xs
xsm
sm
md
lg

มากกว่า “แรงบันดาลใจ” คือ “แรงบันดาลไทย” ไพโรจน์ ธีระประภา หรือ โรจน์ สยามรวย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ART EYE VIEW---นับเป็นกำลังใจให้กับคนทำงานทางด้านออกแบบกราฟิก (graphic design) และทุ่มเทให้กับงานทางด้านนี้มายาวนาน

เมื่อชื่อของ ไพโรจน์ ธีระประภา เป็นหนึ่งในศิลปินร่วมสมัยที่ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม คัดเลือกให้เป็นผู้ได้รับ “รางวัลศิลปาธร” ปีล่าสุด

จึงพลอยทำให้บางคนได้รับรู้ความจริงจาก ศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาเรขศิลป์ ปี 2557  ท่านนี้ว่า “เรขศิลป์” หมายถึงอะไร

“คนทั่วไปจะรู้จักคำฝรั่ง graphic design มากกว่า ซึ่งจริงๆแล้วเรขศิลป์มันคืองานออกแบบกราฟิก ที่ราชบัณฑิต กำหนดให้เรียกเป็นภาษาไทยว่าเรขศิลป์ นั่นเองครับ”

Thai Style แบบไพโรจน์

ไพโรจน์เป็นศิษย์เก่าภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผลงานออกแบบกราฟิกอันเป็นเอกลักษณ์ของเขานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือผลงานที่พยายามนำเสนอ Thai Style ผ่านผลงาน

“และผมพยายามนำเสนอประเด็นเรื่อง นักออกแบบไทยควรจะออกแบบให้มี Thai Style”

เพราะอะไรเขาจึงพยายามนำเสนอประเด็นนี้กับคนไทยที่ทำงานอยู่ในวงการเดียวกัน

“ก็เราเป็นนักออกแบบไทยไง ถ้าเราไม่สะท้อนความเป็นตัวเรา มันก็น่าอาย เวลาเรามีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนนักออกแบบต่างชาติ ถ้าเกิดเค้าถามว่าแล้วงานประเทศคุณ เป็นยังไง Thai Style เป็นยังไง มันจะน่าอายนะ ถ้าเผื่อเราไม่มีให้เค้าดู"

อย่างไรก็ตามไพโรจน์ก็ไม่ได้เหมารวมว่าผลงานของตนเองคือตัวแทนของ Thai Style ทั้งหมด แต่เป็นเพียงหนึ่งในบรรดา Thai Style เหล่านั้น

“Thai Style มันก็อาจจะมีหลายรสชาติ มีหลายสุ้มเสียง งานของผมถือว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งแล้วกัน อย่าเหมาว่าเป็นธThai Style ทั้งหมด แต่เป็น Thai Style ในแบบไพโรจน์”

และหากถามว่า Thai Style ในแบบไพโรจน์เป็นอย่างไรเจ้าตัวไขว่า

“ในแบบของผม มันเป็นเรื่องของการทำมือมากกว่า การพิถีพิถัน การใส่ใจ คือประเทศเรา ผมคิดเอาเองว่า มันน่าจะเป็นประเทศเกษตรกรรม ไม่ใช่ประเทศอุตสาหกรรม

เพราะฉนั้นหัตถกรรม คือสิ่งที่บ่งบอกความเป็นเรามากกว่า และพอเป็นหัตกรรม มันก็คือการทำมือ ที่มันไม่ซ้ำกัน มันอาจจะไม่เป๊ะ มีแตกต่างกันบ้าง ขณะที่อุตสาหกรรมจะเป๊ะๆ แต่หัตถกรรม มันยืดหยุ่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเป็นเสน่ห์ของไทย

ดังนั้นผมก็จะทำงานออกแบบกราฟิกที่มันดูเยินๆ ถลอกๆ มั่ง”

จึงเป็นที่มาของการเปิดร้าน เดอะชนบท ร้านขายของที่ระลึกและงานทำมือที่มีกลิ่นไอ Thai Style ในแบบไพโรจน์ ซึ่งปัจจุบันได้ย้ายจากถนนพระอาทิตย์ไปอยู่ที่ถนนสามเสน

“ใช่ผมอยากจะนำเสนอว่า ทั่วโลกเขาโหยหาสิ่งเหล่านี้ เราไม่ต้องไปเหมือนกันทั้งโลก เราไม่ต้องไปตามดูดฝรั่ง แต่เขาอยากจะเห็นไทยแบบนี้ ก็เลยอยากจะทำให้ดู โดยการทำร้านขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้ไปโปรโมทแนวคิดอะไรมาก เพียงแต่คิดแบบนี้ และคิดแล้วทำ ใครอยากจะเรียนรู้ก็มาดูได้”


โรจน์ สยามรวย

แต่ก่อนจะมาเป็นเจ้าของร้าน “เดอะชนบท” ในปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการเป็นอาจารย์พิเศษสอนทางด้านการออกแบบตัวอักษรและศิลปะไทยเพื่อการออกแบบนิเทศศิลป์

หลังจากที่เรียนจบไพโรจน์เคยทำงานเป็นผู้กำกับศิลป์ให้กับบริษัทด้านการออกแบบ แล้วลาออกมารับงานอิสระในนาม สยามรวย ดีไซน์  พร้อมกับทำร้านขายของที่ระลึก โดยเฉพาะเสื้อยืดที่รู้สึกกันดีในชื่อแบรนด์ สยามรวย

แม้ในเวลาต่อมาร้านจะปิดตัวลง แต่หลายคนก็ยังคงจดจำตัวอักษรที่เขาออกแบบและพิมพ์ลงไปบนของที่ระลึกต่างๆเหล่านั้น และยังคงเรียกเขาติดปากมาจนถึงทุกวันนี้ว่า โรจน์ สยามรวย


นักออกแบบคู่บุญผู้กำกับหนัง “วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง”

ผลงานออกแบบกราฟิกและตัวอักษร ในแบบ Thai Style ของไพโรจน์ เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เมื่อเขารับหน้าที่เป็นออกแบบกราฟิกและตัวอักษรให้กับภาพยนตร์เรื่อง “ฟ้าทลายโจร” ของผู้กำกับ วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง ตามมาด้วยภาพยนตร์เรื่อง “15 ค่ำ เดือน 11” ของผู้กำกับ จิระ มะลิกุล และอีกหลายๆเรื่องของวิศิษฎ์ อาทิ หมานคร เป็นชู้กับผี อินทรีแดง ฯลฯ รวมไปถึงงานออกแบบตัวอักษรเพื่อการอื่น และล่าสุดเพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์โอกาสครบรอบ 70 ปี มหาวิทยาลัยศิลปากร

“ผมทำสยามรวยอยู่ก่อนไง พอพี่วิศิษฎ์รู้ว่าผมทำแนวนี้ ตัวอักษรที่มันดูประดิษฐ์ มีความเป็นไทย ค่อนข้างเป็นไปในทางย้อนยุค ซึ่งมันเข้ากันได้กับหนังของแก ก็เลยให้ผมเป็นคนออกแบบงานให้

พี่วิศิษฎ์ ก็เป็นศิษย์เก่าศิลปากรคนหนึ่ง มีแนวทางในการทำหนังที่แปลก และช่างคิด

อย่างเรื่องฟ้าทลายโจรที่แกทำ แนวทางมันใช่กับแนวทางของงานที่ผมทำอยู่ เค้าอยากจะทำหนังไทยที่เคารพครูบาอาจารย์หนังไทย เป็นหนังย้อนยุค มีฉากเป็นสีสดๆ มีเรื่องราวเกี่ยวกับความรัก

พอเรื่องราวย้อนยุค ทั้งหมดที่เกี่ยวกับหนังก็เลยย้อนยุคตาม แกก็เลยให้ผมทำงาน พอคนจำหนังได้ ก็เลยจำงานออกแบบกราฟิกและตัวอักษรในหนังได้ด้วย”


แรงบันดาลไทย

สิ่งที่น่าสนใจและน่าติดตามดูกันต่อไป ปัจจุบันไพโรจน์ยังได้ร่วมกับเพื่อนๆในวงการออกแบบบกราฟิก ได้แก่ ไพโรจน์ พิทยเมธี(อริสโตตึ๋ง),ผศ.อาวิน อินทรังษี และธีรวัฒน์ พจน์วิบูลย์ศิริ(พจน์อักษรสนาน) ทำโครงการ แรงบันดาลไทย

เพื่อกระตุ้นให้คนในวงการออกแบบกราฟิกไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้ออกไปชื่นชมศิลปะไทยตามสถานที่ต่างๆ ในชุมชนของตนเอง โดยเฉพาะวัด เพื่อหาแรงบันดาลใจมาทำงานออกแบบกราฟิกที่สะท้อนความเป็น Thai Style ในแบบของตัวเอง ซึ่งนอกจากไพโรจน์และเพื่อนในกลุ่มจะทำงานออกมาเพื่อเป็นตัวอย่างให้ชม ยังมีการแจกชุดสี Thai Tone ไปให้ทดลองใช้เวลาทำงานออกแบบกราฟิก

“ต้องยอมรับว่างานกราฟิกที่เป็น Thai Style มันยังมัวๆอยู่ ยังไม่ชัด แต่เรากำลังพยายามทำกันฮะ โครงการนี้เป็นโครงการที่ผมและเพื่อน ทำเพื่อคนวงการด้วยกัน ที่กำลังค้นหาว่า Thai Style เป็นแบบไหน และนำเสนองานเป็นตัวอย่างให้ดูว่า หรือลองทำแบบนี้ไม๊ มีวิธีการแบบนี้

พยายามทำให้เห็นว่างานลายไทย งานศิลปะไทยเนี่ยมันทันสมัยและร่วมสมัยได้

โดยเฉพาะคุณมีภูมิลำเนาที่ไหน คุณสำนึกรักบ้านเกิด คุณก็ใช้งานศิลปะที่ไปพบเห็นได้ตามวัดแถวบ้านคุณมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ แล้วลองออกแบบดูสิว่า มันจะออกมาเป็นงานกราฟิกดีไซน์แบบไหนและที่มันเป็นตัวคุณด้วย ผมก็เป็นผม คนนู้นก็เป็นคนนู้น ของใครของมัน งานหลากหลายมากขึ้น เพราะแต่ละคนจะมีชั้นเชิงไม่เหมือนกัน

ผมและเพื่อนที่ทำโครงการพยายามที่จะบอกด้วยว่า วัดนี่แหล่ะเป็นแหล่งต้นทุนที่สุดยอด ในการที่หยิบยืมงานศิลปะมานำเสนอผ่านงานกราฟิกไทย ไปวัดกันเถอะ แล้วเอางานศิลปะจากวัดมาออกแบบ”

สิ่งสำคัญอันหนึ่งก็เพื่อที่จะกระตุกหรือกระตุ้นให้เด็กรุ่นใหม่ หันมาสนใจรากเหง้าของตัวเอง

“ เพราะถ้าเผื่อไม่กระตุกไว้ เดี๋ยวจะสายเกินไป เพื่อที่จะบอกว่า ถ้าเราในวงการกราฟิกไม่สนใจ Thai Style ต่อไปมันก็จะไม่มีนะ มันจะหมดสิ้นไป”



อย่าให้ "หมดสิ้นสไตล์ไทย"

ดังที่ไพโรจน์ ได้หยิบยืมเนื้อหาท่อนหนึ่งของเพลง “สยามานุสติ” มานำเสนอผ่านตัวอักษรที่เขาออกแบบและได้เปลี่ยนคำสุดท้ายจาก “หมดสิ้นสกุลไทย” เป็น “หมดสิ้นสไตล์ไทย”

หากสยามยังอยู่ยั้ง ยืนยง
เราก็เหมือนอยู่คง ชีพด้วย
หากสยามพินาศลง ไทยอยู่ ได้ฤๅ
เราก็เหมือนมอดม้วย หมดสิ้นสไตล์ไทย

“กราฟิกดีไซน์เนอร์ไทย ทำงานเลียนแบบฝรั่ง ญี่ปุ่น หรือคนนั้นคนนี้ ทำไมเราไม่มาทำงานเป็นสไตล์ไทยล่ะ ก็เลยต้องพยายามบอกว่า เดี๋ยวมันจะหมดสิ้นสไตล์ไทยนะ”

โครงการ “แรงบันดาลไทย” เริ่มต้นมาตั้งแต่ ปี 2555 และได้เผยแพร่ออกไปในระดับหนึ่ง ไพโรจน์จึงได้แต่หวังว่ามันจะถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางและมีคนหันมามองมากขึ้น หลังจากที่เขาเป็นผู้ถูกคัดเลือกให้ได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาเรขศิลป์ และเป็นผู้หนึ่งที่กำลังร่วมขับเคลื่อนสิ่งนี้เพื่อประโยชน์ต่อคนในวงการเดียวกัน

“ยังน้อย ยังไม่ได้เป็นเรื่องที่เป็นที่รับรู้มากมายอะไร แต่มันเป็นเรื่องที่เรามองว่ามันต้องฉายซ้ำเรื่อยๆ เราทำกัน ด้วยลูกบ้าที่อยากจะทำ เงินทองก็เสีย จริงๆไม่ใช่แค่กลุ่มผมที่พยายามหาอัตลักษณ์ของเรา จริงๆคนในวงการต้องการหาทั้งนั้น แต่มันหาไม่ได้ แล้วทุกคนก็วางไว้ ไม่มีใครทำอะไร แต่เราไม่ยอม เราจะทำให้ดู แล้วเราก็ทำขึ้นมา ควักเงินกันทำ เป็นหนี้เป็นสินก็ทำ

ทำไปทำไม ขายก็ขายไม่ได้ ต้องเข้าใจว่างานกราฟิก มันต้องมีโจทย์ทางการค้าเหมือนกัน ซึ่งกราฟิกดีไซเนอร์ที่เขากำลังทำสไตล์ไทยนี้อยู่ เค้าอาจไม่มีโอกาส เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโจทย์ทางการค้านั้น แต่ถ้าเผื่อผมเผยแพร่เยอะๆ หรือกรณีที่เขาให้รางวัล(ศิลปาธร)ผมมา เผื่อลูกค้าจะรู้สึกว่า งานไทยๆมันดี เขาอาจจะมีงานบางงานมาให้กับดีไซเนอร์รุ่นใหม่ทำบ้างก็จะดี”

และในฐานะผู้ที่เพิ่งได้รับเกียรติ ได้รับการการันตีว่าเป็นมืออาชีพทางด้านนี้ ไพโรจน์มีสิ่งที่อยากจะฝากไปยังคนรุ่นใหม่ที่กำลังสนใจทำงานในสาขาเดียวกับตนว่า

“ผมเคยพูดอยู่เรื่อยๆว่า การตามเทรนด์โลกมันไม่ผิด เรียนรู้ไว้ แต่ว่าตอนนี้ มันมีตัวอย่างของกลุ่มผมที่ทำให้ดูว่า
ถ้าอยากทำงานไทยๆ ก็ลองมาศึกษาวิธีการที่พวกผมทำกันดู แล้วไม่ต้องทำเหมือนก็ได้ คิดเองก็ได้

แต่ว่าอันนี้มีคนทำให้ดูแล้ว และมันก็พอใช้ได้ ถ้าเผื่อคุณคิดได้ดีกว่านี้ก็ดี เพื่อที่ว่าจะได้ช่วยกันให้มันมีสไตล์ไทยเกิดขึ้น ซึ่งผมทำคนเดียว หรือกลุ่มผมทำกลุ่มเดียวไม่ได้ มันต้องการกำลังของคนรุ่นใหม่

เพราะวันข้างหน้าคุณก็ต้องเป็นกำลังหลัก คุณต้องมาทำหน้าที่ตรงนี้เหมือนกัน ถ้าเผื่อคุณยังคิดว่าคุณยังเป็น Thai Designer

ถ้าไม่งั้นคุณก็จะเป็นดีไซเนอร์เฉยๆทั่วไป แต่ถ้าเผื่อคุณเติมความเป็นไทย คุณก็จะเป็น Thai Designer”

Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : เดอะชนบท และ Aoy P.


หลังจากที่ สำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดพิธีมอบรางวัลให้แก่ศิลปินร่วมสมัย ที่ถูกคัดเลือกให้ได้รับ

รางวัล "ศิลปาธร ปี 2557"

ได้แก่

สาขาทัศนศิลป์ นายสุรสีห์ กุศลวงศ์

สาขาวรรณศิลป์ นายเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์

สาขาดนตรี นายวานิช โปตะวนิช

สาขาศิลปะการแสดง นางสาวจารุนันท์ พันธชาติ

สาขาภาพยนตร์ นายคงเดช จาตุรันต์รัศมี

สาขาสถาปัตยกรรม นายสุริยะ อัมพันศิริรัตน์

สาขาเรขศิลป์ นายไพโรจน์ ธีระประภา

สาขาการออกแบบ นายชัยยุทธ พลายเพ็ชร์

วันนี้ - 27 กรกฎาคม พ.ศ.2557 เชิญผู้สนใจไปชมนิทรรศการแสดงผลงาน พร้อมประวัติของศิลปินศิลปาธรปีล่าสุด ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน

รางวัลศิลปาธร เป็นโครงการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินรุ่นกลาง อายุระหว่าง 30- 50 ปี โดยประมาณ ที่มีผลงานการสร้างสรรค์ศิลปะอย่างต่อเนื่อง เป็นที่โดดเด่น มีการริเริ่มสิ่งใหม่ทางศิลปะร่วมสมัย และเกิดผลกระทบเชิงบวกแก่สังคม มีด้วยกัน 9 สาขา ได้แก่ ทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ ดนตรี ศิลปะการแสดง ภาพยนตร์ สถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ เรขศิลป์ และการออกแบบ

เพื่อให้เป็นขวัญและกำลังใจแก่ผู้สร้างสรรค์ผลงาน อีกทั้งเป็นการจุดประกายให้วงการศิลปะเกิดการตื่นตัว และกระตุ้นให้ศิลปินได้พัฒนาศักยภาพในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าออกสู่สังคมอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล

กระบวนการคัดเลือกศิลปินศิลปาธร ดำเนินการผ่านการรับสมัครศิลปินสาขาต่างๆ พร้อมผลงาน โดยสำนักงานฯ ได้แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลปะจากสาขาต่าง ๆ นักวิชาการ และนักวิจารณ์งานศิลปะ ผู้ที่มีความรู้ในเรื่องศิลปะแต่ละสาขา ซึ่งคณะกรรมการ แบ่งเป็น 3 ชุด คือ คณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการสรรหา ทำหน้าที่คัดสรร กลั่นกรองศิลปินรุ่นกลางที่มีคุณสมบัติดังกล่าว สาขาละ 3 - 5 คน จากนั้นเสนอรายชื่อพร้อมผลงานต่อคณะกรรมการตัดสิน เพื่อคัดเลือกเป็นศิลปินศิลปาธรสาขาต่างๆ สาขาละ 1 คน ซึ่งคณะกรรมการทั้งสามชุดจะสับเปลี่ยนกันไปในแต่ละปี

ทั้งนี้ นับแต่เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ถึงปัจจุบัน มีศิลปินที่ได้รับคัดเลือกเป็นศิลปินศิลปาธรจำนวน 52 คน โดย ศิลปินศิลปาธรจะได้รับเงินรางวัลคนละ 100,000 บาท พร้อมเข็มเชิดชูเกียรติ







ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews


กำลังโหลดความคิดเห็น