xs
xsm
sm
md
lg

นิวยอร์ก - ยะลา - ราชดำเนิน “ผ้าป่าน - สิริมา ไชยปรีชาวิทย์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ART EYE VIEW ---พิธีกรรายการโทรทัศน์ สำหรับวัยรุ่น และ ช่างภาพ ถ่ายภาพขาวดำ ดูเหมือนจะไม่สามารถไปด้วยกันได้ ดังที่หลายเสียงของคนรอบข้างบอกกับเธอเสมอ

แต่ทั้งสองสิ่งนี้ คือสิ่งที่ ผ้าป่าน -สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ อดีตพิธีกรรายการ สตรอเบอรี่ชีสเค้ก กระโดดเข้าไปเรียนรู้ และรู้สึกขอบคุณ ที่มันได้มอบประสบการณ์มากมายแก่เธอ ผู้นิยามตัวเองว่า เป็นเพียง “นักเรียน” คนหนึ่ง

ถ่ายเล่น จนเป็นนิทรรศการ

ด้านการเป็นวัยรุ่นหน้าใสในรายการ หลายคนอาจเคยสัมผัสมาบ่อยครั้งแล้ว แต่ด้านการถ่ายภาพ บางคนอาจสงสัยว่า มีที่มาอย่างไร กระทั่งเอาจริงถึงขนาดจัดนิทรรศการแสดงผลงานของตัวเอง ซึ่งก็ได้รับคำชื่นชมจากมืออาชีพจำนวนไม่น้อย

“ป่าน มาชอบถ่ายภาพ หลังจากเรียนจบ (เอกภาพยนตร์ คณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ) มากกว่าค่ะ ชอบถ่ายกล้องฟิล์ม กล้องไดอาน่า ซึ่งมันเป็น Toy Camera ถ่ายเล่นเฉยๆ ต่อมาก็รู้สึกว่า เฮ้ย.. มันสนุกดี และชอบดูภาพถ่ายด้วย หลังจากนั้นก็มาเล่น Application ของ Instagram ทำให้ได้เห็นภาพถ่ายเยอะขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเห็นก็ยิ่งรู้สึกชอบ ถ่ายภาพมากขึ้นๆ และชอบมากขึ้นเรื่อยๆ”

ต่อมาผลงานของเธอ ถูกนำไปจัดแสดงร่วมกับศิลปินคนอื่นๆในงาน ปกติศิลป์(Art Normal) ที่ จ.ราชบุรี ตามคำชวนของ ติ้ว - วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ติดตามชมภาพถ่ายของเธอผ่าน Instagram นั่นเอง

ผ้าป่านชอบถ่ายภาพในแนว Street ที่มีมานานและกลับมาเป็นกระแสในเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง

“เป็นคนชอบภาพแนวสตรีท มากๆ และช่างภาพที่ป่านชอบ และเป็นต้นแบบของเรา เป็น Street Photographers สมัยก่อน ชาวฝรั่งเศสชื่อ อ็องรี การ์ตีเย-แบรซง (Henri Cartier Bresson)


นิวยอร์ก แนว Street

จึงทำให้เราได้ชมภาพถ่ายในแนวนี้ ผ่าน NO[W]HERE MAN นิทรรศการแสดงเดี่ยวภาพถ่ายครั้งแรกของเธอ ซึ่งเก็บภาพมาจากช่วงเวลาที่เธอขออนุญาตครอบครัวหยุดทุกอย่าง เพื่อไปค้นหาตัวเองในต่างแดน

“จริงๆไม่ได้ตั้งใจไปถ่ายภาพเพื่อกลับจัดนิทรรศการ ตอนที่เรียนป่านทำงานมาตลอด พอเรียนจบก็ทำงานมาสักพักหนึ่ง รู้สึกว่าอยากค้นหาตัวเอง อยากอยู่กับตัวเอง เลยขอที่บ้านว่าเราอยากหยุดทุกอย่างที่เรากำลังทำอยู่ ไปอยู่กับตัวเองสักเดือนนึง เพื่อที่จะเข้าว่า ชีวิตเราอยากได้อะไร ก็เลยขอที่บ้านไปอยู่ที่นิวยอร์ก และตอนไปอยู่ที่นั่นถ่ายภาพเยอะมาก คือเป็นคนชอบถ่ายชอบดูอยู่แล้ว พอไปถึงมันก็สนุกที่ได้เดิน เพราะเป็นคนชอบเดินด้วย เดินเที่ยวแล้วก็ได้ถ่ายภาพเยอะมากๆ

พอกลับมาปั๊บ ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยคุยกับ พี่ด้วง (ดวงฤทธิ์ บุนนาค พี่ชายที่เธอเคารพอีกคน) ว่าอยากทำอะไรเพื่อภาคใต้ ซึ่งพี่ด้วงก็ให้คำแนะนำว่า ถ้าเกิดเราจะทำอะไรสักอย่าง ไม่ต้องไปคิดหรอกว่า สิ่งที่เราทำ จะช่วยเปลี่ยนทั้งหมดที่อยู่นอกตัวเราได้ แต่ให้นึกถึงว่ามีอะไรที่อยู่ในมือเรา ที่เราสามารถทำมันขึ้นมาได้ ซึ่งป่านรู้สึกว่า การถ่ายภาพเป็นสิ่งที่เราทำได้ งั้นเราจะเริ่มจากการทำเป็นโปสการ์ดขายดีกว่า

พอทำเสร็จปุ๊บก็เลยปรึกษากับพี่ติ้ว ซึ่งพี่ติ้วบอกว่า งานชุดนี้มันมีคุณภาพนะ มันดีพอที่จะจัดเป็นนิทรรศการ อย่าทำให้มันเป็นแค่โปสการ์ดเลย พี่เสียดาย เราก็ เฮ้ย... เหรอ งานเรามัน Quality (คุณภาพ) ถึงแล้วเหรอ พี่ติ้วก็บอกว่ามันได้ พี่เชื่อในภาพของป่าน โอเค...งั้นเราจัดนิทรรศการกัน พี่ติ้วก็เลยเป็น Curater(ภัณฑารักษ์) ให้”

สิ่งที่ต้องการแบ่งปันกับผู้ชมในนิทรรศการแรกของตัวเองคือนิวยอร์กในมุมมองของเธอ

“ซึ่งป่านก็ไม่รู้ว่า คนอื่นมองนิวยอร์กในมุมสนุกสนาน,วุ่นวาย หรือเป็นเมืองแห่งความฝัน แต่สำหรับป่าน นิวยอร์กมันออกมาในมุมมองนี้ ที่มันอาจจะดูเหงา ดูเศร้า ดูโดดเดี่ยว แต่ว่านั่นคือนิวยอร์กสำหรับป่าน

เมื่อผู้ชมได้เห็นนิวยอร์กในมุมมองของป่านแล้ว อยากให้เขาได้ไปลิงค์กับชีวิตตัวเอง หรือกับสิ่งที่ผ่านมา หรือในส่วนของคนที่เคยไปนิวยอร์กมาแล้ว เมื่อมาชมภาพถ่ายของป่าน เขารู้สึกอะไร

ป่านปล่อยให้ผู้ชมรู้สึกตามแบบของเขา ไม่บังคับว่าใครต้องรู้สึกยังไง ไม่ได้คาดหวังว่า มาดูงานป่านแล้วจะต้องรู้สึกอะไรกลับไป แค่รู้สึกว่าภาพป่านมันคุยกับคุณว่ายังไง มันก็โอเคแล้ว”

โดยไม่ได้คาดหวัง แต่ผลตอบรับจากการแสดงผลงานครั้งนี้ เป็นกำลังใจให้กับเธออย่างมาก เพราะนอกจากผลงานจะขายได้ และรายได้ถูกนำไปช่วยภาคใต้ ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ยังทำให้เธอรู้สึกสนุกกับการถ่ายภาพ เพื่อพัฒนาผลงานของตัวเองต่อไป

“มันเกินกว่าที่ป่านคาดคิด ต้องบอกก่อนว่า ตอนแรกป่านไม่ได้คาดหวัง อยากทำแค่โปสการ์ดด้วยซ้ำ อาจจะขายนิดๆหน่อยๆ เพื่อเอาเงินไปช่วยเขา แต่ท้ายที่สุด พอเราได้ขายภาพที่เราถ่าย ได้เงินมาเป็นก้อน เพื่อเอาไปบริจาคจริงๆ รู้สึกว่ามันเกินความคาดคิดของเรา รู้สึกว่า เดือนนึงที่เราไปที่นั่น มันไม่ได้แค่การที่เราไปค้นหาตัวเอง แต่ยังได้อะไรมาช่วยคนอื่นด้วย”






ลองล่องยะลา

จึงไม่แปลกอะไรที่เธอจะรีบตอบรับคำชวนโดยไม่รีรอ เมื่อถูกชักชวนให้ร่วมทริปล่องใต้ไปถ่ายภาพกับโครงการ “ลองล่องยะลา”

“พี่ด้วง เคยคุยกับป่านเรื่อง 3 จังหวัดภาคใต้ และนิทรรศการที่ผ่านมาป่านก็เอาเงินไปบริจาคให้ 3 จังหวัดภาคใต้ ในส่วนของการช่วยเหลือผู้หญิงที่เป็นแม่หม้ายกับการศึกษาเด็ก เราคุยกันมาก่อนว่าอยากทำอะไรเพื่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเล็กน้อยหรืออะไรแค่ไหน แต่เราจะช่วยกันเปลี่ยนแปลง

พี่ด้วงเขาก็คิดโครงการ “ลองล่องยะลา” ขึ้นมา เพราะเห็นว่าเราก็สนใจ เขาก็เลยถามว่าอยากจะเป็นช่างภาพในโครงการนี้ไหม เราก็ตอบตกลงไปตั้งแต่วินาทีแรก อยากค่ะพี่ เพราะเรารู้สึกว่า เราทำตรงนี้อยู่ ไม่ว่าจะช่วยด้านไหนก็ตาม เราอยากช่วย

เราไปแค่ 3 วันเองค่ะ มีเวลาได้ถ่ายภาพแค่วันเดียว เราลงเครื่องบินที่สงขลา แล้วก็นั่งรถชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมง พอไปถึงยะลาก็เย็นแล้ว ต้องเข้าพักที่โรงแรม ตัวเมืองยะลาเป็นแบบเมืองในต่างจังหวัดทั่วไป คือทุกคนเข้านอนเร็ว พอมืดปุ๊บ คนก็จะไม่ออกไปไหนกัน พอวันต่อมา เราจึงได้ถ่ายภาพกันทั้งวัน พออีกวันเราก็กลับแล้ว เวลาถ่ายภาพคือวันเดียว น้อยมาก”

แม้จะเป็นทริปสั้นๆ แต่ผ้าป่านก็ได้ทำการบ้านล่วงหน้าเป็นอย่างดี เพราะเธอในฐานะผู้ไปเยือนอยากจะเปิดใจเพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งที่เจ้าบ้านเป็นอยู่ให้มากที่สุด

ก่อนที่ป่านจะลงไป ป่านทำการบ้านก่อน โดยถามกับพี่ที่สนิทกันว่า ป่านกำลังจะลงไปยะลา แล้วยะลาเป็นยังไง เพราะเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับยะลามาก่อน

และป่านก็ไม่ได้ให้ความสนใจไปยังจุดที่มันเป็นเรื่องของความรุนแรง หรือความไม่สงบ ป่านอยากรู้จักคนยะลา จึงหาข้อมูล และค้นในอินเตอร์เนตดูว่า ภาษาที่เขาใช้กันคือภาษาอะไร และลองฝึกพูด มันคือการเตรียมตัวก่อนที่เราจะลงไปยังพื้นที่ของคนอื่นเค้า จริงอยู่มันคือพื้นที่เดียวกัน คือประเทศไทย แต่เป็นพื้นที่ซึ่งมีความความแตกต่างกันในเรื่องของภาษา และวัฒนธรรม เราจึงต้องเรียนรู้

เหมือนถ้าเค้าเข้ามาในกรุงเทพฯ ป่านว่าเค้าก็คงจะพูดภาษากลาง ไม่ได้พูดภาษาของเค้าเอง เราลงไปบ้านเค้า เราควรใส่ใจในสิ่งนี้ และมันดูน่ารักและดูอบอุ่นดี ที่เราสามารถคุยกับเค้าด้วยภาษาของเค้าได้ เบื้องต้นป่านก็เลยศึกษาเรื่องภาษาไปก่อน

ทำให้ป่านได้รู้สึกว่า เรื่องของความไม่เข้าใจกันในเรื่องศาสนา จริงๆแล้ว มันเป็นเหมือนกับว่า ตัวพวกเราเองที่เป็นคนกรุงเทพฯ หรือว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ เหมือนเราผลักให้เค้าไกลออกไป เราไม่ได้คิดที่จะเรียนรู้เค้า เราไม่ได้คิดที่จะทำให้มันเชื่อมกัน ถ้าเราเปิดใจก้าวเข้าไปก่อน เรื่องของความสามัคคี และความสงบ มันอาจจะเกิดขึ้นได้”



ยะลาน่ารัก ผ่านภาพถ่ายเด็กๆในโรงเรียนสอนศาสนา

ชีวิตของเด็กๆในโรงเรียนสอนศาสนา คือสิ่งที่ผ้าป่านสนใจถ่ายทอดผ่านภาพถ่ายของเธอ

“ ป่านมองไปถึงเรื่องของการศึกษา เรื่องของเด็กที่เป็นรุ่นใหม่ขึ้นมา อนาคตต่อไป มันอยู่ในมือของพวกเค้า ที่จะมีส่วนทำให้บ้านเมืองของตัวเองสงบหรือไม่สงบ ป่านก็เลยไปที่โรงเรียนที่สอนศาสนาในวันเสาร์และอาทิตย์ จริงๆก็ฟลุ๊คๆหลงไปนะคะ แต่ตัวเองตั้งใจว่าอยากจะถ่ายอะไรเกี่ยวกับโรงเรียน เกี่ยวกับศาสนาอยู่แล้ว

ป่านเดินไปทั่วเมืองเลยค่ะ โดยที่ไม่รู้ว่าโรงเรียนอยู่ตรงไหน อะไรอยู่ตรงไหน แต่ว่าด้วยความโชคดี ที่เราเดินหลงเข้าไปในโรงเรียนที่สอนศาสนาพอดี

ภาพถ่ายของป่านทั้งหมด จะเป็นภาพของน้องๆในบรรยากาศที่เรียนอยู่ในโรงเรียน พวกเค้าน่ารักมาก พอป่านบังเอิญเดินหลงเข้าไป เค้าก็เข้ามาวิ่งเล่นด้วย อาจจะเพราะรู้สึกว่า ตัวเราเท่าเค้า ตัวป่านเท่าน้องเลย(หัวเราะ)

นอกจากวิ่งเข้ามาเล่น ทุกคนก็จะถามว่า ทำอะไร ขอดูกล้องหน่อย เราก็เลย เอ้าๆ ดูๆ แล้วถ่ายให้หน่อย ป่านก็สอนเค้า อ่ะนี่กล้อง กดถ่ายตรงนี้นะ เค้าก็ลองถ่ายเพื่อนเค้า เอามาให้ดูแล้วถามว่าเป็นยังไง น่ารักไม๊ บางคนเค้าก็จะดูเก๊กๆกัน เช่น พวกผู้ชายก็จะดูเขินๆ

พอเราไม่ถ่ายเค้าก็จะเข้ามาใกล้ เข้ามาเล่น เข้ามาแซว แต่พอเราจะยกกล้องขึ้นมาถ่ายปุ๊บ เค้าก็จะวิ่งหนีไป ก็ถ่ายยากเหมือนกัน เพราะเค้าเขินกัน แต่ก็สนุกค่ะ ได้ภาพที่ออกมาเป็นบรรยากาศแบบสนุกๆ

แล้วครูที่นั่นใจดีมาก ป่านเดินเข้าไปคนเดียว มีกล้องหนึ่งตัว เค้าก็ถามว่า มาทำอะไร ป่านก็บอกว่า มาถ่ายภาพค่ะจะนำไปทำโครงการที่กรุงเทพฯ อยากให้คนได้เห็นความน่ารักของยะลา อยากให้คนลงมาเที่ยว

เค้าก็บอกว่าขอบคุณมาก แล้วก็ถามว่ายะลาไม่น่ากลัวใช่ไม๊ และน้องกลัวไม๊ ป่านเลยถามกลับไปว่า ป่านต้องกลัวไม๊ เค้าเลยบอกว่าไม่ต้องกลัว เพราะไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน เราก็ต้องระวังตัวอยู่แล้ว พื้นที่สงบหรือไม่สงบ เราก็ต้องระวังตัวเองในการใช้ชีวิต ป่านก็บอกว่า จริงค่ะ เค้าก็บอกว่าขอบคุณที่ลงมานะ ทำให้คนรู้ว่ายะลาไม่ได้น่ากลัว ป่านรู้สึกว่า ตรงนี้แหล่ะ คือความสำเร็จของโครงการของเรา มันไม่ใช่อยู่ที่ว่า เราเอาภาพมาจัดนิทรรศการ แล้วมีคนเยอะแยะที่มาดูแล้วจากไป

ป่านคิดว่ามันเป็นการทำให้คนยะลารู้ว่า เราไม่ได้ทิ้งเค้า มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อเค้ารู้ว่า เราไม่ได้ผลักไสเค้าออกไป เรารักเค้า เราลงมาเพื่อสิ่งนี้ น้องๆก็ชวนป่านเข้าไปดูตามห้องเรียน จะมีห้องที่ครูกำลังสอน กับอีกห้องที่ครูยังไม่มาเลยค่ะ แต่สอนกันเอง เป็นพี่ ป.6 มาสอนน้องอนุบาล มาสอนสะกดภาอังกฤษ แล้วเค้าสะกดกันน่ารักมาก สะกดโยงกับภาษายาวีของเค้า ป่านแฮปปี้มาก ใช้เวลาอยู่ในนั้นสองชั่วโมงได้ค่ะ ถามว่านานไม๊ ก็นาน กับทางทีมเรานัดกันว่า ประมาณเวลานี้เราต้องมาทานข้าวกันเพื่ออัพเดทว่า ใครได้ภาพไหนบ้าง ดังนั้นพอสองชั่วโมงปุ๊บ ป่านก็ต้องรีบเผ่นกลับมาแล้ว เพราะเดินไปไกลมาก

ตอนขากลับน้องที่เรียนอยู่ในนั้นก็ขออาสาขับรถมอเตอร์ไซด์มาส่งเรา อย่าเดินไปเลย อยากขับไปส่ง มีคนสวยนั่งซ้อนท้ายข้างหลังดีใจ ซึ่งเป็นน้องผู้หญิงนะ แล้วคนก็จะกรี้ดกร้าดกัน และเค้าไม่รู้ด้วยว่าเราเป็นพิธีกรรายการทีวี แต่มีน้องคนนึงมากระซิบถามว่า พี่เป็นดาราหรือเปล่าคะ ป่านก็กระซิบบอกว่า อย่าบอกใครนะ(หัวเราะ) เราเป็นพิธีกร อย่าบอกใคร ให้เราไปก่อนแล้วค่อยบอก เค้าก็ยิ้มๆและหัวเราะ งั้นขอถ่ายรูปหน่อยค่ะ พอถ่ายรูปคู่กันเสร็จปุ๊บ เค้าก็มาส่ง วันต่อมาก็เลยมีแก๊งค์ของน้องๆที่พอรู้ว่าพี่ป่านลงมา ก็พากันมาขอถ่ายรูปที่ตลาด”


ภาพถ่ายอารมณ์เหงา ของช่างภาพชาย

วันไหนที่ออกไปถ่ายภาพ สายกล้องมักจะพันอยู่ที่มือของเธอตลอดเวลา ก่อนที่เธอจะจะยกมันขึ้นมาถ่าย หลังจากที่ได้เปิดใจรับและซึมซับกับสิ่งรอบข้างมากพอ จนอยากจะบันทึกบางภาพที่เกิดขึ้นในเสี้ยววินาทีนั้นไว้

“ป่านไม่เคยคล้องกล้องไว้กับคอ แล้วยกขึ้นมาถ่าย แต่มันพันอยู่ที่มือขวาตลอด มือที่เราถนัด เวลาที่ป่านเดินถ่ายรูป จะไม่เหมือนเวลาที่เดินเที่ยวกับเพื่อนอยู่แล้ว เราจะเข้าสู่โหมดของการถ่ายภาพ และรู้สึกว่า เวลาเดินไป เราจะพยามเปิดรับให้มากที่สุด แล้วซึมซับสิ่งที่มันอยู่รอบข้างเรา เพราะว่าป่านถ่ายแนวสตรีท มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นบนถนน ใน Public (ที่สาธารณะ) เมื่อเราเปิดรับทุกอย่างแล้ว อะไรที่มากระทบเรา มันก็จะเกิดขึ้นมาเป็นภาพถ่ายของเราโดยอัตโนมัติ”

หลายคนมักจะบอกว่าภาพถ่ายของเธอช่างดูเหงาและบ่อยครั้งที่มีคนคิดว่าเป็นผลงานของช่างภาพชาย

“หลายๆงานของป่าน ทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำไมมัน Dark ทำไมมันเหงาจัง ป่านเป็นคนเหงาขนาดนั้นเลยเหรอ สิ่งที่สื่อออกมามันเลยเหงาขนาดนั้น

ป่านก็ไม่รู้ตัว ป่านเหงาเหรอ ก็ไม่ได้เหงานะ ป่านแฮปปี้กับชีวิต ครอบครัวป่านมีสมาชิกหลายคน แต่ว่างานมันออกมาเป็นแบบนี้เอง

และบางคนก็จะบอกว่ามันดู strong ดูเป็นผู้ชาย ไม่เคยมีใครคิดว่าเป็นงานผู้หญิง ถ้าไม่เห็นชื่อ ผ้าป่าน- สิริมา ก็จะนึกว่าเป็นงานผู้ชาย ทุกคนจะรู้สึกแบบนี้ เป็นงานผู้ชายถ่ายบ้าง งานดูเหงา ดูหดหู่จังเลย

แต่งานของป่านที่ออกมา มันคือสิ่งที่เข้ามากระทบเรานะ ครึ่งนึงคือสิ่งแวดล้อมที่อยู่ ณ บริเวณนั้น อีกครึ่งนึงออกมาจากตัวเราผสมกัน แล้วออกมาเป็นภาพถ่ายแบบนั้น ป่านไม่สามารถบอกได้ว่าภาพถ่ายของป่านมีเอกลักษณ์ตรงไหน ไม่งั้นป่านคงต้องรู้จักตัวเองมาก ป่านไม่ได้รู้จักตัวเองขนาดนั้น มันแค่แสดงออกมาให้เห็นผ่านงาน ที่มันเป็นงานศิลปะ ป่านว่าให้คนอื่นบอกก็ดีเหมือนกัน พอคนอื่นบอกปุ๊บ เราก็มาตั้งข้อสังเกตว่า เออจริง แต่เราดูเหงาขนาดนั้นเลยเหรอ ภาพเราไม่เหงามั้ง แต่คนพูดเป็นเสียงเดียวกัน...เหงามาก(เน้นเสียง)

แต่งานชุดลองล่องยะลา ก็ไม่ใช่ออกมาในแนว ภาพแนวสตรีทนะคะ ดูเป็นสารคดีมากกว่า เป็น Documentary ที่เล่าเรื่องเด็กๆที่อยู่ในโรงเรียนนี้ ความเป็นเด็ก ความเป็นศาสนาของเค้า หรือว่าลักษณะของเด็ก”


 Professional ไม่ได้อยู่ที่กล้อง

กล้องถ่ายภาพที่ผ้าป่านใช้ ตัวเล็กกะทัดรัด เหมาะสมกับตัวเธอ ไม่ใช่กล้องตัวใหญ่ หรือกล้องที่ต้องพกเลนส์มากมาย ดังที่หลายคนเข้าใจผิด เมื่อได้เห็นแต่ผลงาน

เธอคว้ากล้องคู่กายขึ้นมาให้ชม ขณะที่เรากำลังนั่งสนทนากันอยู่ที่ The Jam Factory ย่านคลองสาน สถานที่แสดงผลงานชุด “ลองล่องยะลา” ที่กำลังเปิดแสดงอยู่ ณ ขณะนี้

“กล้องเล็กเท่านี้ มันคือโอลิมปัส EP 3 ป่านใช้ตัวเดียว ไม่ได้ใช้ตัวอื่น บางคนอาจจะรู้สึกว่าพอเราเป็น Professional จะต้องเป็นกล้อง DHLR ที่มันใหญ่ๆ ที่มีเลนส์นู้นเลนส์นี้เยอะแยะไปหมด สำหรับตัวป่านเอง ไม่ต้องการให้ใครรู้สึกว่าป่านเป็น Professional อยู่แล้ว

แล้วในความคิดของป่าน ช่างภาพเราไม่ดูกันที่กล้องอยู่แล้ว กล้องคุณใหญ่แล้ว คุณคือ Professional มันไม่เกี่ยว มันอยู่ที่ว่า คุณ connect กับกล้องคุณได้มากแค่ไหน ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณรู้สึกว่ากล้องคุณคือส่วนหนึ่งของคุณ ป่านว่านั่นคือ Professional

มันไม่เกี่ยวว่าคุณจะใช้กล้องขนาดไหน หรือคุณใช้กล้องเล็ก จะดูโปรไหม ป่านไม่ชอบตัดสินคนที่รูปลักษณ์ภายนอก หรือว่าเทคนิคอะไรอยู่แล้ว สุดท้ายงานก็จะเป็นสิ่งที่บอกตัวเราว่า งานคุณไปถึงระดับไหน ไม่ได้เกี่ยวกับอุปกรณ์

หลายคนชอบตัดสินกันที่อุปกรณ์ ป่านว่า เงียบไปเลยดีกว่า อย่าพูดเลยดีกว่า เรื่องอุปกรณ์ เดี๋ยวพองานออกมาค่อยมาดูว่าใครคือระดับไหน หรือว่าอยู่ในจุดไหนของการถ่ายภาพ คุณชอบ คุณก็ชอบ คุณไม่ชอบ คุณก็ไม่ชอบ เรื่องมันง่าย แค่นั้นเอง

ป่านว่าหลายคนยังติดอยู่ที่อุปกรณ์ ป่านไม่ได้ว่าพวกเค้านะ คือหลายๆคนที่ป่านเจอมา เค้ารู้สึกว่า อุปกรณ์ก็ยังไม่ดี ยังไม่โปรพอ เฮ้ย..ลืมเรื่องพวกนั้นไป คนที่มีแค่ไอโฟน ยังเป็น Professional เลยสำหรับป่าน เพราะเค้าสนิทกับไอโฟน รู้สึกว่าไอโฟนเป็นส่วนหนึ่งของเค้า รู้สึกว่ากล้องที่มากับมือถือคือส่วนหนึ่งของเค้า ไม่ว่าเค้าจะอยู่ที่ไหน เค้าสามารถหยิบขึ้นมาได้เลย นั่นแหล่ะคือ Professional สำหรับป่าน นั่นคือคุณต้อง connect กับกล้อง

มีน้องคนนึงเคยถามป่านว่า เลือกกล้องยังไงดีคะ ป่านบอกว่า ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตอบจะดูติ๊งต๊องไปหรือเปล่านะ ให้เราศึกษาไประดับนึงแล้วเดินไปที่ร้านกล้อง เจออันไหนที่รูปร่าง รูปทรง ที่เราชอบ โอ้ย... เราอยากจะถือกล้องนี้ จงซื้อกล้องนั้น เพราะว่าเราต้องอยู่กับเค้าไปตลอด ถ้าเรารู้สึกว่าไม่อยากจับขึ้นมา แล้วคุณซื้อทำไม ถูกไม๊คะ แต่ว่าโดยพื้นฐานแล้ว คุณต้องศึกษาเรื่องคุณสมบัติมาแล้วระดับหนึ่ง

อย่างตัวนี้ เห็นว่าตัวจิ๋วแบบนี้ แต่ป่านปริ้นไฟล์ภาพงานชุดแรกของตัวเอง ขนาด 32 x24 มันใหญ่มาก สำหรับกล้องที่เป็น กล้อง mirrorless คนอาจจะรู้สึกว่าเฮ้ยมันเล็กยังกะคอมแพค ไม่มันไม่ใช่คอมแพค มันคือ mirrorless (ขนาดพอๆกับ กล้องคอมแพค แต่เปลี่ยนเลนส์ได้ มีคุณภาพระดับเดียวกับกล้อง DSLR ที่เป็นกล้องตัวใหญ่ เปลี่ยนเลนส์ได้)

ป่านแค่จะบอกว่า ไม่ว่าจะกล้องเล็กหรือกล้องใหญ่ อยู่ที่ว่า คุณลองศึกษามันระดับนึงก่อน แล้วก็ดูว่า คุณชอบมันมากแค่ไหน และมันสามารถเป็นส่วนหนึ่งของคุณได้ไม๊ นั่นคือสิ่งที่ตอบโจทย์สำหรับการเลือกกล้องสำหรับป่าน

ตอนแสดงนิทรรศการแรก หลายคนถามป่านว่า ป่านใช้กล้องอะไร ป่านใช้ไลก้าถ่ายเหรอ ป่านได้แต่ตอบไปว่า ไม่ได้ใช้ไลก้าถ่ายนะค่ะ ป่านใช้ตัวนี้ Olympus Ep3

ป่านไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองต้องขวนขวยกล้องที่แพงๆขนาดนั้น ถามว่าถ้ามีคนเอามาให้เอาไม๊ ..ก็ต้องเอาสิ แต่เราเพิ่งเริ่มต้นและป่านก็คลิกกับกล้องตัวนี้ มันเล็ก แล้วก็ถนัดมือ ยิ่งเราถ่ายภาพแนวสตรีท ถ่าย Documentary เราไม่อยากให้ใครมาสะดุดที่ตัวเราซึ่งเป็นคนถ่ายอยู่แล้ว


ป่านไม่อยากให้คนที่ถูกเราถ่ายรู้สึกว่า เฮ้ยกล้องใหญ่ หรือถูกคุกคามอยู่ ยิ่งกล้องเล็กแค่ไหน ยิ่งคุณทำตัวเหมือนไม่มีคุณอยู่ที่นั่นมากแค่ไหน มันคือคุณสมบัติที่ดีของการเป็น Street Photographers”

My Status คือ นักเรียน

อย่างไรก็ตามผ้าป่านบอกว่า ยังไม่อยากเรียกตัวเองว่าช่างภาพ และทุกสิ่งที่เธอสนใจเรียนรู้ทุกด้าน ณ ขณะนี้ ก็ล้วนแต่คือส่วนผสมสำคัญที่หล่อหลอมความเป็นเธอ

แน่นอนว่าเธอยังต้องพาเดินหน้าต่อไปบนเส้นทางการถ่ายภาพ เพราะยังมีอะไรอีกมากมายที่ “นักเรียน” เช่นเธอ ต้องเรียนรู้

“ป่านไม่ได้ทำงานประจำ และไม่ได้เป็นพิธีกรประจำจะมีไปออกรายการนู้นรายการนี้บ้าง เป็นรับเชิญบ้าง และมีคุยเรื่องโปรเจ็กต์ที่เป็นงานเบื้องหลังด้วย

ส่วนสตรอเบอรี่ชีสเค้ก ป่านก็ออกมาปีครึ่งแล้วนะคะ คือคุยกับผู้ใหญ่ว่าเราโตมาถึงจุดนึงแล้ว เราอยู่มา 5 รุ่นแล้ว ตั้งแต่รุ่น1 จนถึงรุ่น 5 และน้องที่อยู่ปัจจุบันก็เด็กกันมาก เรารู้สึกว่าเราโตแล้ว อันนั้นคือก่อนที่ป่านจะไปนิวยอร์ก เรารู้สึกว่าเราอยากรู้จักตัวเองว่า เราจะพาตัวเองไปตรงจุดไหนได้บ้าง และอยากเปลี่ยน Position ตัวเองด้วย

แน่นอนค่ะ การถ่ายภาพ ยังต้องไปต่อ เพราะว่าป่านรู้สึกว่า ยิ่งทำ มันยิ่งอยากทำเพิ่ม รู้สึกว่าทุกครั้งที่ถ่ายภาพ เฮ้ย เรายังทำได้อีก ใจมันยังอยากทำมาก

แต่จะทิ้งงานเบื้องหน้าที่เคยทำ ไปสนใจทำงานถ่ายภาพอย่างเดียวไม๊ ก็ไม่ใช่แบบนั้น มันเป็น Part นึงของเรา คนอาจจะรู้สึกว่า อีกภาพหนึ่งเป็นพิธีกรสตรอเบอรี่ชีสเค้ก อีกภาพนึงถ่ายภาพขาวดำ มันไม่ต่างกันเกินไปเหรอ จริงๆคุณเป็นแบบไหนกันแน่

ป่านอยากบอกว่า คนเรามีหลายมุมค่ะ มีหลายมิติมากกว่าจะเป็นแค่บางอย่าง บางคนอาจจะรู้สึกว่า ถ้าเกิดจะแนว ต้องแนวให้ชัด ถ้าจะติสต์ ต้องติสต์ให้ชัด คนเราไม่ได้มองได้ด้านเดียวแบบนั้น เราก็เหมือนแก้วใบนึงที่มีหลายมุมรอบด้าน ด้านนึงเราอาจจะมองเห็นหูแก้ว แต่อีกด้านนึงอาจจะมองไม่เห็นด้วยซ้ำ

ความรู้สึกของป่าน คนเรามันมีหลายมิติ ซับซ้อนมาก เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะคือด้านไหนที่เราแสดงออกมา มันคือสิ่งที่หล่อหลอมกลายเป็นเราทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นป่านที่เป็นสมาชิกสตรอเบอรี่ชีสเค้ก มันก็คือป่านที่อยู่กับผู้คน อยู่กับสังคม ป่านชอบพูด ชอบรู้จักคน ชอบทำอะไรใหม่ๆที่ท้าทาย

อย่างรายการสตรอเบอรี่ชีสเค้ก ให้อะไรป่านหลายอย่างมาก ได้ไปปีนเขา ดำน้ำ มันเยอะมากจริงๆ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้น และป่านรู้สึกว่าตรงนั้นมันก็หล่อหลอมป่านใน Part ของการเป็นช่างภาพเหมือนกัน ทำให้ป่านมีมุมมองกับหลายๆอย่าง ที่แตกต่างกันไป ในส่วนของภาพถ่ายนะ และป่านรู้สึกว่ามันส่งกัน งานป่านก็จะออกมารวมกันคือ ถึงแม้มันจะ Dark ดูขาวดำ แต่มันก็คือตัวป่านที่ถูกหล่อหลอมมา

ป่านไม่ตั้ง Status ของตัวเองว่าเป็น พิธีกร หรือว่า ช่างภาพ ป่านตั้งว่า ป่านเป็นนักเรียนของทุกอย่าง ยังไม่อยากเรียกตัวเองว่าช่างภาพด้วยซ้ำ อยากเป็นนักเรียนมากกว่า ไม่มีหรอกว่าเมื่อไหร่เราจะจบการศึกษา เราทำไปได้เรื่อยๆ เรียนรู้ไป จากงานนี้ไปงานนั้น จากนิทรรศการแรกมาจนถึงนิทรรศการต่อมา ก็เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างขึ้นมา เพื่อลองทำบางอย่างต่อไป Status ของป่าน คือ นักเรียน”

เมื่อตั้งคำถาม ต้องตามคำตอบ

แม้แต่เรื่องของการเมือง ผู้หญิงตัวเล็กๆคนนี้ ก็สนใจเรียนรู้อยู่ไม่น้อย ล่าสุดกับเหตุการณ์ชุมนุมเพื่อ คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เธอก็ได้ไปร่วมชุมนุมด้วย หนำซ้ำยังไปคนเดียวและแทบจะทุกวัน

“ป่านสนใจการเมืองค่ะ ป่านเคยตั้ง status ของตัวเองด้วยนะคะว่า วัยรุ่นไทยสมัยนี้ มัวเมาเรื่องทุนนิยม และลำดับชั้นสังคมของตัวเอง ป่านรู้สึกว่าสิ่งพวกนั้นมันทำให้วัยรุ่นสมัยนี้ ไม่ได้มานั่งตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ

มันไม่ใช่แบบว่าต้องแก่ หรือ ค่อยเป็นผู้ใหญ่พอ ถึงค่อยมาสนใจการเมือง มันไม่มีผู้ใหญ่พอหรือแก่พอ เราควรจะสนใจ เพราะว่าเราคือ Generation ที่กำลังใช้ชีวิตอยู่และกำลังร่วมขับเคลื่อนประเทศนี้ ถ้าเราไม่สนใจตอนนี้ จะให้เราสนใจตอนไหน จะตอนที่เราแก่ไปแล้ว แล้วไม่มีพลังพอที่จะเรียกร้องอะไรเหรอ มันไม่ไม่ใช่

เห็นป่านตัวเล็กแบบนี้ แต่ป่านอายุ 25 แล้วนะคะ และสนใจการเมืองมาก่อนหน้านี้อีก ป่านว่า เฮ้ย... เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกัน ถึงคุณไม่ออกมาแสดงความคิดเห็น หรือไม่ขับเคลื่อนอะไรก็ตาม แต่อย่างน้อย คุณต้องรู้ว่าประเทศคุณอยู่ในจุดไหน แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศคุณคืออะไร

และป่านอยากฝากไว้ว่า ป่านรู้สึกว่า คนไทยเดี๋ยวนี้ ตั้งคำถาม แต่ไม่ตามคำตอบ แค่ตั้งคำถามขึ้นมา ณ จุดนึงที่มันเป็นกระแส แล้วถ้าเราพูดถึงมัน เราจะดูดีขึ้นมา ป่านว่า เราอย่าแค่มีหน้ามีตาในสังคม เพียงเพราะว่าตั้งคำถามเลย ท้ายที่สุดแล้ว มันช่างไร้แก่นสาร คุณควรจะแบบว่า ตั้งคำถามแล้วตามคำตอบ แล้วคุณจะได้เข้าใจอะไรทั้งหมดนั้นจริงๆ

พอคุณเข้าใจจริงๆคุณจะเกิด Action หรือไม่เกิด Action นั่นคือสิทธิเสรีภาพของคุณ แต่ป่านแค่รู้สึกว่า เราควรได้ตั้งคำถามและตามคำตอบของมันจริงๆ วิเคราะห์มันจริงๆ”

ไม่เพียงแต่จะเป็นโอกาสของการไปแสดงจุดยืนของตัวเอง แต่ยังเป็นโอกาสที่เธอจะได้บันทึกภาพเหตุการณ์เก็บเอาไว้ด้วย

“ป่านไปทำทั้งสองอย่างค่ะ มันคือประวัติศาสตร์นะ มันคือประวัติศาสตร์ศาสตร์เลยล่ะ เพราะว่าคนไปรวมตัวกันเยอะขนาดนั้น ในที่ๆเคยเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาหลายครั้งแล้ว อย่าง30 ปีที่แล้ว ปาป๊าป่าน เค้าก็เคยไปร่วมชุมนุม แล้วก็จะคอยสอน คอยเล่าเรื่องเก่าๆให้ฟัง ว่า ตอนนั้นปาป๊าก็วิ่งหลบระเบิด มีกระสุน มีอะไร เค้าเล่าให้เราฟังตั้งแต่เด็กแล้ว

แล้วเราก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย... ปาป๊าเป็นส่วนหนึ่งของวีรชน(หัวเราะ)ผู้กล้าหาญ แต่ตอนนี้ถึงเจนฯ เราแล้วไง เราจะต้องออกมาบ้าง และเราต้องไปถ่ายภาพ แต่ป่านอาจจะถ่ายได้ไม่ดีเท่าพี่ๆเค้า ที่เป็น Professional อยู่แล้ว ภาพมุมสูงเราก็ไม่ได้ขึ้นเฮลิปคอปเตอร์ขึ้นไปถ่าย

แต่เราก็เก็บภาพบรรยากาศว่าครั้งนึง เราเคยได้อยู่ในที่ตรงนี้ และอีก 30 ปี ผ่านไป ถ้าเกิดว่าเรามีลูก เรามีหลาน เราก็จะให้เค้าดูได้ และเล่าให้เค้าดูได้ว่า เราคือส่วนหนึ่งในการเรียกร้องเพื่อประเทศของเรา ป่านไปทำได้ทั้งสองอย่าง ทั้งการถ่ายภาพและแสดงจุดยืนของตัวเราด้วย ว่าเราคัดค้าน

ตอนแรกเลยป่านไปเพื่อแสดงจุดยืนของตัวเองก่อน แต่ว่าเราเอากล้องไปด้วยไง มันก็เลยเป็นผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นว่า เราได้ถ่ายภาพด้วย”

Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ   Photo : วรวิทย์ พานิชนันท์ และสิริมา ไชยปรีชาวิทย์

##ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ของ "ศิลปินภาพถ่าย" ที่น่าสนใจได้ทุกอาทิตย์ ทาง ART EYE VIEW

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews


กำลังโหลดความคิดเห็น