ART EYE VIEW---ด้วยรักการร่ำสุราเป็นอาจิณ ผลงานศิลปะส่วนหนึ่งของ หล่ง - นวัต เลิศแสวงกิจ จึงไม่หนีไปไกลจากร้านเหล้าและขวดเหล้า
ภาวะทั้งสุขและทุกข์ที่เกิดขึ้นขณะที่นั่งอยู่ในร้านเหล้าร้านประจำ ตลอดจนประสบการณ์ชีวิตจากหลากที่หลายทาง ส่วนหนึ่งจึงถูกระบายลงไปบนขวดเหล้าขวดเล็กๆนั่นเอง
“จริงๆผมวาดภาพเป็นงานอดิเรกแบบจริงจัง พยายามวาดไปเรื่อยๆ บางทีผมไปเที่ยวไปกินเหล้าตามร้านที่มีดนตรีเล่นสด เหล้าที่กินไม่หมดสามารถฝากไว้ที่ร้าน แล้วค่อยมากินใหม่วันหลังได้
เมื่อผมไม่อยากจะเขียนชื่อของเราให้มันประเจิดประเจ้อ แรกๆก็เลยวาดภาพอะไรเล็กๆน้อยๆเพื่อเป็นสัญลักษณ์บอกว่านี่คือขวดเหล้าของผม วาดไปวาดมาชักสนุก จึงเกิดไอเดียวาดภาพบนขวดเหล้า เก็บสะสมมาเรื่อยๆ จนเยอะก็เลยนำมาจัดแสดง”
หล่งบอกเล่าถึงที่มาของการสร้างงานศิลปะบนขวดเหล้าของตนเอง (ที่อีกนัยหนึ่งเขาอยากจะเรียกมันว่า “เวลาในขวดแก้ว” ดังชื่อนวนิยายของ ประภัสสร เสวิกุล มากกว่า)ในวันเปิดนิทรรศการแสดงผลงานเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ณ หลังแรกบาร์
และยอมรับว่าเขิน ด้วยมีอาชีพเป็นอาจารย์ ในเมื่อร้านเหล้าร้านประจำบางร้านอยู่ข้างๆมหาวิทยาลัยที่ตัวเองสอน จึงต้องรักษาภาพลักษณ์ของอาชีพและสถาบันไว้บ้าง
ศิลปะบนขวดเหล้าของหล่ง ทั้งหมดเป็นการวาดลงบนเหล้าขวดเล็กๆ ประเภทเหล้าแบน เพราะแม้จะเป็นนักดื่ม แต่ก็พยายามบอกตัวเองว่าต้องพอประมาณ เนื่องจากไม่อยากให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างที่ต้องขับรถกลับบ้าน
“บางทีกินครึ่งแบน บางทีแค่แก้วสองแก้ว ผมก็กลับ วาดรูปเป็นสัญลักษณ์เอาขวดฝากร้านไว้ วันหลังมากินต่อ
ว่าไปมันก็เป็นเหมือนงานอดิเรกของเราเหมือนกัน ทำให้สนุกสนานเพลิดเพลิน หลังๆ ผมเริ่มเอาเรื่องอื่นๆ มาวาด เช่นประสบการณ์ในชีวิตที่ได้ไปพบเจอ หรือว่าอารมณ์ที่ได้รับจากการอ่านหนังสือต่างๆ เช่น หนังสือของเหม เวชกร เล่มที่ผมชอบ บางทีผมก็เอาบทกวีจากในหนังสือมาตีความใหม่ ให้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับด้านสนุกสนานของชีวิต”
เมื่อถูกถามว่ากลัวผู้ชมจะต่อว่าไหม ว่าการแสดงงานครั้งนี้ของเขาจะเป็นการส่งเสริมให้คนดื่มเหล้า เพราะในด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่มองว่าการดื่มเหล้าเป็นเรื่องที่ไม่ดี แถมผลงานยังถูกนำมาจัดแสดงในร้านเหล้าอีกด้วย
“ดูสิครับ งานของผมไม่ได้ช่วยขายเหล้ายี่ห้อไหนเลยนะ ก่อนจะวาด ผมลบยี่ห้อออกหมดเลยนะครับ และผมก็ไม่ได้ส่งเสริมให้คนดื่มเหล้าด้วย ผมเตือนด้วยซ้ำ เช่น บางขวดที่ผมนำเอาบทกวีของเหม เวชกร เกี่ยวกับเรื่องว่าการกินเหล้าไม่ดียังไงซึ่งมีอยู่สิบวรรคมานำเสนอ แล้วผมก็วาดภาพอุบัติเหตุ ที่เกิดจากการกินเหล้ามาใส่ลงไปด้วย”
ศิลปะบนขวดเหล้าของหล่ง เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของ ผลงานที่จัดแสดงทั้งหมดในนิทรรศการ เพราะยังมีผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบของเขามาร่วมแสดงด้วย และต้องการให้เป็นส่วนหนึ่งของการสื่อว่า “ศิลปะเป็นเรื่องใกล้ตัว” แม้งานบางชิ้นมันจะดูขัดกับผนังของบ้านไม้โบราณที่ถูกแปลงมาทำเป็นร้านขายข้าวและขายเหล้าที่แบ่งพื้นที่ให้ผลงานของศิลปินรุ่นใหม่หมุนเวียนมาจัดแสดงทุกเดือน แต่เขาก็อยากจะชักชวนให้ทุกคนไปร่วมติร่วมชมกับผลงานศิลปะในช่วงทดลองของตนเอง
“งานขวดเหล้าเป็นแค่งานส่วนหนึ่ง ผมมองว่าศิลปะควรจะเป็นเรื่องที่สนุกสนานเพลิดเพลิน แล้วไม่ควรเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก และผมก็เลือกเอาสิ่งละอันพันละน้อยรอบๆตัว มาใช้ในการทำงาน
นอกจากวาดภาพลงบนขวด ผมยังวาดลงบนซองเอกสาร วาดบลงนกระดาษวอลเปเปอร์ หรือเอาสีเทียนเด็กเล่นบ้าง เอาน้ำแดงเฮลบลูบอยมาราด เอาของรอบๆตัวมาใช้
บ้างใช้ปากกาเคมี ใช้ลิควิดเปเปอร์ ที่เปิดแล้วหยิบมาใช้ได้ง่ายๆจากในลิ้นชัก หรือพกติดไว้ในกระเป๋าทำงาน คือเอาของรอบๆตัวมาใช้
เพราะผมอยากจะสื่อว่า ศิลปะเป็นเรื่องรอบๆตัวมากเลย เราจะทำมันเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ต้องยกระดับให้มันเป็นสิ่งที่อยู่สูง ยากเกินทำความเข้าใจ หรือต้องตีความอะไรให้ลึกซึ้งขนาดนั้น
และงานของผม เป็นงานทดลอง ในช่วงปีที่ผ่านมาว่า เราจะหยิบจับอะไรมาทำได้บ้าง หัวข้อในการทำงานโดยรวมจึงกว้างมากเลย เพราะงานทั้งหมดเกิดจากประสบการณ์ หรือว่าเรื่องราวของความรู้สึกต่างๆที่เข้ามาในชีวิต
เวลาผมไม่สบายใจ ผมรู้สึกเสียใจ ผมเศร้า ผมก็วาดภาพ เวลาผมแฮปปี้ นอกจากผมจะปาร์ตี้ ผมก็วาดภาพ ดังนั้นงานในครั้งนี้จึงไม่ใช่สิ่งที่ผมอยากจะสะท้อนเรื่องใดเรื่องหนึ่งกับสังคม แต่เป็นเรื่องของตัวผมเอง”
ส่วนที่มาของ รัก แอนด์ โรล์ ชื่อนิทรรศการ นั่นเพราะหล่งเปรียบงานศิลปะแต่ละชิ้นของตัวเองว่าเป็นคล้าย โน้ตดนตรี และเมื่อถูกนำมารวมกันเป็นภาพใหญ่ มันก็ไม่ต่างอะไรกับดนตรีประเภท ร็อค แอนด์ โรล
และเหตุที่ “รัก” ถูกนำมาใช้แทนคำว่า “ร็อค”
“เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นความสนุก เราวาดและทำมันขึ้นมา ด้วยความรักความชอบของเรา”
นิทรรศการศิลปะ “รัก แอนด์ โรล์” โดย นวัต เลิศแสวงกิจ เปิดแสดง วันนี้ - 20 เมษายน พ.ศ.2557
ณ หลังแรกบาร์ Bar Restaurant Gallery บ้านเลขที่ 1 ซอยมหรรณพ1 ถนนมหรรณพ แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ (ไม่ไกลจากศาลเจ้าพ่อเสือ)
หากฉัน เก็บเวลาในขวดแก้ว
สิ่งที่ฉันจะทำ คือสะสมคืนและวัน
ที่ล่วงเลยมานิรันดร์
เพียงรอวัน จะมอบมันแก่เธอ...
….......
เพลงเวลาในขวดแก้วของbutterfly revolution
(เวอร์ชั่นโคตรร็อค ของเพลง Time In A Bottle ของ Jim Croce)
ชวนให้นึกถึงหนังสือนวนิยายเรื่อง เวลาในขวดแก้ว ของ ประภัสสร เสวิกุล
ถึงแม้ผมจะเกิดไม่ทันยุคเปลี่ยนผ่านอย่างฉากในนวนิยาย แต่เชื่อเถอะ ผมมั่นใจว่าเคยเป็นวัยรุ่น เหมือนกับทุกๆ คนที่เพียบพร้อมไปด้วยความเปลี่ยนแปลงของเคมีและฮอร์โมนที่วิ่งขึ้นวิ่งลงในร่างกายอย่างไม่อาจควบคุม
ย่อมต้องมีเหตุการณ์ ประสบการณ์ ความทรงจำที่ชวนคิดถึง(หรือชวนสะพรึง) เรื่องราวที่แม้อยากลืม ก็ไม่สามารถลืมไปเสียได้ เรื่องราวที่แม้จะพยายามเพ่งนึกเพียงใด ก็ไม่อาจนึกออกอย่างชัดเจน เหมือนอย่างในบทเพลง
หากผมสามารถเก็บวันเวลาเหล่านั้นใส่ขวดใสไว้ดูเล่นในยามที่จิตใจรื่นเริงหรือหัวใจสับสนได้อย่างนั้น ก็คงจะ ดีไม่ใช่น้อย ก็น่าเสียดายอยู่เหมือนกันที่ทำได้แค่นี้
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews