ART EYE VIEW---หลายเดือนมาแล้วที่อาคารซึ่งเคยถูกทิ้งร้างมาเกือบ 20 ปี บริเวณ 500 เมตรก่อนถึงตัวตลาด อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งที่ทางของน้องหมาน้องแมว และศิลปะ โดยถูกให้ชื่อว่า หอศิลป์บ้านพระบาท
เพราะขณะที่ชั้นล่าง ถูกใช้เป็นพื้นที่สำหรับจำหน่ายของทำมือเกี่ยวกับหมาและแมว บริเวณ ชั้น 2 ก็ได้ถูกใช้เป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดงงานศิลปะหมุนเวียน ที่เกี่ยวกับหมาและแมวอีกเช่นกัน
จากอาคารร้าง สู่หอศิลป์ของ “หมู่หมาและมวลแมว”
เนริมา เศรษฐพันธ์ คือผู้ริเริ่มและดูแลหอศิลป์ฯแห่งนี้ เธอเป็นชาวกรุงเทพฯ ที่ย้ายตัวเองไปอยู่ที่ อ.พระพุทธบาท เมื่อหลายปีก่อน ด้วยเหตุที่ต้องการพื้นที่ซึ่งกว้างเพียงพอสำหรับการเลี้ยงดูหมาและแมวจำนวนมากที่อยู่ในอุปการะของเธอ
“ด้วยความที่หมาแมวเราเยอะ วันนึงจึงรู้สึกเกรงใจลูก เพราะเขาเพิ่งแต่งงานและมีลูกเล็กๆ อีกอย่างเป็นหมาแมวจรที่เก็บมาเลี้ยง พอเห็นลูกไม่มาใช้พื้นที่ส่วนกลางด้วย เราก็เลยมีความรู้สึกว่าเขาคงไม่สบายใจ จึงย้ายมาอยู่ที่นี่”
นาน 5 ปี ที่เธอสังเกตเห็นอาคารหลังนี้ถูกทิ้งร้าง ไม่มีผู้ใช้งาน เพราะบ้านของเธอตั้งอยู่เยื้องๆกับอาคาร ดังนั้นในเวลาที่ผ่านไปมาตลาดในแต่ละครั้งจะต้องผ่านอาคารและอดสังเกตเป็นไม่ได้
กระทั่งวันหนึ่งได้มีโอกาสรู้จักกับผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งยินดีให้เธอเข้ามาแปลงสภาพพื้นที่ในตัวอาคารให้กลายเป็นหอศิลป์ฯในที่สุด
“ 5 ปี ถึงได้รู้ว่าเป็นของใคร จึงเดินเข้าไปคุยกับเขา ซึ่งเป็นคนมีสตางค์ เป็นเจ้าของร้านวัสดุก่อสร้าง เป็นเจ้าของหมู่บ้านอะไรเยอะแยะ
ซึ่งเขาบอกว่าที่ผ่านมาผมเอากำไรมาเยอะแล้ว ผมให้พื้นที่ตรงนี้ให้พี่ไปใช้งานก็ได้ ดิฉันก็เลยเข้ามาทำและต้องปรับปรุงใหม่ทั้งหมด เพราะประตูก็ไม่มี ไฟก็ไม่มี จนถึงตอนนี้ หอศิลป์ฯ เปิดมาแล้ว 9 เดือน”
เนริมาไม่ได้เรียนจบมาทางด้านศิลปะแต่อย่างใด ทว่าจบมาทางด้านเศรษฐศาสตร์ โดยก่อนหน้าที่จะมาเลี้ยงดูหมาแมวและทำหอศิลป์ฯเต็มเวลา เธอมีอาชีพทำธุรกิจส่วนตัว
ด้วยความรักความชอบในงานศิลปะ ทว่าไม่ถึงขั้นลงมือทำ จึงกลายเป็นที่มาของการริเริ่มทำหอศิลป์ซึ่งเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตที่เธอรัก
“เป็นคนรักศิลปะ ชอบศิลปะ และดิฉันเชื่อว่าโดยเนื้อแท้ของคนทุกคน มีศิลปะ และใช้ศิลปะในชีวิตประจำวันของตัวเองอยู่แล้ว
ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางสิ่งของ แต่งบ้าน แต่งตัว ทำกับข้าว ฯลฯ เราไม่คิดเท่านั้นเองว่าเราอยู่กับศิลปะตลอดเวลา แถมหลายคนยังคิดว่าตัวเองอยู่ห่างจากศิลปะ
ดิฉันอยากเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่าศิลปะมันคือชีวิตประจำวันของเรา
ศิลปะมันมีมานานแล้ว ดิฉันใกล้ชิดกับมันมาก่อนที่จะชอบหมาชอบแมว เวลาไปดูงานศิลปะที่ไหน นั่น คือแรงบันดาลใจอันหนึ่ง ที่ทำให้คิดว่า สักวันหนึ่งเราอยากจะทำหอศิลป์ฯ แต่ไม่ถึงขนาดชอบวาดรูป ดิฉันเป็นผู้หญิงประเภทห้าวหาญมาก ตอกตะปู เลื่อยไม้ ทำเองหมด(หัวเราะ)”
กองทุนพอใจ
หอศิลป์บ้านพระบาทกำลังอยู่ช่วงก่อร่างสร้างตัว ในวันที่ ART EYE VIEW ไปเยือน เราพบว่าเนริมากำลังเตรียมพื้นที่ชั้นล่างไว้สำหรับการนำตู้ต่างๆมาจัดวางบรรดาของทำมือเกี่ยวกับหมาแมวทั้งหลาย ที่ส่วนหนึ่งมีผู้บริจาคมาให้ด้วย
“ดิฉันเลี้ยงหมามาก่อน ต่อมาจึงมาเลี้ยงแมวด้วย จากที่ไม่ชอบเท่าไหร่ แต่ทุกวันนี้ดิฉันเลี้ยงแมวอยู่ 70 กว่าตัวที่บ้านเป็นพวกหมาเจ็บแมวจรทั้งหลายนี่แหล่ะ
พอมาเปิดที่นี่ ได้แมวมาเพิ่ม14 ตัว เพราะมีคนนำมาปล่อยวันเว้นวัน อาทิตย์เว้นอาทิตย์ บ้างมาในกล่อง 2-3 ตัว บ้างมาเป็นครอก”
ดังนั้นรายได้ส่วนต่างจากการจำหน่ายของที่ระลึกจะถูกนำเข้า กองทุนพอใจ ซึ่งตั้งชื่อตามแมวตัวแรกที่เนริมาเก็บมาเลี้ยง เพื่อใช้เป็นทุนสำหรับการช่วยเหลือหมาและแมว
“ถ้าเคยเห็น พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่น ของ อาจารย์เกริก ยุ้นพันธุ์ ที่อยุธยา พื้นที่ชั้นล่างของเราก็จะเป็นอารมณ์นั้น แต่จะเป็นของที่เกี่ยวกับหมาและแมวหมาเท่านั้น
ดิฉันจึงตั้งใจว่าจะใช้เป็นพื้นที่ขายของ เพื่อนำเอาส่วนต่างจากการขายไปช่วยหมาแมว
แม้แต่กาแฟก็เป็นกาแฟปลอดสาร จากไร่เล็กๆที่ดิฉันปลูกเองที่ จ.เชียงใหม่
และอยากให้ที่นี่เป็นเหมือนพื้นที่ๆน้องมาหาพี่ มานั่งคุยกัน มารู้จักกัน มากินกาแฟ รายได้จากการขายกาแฟแก้วนึง ดิฉันไม่ได้หวังอะไรมาก ขอเพียงให้ในแต่ละวันที่ชีวิตตื่นขึ้นมาทุกเช้า เรารู้ว่าเรามีอะไรที่ต้องทำ เรายังมีชีวิตอยู่เนอะ เราต้องไปเปิดหอศิลป์ให้คนดู
ขายกาแฟได้วันนึง 10 แก้ว ส่วนต่าง 5 บาท กลายเป็นของแมวและหมา หรืออาทิตย์นึงมีเพื่อนมีใครมาจากกรุงเทพฯ มาซื้อของไปทีนึง พันสองพัน พอได้ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ แค่นี้จบแล้ว”
แปลง “ไอ้จุด” จากราชบุรี เป็นทุนช่วย “หอศิลป์บ้านพระบาท”
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเนริมาก็ไม่ถึงขั้นต้องต่อสู้อย่างเดียวดายนัก เนื่องจากวันหนึ่งโลกโซเชียลเน็ตเวิร์คได้นำพามิตรมาผู้มากน้ำใจมาให้เธอได้รู้จัก และช่วยเหลือกัน
นั่นคือ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินและนักออกแบบผู้พยายามจัดกิจกรรมด้านศิลปะ ให้เกิดขึ้นที่บ้านเกิด จ.ราชบุรี อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งล่าสุดได้มอบผลงานประติมากรรม ไอ้จุด มาเพื่อประมูลหารายได้ช่วยหอศิลป์บ้านพระบาท
“คุณวศินบุรี น่ารักมากเลย รู้จักกันผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค ซึ่งบางเวลาการสื่อสารช่องทางนี้มันก็ทำให้เราได้พบได้เห็นอะไรบางอย่างที่ดีๆเช่นกัน อีกอย่างเขาเคยทำแกลเลอรี่ทำหอศิลป์ที่ราชบุรีมาก่อนเรา 14 ปี
เขารู้ว่ามันเหนื่อยยากยังไง กับการเปิดหอศิลป์ให้คนดูมาฟรี โดยไม่มีรายได้เข้ามา
เขาอยากให้หอศิลป์บ้านพระบาทเสร็จเป็นรูปเป็นร่าง ก็เลยทำหมาจุดตัวเล็ก 2 ตัว แบบเดียวกันกับตัวใหญ่ที่ตั้งอยู่ที่ราชบุรี มาให้คนประมูลใน facebook เพื่อหารายได้ช่วยเรา”
ระหว่างนี้ใครที่ผ่านไป อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี สามารถแวะไปเยี่ยมชมหอศิลป์และทักทายเนริมาได้ แม้ว่าหอศิลปฯ จะยังไม่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์พร้อม แต่ที่ผ่านมาก็ได้เปิดแสดงผลงานศิลปะนำร่องมาแล้ว 3 นิทรรศการ
“ครั้งแรกเราแสดงงานภาพถ่ายแมวของเจ้าของเพจ"ผมชื่อสุดหล่อคร๊าบ" เพื่อนใน facebook ซึ่งแมวเขาตายแล้ว แต่เขาถ่ายภาพไว้เยอะมาก และเพจเขาดังมาก
ครั้งที่ 2 เป็นงานแสดงภาพถ่ายหมาแมว ที่เราจัดประกวดใน facebook ซึ่งไม่ได้เน้นเรื่องความสวยงามมาก แต่เน้นความหมายของภาพที่ต้องการสื่อ
และครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดที่กำลังจัดแสดงอยู่นี้ (นิทรรศการ “ด้วยรักและผูกพันธ์” วันนี้ - 31 มิถุนายน พ.ศ.2557) เป็นงานแสดงภาพวาดแมว ของ รัดเกล้า เจริญรัตน์
ก่อนที่งานต่อไปจะเป็นงานแสดงภาพวาดหมาและแมวของคุณชลิต นาคพะวัน ซึ่งเขาจะชวนเพื่อนศิลปินและดาราหลายคน มาร่วมแสดงด้วย”
เนริมาบอกเล่า ก่อนจะชี้ชวนให้ทอดสายตาไปมองพื้นที่โล่งกว้างบริเวณรอบหอศิลป์ ที่มีจามจุรีต้นใหญ่คอยให้ร่มเงา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกใช้เป็นลานแสดงดนตรีเล็กๆมาแล้ว และเธอฝันว่าต่อไปมันจะกลายเป็นตลาดนัดขายของทำมือ ดังเช่นเคยเห็นตัวอย่างมาจากที่อื่น
เธอฝันและมีความหวัง แม้รู้ดีว่า ความสนใจของคนในพื้นที่รอบๆหอศิลป์ จะยังอยู่ห่างไกลจากสิ่งที่เธอพยายามสร้าง
หอศิลป์บ้านพระบาท ตั้งอยู่เลขที่ 157/51 หมู่ 9 ถ.พหลโยธิน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี โทร. 083-746-5315 เปิดวันอังคาร - วันอาทิตย์ เวลา 08.30 - 18.30 น.
Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : Aoy P. และ หอศิลป์บ้านพระบาท
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews