xs
xsm
sm
md
lg

“สิ่งที่แม่สอน” รวมเรื่องพระมหากรุณาธิคุณฯผ่านผู้ถวายงานประจำโต๊ะทรงงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เนื่องในวาระมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวันที่ 12ส.ค.ที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน รวมทั้งเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในหัวข้อ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กับการศึกษา”

หนึ่งในกิจกรรมที่จัดขึ้นได้แก่ งานเสวนาเรื่อง “สิ่งที่แม่สอน : เรื่องเล่าจากโต๊ะทรงงาน” โดยท่านผู้หญิงภรณี มหานนท์ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย พล.อ.ณรงค์ แสงชนะศึก รองสมุหราชองครักษ์ และเจ้าหน้าที่กองศิลปาชีพ อาทิ คุณหญิงรัตนาภรณ์ แชจอหอ และ มีลอย อุ่นเฟย ร่วมบอกเล่าประสบการณ์ในการตามเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรทั่วประเทศ

ท่านผู้หญิงภรณี ผู้ถวายงานเรื่องการต่างประเทศ และนั่งประจำโต๊ะทรงงานเวลาตามเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปเยี่ยมราษฎร เล่าว่า

“สถานที่ทรงงานแต่ละแห่ง มีทั้งศาลาวัด มัสยิด ห้องเรียน บางครั้งไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ก็กางเต็นท์ชั่วคราว ส่วนโต๊ะทรงงานก็จะเป็นโต๊ะเตี้ยๆ ขาพับได้ และพื้นที่บนโต๊ะทรงงานก็มีผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพแผนกต่างๆ วางเต็มไปหมด เพื่อให้เป็นตัวอย่างให้กับราษฎรที่มาเข้าเฝ้าฯ ได้เห็น ส่วนการชักชวนให้มาเป็นสมาชิกศิลปาชีพ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยพระปรีชาสามารถ รวมทั้งสายพระเนตร และพระวินิจฉัยที่เฉียบแหลม ในการเลือกงานให้ตรงกับความสามารถของแต่ละคน จนสามารถเรียนรู้ และทำงานถวายพระองค์ท่าน กระทั่งเกิดเป็นศิลปาชีพถึงทุกวันนี้”

คุณหญิงรัตนาภรณ์ ซี่งถวายงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เล่าว่า ก่อนที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จฯ ไปเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ต่างๆ จะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ล่วงหน้า เพื่อซักประวัติ และสอบถามข้อมูลต่างๆ จากประชาชน โดยจะพยายามคัดเลือกผู้ที่ขาดแคลนและยากไร้ที่ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนให้มาก เพื่อนำถวายเมื่อเสด็จฯ ถึง

“ประชาชนที่เจ้าหน้าที่ช่วยคัดเลือก และคิดว่าได้รับความทุกข์ยากมากมายแล้วนั้น แต่พระองค์ท่านกลับทอดพระเนตรเห็นคนที่ได้รับความทุกข์ยากมากยิ่งกว่า และทรงสอนให้มองคนที่แววตา แม้ว่าบางคนจะแต่งตัวดีก็ตาม พระองค์ท่านรับสั่งเหตุผลให้พวกเราฟังว่า ที่วันนี้พวกเขาแต่งตัวดี เพราะทุกคนพยายามหาเสื้อผ้าที่ดูดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ เพื่อแต่งมารับเสด็จ จากนั้นพวกเราจะนำสติกเกอร์ไปติด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตามมาสอบถามข้อมูล และสุดท้ายราษฎรที่พระองค์ท่านทรงเลือกนั้น ก็มีชีวิตที่ยากลำบากมากจริงๆ

ท่านผู้หญิงภรณี,คุณหญิงรัตนาภรณ์
จากนั้นราษฎรจะทยอยมาเฝ้าทีละคน พระองค์ท่านจะตรัสทักทาย ‘สวัสดีจ้ะ’ ทุกครั้ง แต่ถ้าเป็นราษฎรสูงวัยจะตรัสว่า ‘สวัสดีจ้ะแม่’ จากนั้นจะทรงจดบันทึกรายละเอียดต่างๆ จากที่ทอดพระเนตรลงไปในกระดาษประวัติทั้งหมด ทั้งความเป็นอยู่ สภาพร่างกาย อาหารการกิน สิ่งที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งสิ่งที่พระองค์ท่านทรงหาข้อมูลนั้น เป็นที่มาของการช่วยเหลือราษฎรทั้งสิ้น เช่น การที่พระองค์ท่านมีพระราชกระแสถามว่า กินข้าวกับอะไร ชาวบ้านก็จะตอบว่า กินข้าวกับปลาที่หามาจากตามภูเขาและลำธาร ซึ่งพระองค์ท่านก็จะมีพระราชดำรัสให้เจ้าหน้าที่นำพันธุ์ปลาที่ชาวบ้านกินมาปล่อย เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้ อีกเรื่องสำคัญคือ รายได้ต่อปีของประชาชน เพื่อจะได้ทรงทราบว่าชาวบ้านสามารถมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพตลอดปีหรือไม่ เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือในเรื่องอาชีพให้เขามีรายได้ โดยการชวนไปทำศิลปาชีพ”

ทุกครั้งที่เสด็จไปเยี่ยมประชาชน พระองค์ท่านจะทรงงานจนมืดค่ำเสมอ ไม่มีครั้งใดเลยที่จะเสด็จกลับเร็ว แม้กระทั่งพายุกระหน่ำจนเต็นท์หลังคาที่ประทับทรงงานแทบจะปลิวตามลม พร้อมมีพระราชดำรัสว่า ‘เขามาแล้วก็ไป’ แล้วก็ทรงงานอย่างเป็นปกติ

บางครั้งทรงงานต่อเนื่องจนดึกดื่น ไม่ได้หยุดพัก เมื่อเสด็จกลับแล้วก็ยังทรงงานต่อ จนเช้าวันรุ่งแม้จะรู้สึกประชวรก็เสด็จเยี่ยมประชาชน ครั้งนั้นทรงงานได้สักพัก อยู่ๆ ก็เสด็จพระราชดำเนินไปหลังที่ประทับ และทรงอาเจียน วันนั้นพวกเราน้ำตาไหล เพราะพระองค์ท่านทรงดูแลประชาชนจนไม่ดูแลพระองค์เอง และรับสั่งว่าประชาชนมารอจะไม่ไปได้อย่างไร

ร่วมซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณได้กับกิจกรรมเสวนา เรื่อง “ผ้าไทยในวิถีชีวิต” โดยเพจนุ่งซิ่นอินเตอร์ ร่วมพูดคุยกับบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่นิยมนำผ้าไทยมาใช้ในชีวิตประจำวัน 20 ก.ย.นี้ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ดูรายละเอียดที่ www.facebook.com/qsmtthailand

 
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net
กำลังโหลดความคิดเห็น