>>นั่งคุยกับคู่รักคนดังผู้นำด้านอนุรักษ์ธรรมชาติของเกาะสมุย “ธนกร” และ “สายสิริ ฮุนตระกูล” แห่งโรงแรมท้องทราย ที่ตอนนี้โบกมือลาเกาะกลับมาเป็นคนเมืองกรุงแบบเต็มตัว ที่แม้จะกลับมาอาศัยอยู่ในเมืองหลวงก็ไม่ทิ้งความตั้งใจในเรื่องการใส่ใจและดูแลสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด โดยวันนี้ทั้งคู่จะมาถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตพร้อมด้วยคำแนะนำดีๆ ว่าควรจะท่องเที่ยวอย่างไรให้เบียดเบียนโลกและสัตว์ร่วมโลกน้อยที่สุด
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ในสังคมไฮไซโซตี้ของเมืองไทย ไม่มีใครไม่รู้จักหนุ่มสาวสุดเก๋คู่นี้ “กบ-ธนกร ฮุนตระกูล” ทายาทของ “อากร ฮุนตระกูล” ผู้ก่อตั้งโรงแรมเครืออิมพีเรียล และ “กอหญ้า-สายสิริ (ชุมสาย ณ อยุธยา) ฮุนตระกูล” แต่หลังจากแต่งงานแล้วทั้งคู่ก็ย้ายครอบครัวลงไปอยู่ดูแลโรงแรมท้องทราย เบย์ คอทเทจ แอนด์ โฮเต็ล ที่สมุยเป็นเวลาหลายปี อยู่กับทะเลสวยๆ ใช้ชีวิตในแบบเรียบง่าย และเกิดความสนใจในเรื่องอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่มาที่ไปจะเป็นอย่างไร และทำไมทั้งคู่ถึงตัดสินใจย้ายกลับมาใช้ชีวิตในเมืองกรุงอันแสนวุ่นวายนี้ คงเป็นคำถามที่หลายๆ คนอยากรู้คำตอบ
Island Fever
ขณะที่หลายๆ คนเบื่อเมืองกรุงที่แสนจะวุ่นวาย และย้ายถิ่นฐานออกไปสู่ต่างจังหวัด คู่รักคู่นี้ขอสวนทางย้ายกลับจากสมุยขึ้นมาอยู่กรุงเทพฯ ได้หลายปี นั่นเพราะคุณกบเล่าให้ฟังว่า “ผมอยู่สมุยมา 11 ปี ส่วนกอหญ้าก็ประมาณ 9 ปีได้ ซึ่งแม้ว่าสมุยจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวติดอันดับโลก แต่ที่นั่นก็คืออำเภอหนึ่ง ที่แม้จะมีความเจริญก้าวหน้ากว่าอำเภอทั่วไป แต่มันก็เป็นเกาะเล็กๆ มีพื้นที่จำกัด มันก็มีเบื่อบ้างที่จะเจอแต่คนเดิม สถานที่เดิมๆ อาการแบบนี้เขาเรียกว่าเป็น Island Fever คือ เบื่อเกาะ เป็นอารมณ์เหมือนคนติดเกาะ ทุกคนที่ย้ายลงไปแรกๆ ก็จะแบบชอบทะเลสวย ชอบบรรยากาศ แต่ลองให้อยู่ยาว แค่สัก 2-3 เดือนก็มักจะทนกันไม่ไหวแล้ว หงุดหงิดอยากไปที่อื่นบ้าง
สำหรับเราแล้วยิ่งแย่ใหญ่ เพราะเราทำงานโรงแรม บ้านก็อยู่ในโรงแรม เลยเหมือนกับต้องทำงาน 24 ชั่วโมง เพราะแม้จะเป็นวันหยุดแล้วเราอยู่ที่บ้าน พอมีอะไรที่โรงแรมเราก็ต้องออกมาจัดการเอง ถ้ายิ่งวันหยุด วันเทศกาลนี่ไม่เคยรู้จักเลย เพราะนั่นคือช่วงที่ใครๆ ก็ไปเที่ยวสมุย งานยิ่งหนัก แล้วเพื่อนๆ หรือคนรู้จักเวลาลงไปเที่ยวสมุยก็ต่างอยากเจอเราทั้งนั้น กบและกอหญ้าเลยแทบไม่เคยได้หยุดยาว Holiday เลย ก็เลยรู้สึกว่าอยากหยุดพัก มีชีวิตในด้านอื่นนอกจากการทำงานเหมือนคนอื่นบ้าง ไม่ใช่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง”
คุณกอหญ้าเสริมว่า “เมื่อก่อนทำงานหนักมาก ตอนนี้ก็เลยไม่ค่อยอยากทำแล้ว(หัวเราะ) ตอนนั้นความเครียดมันมาถึงจุดที่ไม่ไหวแล้ว สมดุลชีวิตไม่มี มีแต่งาน ทำเช้าจรดเย็น กลางคืนก็ยังห่วง เหมือน On Call ตลอดเวลา เพราะเราอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้น อย่างวันหยุดวันพัก พอมีเรื่องมีปัญหาเกิดขึ้นจะปล่อยให้คนอื่นดูแทน เราก็อดห่วงไม่ได้ ก็ต้องลงไปดูเองเพราะเราก็อยู่ตรงนั้น ดังนั้น เรื่องเล็กเรื่องน้อยเราก็เข้าไปดูแลหมด สุดท้ายก็เลยคุยตกลงกันว่าจะกลับมากรุงเทพฯ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทิ้งมาทันทีนะ ใช้เวลาเป็นปีในการไปๆ กลับๆ กว่าจะจัดการถ่ายทอดระบบงานทุกอย่างเสร็จสิ้น
พอกลับมากรุงเทพฯ ทำงานน้อยลงกว่าเดิม 70% ได้ ทำงานเป็นเวลาออฟฟิศ ก็เลยมีเวลาให้ตัวเองมากขึ้น ได้อยู่กับครอบครัว ได้พักผ่อน ทำกิจกรรมที่ชอบบ้าง ออกไปสังสรรค์กับเพื่อนบ้าง ที่สำคัญสุขภาพดีขึ้น ความเครียดน้อยลง ปัญหาจุกจิกเรื่องแขก เรื่องพนักงาน เราไม่ต้องไปดูแลรายละเอียดเรื่องนั้นแล้ว เราดูในเรื่องนโยบาย ภาพรวม เรื่องใหญ่ๆ เท่านั้น การอยู่ห่างทำให้เราปล่อยวางได้มากขึ้น”
บริหารคน ต้นกำเนิดความเครียด
ทุกวันนี้ส่วนหนึ่งที่ทั้งคู่สามารถปล่อยมือออกห่างจากท้องทรายเบย์ ได้อย่างไม่ห่วงมากนั้น เพราะเธอได้ทีมงานคนเก่งมาช่วยดูแล เป็น GM สาวที่อิมพอร์ตเข้ามาจากออสเตรเลีย ซึ่งเข้าใจคอนเซ็ปต์ของการเป็นโรงแรมที่อนุรักษ์ธรรมชาติและสามารถบริหารได้แทนทั้งคู่เป็นอย่างดี
“ก่อนหน้านี้เราเคยพยายามจะดันให้ทีมงานคนไทยขึ้นมาดูแล เพราะเราอยากให้โอกาสคนของเรา ส่งเสริมคนไทยเอง แต่สุดท้ายแล้วมันก็ไม่สำเร็จ เพราะต้องยอมรับว่าหลักการบริหารของคนไทยมันยังไม่เด็ดขาดพอ วิธีคิด การตัดสินใจ เรายังทำเป็นระบบไม่ได้อย่างฝรั่ง เพราะด้วยวัฒนธรรมไทย นิสัยคนไทย เรามีข้อบกพร่องอยู่ คือ เป็นคนขี้เกรงใจ จะพูดจะติอะไรก็ต้องถนอมน้ำใจ แถมไม่ค่อยรับผิดชอบ อะไรก็ครับไว้ก่อน ไม่ได้พิจารณาจากความเป็นจริง ไม่รักษาคำพูด ไว้วางใจไม่ค่อยได้” กอหญ้าเล่าให้เราฟังถึงปัญหาใหญ่ในการทำงาน นั่นคือ การบริหารคนที่นับเป็นสิ่งหลักที่เกิดความเครียด
คุณกบเสริมว่า “วัฒนธรรมการทำงานของคน มันทำให้เป็นปัญหาในบางครั้ง อย่างเวลาเราจะคัดใครขึ้นมาเป็นหัวหน้าทีม ถ้าต้องมาคุมอดีตเพื่อนร่วมงานกันมาก่อน นี่ก็ทำงานลำบากแล้ว เกิดการอิจฉาบ้าง หรือเกรงใจบ้าง คนเคยเรียกกันเป็นพี่เป็นน้อง วันหนึ่งต้องกลายมาเป็นนาย มันก็คุมกันยาก คนที่แต่ก่อนเคยไปนั่งก๊งเหล้า รุ่งเช้าจะมาสั่งงาน มันยังเห็นภาพเมาปลิ้นกันอยู่เลย เราแยกเรื่องส่วนตัวออกจากเรื่องงานไม่ได้ อย่างนายติอะไรมา มานั่งน้อยใจ คิดมาก คิดเยอะไปหมด ทั้งที่จริงๆ เป็นการวิจารณ์เรื่องงาน อย่างต่างชาติด่ากันแทบตายในงาน แต่พอเลิกงานเขาก็ไปนั่งกินข้าวกันได้ ไม่มีอะไรติดใจกัน
ที่สำคัญคนไทยเราชอบมีเรื่องพรรคพวก เป็นหัวหน้าก็คิดว่าจะต้องปกป้องลูกน้อง ปกป้องแผนกก่อน ถึงลูกน้องจะทำผิดแต่ก็จะทำหน้าใหญ่ แบบชนให้ เคลียร์ให้ ซึ่งมันไม่ได้เป็นการมองถึงประโยชน์ของบริษัทเลยนะ แล้วก็ไม่ได้มองประโยชน์ของลูกน้อง แต่มองประโยชน์ของตัวเอง ทำแล้วลูกน้องรัก ทำแล้วจะมีพรรคพวกสนับสนุน เป็นแนวคิดที่ผิดมากๆ และมันเป็นปัญหาที่เราเคยต้องเผชิญอยู่ตลอด”
แต่เมื่อย้ายออกมาที่กรุงเทพฯ แล้วถ่ายโอนเรื่องปวดหัวพวกนี้มีคนมาช่วยดูแลแทน ทั้งคู่จึงทำงานมีความสุขขึ้น
แฮปปี้กับชีวิตเมืองกรุง
แม้จะหายไปนานเกือบ 10 ปี และกรุงเทพฯ มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากมาย แต่ทั้งคู่ไม่ได้รู้สึกแปลกแยกแต่อย่างใด เพราะแต่ก่อนก็ใช้ชีวิตเป็นหนุ่มสาวออฟฟิศในเมืองหลวงอันแสนวุ่นวายนี้ และช่วงย้ายลงไปอยู่ที่สมุยก็มีแวะเวียนขึ้นมาที่กรุงเทพฯ อยู่เสมอ ตอนนี้ทั้งคู่บอกว่าชีวิตมีความสุขขึ้นมาก
กอหญ้าเล่าว่า “ตอนนี้มีเวลาทำอะไรมากมายแบบที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้ทำ อย่างออกกำลังกาย ไปฟิตเนส เทนนิส วาดรูป ขี่จักรยานเล่น ซึ่งช่วงก่อนนี้ขี่บ่อยมาก แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ขี่แล้วเพราะปัจจุบันถนนหนทาง ตรอกซอกซอยต่างๆ มันดูอันตรายขึ้น มีมิจฉาชีพเยอะขึ้น เลยไม่ค่อยได้เอามาขี่แล้ว จะมีก็แค่ขี่จากบ้านไปออฟฟิศซึ่งอยู่ไม่ไกลกันมาก ห่างกันไม่กี่ซอย
ที่กรุงเทพฯ มีทุกอย่างสะดวกสบาย แต่ข้อเสียอย่างเดียวที่กอหญ้าไม่ชอบเลยคือ อากาศ กรุงเทพฯ อากาศไม่ดีเลย ถ้าเปรียบว่าอากาศเป็นคลอง อากาศที่นี่คือคลองที่เน่ามาก เต็มไปด้วยขยะ สารพิษเต็มไปหมด เพียงแต่พอเป็นอากาศเราเลยมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ตัวเราเองสัมผัสได้ เพราะอยู่สมุย กอหญ้าแทบไม่ป่วยเลย อย่างภูมิแพ้ก็ไม่มีอาการอะไร แต่พออยู่กรุงเทพฯ นี่เป็นสารพัด เดี๋ยวคอแห้ง เจ็บคอ ปวดหัว ป่วยบ่อย”
26 ปีของท้องทราย เบย์
แม้จะกลับมาอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ทั้งคู่ก็ไม่ได้ห่างท้องทรายเบย์ไปไหนไกล โดยคุณก่อหญ้ากล่าวว่า “ออฟฟิศที่นี่จะดูเรื่องบัญชี การจองห้องพัก การจัดซื้อ การตลาด ช่วยติดต่องานต่างๆ ให้ทางสมุย แล้วเราก็จะบินลงไปสมุยเกือบทุกเดือน ไปจัดการเรื่องต่างๆ ประชุมอัปเดตเรื่องต่างๆ ไม่ได้ทิ้งไปไหน แค่ไม่ได้ดูแลใกล้ชิดมากเหมือนแต่ก่อน ด้วยโรงแรมก็อยู่มากว่า 25 ปีแล้ว หลายๆ อย่างก็ดำเนินการไปได้ด้วยตัวมันเอง
โรงแรมที่อยู่มานานแบบนี้ มันมีทั้งข้อดีและข้อเสียนะ คือเราเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว การตลาดทุกอย่างมันทำไม่ยาก ไม่ต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ มีลูกค้าประจำ มีแขกเก่าแก่ที่กลับมาอยู่ทุกปี และพนักงานเราก็ประสบการณ์สูง ทำงานเป็น คุ้นเคยกับแขก ด้านข้อเสียคือ มีโรงแรมใหม่ๆ ที่ผุดขึ้นมาอยู่ตลอด ลูกค้าใหม่ๆ ใครก็อยากลองของใหม่ ไม่มีใครอยากอยู่ที่เก่าๆ เราก็ต้องลงทุน ปรับปรุงซ่อมแซมให้มันสวยงาม ทันสมัยอยู่ตลอด จะได้แข่งขันกับที่อื่นได้”
การเข้ามาดูแลโรงแรมของทั้งคู่คือเป็นการสานต่อความสำเร็จในสมัยรุ่นพ่อที่อากร ฮุนตระกูล เคยสร้างไว้ โดยกบเองเติบโตมาในธุรกิจโรงแรม ได้บอกว่ามันซึมซับเข้าไปโดยไม่รู้ตัว เพราะเห็นมาตลอดตั้งแต่เด็ก แต่สำหรับกอหญ้าอาจจะหนักหน่อย สำหรับเขาเพราะไม่ค่อยชินกับธุรกิจนี้เท่าใดนัก ตอนเข้ามาทำแรกๆ เขาก็เครียดมาก
“เพราะงานโรงแรมนี่มันต้องทำหลายอย่างมาก ทั้งบริหารคน ดูแลสถานที่ การบริการ เรื่องอาหาร เราต้องเรียนรู้ให้เข้าใจในเรื่องต่างๆ มันถึงจะคุมได้ จะว่าไปมันก็เหมือนดูเมืองทั้งเมืองนะ อย่างปกติคนเราดูแลบ้านเราเอง 1 หลัง มันก็ต้องดูแลอะไรมากมายอยู่แล้ว แต่นี่เหมือนมีบ้านที่ต้องดูแลเป็น 80 หลัง แล้วไหนจะมีบริเวณโดยรอบอีก สวน สระน้ำ ชายหาด มันกว้างออกไปอีกเยอะ...
เป็นธุรกิจที่กอหญ้าไม่เคยคิดจะทำเลย ทั้งที่จริงตอนเล็กๆ ก็โตมาในโรงแรมเหมือนกันนะ เพราะปู่มีรีสอร์ตที่พัทยา การโตในโรงแรมมันสบายมาก เพราะมีบริการทุกอย่างครบ แต่มันก็ทำให้เราทำอะไรเป็น จะทำความสะอาด ทำอาหาร มีคนดูแลให้หมด แต่ก็อยู่ไม่นานเพราะหลังจากนั้นขายกิจการไปแล้วย้ายมากรุงเทพฯ ก็ลาขาดจากตรงนั้นไปเลย กลายมาคลุกคลีอยู่กับธุรกิจพ่อที่ทำพวกถ่ายรูป ห้องอัด สตูดิโอแทน จะได้ไปโรงแรมก็ในฐานะแขก ที่มีความสุขสนุกสนานกับการท่องเที่ยว พักผ่อน ไม่ได้รับรู้เลยว่าเบื้องหลังของการบริการนั้นยุ่งยาก วุ่นวายแค่ไหน เวลากลับไปโรงแรมก็คือเป็นแขกเสมอ ไม่รู้ว่าเบื้องหลังเป็นอย่างไร
พอพ่อของกบเสีย แล้วเราก็จำเป็นต้องลงมาช่วยดูแลกิจการ ก็เป็นงานหนักเลย ซึ่งตอนแรกก็คิดว่าคงไม่อยู่นานหรอก ทำสักพักให้อะไรมันลงตัวแล้วก็จะกลับมา แต่กลายเป็นว่าอยู่เกือบ 10 ปีเลย(หัวเราะ) เพราะกอหญ้าเป็นคนที่ถ้าจะลงมือทำอะไรสักอย่างแล้ว เราทำเต็มที่ เป็นพวกบ้างาน แล้วยิ่งมาเริ่มต้นแนวคิดการทำธุรกิจในแนวอนุรักษ์ธรรมชาติ มันต้องอาศัยการปรับวิถีการทำงานของทั้งองค์กร และทัศนคติพนักงานต่างๆ ที่ต้องอาศัยเวลาเป็นปีๆ กว่ามันจะเป็นรูปเป็นร่างได้”
Green Concept
ชื่อเล่นของทั้งคู่ คือ กบและกอหญ้า ฝ่ายหนึ่งเป็นสัตว์อีกฟากเป็นพืชพรรณ หลายคนอาจจะนึกว่าอาจเป็นการบอกอะไรกลายๆ ว่าสิ่งเหล่านี้ผูกพันกับชีวิตของทั้งคู่มาตั้งแต่เกิดแล้ว แต่ที่จริงแล้วทั้งสองคนเพิ่งจะหันมาสนใจเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เมื่อประมาณ 10 ปีมานี่เอง แล้วก็เกิดในช่วงที่ได้เข้ามาสานต่อดูแลธุรกิจของโรงแรมของครอบครัวคุณกบ
ฟังแบบนี้บางคนอาจจะคิดว่าเป็นการทำเพื่อการตลาดหรือ CSR ตามกระแสเหมือนบริษัทอื่นๆ ซึ่งนั่นเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะคู่รักคู่นี้ตั้งใจปฏิบัติจริงไม่ใช่เพียงแค่ในการดำเนินธุรกิจเท่านั้น แต่ในบ้านของทั้งคู่ และการใช้ชีวิตประจำวันทั้งคู่ก็ลงมือทำอย่างเอาจริง
อย่างวันที่เรานัดกันนี้ เมื่อพบว่าทางร้านเสิร์ฟเครื่องดื่มเย็นในแก้วพลาสติก คุณกอหญ้าก็ไม่่รีรอที่จะยื่นกระติกใบน้อยในมือให้ใส่เครื่องดื่มแทนการใช้แก้วพลาสติก และในรถของทั้งคู่ยังเต็มไปด้วยปิ่นโตและถุงผ้า ที่พร้อมจะหยิบออกมาใช้งานแทนที่บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่ต้องกลายเป็นขยะและไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก
“แนวคิดเรื่องอนุรักษ์ธรรมชาตินี่มันเกิดมาจากสาเหตุที่มีชาวบ้านเขาบ่นเรื่องของเสียจากการก่อสร้างของโรงแรมมีคนงานไปเผาแล้วทำให้เกิดกลิ่นเหม็นเป็นมลพิษ จากแต่ก่อนเราไม่เคยนึกถึงเรื่องนี้ทำให้เราฉุกคิดขึ้นมาได้
ตอนนั้นรู้สึกโกรธมาก โกรธที่โดนชาวบ้านด่า แต่ไม่ได้โกรธชาวบ้านนะ โกรธกระบวนการทำงานของเราเอง มันเป็นความไม่รู้ และไม่ได้ใส่ใจของเรา ทำให้มันเกิดปัญหาขึ้น แล้วกระทบต่อชุมชน ก็เลยตั้งใจทำอย่างจริงจังเลย ไปศึกษาวิธีการจัดการขยะ ต้องทิ้งยังไง ลดขยะยังไง แล้วก็ลามไปถึงแผนกสวน แผนกช่าง แผนกงานบ้าน เพราะพอศึกษาจริงจังแล้ว มันต้องปรับวิถีการดำเนินงานทั้งหมด ปรับแนวคิดพนักงานให้เขาตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างแท้จริง มันถึงจะประสบความสำเร็จได้”
คุณกบเสริมว่า “เรื่องการลดขยะเป็นเรื่องที่ผมคิดมาตลอด คือผมติดใจกับการใช้สบู่ก้อนในโรงแรม ที่ทุกครั้งที่แขกเข้าพักก็แกะก้อนใหม่แล้วก็เหลือตลอด เพราะเขาพักก็แค่ไม่กี่คืน แล้วมันก็กลายเป็นขยะ แต่ก่อนบอกให้พนักงานเอากลับไปซักผ้า ล้างมือ ซึ่งคนเดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้ซักผ้ากันด้วยมือแล้ว มันก็ต้องทิ้งเปล่า พอจะปรับมาเป็นสบู่เหลวก็โดนติติงว่ามันไม่ Luxury นะ
ผมก็ลองไปดูที่โรงแรมอื่น ไปเข้าพักสำรวจในฐานะแขกก็เห็นว่าบ้างที่เขาก็ใช้นิ ก็เลยตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้สบู่เหลวทั้งหมด ซึ่งนั่นเป็นแค่จุดเดียวนะ พอมองภาพรวมทั้งหมด มันไม่ใช่แค่สบู่ มันมีอีกหลายส่วนมากเลยที่เราปรับการใช้ลงได้ อย่างกล่องใส่อุปกรณ์ที่ต้องฉีกออกมาใช้ หรืออย่างที่ครอบแก้ว ก็เป็นพลาสติกทั้งหมดเราก็ปรับมาใช้เป็นกระดาษหรือผ้าแทน มันมีอีกหลายช่องทางเลยที่มันทำได้ เพียงแค่คุณใส่ใจและตั้งใจกับมัน แต่ก็ต้องบอกเลยว่าการทำแบบนี้มันไม่ง่าย ขั้นตอนเยอะขึ้น เหนื่อยขึ้น บางครั้งก็แพงขึ้นด้วย และที่สำคัญพนักงานทุกคนต้องปรับการทำงานใหม่หมด ละทิ้งสิ่งที่เคยชินออกไป”
จากการลดปริมาณขยะ ไปสู่การปรับปรุงสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การทำปุ๋ยธรรมชาติ การทำ EM เป็นสิ่งที่คุณกอหญ้าเริ่มต้นศึกษาเองจากการไม่รู้อะไรเลย
“ตอนนั้นเรื่องสิ่งแวดล้อมยังไม่ค่อยมีใครสนใจ คนรู้และศึกษาเรื่องนี้ยังมีวงไม่กว้าง กอหญ้าใช้เวลาศึกษาพร้อมกับถ่ายทอดความรู้ให้กับพนักงาน โดยใช้การสัมมนาเพื่อปรับพฤติกรรมและทัศนคติของพนักงาน กว่าที่จะประสบความสำเร็จได้ก็ใช้เวลาเกือบ 3 ปี ซึ่งตอนนั้นทำงาน 7 วันเต็มไม่มีวันหยุดหรือพักเลย และแนวคิดการใช้ชีวิตเราก็เปลี่ยนไป เพราะเรื่องพวกนี้ให้เรียนยังไง อธิบายเท่าไร ถ้าเราไม่เห็นด้วยและตั้งใจจริงมันก็ทำไม่ได้หรอก”
คุณกบเสริมว่า “ก่อนหน้าเราก็คิดว่าเรารักธรรมชาตินะ เหมือนคนทั่วไปแหละ ชอบไปเที่ยวป่าเขา ทะเล ชอบเห็นความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม แต่มันใช่ความรักจริงๆ เหรอ คุณรักที่จะเห็นมันสวย ชอบที่จะอยู่ที่นั่น แต่มันเป็นการเข้าไปเสพนะ ไม่ได้รักแบบปกป้อง ดูแลรักษา ต้องมองในมุมของเขาไม่ใช่มุมแค่ความคิด ความสุขของเราเท่านั้น”
เส้นทางขนานของ 2 เจเนอเรชัน
การหันมาเปลี่ยนแปลงวิถีในการทำธุรกิจที่มุ่งเน้นเรื่องธรรมชาติแบบนี้ที่แตกต่างจากแนวทางการดำเนินงานสมัยรุ่นพ่อมากๆ ย่อมหนีคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ตามหลังมาไม่พ้น คุณกบพูดถึงกรณีนี้ให้เราฟังว่า “พ่อผมเขาเป็นคนชอบคิด ชอบฝัน นึกอยากทำก็ทำ สนุกกับการมีโปรเจกต์ใหม่ๆ เกิดขึ้น ขยายธุรกิจออกไปเรื่อยๆ ไม่ค่อยสนใจของที่มีอยู่ เขามุ่งก้าวไปข้างหน้าตลอด
แต่สำหรับผมนั้นมีมุมมองคนละอย่าง ผมพอใจที่จะมีท้องทรายเบย์นี่ที่เดียว ไม่ไปทำที่ไหนเพิ่ม ตั้งใจดูแลที่นี่ให้เต็มที่ รักษาชื่อเสียงและคุณภาพไว้ ไม่ให้มันต้องมาเสียหรือตกต่ำตอนอยู่ในมือเรา ผมไม่ได้หวังอยากให้กราฟมันไต่ขึ้นสูงไปเรื่อย เพราะแบบนั้น เมื่อถึงจุดพีกวันหนึ่งมันก็ต้องตกลงมา แต่ผมอยากให้กราฟเป็นแนวราบมากกว่า รักษาระดับและมาตรฐานไว้ให้ดีและนานที่สุด
ผมเปรียบให้โรงแรมเราที่ท้องทราย เป็นเหมือนก๋วยเตี๋ยวรสเด็ดเจ้าก่า ที่ไม่มีสาขาที่ไหน มีที่นี่ที่เดียวเท่านั้น มีหลายคนบอกที่นี่ประสบความสำเร็จแล้ว ต้องขยายสิ ทำเพิ่ม หรือไปทำที่อื่นๆ อีก แต่ผมไม่ได้มองอย่างนั้น ผมไม่อยากเพิ่มภาระ เพิ่มห่วง อีกอย่างถ้าผมจะลงมือทำอะไรสักอย่าง ก็ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าจะทำไปเพราะอะไร
...ทำเพื่อเงินเหรอ มันก็ไม่ใช่ เราอยู่แบบเรียบๆ พอใช้ ไม่จำเป็นต้องไปขวนขวายมากมาย
...ทำเพื่อให้ใครชมว่าเราเก่ง หรือมันดี เราก็ไม่ได้ต้องการ
...หรือทำเพื่ออยากทำ หรือ ตอบสนองอีโก้ตนเอง ผมก็ไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น
เมื่อสรุปว่าหาเหตุผลที่ควรทำไม่ได้ ก็อย่าทำดีกว่า ซึ่งคำตอบนี้อาจจะขัดกับความคิดของใครๆ และอาจจะไม่เห็นด้วยกับวิถีทางนี้ อย่างเพื่อนๆ คุณพ่อเคยพูดวิจารณ์การดำเนินงานและแนวคิดของผมว่า “ถ้าพ่อยังอยู่ เขาคงเสียใจที่เราตัดสินใจแบบนี้” ผมก็ได้แต่คิดว่า เขาเข้าใจพ่อผมแค่ไหน รู้ใจพ่อผมขนาดนั้นเลยเหรอ ถึงจะมาคิดแทนเขาได้ ผมเองอาจจะไม่ได้สนิทกับท่านตั้งแต่เด็ก แต่ช่วง 2 ปีสุดท้ายของชีวิตท่าน เราผูกพันกันมาก ใช้เวลาด้วยกันเยอะ ท่านสอนงาน สอนให้เรียนรู้ชีวิต เข้าใจโลก หลักคิดต่างๆ ถ่ายทอดมาให้เยอะมาก ผมว่าพวกคนเหล่านั้นเข้าใจพ่อผมไม่ดีเท่าผมหรอก
ตอนนี้พ่อผมเสียไปนาน 14 ปีแล้ว ครอบครัวผมเป็นเจ้าของท้องทรายมานานถึง 27 ปีก็จริง แต่ก่อนหน้านั้นล่ะ หาดนี่อยู่มาเป็นแสนเป็นล้านปี เราเป็นใครที่มาอยู่เพียงไม่กี่สิบปีแล้วจะมายึดติด ยึดถือเป็นเจ้าของจนแม้กระทั่งเราตายไปแล้วเนี่ย มันก็เป็นความคิดที่โง่แล้ว และผมไม่คิดว่าพ่อผมโง่แบบนั้น ดวงวิญญาณของพ่อผมจะไม่คิดอย่างที่ใครเขาคิดแทน ผมเชื่อว่าท่านจากไปอย่างมีความสุข ไม่มานั่งยึดติดอะไรกับทรัพย์สิน หรือมรดกพวกนี้หรอก”
อยากให้ทุกคนรักธรรมชาติ
ด้วยแนวทางการดำเนินงานที่แตกต่างจากอดีต การมุ่งเน้นเรื่องธรรมชาติ ที่ต้องอาศัยการปรับความคิดและพฤติกรรมคน นั่นนับเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทั้งคู่ต้องเผชิญ โดยสายสิริกล่าวว่า “เรื่องนี้มันต้องแล้วแต่ความคิด ทัศนคติของคนนะ ทุกวันนี้ถามว่าพนักงานเข้าใจไหมว่าทำเพราะอะไร เขาก็เข้าใจแต่ไม่ได้อิน เป็นการทำเพราะกฎระเบียบที่เราตั้งขึ้นมากกว่า ทำเพราะต้องทำ อยู่ในโรงแรมก็รักและดูแลธรรมชาติ พอก้าวเท้าออกจากโรงแรมก็ใช้ชีวิตเหมือนเดิม จะมีก็ส่วนหนึ่งที่ใจเขาเห็นด้วยกับเราจริง นำเอาวิธีคิดกลับไปปรับใช้ที่บ้านด้วย อันนี้เราจะดีใจมาก มีสัก 20-30 เปอร์เซ็นต์ได้มั้งที่เป็นแบบนั้น ซึ่งแค่นี้ก็รู้สึกดีแล้ว
เพราะอย่าว่าแต่พนักงานเลย คนในครอบครัว เพื่อนฝูง บางทีเรายังทำให้เขาปรับมาคิดแบบเราไม่ได้เลย อย่างเพื่อนสนิทนี่ก็เห็นเราใช้ชีวิตแบบนี้นะ พกปิ่นโตตลอด ไปที่ไหนกินเหลือก็เอากลับไม่อยากให้เป็นของเสียเปล่า ใช้ถุงผ้า ใช้กระติก เขาก็ไปที่ต่างๆ กับเรา เห็นว่าการใช้ชีวิตแบบเรามันไม่ได้ลำบากอะไรเลย อยู่ได้แบบปกติ แต่เขาก็เลือกที่จะไม่ทำ”
คุณกบเสริมว่า “แต่เขาชื่นชมเรานะ สนับสนุนให้เราทำต่อไป ดีใจที่เราทำ แต่เขาเองกลับไม่ทำ ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไม”
“บางครั้งก็รู้สึกเบื่อๆ แต่ก่อนจะพูด จะบ่น อธิบาย แต่ตอนนี้เราเรียนรู้แล้วว่าพูดไปเท่าไรถ้าเขาไม่อิน หรือไม่ได้รู้สึกและสนใจจริงจังมันก็ไม่มีทางไปทำอะไรได้หรอก มันต้องมาจากตัวเขา อย่างเราแต่ก่อนไม่ได้คิด พอมีจุดให้คิด และได้เรียนรู้เราก็ยิ่งเข้าใจและยิ่งตระหนัก ว่าโลกเรามันเปลี่ยนไปจริงๆ เราต้องช่วยกัน แต่มนุษย์ส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าโลกเปลี่ยนนะ แต่มันยังไม่ได้กระทบกับตัวเองก็เลยไม่ค่อยรู้สึกเท่าไร ต้องรอให้เกิดหายนะใหญ่มากๆ ก่อนคนถึงจะสนใจจริงจัง” สาวกอหญ้าแอบบ่นให้ฟัง
แต่ขณะที่มันดูน่าเหนื่อยใจสำหรับทั้งคู่ แต่ธนกรก็บอกว่ามันยังมีเรื่องดีๆ ให้คาดหวัง “ด้วยกระแสที่คนค่อยๆ ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น มีสื่อนำเสนอมากขึ้น มันเป็นแนวโน้มที่ดี ยิ่งถ้าในอนาคตอีกสัก 10 -20 ปีมันน่าจะดีกว่านี้ เพราะผู้ใหญ่รุ่นเก่าๆ เขาไม่เคยเห็นความสำคัญเรื่องโลกร้อน เพราะเขาโตมาในช่วงทรัพยากรมันอุดมสมบูรณ์มาก ป่าไม้เต็มไปหมด เอามันมาใช้ได้อย่างเหลือเฟือ
แต่พวกเด็กรุ่นใหม่นี่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ชัดเจน เขาก็น่าจะเข้าใจได้ดีขึ้น เพราะมันเป็นยุคที่เขาเริ่มจะได้รับผลกระทบแล้ว และผมก็ดีใจที่ตอนนี้เรากลับมาอยู่กรุงเทพฯ เพราะทำให้เราทำเรื่องนี้ได้อย่างจริงจังขึ้น แต่ก่อนเราทำแค่ที่โรงแรมของเราตอนนี้เราได้มีเวลาช่วยงานองค์กรเพื่อสังคมต่างๆ มากขึ้น โดยตัวผมเองเป็นกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ส่วนทางกอหญ้าเองก็ช่วยงานมูลนิธิโลกสีเขียวด้วย เราได้ช่วยงานและเผยแพร่แนวคิดดีๆ นี้ไปสู่สังคมวงกว้างมากขึ้น”
ไม่อยากหาห่วงมาผูกชีวิต
ถ้าเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของคนทั้งคู่ที่ผ่านๆ มาจะเห็นได้ว่า ทั้งคู่วางแผนที่จะไม่มีลูก วันนี้เราอดใจไม่ได้ต้องแอบทวนถามถึงแนวคิดนี้ว่ายังคงยืนยันคำตอบเดิมอยู่หรือไม่
“ผมหาเหตุผลในการมีลูกไม่ได้อ่ะ ซึ่งทางพ่อแม่ก็ไม่ได้คัดค้านอะไร คุณแม่ผมเคยเอ่ยเรื่องนี้ครั้งหนึ่ง แต่พอเราคุยกันอธิบายถึงเหตุผลว่า เราไม่อยากสร้างห่วงอีก แม่ผมเขาศึกษาพุทธศึกษามาเยอะก็เลยเข้าใจในแนวคิดเรา”
“ส่วนแม่กอหญ้า เคยมีบ่นนะว่าอยากได้หลาน อยากอุ้มหลาน เราก็บอกแม่ว่า ถ้าจะต้องมีลูกเพื่อให้แม่ได้เลี้ยงหลานนี่มันไม่คุ้มกันนะ ตอนนั้นเขาก็มีงอนไปบ้าง แต่ทุกวันนี้เขาเข้าใจแล้ว และขอบคุณด้วยที่เราไม่มี เพราะเขาเห็นเพื่อนเขาต้องเหนื่อยกับหลานเยอะ เขาก็ไม่อยากปวดหัวอย่างนั้น...
มีหลายคนชอบบอกว่าไม่มีลูกแล้ว ถ้าใครคนหนึ่งจากไป เราจะไม่เหงาเหรอ กอหญ้าว่ามันเป็นสัจธรรมชีวิตที่เราต้องยอมรับนะ ใครลาจากไปมันก็ต้องเหงาแหละ แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลของการที่จะมีลูก เอาลูกมาเป็นเพื่อน นั่นมันเป็นแนวคิดที่เห็นแก่ตัว คิดแต่มุมของเรา ความต้องการของเรา ไปคิดแทนลูกว่าจะต้องมาอยู่เป็นเพื่อนเรา ดูแลเรา ใครจะไปรู้ว่ามันจะออกมาอย่างที่คิด โตแล้วเขาจะทิ้งเราไปก็ได้ ไม่มีอะไรการันตีได้”
คุณกบเสริมว่า “ตอนนี้เราก็ตั้งใจทำงานเก็บเงิน เพราะแก่ๆ ไม่มีลูกมาเลี้ยงแน่ ก็ดูแลตัวเอง แต่ไม่ห่วงนะ เพราะมีเพื่อนๆ รุ่นพี่ รุ่นน้อง ที่ยังไม่แต่งงาน ไม่มีลูกอีกเยอะ ก็คิดว่าแก่ไปก็จะชวนมาอยู่ใกล้ๆ กัน ช่วยดูแลกันเอง อยู่เป็นหมู่บ้านคนแก่กันเลย(หัวเราะ)
5 วิธีท่องเที่ยวแบบไม่ทำลาย
1.“จะไปที่ไหนก็ทำตามกฎเกณฑ์ที่เขาวางไว้ อย่าไปคิดว่าฝ่าฝืนทำอะไรได้แล้วมันเจ๋ง เป็น VIP เพราะกฎระเบียบที่มีนั่นเขามองแล้วว่ามันจำเป็น อย่าคิดว่านิดๆ หน่อยๆ ไม่เป็นอะไร อย่างการแวะให้อาหารสัตว์ป่าเวลาขับรถไปเที่ยวเขาใหญ่ คุณอาจรู้สึกว่าได้ช่วยเหลือ ใจดี แต่ที่จริงเป็นการทำลาย เพราะมันทำให้เขาวิ่งเข้ามาขอ ออกมาอยู่ริมถนน ทำให้มีสัตว์โดนชนตายแทบทุกวันเลย”
2.“ก่อนจะเดินทาง หาข้อมูล และทำความเข้าใจธรรมชาติต่างๆ ล่วงหน้าด้วย จะได้รู้ว่าถ้าไปถึงควรทำตัวอย่างไร อย่างการไปดำน้ำแล้วให้อาหารป่านี่เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ และยิ่งเป็นการทำลายธรรมชาติของท้องทะเลยิ่งขึ้นไปอีก”
3.“อย่ามองว่าตัวเองเป็นใหญ่ เห็นแต่ความสุข และความชอบของตัวเอง แต่ให้เคารพสถานที่ เคารพธรรมชาติ อย่างถ้าจะเข้าป่า ไปเดินป่า แล้วไปนั่งกินเหล้า ปิกนิกโวยวาย ทำตัวเหมือนไปเที่ยวหัวหินนะ อย่าไปเลย นั่งกินตั้งวงกินเหล้าอยู่บ้านเถอะ หรือพวกซิ่งรถไปเขาใหญ่ เข้าใจนะว่าถนนมันโล่ง เรียบ วิ่งทำความเร็วได้ แต่มันทำความเดือดร้อนให้สัตว์แถวนั้น ทั้งเสียงดัง มลพิษ รบกวนคนและสัตว์ในท้องถิ่น เอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย”
4.“เวลาไปไหน อย่าคิดแค่ว่ามาเที่ยว ก็ใช้ฟุ่มเฟือยเปิดน้ำ เปิดไฟทิ้ง สั่งอาหารเกิน ทิ้งขยะ คิดแต่ว่าเอาให้คุ้ม ฉันมาพักผ่อน ฉันเสียเงินมาก จะทำอะไรก็ได้ เพราะนี่ไม่ใช่บ้านตัวเอง ไม่ต้องระวังอะไร แต่ให้มองว่ามันคือโลกเดียวกัน บ้านหลังเดียวกัน ต้องช่วยกันดูแลรักษา”
5. “สุดท้ายแล้วคือ กระแสฮิตอย่างการปล่อยโคม ขอให้เลิกซะ เพราะมันคือการทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเลย ปล่อยลอยไป มันก็ต้องตกลงที่ไหนสักแห่งแหละ ถ้าตกมาแล้วไม่ไหม้อะไรไป ก็กลายเป็นขยะ เต็มป่าเต็มทะเลไปหมด หรือการจุดพลุก็เช่นเดียวกัน ก่อนจะทำอยากให้คิดก่อนกว่า ทำแล้วได้อะไร มันได้คุ้มเสียไหม คุณได้เห็นภาพสวยๆ ประทับใจ ถ่ายรูปเก็บไว้ วินาทีเดียวแล้วมันก็ผ่านไป แต่ผลกระทบต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อมมันมากกว่านั้น เราเคยไปเที่ยวงานแสง สี เสียง ที่สถานที่สำคัญตามประวัติศาสตร์ เห็นกับตาเลยว่านกบินมาอยู่ดีๆ มาเจอการแสดงโชว์ของเขามีเสียงพลุ เสียงระเบิด ตกลงมาตายต่อหน้าเลย” :: Text by FLASH