ART EYE VIEW---เปรียบตัวเองคล้ายนักมวยแก่ที่แขวนนวมไปนาน และวันนี้ผู้คนรอบข้าง ตลอดจนลูกสาวอันเป็นที่รัก เป็นเหตุผลสำคัญทำให้ หน่อง - จตุรงค์ หิรัญกาญจน์ คืนสู่สังเวียนอีกครั้ง หลังจากที่ห่างหายไปเกือบสิบปี
และสังเวียนที่ว่าคือพื้นที่ของคนทำงานศิลปะภาพถ่าย
“ผมกลับมาทำงานศิลปะภาพถ่ายอีกครั้งเพราะมีคนให้กำลังใจ จากลูก(ฟอง-การหิรัญ หิรัญกาญจน์) จากเพื่อน จากคนรอบข้าง ไม่ใช่จากตัวเอง และไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเลย พูดไปเหมือนออกจะหยิ่งนะ แต่พูดตรงๆเลย ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเลยสักนิดเดียว ทำเพื่อสังคม และคำว่าสังคมในที่นี้คือคนที่เราอยู่ด้วย และลูกของเรา เท่านั้นเอง”
ไม่เพียงเท่านั้น กล้องตัวล่าสุดที่ใช้และอุปกรณ์ถ่ายภาพก็ได้มาจากคนรอบข้างผู้อยากเห็นเขากลับมาถ่ายภาพนั่นเอง
“รุ่นน้องคนนึงชื่อวิโรจน์ เขาเอากล้องมาให้ผม ไม่ใช่กล้องส่วนตัวของเขานะ แต่เขาไปซื้อมาให้และบอกว่า ผมอยากให้พี่หน่องกลับมาถ่ายภาพ
เพราะเขาอยากให้ผมทำงานต่อ และรู้ว่าผมยังพอมีฝีมืออยู่มั้ง แต่มันถูกเก็บไว้ ไม่ได้นำออกมาเสนอ เพราะว่าเงื่อนไขหลายๆอย่าง”
อดีตช่างภาพรุ่นเก๋าผู้เติบโตในยุคที่อุปกรณ์ถ่ายภาพต่างๆล้วนเป็นระบบ Manual มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการถ่ายภาพด้วยฟิล์มและล้างอัดในระบบห้องมืด ยอมรับว่า สาเหตุที่ทำให้ห่างหายไปนาน นอกจากต้องการเวลาดูแลลูกสาวอย่างใกล้ชิด ยังเป็นเพราะเทคโนโลยีด้านการถ่ายภาพที่รุดหน้าไปไกลจนตามแทบไม่ทัน ขณะที่อุปกรณ์ถ่ายภาพในระบบเก่าก็เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ต้องใช้งบประมาณในการซื้อหามากกว่าการถ่ายภาพในระบบดิจิตอล
“แต่ก่อนเรามีทุกอย่าง พอเวลาผ่านไป บางอย่างก็ผุพังไป ไอ้กล้องที่เรามีอยู่ก็เป็นกล้องฟิล์ม เอามาใช้มันก็ไม่เวิร์ค หรือถ้าจะใช้ก็ใช้ได้ ถ้าใจเรารัก แต่ในการทำห้องมืด ในการถ่ายฟิล์ม มันต้องใช้เงินเยอะกว่าการทำงานดิจิตอล ที่ใช้กล้อง ใช้คอมพิวเตอร์ตัวเดียวก็จบ ใช่ไหม
ผมเองไม่มีความชำนาญเรื่องดิจิตอล เรื่องเทคโนโลยีเท่าไหร่ และผมก็สอนถ่ายภาพในระบบ Manual การล้างอัดในห้องมืด ผมก็ไม่มีแรงบันดาลใจอะไรมากให้กลับมาถ่ายภาพเป็นเรื่องเป็นราว และวันๆก็ต้องขลุกอยู่กับลูกมากเป็นพิเศษ แต่ตอนนี้ลูกโตแล้ว ห่างอกเรามากขึ้น เราก็เลยได้มีเวลากลับมาทำ จากที่ทิ้งไปสิบกว่าปี ก็เพื่อที่จะดูแลเขาอย่างใกล้ชิด ตอนนี้ก็เริ่มศึกษา หาความรู้เพิ่มมากขึ้น”
ที่บอกว่าทิ้งไปสิบกว่าปีนั้นคือช่วงที่ห่างหายไปจากการทำงานและแสดงศิลปะภาพถ่าย ทว่าหลายปีที่ผ่านมา ชีวิตของเขายังคงข้องเกี่ยวกับการถ่ายภาพ โดยเป็นอาจารย์พิเศษให้กับหลายสถาบัน
“สอนมาสิบกว่าปี เป็นอาจารย์พิเศษ สอนทุกเทอมเลยที่ ม.กรุงเทพ และม.ศิลปากร ส่วนที่ลาดกระบังสอนแค่เทอมต้น ที่ ม.กรุงเทพ สอนถ่ายภาพเบื้องต้นและห้องมืด ที่ ม. ศิลปากร สอนการถ่ายภาพเบื้องต้น ส่วนที่ลาดกระบังสอนเรื่องห้องมืดอย่างเดียว
ตอนนี้ผมมีอาชีพหลักคือเป็นอาจารย์สอนถ่ายภาพ รายได้ไม่มากเท่าไหร่ ผมก็เลยหวังว่า การกลับมาแสดงงานของผมครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการกลับมาทำงานศิลปะภาพถ่าย ยังจะเป็นเหมือนพอร์ตเฟอริโอและการเปิดตัว เพื่อบอกให้ผู้คนรู้ว่า ผมจะกลับมาถ่ายภาพเป็นอาชีพแล้วนะ ใครสนใจก็มาจ้างให้ไปถ่ายได้ และมันก็เป็นสิ่งทำให้ลูกสาวผมมีความสุข เพราะเค้าแฮปปี้ที่พ่อกลับมาทำงานที่พ่อรัก คอยเป็นกำลังใจให้ และบางครั้งก็มาช่วยนั่งเฝ้างาน
ผมจึงคิดว่าผมจะกลับมาเป็นช่างภาพมืออาชีพ เพื่อหาเงินเลี้ยงดูส่งเสียให้เค้าเติบใหญ่ต่อไปในภายหน้า บรรลุวัตถุประสงค์เค้า ในการเรียนขั้นมหาวิทยาลัย ซึ่งเราต้องซับพอร์ตเค้า เพราะเค้าเป็นลูกเรา”
ในอดีตจตุรงค์คือประธานชมรมภาพถ่ายคนแรกของวิทยาลัยช่างศิลป์ ต่อด้วยการเข้าเรียนด้านศิลปะภาพถ่ายที่ ภาควิชานิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร
เมื่อไปใช้ชีวิต และเรียนต่อที่ Kingston University ได้กลับมาทำงานและมีชื่อเสียงอยู่ในวงการถ่ายภาพแฟชั่นและโฆษณา ให้กับบริษัทโฆษณาและนิตยสารหลายฉบับ
ในด้านหนึ่งยังเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ชื่นชอบการปั่นจักรยาน และจัดกิจกรรมที่น่าสนใจทางด้านนี้หลายครั้ง
“การปั่นจักรยาน คืองานอดิเรก คือการออกกำลัง เพราะผมเป็นคนชอบออกกำลังกาย ผมก็เลือกจักรยาน เพราะมันเป็นพาหนะที่ไม่ต้องใช้เงิน ไม่ต้องเปลืองน้ำมัน และมันก็ได้ออกแรง เป็นงานอดิเรกที่ผมสามารถดูแลมันได้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาช่าง พึ่งพาชาวบ้านมากนัก ทำจุ๊กจิ๊กอยู่กับบ้านได้
แต่สมัยก่อนผมเล่นรถโบราณ มอเตอร์ไซด์โบราณ จ้างช่างตลอด ค่าอะไหล่ก็แสนจะแพง เสียเงินค่าช่างตลอดเวลา จนเรามาเล่นจักรยาน เราก็ฝึกหัดทำเองได้ไม่ยาก แล้วมันก็ได้ออกกำลังกาย เพราะผมเป็นคนที่ชอบออกกำลังกาย ชอบฟิตเนส และการขี่จักรยานมันก็ทำให้เราได้ออกไปถนนหนทาง ได้ชมวิวทิวทัศน์ แล้วผมเป็นคนชอบเที่ยว ชอบสีเขียว ชอบดูดอกไม้ใบหญ้า ชอบสัมผัสอากาศที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งขี่จักรยาน มันก็ทำให้เราได้ท่องเที่ยวด้วย”
ปี 1997 งานแสดงเดี่ยวศิลปะภาพถ่ายครั้งแรกของเขาชุด The art of portriats ถูกจัดขึ้นที่สยามเซ็นเตอร์ ต่อด้วยการจัดแสดงงานในชุดที่ 2 เมื่อปี 2004 ณ หอศิลป์จามจุรี
“งานภาพถ่ายชุดแรก เกี่ยวกับผู้คนรอบๆตัว ส่วนชุดที่สองพูดถึงความเป็นตะวันตกและตะวันออก โดย ศาสนาพุทธ ความเป็นพระพุทธเจ้า มาเป็นสื่อแทน”
พอมาถึงงานชุดที่สามล่าสุดนี้ เขาต้องการสื่อถึง “ความรักของคนกับรอยสัก”
“ผมเป็นคนชอบถ่ายภาพคน แต่อย่างอื่นผมก็ถ่ายได้หมดทุกอย่าง ถ่ายหุ่นนิ่ง (Still Life) ถ่าย Landscape ถ่ายตึกรามบ้านช่อง ถ่ายภาพสังคม ถ่ายแนว Street ผมถ่ายหมดแหล่ะ แต่บังเอิญผมชอบถ่ายคนมากที่สุด เพราะว่าสมัยเป็นช่างภาพมืออาชีพ งานหลักของผมคือถ่ายแฟชั่น ถ่ายโฆษณา
และผมก็เป็นคนนึงที่ชอบ Tattoo ชอบรอยสัก การทำงานศิลปะแต่ละช่วง มันก็จะมีอะไรที่เกี่ยวเนื่องกับตัวเราอยู่แล้ว อย่างเช่นช่วงนี้ ผมนำเสนอเรื่องคนกับรอยสัก เพราะว่าตัวผมเองก็เป็นคนที่รักรอยสัก และ สักมานานนม และผมรู้สึกว่า ปัจจุบันนี้ มีคนที่มีรอยสักมากมายมหาศาล เยอะขึ้นกว่าในอดีต
เมื่อยี่สิบปีก่อนที่ผมสนใจสัก มันมีไม่กี่คนหรอก หมายถึงแบบตะวันตกหรือสักสีนะ ไม่ใช่สักแบบสักยันต์
ผมก็เลยสงสัยว่าเฮ้ย ทำไมคนรับอารยะธรรมตะวันตก ที่เป็นสักสี มันมีเยอะแยะเลย และ Tattoo มันก็อยู่กับประเทศไทยมาตั้งนานแล้ว คนที่สักยันต์ เรื่องอักขระ มันมีเยอะแยะ ผมก็เลยจับเอาเรื่องนี้มานำเสนอ เพราะผมมองว่า Tattoo มันเป็นสิ่งที่อยู่ติดตัวเป็นวันตาย ไม่สามารถเลิกลากับมันได้ ไม่สามารถไปจดทะเบียนหย่าได้ ถ้าคุณตัดสินใจอยู่กับมัน คุณก็ต้องอยู่กับมันไปจนตาย ผมเอาบุคลิกของคนเหล่านี้มาถ่ายทอดเป็นภาพถ่ายในแนวทางที่ผมถนัด”
รอยสักแรกถูกจารึกไว้บนร่างกายเขาเมื่อกว่า 24 ปีที่แล้ว และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆตามวันและเวลา
“ผมชอบไง ชอบมานานแล้ว ตอนนั้นที่เมืองไทย ยังไม่มีช่างสักสี ซักคนเดียว ไม่มีเลย หรืออาจจะมีแต่ผมไม่รู้จัก ผมไปอังกฤษปั๊บ ผมไปเจอช่างสักคนนึง นั่งสักอยู่ ผมก็เลยสักเลย เพราะอยากมีตั้งนานแล้ว
แล้วผมก็เอาสไตล์ที่ผมชอบ เค้าเรียกว่า Old School Tattoo (รอยสักในรูปแบบสมัยเก่า เน้นลายเส้น และสีที่คมเข้ม) เป็นภาพโบราณเก่าๆ พอหลังจากนั้นมา ผมก็ติดใจ สักไปเรื่อย ผมมีรอยสักในร่มผ้า ไม่ได้สักเยอะแยะทั่วร่างกาย สองสามปีสักที สักไปเรื่อยๆ สำหรับผมรอยสักมันเหมือนเป็น Story ที่บอกเล่าเรื่องราวในปีนั้นที่เรายังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ตายไปจากโลกนี้”
บรรดานายแบบและนางแบบผู้รักรอยสักของเขา มีทั้งคนที่รู้จักกันมานาน รู้จักผ่านการแนะนำจากเพื่อน และรู้จักผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค
“หนึ่งเป็นคนที่รู้จักอยู่แล้ว มานมนานกาเล บางคนรู้จักกันมาเป็นสิบๆปี เยอะแยะเลย เป็นเพื่อนฝูง เป็นอะไร ซึ่งในอดีตบางคนก็ไม่มีรอยสัก แต่เดี๋ยวนี้มีเต็มเลย สองเป็นเพื่อนที่รู้จักกันใหม่ จากการแนะนำ เป็นเพื่อนของเพื่อน และสามรู้จักกันทาง facebook”
และคนเหล่านี้มีสิ่งที่เหมือนกันคือ ต่างเป็นผู้ที่รักรอยสัก ตัดสินใจแล้วว่าจะอยู่กินกับมันไปจนวันตาย และมันเป็นสิ่งหนึ่งที่บอกเล่าเรื่องราวในชีวิตของพวกเขา
“รอยสักของทุกคนบนร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการสักยันต์ หรือสักเพื่อสวยงาม มันมีเรื่องราว เหมือนกับตัวผมเองก็มีเรื่องราว ช่วงนั้นผมรักอะไร สนใจอะไร ผมก็สักบนร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นนก เรื่องราวการเดินทาง นู่น นี่ นั่น
ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเขาเอง ซึ่งหลายๆคนอาจจะไม่เข้าใจว่าเรื่องอะไร ทำไมบางคนสักรูปนก รูปเรือ รูปบ้าน รูปพญานาค แต่มันคือชีวิตพวกเขา เช่นเขาเกิดปีมังกร เขาเกิดราศีนี้ เขารักสิ่งนี้ แฟนเขารักสิ่งนี้ มันคือเรื่องราวในชีวิตเขา หรือเขาชอบเล่นอาคมของขลัง เขามีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ เขาก็สัก
ไม่เคยเจอคนที่อยากเอาออก หรือผมว่าต่อให้เขาอยากเอามันออก เขาก็คงไม่อยากจะพูดหรอก เพราะมันทำไม่ได้ แล้วผมก็ไม่รู้ว่าไอ้การเลเซอร์ มันจะเนียนร้อยเปอร์เซ็นต์หรือเปล่า ผมไม่เคยเห็นใครที่ไปเลเซอร์มา คงมีแหล่ะ แต่ผมไม่เคยเห็น การสักเป็นการตัดสินใจที่ต้องเด็ดเดี่ยว ต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดี ไม่ใช่แค่ตามกระแสสังคม หรือตามคนอื่น เห็นเพื่อนสักก็อยากสักมั่ง มันไม่ใช่”
ถ่ายภาพชุดนี้ จตุรงค์บอกว่าไม่ได้อาศัยเทคนิคในการถ่ายมากเหมือนสมัยก่อน และใช้กล้องดิจิตอล Canon 5D ถ่ายแบบ ONE SHOT
“ผมไม่ได้ใช้เทคนิคมากเหมือนสมัยผมทำงานห้องมืด ตอนทำงานห้องมืด ผมใช้เทคนิคเยอะ ผมค่อนข้างชำนาญเรื่องห้องมืด เรื่องการล้างอัดฟิล์ม พอมาใช้ดิจิตอล ผมมีความรู้สึกว่าอยากจะพูดเรื่องความเป็นตัวตนของแบบ มุมมองของผม สายตาของผมที่มองแบบ เห็นยังไงถ่ายยังงั้น ถ่ายเสร็จก็มีแต่งในคอมพิวเตอร์นิดหน่อย ไม่ได้แต่งมากมาย เพราะแต่งมากก็ทำไม่เป็น”
แม้แต่การเลือกสถานที่สำหรับการถ่ายภาพ ก็ไม่มีความยุ่งยากใดๆ
“ผมต้องการนำเสนอแค่ตัวตนของเค้าไม่ได้ต้องการนำเสนอเรื่องโลเกชั่น ไม่จำเป็นต้องไปหาอะไรสวย ผมเป็นช่างภาพ ผมมั่นใจว่า ที่ตรงไหนก็ถ่ายภาพได้สวย ในโลกนี้ทุกจุด แม้กระทั่งโต๊ะที่เรากำลังนั่งคุยกันอยู่ มันอยู่ที่สายตาช่างภาพ ตากับสมองสองอย่าง ตรงไหนก็ถ่ายภาพได้สวย”
และเขาค่อนข้างมั่นใจว่า ไม่ว่าแบบแต่ละคนจะมีบุคลิกหน้าตาเช่นไร แต่ในภาพถ่ายของเขาทุกคนต่างดูดีในแบบของตัวเอง
สำหรับนิทรรศการที่กำลังจัดแสดงให้ชม แค่มีคนสนใจแวะเวียนมาชม ชมแล้วมีความสุข เขาบอกว่าเพียงเท่านี้เจ้าของผลงานก็สนุกกับการทำงานและมีความสุขอย่างยิ่ง
“คนดูแล้วมีความสุข ผมก็สนุกแล้ว คุณดูแล้วคุณชอบมัน มันสวยงาม คุณมีความสุข ก็พอแล้ว ขอเพียงมารับเอาเรื่องราวจากภาพ แค่นี้คนทำงานศิลปะนำเสนอ แล้วเราแฮปปี้แล้ว”
และเชื่อว่าช่างภาพรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยน่าจะได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่างจากผลงานของช่างภาพรุ่นเก่าคนหนึ่ง
“สามารถศึกษาเรื่องแสงและเงา เรื่องการถ่ายภาพพอร์เทรต อิริยาบถของผู้คนต่างๆ ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับศิลปะภาพถ่ายครับ จากมุมมองของช่างภาพเก่าคนหนึ่งที่อาจจะมีประสบการณ์สูงกว่า เขาอาจจะเป็นช่างภาพเด็กๆ ที่อาจเพิ่งเริ่มต้นถ่ายภาพ และเขาก็จะได้แรงบันดาลใจกลับไปทำงานให้มากขึ้น เหมือนตอนที่ผมเป็นเด็กวัยรุ่น หัดถ่ายภาพ ผมก็ดูงานจากช่างภาพเก่งๆ ผมรู้สึกว่า คนนี้สุดยอดหว่ะ ถ่ายแบบนี้ หน้าตาแบบนี้ แสงเงาแบบนี้ เลือกแบบๆนี้ เราก็ได้รับแรงบันดาลใจ และนำมาสร้างสรรค์กับงานของเรา”
แต่อยากจะฝากไว้ว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีในการถ่ายภาพจะก้าวหน้าเพียงใด ต้องไม่ลืมที่จะฝึกฝนทักษะและฝีมือเฉพาะตน
“สมัยนี้ เทคโนโลยีมันทำให้ทุกคนสะดวกสบายขึ้น แม้กระทั่งตอนนี้ขับรถยนต์ แต่ก่อนเป็นเกียร์ Manual เก่าๆ พวงมาลัยก็ต้องลากกัน พวงมาลัยพาวเวอร์ก็ไม่มี หนักชิบเป๋ง เดี๋ยวนี้เป็นเกียร์ออโต้ มีพวงมาลัยพาวเวอร์ มีนู่น นี่ นั่น อำนวยความสะดวก แต่คนเราเวลาขับรถก็ต้องมีสติตลอดเวลา ต้องตั้งใจขับรถ ต้องไม่ประมาท ระวังอุบัติเหตุเกิดขึ้น
ถ่ายภาพก็เหมือนกัน ต่อให้เรามีเทคโนโลยีมันนำพาไป สะดวกจากกล้อง จากเลนส์ จากคอมพิวเตอร์ จากอะไรทั้งหลายแหล่ แต่เราต้องศึกษางาน ศึกษาการควบคุมทุกอย่างในระบบ Manual การใช้ Shutter Speed ให้ถูกต้อง การมีแนวคิดงานหรือว่าเรื่องของสิ่งที่ต้องการสื่อสารผ่านภาพ เพื่อให้ภาพมันมีเรื่องราว มีความถูกต้อง และความสวยงามของภาพควรจะชัดเจนเท่านั้นเอง
ทุกวันนี้การถ่ายภาพโคตรสะดวกสบายเลย ไอโฟนถ่ายภาพออกมาโคตรสวยเลย ผมเองก็ชอบ แต่อยากให้เขาอย่ามองข้ามว่า ความประณีตบรรจง หรือคำว่า Fine Art หรือ วิจิตรศิลป์ มันเป็นอะไรที่ยากกว่า ให้กลับมามองรากเหง้าของมัน เหมือนศิลปินที่วาดภาพเก่งๆ ใช้พู่กันกระจอกๆ แต่เขียนภาพโคตรสวย แต่ว่าคนที่มีสตางค์ซื้อพู่กันดีๆมา เขียนภาพห่วย สู้คนที่มีพู่กันกระจอกๆ ไม่ได้
เหมือนกัน ต่อให้คุณมีกล้องตัวเป็นแสน คุณไม่ฝึกมือ คุณไม่หาประสบการณ์ ไม่ศึกษา ไม่เรียนรู้ ถ่ายภาพมา คุณไม่มีทางสมบูรณ์แบบ แต่ถ้าคุณมีกล้องกระจอกๆ หรือกล้องไอโฟน ถ้าคุณศึกษา คุณเรียนรู้เรื่องมุมกล้อง เรื่ององค์ประกอบศิลป์ เรื่องแสงและเงา ทฤษฎีสีอะไรก็แล้วแต่ ผมคิดว่าคุณต้องถ่ายภาพได้ดีมากในวันหนึ่ง”
Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : วชิร สายจำปา
นิทรรศการ Living Ink โดย จตุรงค์ หิรัญกาญจน์ วันนี้ - 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557
เชิญร่วมงานเปิดนิทรรศการ วันเสาร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2557 เวลา 14.00 น.
ณ People's Gallery P1-P2 ชั้น 2 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน
ผมขอกล่าวถึงงาน Living Ink อีกสักครั้ง.....
ผมเปรียบเสมือนนักมวยแก่ที่แขวนนวมไปนานแล้ว แม้แต่นวมผมก็ไม่มี คงมีเพียงหมัดและมือเท่านั้น
ผมชำนาญในเรื่องของฟิล์มและห้องมืดที่ผมสามารถจับต้องมันได้
ก้าวข้ามมาสู่ยุคเทคโนโลยี่ในระบบดิจิทอล ผมไม่เคยมกล้อง DSLR ผมมีแต่เพียงกล้องคอมแพ๊คออโต้กระจอกๆตัวเล็ก ที่พกไว้ในกระเป๋าหลังเสื้อจักรยาน
ที่ผมกลับมาถ่ายภาพอีกครั้งแบบเป็นเรื่องเป็นราวอีกครั้งก็เพราะหัวใจที่ร่ำร้องหามันมาตลอดด้วยความรัก ,เพื่อคนรอบข้างมากมายที่เฝ้าจับตาและคอยให้ "กำลังใจ" ช่างภาพเก่าคนนี้ ,เพื่อสังคมศิลปะภาพถ่ายของเมืองไทย...และเพื่อลูกสาวของผม....ผมขอย้ำว่าไม่ใช่เพื่อตัวผมเอง
วันหนึ่งเมื่อกลางปีก่อน
-วิโรจน์น้องคนหนึ่งมอบบอดี้กล้อง 5D ให้ผม และบอกผมว่า "พี่หน่องกลับมาถ่ายภาพนะครับ"
-แบล๊คมาลง Lightroom ให้ผมที่บ้านและบอกผมว่า "หัดใช้มันแทนห้องมืดนะพี่"
-เป็ดให้อแด๊ปเตอร์เพื่อที่ผมจะได้เอาเลนท์Nikon แมนนวลเก่าๆที่ผมมีอยู่มาใช้กับกล้องใหม่ที่ผมได้มันมา
-กูลและเพื่อนอีกคนให้ผมยืมไฟแฟลชมาใช้คนละดวง
-โจ้ให้แมมโมรี่การ์ดผมมาใช้
-ม.กรุงเทพให้ผมยืมเลนท์ Kid ออโต้เก่าๆ 35-70 f4.5-5.6ที่รอดตายจากน้ำท่วมมาใช้
-บุบและมิค ให้ผมยืมสถานที่จำเริญเพื่อใช้ถ่ายภาพ และให้ผมยืมแม๊คฯที่นั่นใช้ตกแต่งภาพ และเป็นที่ปรึกษาชั้นดีในการหัดใช้ไลท์รูม ฯลฯ
-พี่น้องอีกมากมายที่สละเวลามาเป็นแบบให้ผมเพื่อให้ผมได้แสดงออกถึงความรักที่มีต่อ Photo,Tattoos และผู้คนรอบตัว
ผมขอกราบขอบพระคุณทุกคนที่ทำให้ผมได้กลับมาทำสิ่งที่ผมรักอีกครั้ง......
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews