หาก รพินทร์ ไพรวัลย์ แห่งเพชรพระอุมา ที่ถือ “ไรเฟิล” ไล่ล่าเสือโคร่ง คือพระเอกของนักอ่านนวนิยายไทยแล้วล่ะก็ หมอน็อต- ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม นายสัตวแพทย์หนุ่มคนนี้ ก็คงเป็นยิ่งกว่าพระเอกของเหล่าสัตว์ป่าอย่างแน่นอน เพราะเขามีหน้าที่รักษาชีวิตของสัตว์ป่า ซึ่งไม่ต่างกับบทพระเอกที่โลดแล่นในชีวิตจริงเลยแม้แต่น้อย ด้วยอาชีพและหน้าที่ที่ต้องบุกป่าฝ่าดง ไปช่วยยื้อลมหายใจของสัตว์ป่า ให้หัวใจยังเต้นได้ต่อไปนั้น เป็นหนึ่งในนิสัยขั้นพื้นฐานของพระเอกในนวนิยายทั่วไป
วันที่เมฆหมอกเต็มท้องฟ้า เรามีนัดคุยกับ หมอน็อต ผู้จัดการโครงการภัยพิบัติ องค์กรพิทักษ์สัตว์โลก สัตวแพทย์หนุ่มอนาคตไกล ผู้ซึ่งแสดงให้เราเห็นว่า จริงๆ แล้วความรู้คู่คุณธรรมนั้นเป็นอย่างไร ?
หมอน็อตบอกถึงเหตุผลที่เลือกเรียนเป็นหมอรักษาสัตว์ว่า เป็นเพราะคลุกคลีกับสัตว์มาตั้งแต่เด็ก โดยสัตว์เลี้ยงมีทั้งสุนัขและแมว แต่ที่รักและจำฝังใจที่สุดคือ "ไก่" ชื่อ "โต้ง" เป็นไก่ที่รู้เรื่องและดุมาก เขามักพาโต้งเกาะแฮนด์จักรยานปั่นไปเที่ยวด้วยตลอด ถ้าอยู่บ้านโต้งก็จะทำหน้าที่คล้ายสุนัข คือเวลาใครเข้ามาในบ้านโดยคนในบ้านไม่รู้ ก็จะโดน “โต้ง” ไล่จิกจนเป็นที่รู้กันว่าห้ามเข้าบ้านน็อตเด็ดขาด แล้ววันหนึ่งที่เจ้าโต้งป่วยและจากไป ทำให้เขารู้สึกเสียใจที่ขาดเพื่อนคู่หู ในวันนั้น หากเขาเป็นสัตวแพทย์เหมือนอย่างตอนนี้ เขาคงได้มีโอกาสยืดชีวิตเจ้าโต้งออกไปได้
“ตอนเอนทรานซ์ได้คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ดีใจนะครับ ยิ่งได้เข้ามาเรียนก็ยิ่งรู้สึกว่าอาชีพสัตวแพทย์ทำอะไรได้มากมาย ช่วยทั้งคนทั้งสัตว์ได้ เพราะช่วยชีวิตสัตว์ที่บาดเจ็บตัวหนึ่ง ก็ย่อมส่งผลต่อคนที่เป็นเจ้าของอย่างแน่นอน เพราะคนกับสัตว์เลี้ยง หรือถ้าใหญ่หน่อยคือ ชุมชนกับสัตว์ป่า ทั้งสองอย่างมีความสัมพันเกี่ยวเนื่องกันมาก”
ปี 2008 หลังรับพระราชทานปริญญาบัตรเรียบร้อยแล้ว หมอน็อตก็เข้าทำงานที่องค์กร World Animal Protection (ตอนนั้นยังใช้ชื่อ WSPA) ทันที โดยสัปดาห์แรกของการทำงาน ก็ได้ลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งกำลังเกิดเหตุน้ำท่วมภาคอีสาน ทั้งภูมิภาคมีทีมทำงานดูแลช่วยเหลือสัตว์ป่าอยู่ประมาณ 3-4 คน “ทำงานกันหัวหมุนไปหมด เพราะเพิ่งตั้งทีมใหม่ๆ ผมเองก็เข้ามาในฐานะเจ้าหน้าที่ฝึกงาน (Intern) แต่ความที่ต้องทำงานปนเปกันไปหมด ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้งานเยอะมาก และโชคดีที่ทุกคนก็ทำงานเข้ากันเป็นทีมได้ดีมาก มันเป็นความประทับใจถึงวันนี้ ทุกครั้งถ้ามีโอกาสเล่าเรื่องการทำงานให้คนอื่นฟัง ผมจะพูดถึงทีมผมเสมอ เพราะการทำงานทุกอย่างไม่ว่างานเล็กหรืองานระดับนานาชาติ ถ้าไม่ร่วมมือกัน จะไม่มีทางสำเร็จอย่างที่ต้องการแน่นอน”
การปฏิบัติงานที่ทุ่มเท ทำให้ หมอน็อตได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการโครงการภัยพิบัติ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ในปี 2556 นับเป็นสัตวแพทย์หนุ่มที่เข้ามารับตำแหน่งเร็วกว่าที่คิด
“ผมไม่ได้คิดว่าเร็วหรือช้า ผมคิดว่าเป็นความท้าทายมากกว่าครับ มียากบ้าง มีเครียดบ้างเป็นปกติ เหมือนงานทุกงานนั่นและครับ จะต่างกันที่เราเดาสถานการณ์ในการทำงานยาก เพราะมันคือเรื่องของเหตุการณ์ภัยพิบัติ และแทบจะวางแผนเวลาส่วนตัวอะไรไม่ได้เลย เราต้องทำเป็นทีม ถ้าเรามีทีมที่ดี งานก็จะง่ายขึ้นมาก แต่หากเราเจอสถานการณ์ในทางตรงกันข้าม ก็คงปวดหัวมากทีเดียว สำหรับผมถือว่าโชคดีที่มีทีมดี และได้ทำงานในองค์กรที่มีระบบการทำงานที่เป็นมาตรฐาน ทำให้งานเราง่ายขึ้นพอสมควร”
สำหรับ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) เป็นองค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพสัตว์และยุติการทารุณกรรมสัตว์ ก่อตั้งปี พ.ศ.2534 สหราชอาณาจักร มีสาขาสำนักงานทั้งหมด 17 สาขาทั่วโลก และมีบทบาทให้คำปรึกษากับองค์การสหประชาชาติ และสภายุโรป
หมอน็อตยังเล่าถึงการทำงานว่า ต้องดูแลสัตว์ป่าทั้งวงจร ตั้งแต่คอยตรวจสอบสถานการณ์ทั่วโลก โดยเฉพาะ ในพื้นที่รับผิดชอบในโซนเอเชียแปซิฟิก และประสานกับผู้ประสานงานขององค์กรที่อยู่ในหลายๆ ประเทศทั่วภูมิภาค หากประเมินว่าสถานการณ์ภัยพิบัติ มีโอกาสกระทบต่อสัตว์และชุมชน ก็ต้องลงพื้นที่ช่วยเหลือ “ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ ทุกครั้งที่มีภัยพิบัติ เหตุการณ์จะไม่เหมือนกัน ถ้าต้องลงพื้นที่ ทีมงานของผมมีประมาณ 1-2 คน หรืออาจมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรง ความปลอดภัย ถ้าเกินกำลังก็ต้องขอความช่วยเหลือ จากองค์กร”
และขณะที่เรากำลังสดชื่นกับฝนต้นฤดู แต่หมอน็อตและทีมงานแทบจะไม่มีเวลาสนุกสนาน กับบรรยากาศที่น่าภิรมย์ได้เหมือนพวกเรา ในทางตรงกันข้าม พวกเขากลับต้องทำงานหนักกว่าเดิม เพราะต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ภายในป่าตลอดเวลา โดยมรสุมของโซนเอเชีย จะมีช่วง กรกฎาคม-ตุลาคม เมื่อหมดฤดูมรสุมเอเชีย พวกเขาก็ต้องเฝ้าดูมรสุมแถบแปซิฟิก ที่เกิดขึ้นต่อกันคือ กันยายน-เมษายน
อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่แต่ละครั้ง ก็มีเหตุการณ์ประทับใจเกือบทุกครั้ง แต่ที่ประทับใจมากก็คือ ตอนไปสำรวจผลกระทบเพื่อช่วยเหลือสัตว์หลังพายุหิมะที่ทางเหนือของอินเดีย พื้นที่ที่จะเข้าไปเป็นเขตชายแดนของอินเดีย ที่ติดกับชนเผ่าเร่ร่อน (normad) ตอนจะไปแม้จะมีการประสานงาน และขออนุญาตเข้าไปในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว พอถึงวันจริง ก็มีปัญหาเรื่องพรมแดนที่อาจทำให้พวกเขาต้องถูกจับตัวได้
“มีหมู่บ้านหนึ่งเขาย้ายไปใกล้กับเขตพรมแดนของชนเผ่าเร่ร่อนมาก คณะของเราก็ขับรถตามหาจนเจอ แต่พอเข้าไปคุยได้ไม่นาน ปรากฏว่ามีรถทหารขับตามมาประกบ แล้วเข้ามาตรวจค้นพวกเรา ตอนแรกทำท่าจะเอาเรื่อง โชคดีที่เราแจ้งทางปกครองของพื้นที่นั้นไว้แล้ว พอประสานเรื่องไปเขาก็มาช่วยทัน ยังโชคดีที่เราไม่ได้ข้ามออกไปอีกประเทศ ไม่งั้นก็คงติดคุกแน่นอนครับ เรื่องพรมแดนเป็นเรื่องอันตรายมาก เราไม่รู้ว่าแต่ละเผ่า แต่ละชนชาติมีกฎหมายอย่างไรบ้าง บางทีถึงขั้นประหารชีวิตก็มีนะครับ” สัตวแพทย์หนุ่มกล่าวพร้อมรอยยิ้ม
แม้ชีวิตการทำงานของเขา จะเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากสัตว์ป่า และเงื้อมมือมนุษย์ด้วยกันเองก็ตามที แต่หมอน็อตก็บอกว่า ไม่เคยกลัว เพราะหากมัวแต่กลัวสัตว์ป่าก็คงต้องสูญพันธุ์ ป่าไม้ที่ขาดสัตว์คงจะเป็นป่าที่สมบูรณ์ไม่ได้ “ถึงตอนนั้น ต่อให้บ้านเมืองมีความศิวิไลซ์มากแค่ไหน หากโลกมนุษย์ขาดป่าที่สมบูรณ์ โลกกลมๆ ใบนี้ ก็คงเป็นเสมือนโลกที่พิกลพิการ ปราศจากความงดงามแห่งวิถีธรรมชาติอย่างแน่นอน”