>>เป็นที่รู้กันในวงการธุรกิจโรงแรมว่า “บัญดารา” เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจด้าน Hotel Management แบรนด์ไทย โดยมีโรงแรมที่อยู่ภายใต้การจัดการของบัญดาราถึง 8 แห่ง จากระยะเวลาหลายปีที่สั่งสมประสบการณ์ ทำให้บัญดารากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารธุรกิจโรงแรม แม้จะเริ่มต้นจากการเป็นธุรกิจกงสี แต่เมื่อมาถึงในเจเนอเรชันของ “คุณอู๋-นภัทร อัสสกุล” เขามีหน้าที่ที่ต้องพัฒนาธุรกิจให้รุดหน้ายิ่งขึ้น! โดยในฉบับนี้เราจะมารู้จักแนวคิดในการทำงานและการใช้ชีวิตครอบครัวของคุณนภัทร เจเนอเรชันที่ 3 แห่งบ้านอัสสกุล
คุณอู๋-นภัทร อัสสกุล สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านผู้ประกอบการและเศรษฐศาสตร์จาก Babson College ใน Massachusetts ประเทศสหรัฐอเมริกา และเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อรับราชการที่กระทรวงการคลัง ในตำแหน่งเศรษฐกร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ระหว่างนั้นเขายังเข้าศึกษาต่อที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2545 โดยศึกษาทางด้านการจัดการและการตลาด
จนเมื่อสำเร็จการศึกษามาแล้ว ในฐานะลูกชายเพียงคนเดียว นภัทรจึงหันมารับผิดชอบธุรกิจของครอบครัว โดยเข้ารับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามเอสเตท จำกัด ก่อนที่จะก่อตั้งธุรกิจโรงแรมเครือบัญดารา ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่ บัญดารา รีสอร์ต แอนด์ สปา สมุย โดยใช้จุดยืน ความรู้ ประสบการณ์ ตลอดจนความมุ่งมั่นเพื่อให้บัญดาราเป็นเชนโรงแรมที่มีคุณภาพ
“ครอบครัวเราทำธุรกิจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไทยสมุทรประกันภัย (ประกันชีวิต) โอเชี่ยนกลาส โอเชี่ยนพร็อพเพอตี้ ส่วนตัวผมเข้ามาช่วยครอบครัวตั้งแต่ตอนที่ทำงานอยู่กระทรวงการคลังแล้ว โดยตอนนั้นเป็นกรรมการ บริษัท โอเชี่ยนกลาส ที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่ปี 2001”
หน้าต่างสู่ดวงดาว
ในฐานะเจเนอเรชันใหม่ที่เข้ามาสานต่อธุรกิจด้านโรงแรมของครอบครัว นภัทรเริ่มเข้ามาในจังหวะที่บริษัท สยามเอสเตท กำลังสร้างโรงแรมที่สมุยพอดี ทำให้เขากลายเป็นแกนนำในการดูแลโครงการนี้
“บริษัท สยามเอสเตท ก่อตั้งมาเกือบ 30 ปีแล้ว เริ่มจากการสร้างเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์เป็นอันดับแรกๆ ของเมืองไทยที่สีลม โดยใช้ชื่อ “ชินเฮาส์” เนื่องจากพี่ชายคนโตของคุณปู่ชื่อ “ชิน” แต่ท่านเสียไปแล้ว และในปี 2008 เรามีที่ดินอยู่ที่สมุยก็เลยคิดจะทำรีสอร์ต จึงเริ่มสร้างแต่ยังไม่มีชื่อ ผมเข้ามาทำปุ๊บก็ได้รับโจทย์มาว่าตั้งชื่อรีสอร์ตแห่งนั้น ก็เลยดูว่าความรู้สึกของสถานที่ตรงนั้นเป็นอย่างไร? ผมเกิดที่กรุงเทพฯ เรียนเมืองนอก ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองมาตลอด ไม่ค่อยได้เห็นดาว สำหรับผมที่สมุยเปรียบเหมือนหน้าต่างที่ให้ผมไปเอาขาจุ่มทราย นอนจิบเบียร์ ดูดาว ก็เลยกลายเป็นที่มาของชื่อ “บัญดารา” บัญที่แปลว่าหน้าต่าง และดาราก็คือดวงดาว รวมกันก็คือหน้าต่างสู่ดวงดาว”
ค้นหาหนทางคุ้มทุน
จะว่าไปแล้วการเข้ามาดูแลธุรกิจของทางบ้านนั้นในระยะแรกไม่ใช่ทางของเขาเลยเพราะจบการศึกษาในด้านเศรษฐศาสตร์ แต่พอเข้ามาทำธุรกิจครอบครัวทำให้เขาวิเคราะห์โรงแรมไม่เหมือนคนทำโรงแรม เขากลับมองเหมือนการทำธุรกิจทั่วไป เรียนรู้กระบวนการธุรกิจว่าทำอย่างไรธุรกิจถึงจะเวิร์ก!
“ผมเริ่มต้นโปรเจกต์ที่สมุย ซึ่งก่อนหน้านั้นผมไม่ได้เรียนเรื่องอสังหาริมทรัพย์ ผมจบเศรษฐศาสตร์ 5 ปีแรกทำงานอยู่ที่กระทรวงการคลัง ฉะนั้น ไม่มีความรู้เรื่องโรงแรมเลย แต่ผมก็มานั่งวิเคราะห์ดู แล้วก็พบว่าจริงๆ แล้วเราต้องมีโรงแรมในเครือหลายแห่งหน่อยถึงจะคุ้ม จากนั้นก็เลยกลับมาทำที่กรุงเทพฯ ที่เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ที่เรามีอยู่แล้วตรงสีลม เรามี 2 ตึกก็ปรับเปลี่ยนเป็นเอาตึกนึงมาเป็นโรงแรมซะ เพื่อหารต้นทุน
จาก “บัญดารา รีสอร์ต แอนด์ สปา เกาะสมุย” จนมาถึง “บัญดารา สวีท สีลม” ที่กรุงเทพฯ ด้วย แล้วก็รับพนักงานระดับบริหารมากขึ้น ซึ่งแต่ละคนก็เป็นผู้มีประสบการณ์จากเชนโรงแรมที่มีชื่อเสียง จนตอนนี้เราบริหาร 8 โรงแรม ที่ใช้ชื่อบัญดารา 4 แห่ง ได้แก่ บัญดารา สวีท สีลม, บัญดารา รีสอร์ต แอนด์ สปา สมุย, บัญดารา ออน ซี ระยอง และบัญดารา ภูแล วัลเล่ย์ เชียงราย นอกจากนี้ก็มีที่ไม่ใช้ชื่อบัญดาราอีก 4 แห่ง ได้แก่ ภูใจใส รีสอร์ต ที่เชียงราย, หาดสน รีสอร์ต ที่เขาหลัก, ศิลาวดี พูล สปา รีสอร์ต และโรงแรมเดวา ที่สมุย ทั้งหมดนี้เราทำการตลาดและการขายให้
หน้าที่หลักของผมดูเรื่องวางแผนการตลาด วางแผนการขาย มองว่าโรงแรมคือสินค้าอย่างหนึ่ง เราจะทำอย่างไรให้ขายของได้ แล้วทำอย่างไรก็ได้ให้มีของเหมือนที่เราไปพูดมาขาย ฉะนั้น เวลาทำจึงต้องบูรณาการทุกอย่างเข้าด้วยกัน พอเรามาทำธุรกิจตรงนี้ก็รู้ว่ามันต้องเป็นเชนนะ ต้องมีกลุ่มเพื่อเดินไปด้วยกัน”
การแข่งขันสูงไม่น่ากลัวเท่าคู่แข่งไม่เป็นมืออาชีพ
หลังจากลงมาคลุกอยู่ในวงการโรงแรมสักระยะทำให้เขาเข้าใจในระบบมากขึ้น แม้ว่าการแข่งขันจะสูงแต่ก็ไม่ใช่ปัญหาและอุปสรรค เพราะเขามองว่ากลุ่มผู้ประกอบการทุกคนมีการร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง
“ผมว่าการแข่งขันสูงไม่น่ากลัวเท่าคู่แข่งไม่มีความเป็นโปรเฟสชันนัล คนทำธุรกิจโรงแรมทุกคนต้องเข้าใจระบบโรงแรม ระบบธุรกิจ และระบบเศรษฐกิจ และต้องยอมรับข้อเท็จจริงด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ เมืองไทยโรงแรมเยอะมาก เยอะกว่าคนเข้าพัก ภาพรวมคนก็เลยมองว่านั่นคือสาเหตุทำให้ราคาโรงแรมตก จริงๆ แล้วไม่ใช่!! ลองคิดดูว่าถ้าทุกคนที่ทำงานโรงแรมร่วมกันจับมือว่าเราจะไม่ขายราคาต่ำกว่า 2,000 บาท ราคาก็ไม่ตก คราวนี้ทุกคนก็ไปแข่งกันที่การบริการและหาที่ดีที่สุดให้ลูกค้า ฉะนั้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์ก็คือลูกค้า
สิ่งง่ายๆ ที่อยากให้ผู้ประกอบการโรงแรมเข้าใจคือ คุณต้องเข้าใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่จะใช้บริการของคุณ อย่างที่สมุย ก่อนที่จะทำเราทำวิจัยก่อน สมุย 95% เป็นต่างชาติ คนต่างชาติเขามาจากเมืองที่พัฒนากว่าเราเยอะ ห้องพักเขาไม่ต้องการอะไรมากมาย ขอแค่พักสบาย สะอาด สะดวก เพราะเขามาเพื่ออยู่กับธรรมชาติ ทะเล มาฟังนกร้อง ฟังเสียงคลื่น เขาอยากอาบแดด อยากโดนแมลงกัด อยากดมกลิ่นดิน อยากใช้ชีวิตธรรมชาติ ฉะนั้นที่บัญดารา สมุย พื้นที่เราทั้งหมด 17 ไร่ แต่เราทำอาคารแค่ 4 ไร่ นอกนั้นเป็นสวนเป็นสระว่ายน้ำ เป็นชายหาดให้ลูกค้าเอนจอยเต็มที่ ฉะนั้นหลักง่ายๆ เลยคือเราจะขายอะไร ขายให้ใคร ที่สำคัญผู้ประกอบการเองก็ต้องตั้งใจทำด้วย”
คนรุ่นใหม่หัวใจคลาสสิก
เห็นลุคที่ดูสุขุมลุ่มลึกแบบนักบริหาร แต่อีกด้านหนึ่งเขาคือชายหนุ่มผู้ชื่นชอบในความคลาสสิกของรถยนต์ที่อยู่ในตำนานและความทรงจำของทุกๆ คน โดยงานอดิเรกนอกเหนือจากงานบริหารโรงแรมเขายังเป็นกรรมการฝ่ายต่างประเทศ ของสมาคมรถคลาสสิกแห่งประเทศไทย
“ผมชอบเล่นรถคลาสสิก สนใจมาเป็น 10 ปีแล้ว เริ่มต้นเอง ชอบเอง สะสมเอง เมื่อก่อนทำงานรับราชการเงินเดือนน้อย พูดตรงๆ ว่ายังต้องขอเงินทางบ้านใช้ แต่เราก็เหมือนเด็กผู้ชายทั่วไป อยากได้รถสปอร์ต แต่ไม่มีตังค์ซื้อ (หัวเราะ) ฉะนั้นจึงเริ่มจากรถมือสอง ค่อยๆ หา ดูราคาที่พอจะซื้อได้
วันหนึ่งไปเจอรถเก่าสีแดง 2 ประตู ตรงพระราม 9 ตอนแรกไม่รู้ว่ายี่ห้ออะไรแต่จำได้ว่ากระจังหน้าคืออัลฟ่า โรมิโอ จึงกลับมาเสิร์ชข้อมูลไปเรื่อยๆ จนเริ่มรู้เรื่องรถคลาสสิกมากขึ้น ส่วนรถคลาสสิกคันแรกที่ซื้อคือมินิ ซื้อเพราะน่ารักดี คันเล็กๆ และคันที่โปรดที่สุดคือ อัลฟ่า โรมิโอ ปี 1971 เป็นรถเปิดประทุน คันนี้แหละผมใช้เป็นรถที่รับภรรยากลับบ้านในงานแต่งงาน ทุกวันนี้รถคลาสสิกของผมมีเกิน 10 คันครับ เก็บไว้ที่โรงรถบ้าง ตามอู่บ้าง ซ่อนภรรยา (หัวเราะ)”
หากจะพูดถึงแรงบันดาลใจของความชอบเรื่องรถคลาสสิกนั้นคงอยู่ในเรื่องของรสนิยม เพราะเขาเองเป็นคนที่ชอบอะไรที่ยูนีคไม่เหมือนใครอยู่แล้ว รถต่อให้เป็นรถธรรมดาก็ขอแต่งให้ไม่เหมือนใคร อย่างน้อยขอให้มีคาแรกเตอร์ความเป็นตัวเขาหน่อย ส่วนเรื่องการช่วยสมาคมรถคลาสสิกแห่งประเทศไทยนั้นก็เป็นอีกประสบการณ์ที่ดีที่ได้มีส่วนร่วม
“ดีใจที่มีการรวมตัวของกลุ่มคอเดียวกันที่ชื่นชอบรถคลาสสิก เพราะทำให้เราได้แลกเปลี่ยนความรู้ มีการทำกิจกรรมด้วยกัน มีเพื่อนและผู้ใหญ่ที่เรารู้จักมากขึ้น ผู้ใหญ่ก็เอ็นดูเราทุกคนเพราะเขามองว่าเราเป็นคนรุ่นใหม่ที่มาสนใจพวกรถคลาสสิกที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์”
เมื่อหนุ่มโสดคิวแน่นโดนแมตชิ่ง
ย้อนไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว นภัทรยังใช้ชีวิตเป็นนักธุรกิจหนุ่มโสดที่มีไลฟ์สไตล์เอ็กซ์ตรีมตามประสาผู้ชาย กิจกรรมหลายๆ อย่างที่เขาชื่นชอบนั้นดูจะเป็นแนวบู๊ๆ ลุยๆ ไม่ว่าจะเป็นยิงปืน ดำน้ำ และที่โปรดปรานที่สุดก็คือการแข่งรถ เขาชื่นชอบในความเร็วและความแรง โดยเพื่อนหนุ่มโสด (ในตอนนั้น) ของเขา อาทิ จิน-จรินทร์ ธรรมวัฒนะ, โก้-ชานนท์ เรืองกฤติยา จัดว่าเขาเป็นหนุ่มที่มีกิจกรรมแน่นชนิดที่ว่าไม่เคยนอนอยู่กับบ้านเฉยๆ ตั้งแต่เช้ายันเย็นได้เลย
จนกระทั่งเวลาที่เหมาะสมมาถึง เขาได้รับการแนะนำให้รู้จักกับหญิงสาวคนหนึ่งจาก ม.ล.นันทิกา วรวรรณ แห่งบางกอก แอร์เวย์สที่ทำหน้าที่เป็นแม่สื่อจับคู่แมตชิ่งความรักครั้งนี้ให้กับเขา!!
“เมื่อก่อนเป็นหนุ่มโสดที่มีกิจกรรมเต็มตลอด ไม่เคยอยู่เฉย ชอบออกไปเที่ยวกับเพื่อน ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ชอบแข่งยิงปืน ดำน้ำ แข่งรถ จนวันหนึ่งไปทำงาน ITB ซึ่งเป็นงานแฟร์ใหญ่ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ตอนนั้นพี่อ้อย (ม.ล.นันทิกา วรวรรณ) เขาบอกว่ามีน้องจะแนะนำให้รู้จักเป็นเลขาฯ ของเขาเอง แต่ตอนนั้นผมไม่ได้เจอเขานะ ตาต้าไม่ได้ไป…พอกลับมาพี่อ้อยนัดให้เรามาทานข้าวกัน จากนั้นก็มีคุยกันบ้างใน Hi5 คุยกันก็รู้สึกคลิกนะ เดตกันอยู่ประมาณ 1 ปี ผมคิคว่าก็สมควรแก่เวลาแล้วเพราะผมเองก็อายุมากขึ้น ตอนนั้นผม 30 ภรรยาอ่อนกว่า 2 ปี ก็เลยแต่งงานกัน”
ทางภรรยา (ตาต้า-พรพิลาส อัสสกุล) เล่าเสริมถึงความประทับใจในตัวคุณนภัทรให้เราฟังเพิ่มเติมว่า “เขาเป็นคนที่รักพ่อแม่ รักครอบครัว เป็นลูกที่เชื่อฟังพ่อแม่ มีความรับผิดชอบ เขาเป็นคนหนึ่งที่ต้ารู้สึกว่าสำหรับเขา 1 วันน่าจะมีเวลาสัก 30 ชั่วโมงนะ เพราะเขาทำอะไรหลายอย่างมาก ทั้งดูแลครอบครัว ทำงาน และกิจกรรมที่ตัวเองอยากทำอีก การคบกับเขาเราก็ได้ทำกิจกรรมไปด้วยกันหลายอย่าง”
เอนจอยทุกโมเมนต์กับครอบครัว
จนกระทั่งทุกวันนี้จากที่เคยใช้ชีวิตแบบหนุ่มโสดก็มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เวลาสำหรับการทำกิจกรรมส่วนตัวคงลดน้อยลงไป เพราะนักธุรกิจหนุ่มคนนี้กลายเป็นหัวหน้าครอบครัวอย่างเต็มตัว หลังจากเข้าพิธีสมรสกับคุณตาต้าภรรยาที่น่ารัก ผู้ทำหน้าที่แม่บ้านได้อย่างสมบูรณ์แบบและมีทายาทแล้วถึง 3 คน คือ ลูกสาวคนโต น้องกญา อัสสกุล วัย 5 ขวบ, ลูกชายคนที่ 2 น้องศักดิ์สมิธ อัสสกุล วัย 4 ขวบ และลูกสาวคนสุดท้อง น้องอัญญรินทร์ อัสสกุล วัย 1 ขวบ ซึ่งเขาจัดสรรเวลาให้ครอบครัวพอๆ กับการทำงานของเขาเช่นกัน
“ตอนแรกอยากมีลูกคนเดียว อยากได้เด็กผู้ชาย เพราะครอบครัวผมเป็นคนจีน แต่เราโชคดีที่ลูกๆ เขามาเอง เราใช้ชีวิตชิลชิล ไม่ได้วางแผนอะไรมากมาย แต่ละวันภรรยาเป็นคนดูแลลูก เสาร์-อาทิตย์ผมจะได้อยู่กับลูกเยอะ พาลูกไปเรียนพิเศษ ดนตรี บัลเลต์”
“ตอนมีลูกคนแรกๆ ต้ายังทำงานอยู่ที่บางกอก แอร์เวย์ส จนคลอดลูกคนที่สองถึงหยุดทำงานเพราะอยากมีเวลาให้เขาเยอะๆ ยิ่งมีคนที่ 3 ด้วยเรื่องงานนี่ลืมไปเลย!” คุณตาต้า คุณแม่ยังสาวเล่าให้ฟังถึงการดูแลครอบครัว
ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ในครอบครัวนั้นเป็นหน้าที่ของคุณพ่ออู๋ที่จะเป็นคนวางแผนการท่องเที่ยวหรือการใช้ชีวิตให้ทุกคนในครอบครัวเอนจอย
“เนื่องจากผมมีเวลาน้อย แต่เราต้องจัดการเวลาให้คุ้มค่า ฉะนั้น เวลาจะมีทริปใหญ่ของครอบครัวผมจะพยายามเตรียมตัวไปให้เยอะที่สุดเพื่อเวลานั้นเราจะได้เอนจอยกับโมเมนต์ เช่น จะไปเที่ยวญี่ปุ่นกันก็ต้องศึกษาก่อนญี่ปุ่นมีอะไรเที่ยว ไปอย่างไร ที่พักที่ไหน ยิ่งถ้าไปกับครอบครัวก็ดูช่วงเวลาให้ดีรอเด็กๆ ปิดเทอม
กิจกรรมส่วนใหญ่ของครอบครัวก็คือไปต่างจังหวัด เพราะมีคอนโดมิเนียมอยู่ที่พัทยา หรือถ้าวันปกติเราอยู่คอนโดแถวสีลม เรามีสวนข้างบ้านที่ใหญ่มาก สวนลุมฯ นั่นเอง (หัวเราะ) ก็จะพาลูกไปสวนลุมฯ พ่อไปวิ่ง ลูกไปกระโดดเล่น ไปให้อาหารปลา แค่นั้นก็สนุกแล้ว มีสวนอยู่ใกล้บ้านขนาดนี้ก็ต้องเอนจอยกันหน่อย”
มอบสิ่งดีๆ เพื่อการเรียนรู้และอนาคต
ตามประสาของคนเป็นพ่อเป็นแม่ที่ย่อมต้องห่วงอนาคตของลูก ฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ที่ยังหนุ่มยังสาว จึงมักใช้เวลาในแต่ละวันเพื่อพูดคุย ทำความเข้าใจและเตรียมสิ่งที่ดีให้ลูก
“กลางวันเราต่างทำหน้าที่ของเรา แต่พอกลับบ้านหลังมื้อค่ำเราก็จะนั่งปรึกษากันทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องโรงเรียนลูก เรื่องเรียนพิเศษ เราอยากให้สิ่งที่ดีกับเขา ไม่ได้หวังว่าเขาจะต้องเรียนที่ไหน เพื่อนสนิทผมบางคนไม่ได้เรียนหนังสือที่เดียวกันเลย แต่เชื่อในเรื่องของ “Natural selection” คนที่เหมือนกันก็จะดึงดูดคนที่เหมือนกันมาอยู่ด้วยกัน ฉะนั้นถ้าเราเลี้ยงลูกเราให้เป็นคนดี คิดดี ทำดี มีศีลธรรม เขาก็จะดึงคนเหมือนเขามาหาเขา สำหรับปัญหาสังคมที่มีอยู่ว่าเด็กไม่ดี เสียคนเพราะเพื่อน เราต้องกลับมานั่งดูว่าความจริงแล้วเสียเพราะอะไร เหรียญมีสองด้านอย่าไปโทษคนอื่น....
ไม่อยากถามลูกว่าโตขึ้นอยากจะเป็นอะไร แค่อยากให้เขาทำอะไรก็ได้ที่มีความสุข และไม่ผิดศีลธรรม แต่เรื่องของความรู้เราก็สนับสนุน ถ้าไม่เรียนก็ทำงานไม่ได้ ซึ่งวันหนึ่งเขาก็ต้องทำงานหาเงินซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสมัยนี้ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือเงิน”
นอกจากแผนอนาคตสำหรับครอบครัวของเขาเองแล้ว แผนสำหรับตัวเองในเรื่องการงานนั้น เขาบอกว่ายังหยุดไม่ได้ เพราะเขายังมีคนที่ต้องดูแลอีกมากมาย
“สมมติผมพูดว่าเป้าหมายของผมจะหยุดทำงานเมื่ออายุเท่านั้นเท่านี้ เพราะผมทำงานเยอะ เงินทองก็ไม่เดือดร้อน ผมจะพักแล้ว ไม่ได้นะ! ผมมีพนักงานที่ต้องดูแลอีกตั้ง 400-500 คน จะเอาแต่เป้าหมายของตัวเองไม่ได้ ต้องห่วงชีวิตเขาด้วย และนั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมต้องขยายธุรกิจ เพื่อจะได้มีอะไรไว้รองรับพนักงานของเรา โดยปลายปีกำลังจะเปิดโรงแรมอีกแห่งที่ภูเก็ต”