นับแต่เมื่อวันที่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล “บุนนาค” ให้แก่บรรดาผู้สืบสกุลโดยตรงจาก เจ้าพระยะอรรคมหาเสนา (บุนนาค) เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2456 นับจนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลาถึง 100 ปีเต็มแล้ว
ในวาระอันสำคัญนี้ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ที่ได้พระราชทานนามสกุลอันเป็นที่มาของชาติกำเนิด อีกทั้ง เพื่อให้ญาติพี่น้องลูกหลานได้มาพบปะ ร่วมรำลึกถึงคุณงามความดี ที่บรรพชนได้ร่วมกันสร้างสมไว้เป็นแบบอย่างแก่ผู้สืบสายสกุล
พล.อ.บรรจบ บุนนาค ประธานสายสกุลบุนนาค ในฐานะพี่ใหญ่แห่งสายสกุล จึงได้วาระดีจัดงาน “ญาติสมาคม-100ปี สกุลบุนนาค” ขึ้นมาเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงคุณงามความดี ที่บรรพบุรุษได้สร้างคุณูประการให้กับสยามประเทศ
บรรยากาศ ณ ห้องมัฆวาณรังสรรค์ สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดี สดชื่นไปด้วยการตกแต่งในสไตล์เปอร์เซียน เพื่อเป็นการรำลึกถึงบรรพบุรุษต้นสกุล คือ ท่านเฉกอะหมัด ชาวเปอร์เซีย ที่เดินทางมารับราชการในสมัยของพระเจ้าปราสาททอง แห่งกรุงศรีอยุธยา ภายในเขียวชะอุ่มไปด้วยพันธุ์ไม้สีเขียวขาวตั้งแต่บันไดทางเข้างาน ไม่ว่าจะเป็น ต้นปาล์มสีเขียว ลูกทับทิม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาวเปอร์เซียน ดอกกุหลาบสายพันธุ์เปอร์เซียน ได้รับการประดับประดาอย่างสวยงาม เพื่อคอยต้อนรับเหล่าลูกหลานบุนนาค สกุลที่เกี่ยวเนื่องกัน อาทิ ม.จ.มงคลเฉลิม ยุคล โอรสของ หม่อมปริม บุนนาค , เดือนฉาย คอมันตร์, ปรียวรรณ บุนนาค, พล.ต.ม.ร.ว.ศุภวัฒน์ เกษมศรี, คุณหญิงเยาวนาถ ไทยวัฒน์, ประภา บุนนาค, คุณหญิงเสริมศรี บุนนาค, ชวลีย์ บุนนาค ฯลฯ ที่เดินทางมาอย่างพร้อมเพรียงแต่เช้าตรู่
สายสกุลบุนนาค ได้ชื่อว่าเป็นราชินิกุลที่ขึ้นชื่อมากในเรื่องของสำรับอาหารชาววัง ฉะนั้น ในวันงาน แต่ละบ้านจึงลงมือเข้าครัวปรุงอาหารชาววังแบบสุดฤทธิ์ มาจำหน่ายให้แก่บรรดาญาติมิตรในราคาเป็นกันเอง ไม่ว่าจะเป็น บ้านสุโขทัย ของ ประภา บุนนาค ก็นำข้าวเม่าหมี่ บุหลันดั้นเมฆ ข้าวตังเมี่ยงลาว ไส้กรอกปลาแนม หรือแม้แต่กระทั่ง บ้านเจริญพาสน์ ได้นำขนมหวานขึ้นชื่อ อย่าง ฝอยเงิน ฝอยทอง และ โคมนัส ขนมลิ้นแมว มาให้ญาติมิตรได้ทดลองชิมกัน ส่วนครัวของหม่อมปริม ก็ไม่น้อยหน้า โดยหม่อมปริมได้ลงครัวปั้นลูกชุบ และท็อฟฟี่โบราณ ต้นตำรับมาจำหน่ายอีกด้วย
พร้อมกันนี้ บริเวณหน้างานยังเปิดจำหน่ายหนังสือเรื่อง “ราชอาณาจักรสยาม ณ พระราชวังฟงแตนโบล” ซึ่งเป็นการเขียนโดยนักเขียนชาวฝรั่งเศส เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 4 ได้ส่งคณะราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับ พระเจ้านโปเลียนที่ 3 โดยในหนังสือเล่มนี้ รวบรวมเครื่องราชบรรณาการชิ้นสำคัญหาชมได้ยาก ที่อาณาจักรสยามส่งไปเจริญสัมพันธไมตรี มาไว้ให้ชมในหนังสือเล่มนี้ จำหน่ายในราคาเล่มละ 700 บาท
นอกจากนี้ ทางชมรมสายสกุลยังได้ทำเข็มกลัด “ราชินิกุลบุนนาค” เป็นลายพระหัตถ์เลขาของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ที่ได้ทรงพระราชทานนามสกุลเพื่อจำหน่ายในราคา 4,000 บาท รวมถึงจำหน่ายสำเนาใบพระราชทานนามสกุล ให้กับลูกหลานบุนนาคทุกคนเก็บไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายสินค้าในงาน จะนำเข้าไปใช้ในการสาธารณกุศลของชมรมสายสกุลบุนนาค
ไม่เพียงแค่มีสินค้ามาจำหน่าย เพื่อให้ระลีกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษเท่านั้น ภายในห้องจัดเลี้ยง อ.ภาวาส และ ภัฏฏาการณ์ บุนนาค ยังนำของสะสมโบราณ ตั้งแต่สมัยยุคสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)ไม่ว่าจะเป็นดาบ หรือโครงสร้างแบบเรือจำลอง สุริยมณฑา ที่ท่านช่วง บุนนาค เป็นผู้วาด นำมาจัดแสดงให้ลูกหลานถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก
ชื่นชมประวัติศาสตร์อันล้ำค่าของตระกูลเสร็จแล้ว พิธีการสำคัญจึงเริ่มขึ้น ด้วยการถวายราชสดุดี พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะผู้พระราชทานนามสกุล ตามด้วย พล.อ.บรรจบ ในฐานะโต้โผหลักในการจัดงาน กล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ ก่อนที่บรรดาญาติสมาคมทุกคน จะร่วมวงรับประทานอาหาร แลกเปลี่ยนสารทุกข์สุกดิบ ตามประสาญาติพี่น้องร่วมสกุลเดียวกัน
ตู๋-ปรียวรรณ เลขาชมรมสายสกุลบุนนาค เล่าถึงความภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นบุนนาคว่า การที่ได้เกิดในสกุลบุนนาค ทำให้รู้สึกว่ามีหน้าที่จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพราะสิ่งเหล่านี้ บรรพบบุรุษได้ทำไว้ให้ลูกหลานทุกคนเห็น ในความจงรักภักดีที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และลูกหลานทุกคนต้องเจริญรอยตาม ในคุณงามความดีที่ต้นสกุลได้สั่งสมไว้
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net