค. ศกนี้

 
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net
กำลังโหลดความคิดเห็น