งานศิลปะ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในแกลอรี่ แต่ถูกนำมาจัดแสดงในร้านกาแฟ... ใครจะเชื่อว่า งานศิลปะกับกาแฟจะกลายเป็นสิ่งที่เคียงคู่กันได้อย่างลงตัว ด้วยฝีมือของทายาทเจ้าของยกทรงดัง “พรรณีแปดริ้ว” ที่จับทุกสิ่งอย่างที่เป็นความถนัดส่วนตัวของแต่ละคน มารวมกันไว้ในกระท่อมสีฟ้าหลังน้อยที่ชื่อ Blue Cottage ได้อย่างน่าอัศจรรย์
สัปดาห์นี้เรามีนัดคุยกับ ตา-สาวิตรี เตียสุวรรณ์ และ ตู่-ศิวพร ขันทอง สองพี่น้องเจ้าของร้านเบเกอรี Blue Cottage โดย ตา เริ่มต้นเล่าถึงที่มาของร้านเบเกอรีแห่งนี้ว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นจากความบังเอิญและความเหงาของพวกเธอ คุณแม่พรรณีจึงแนะนำให้ทำในสิ่งถนัด ซึ่งตัวเองแม้จะไปเรียนด้านการออกแบบเสื้อผ้า (Costume) ที่ลอนดอน คอลเลจ ประเทศอังกฤษ แต่โดยส่วนตัวแล้ว เธอถนัดและรักการทำอาหาร โดยเฉพาะ ขนมเค้ก ขณะที่ ตู่ ซึ่งจบด้านกราฟิกดีไซน์ ก็ชื่นชอบเรื่องการออกแบบ ทั้งคู่จึงแบ่งหน้าที่ในการสร้างกระท่อมนี้ โดยมีน้องสาวอีก 2 คน เข้ามาช่วยเติมเต็มในส่วนที่ขาดได้อย่างลงตัว
ด้วยความใส่ใจในทุกรายละเอียด ประกอบกับ เจ้าของร้านน่ารัก อัธยาศัยดี เพียงไม่กี่ปี กระท่อมแห่งนี้ก็เป็นที่รู้จักของคนรักกาแฟ ทั้งในสังคมออนไลน์ และปากต่อปาก เรียกว่าประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ทั้งคู่บอกว่า แม้จะเหนื่อยแต่ก็มีความสุข โดยตาจะรับหน้าที่เป็นคนทำขนมเค้กโฮมเมดสูตรเฉพาะ ขณะที่ ตู่จะเป็นคนออกแบบและตกแต่งร้านเองทั้งหมด ส่วน กาแฟ ซึ่งไม่ใช่เรื่องถนัด ตู่จึงอาสาไปเรียนเรื่องการชงกาแฟเพิ่มเติมในคอร์สสั้นๆ จนจบหลักสูตร ก่อนเปิดร้านอย่างเป็นทางการ
ทุกวันทั้งตู่และตา จะมาอยู่ประจำที่ร้าน ส่วนน้องสาวอีกสองคนจะอยู่ดูแล ร้านยกทรงพรรณี ของครอบครัว “เค้กในร้านนี้เราตั้งใจทำให้ดีที่สุด เหมือนกับที่เราชอบกินอย่างไร เราก็ทำให้ลูกค้าอย่างนั้น”
ส่วนขนมเค้ก ที่กลายเป็นความอร่อย ทำให้หลายคนติดใจจนต้องกลับมาซื้ออีก ตาบอกว่า แรกๆ ก็ทำคนเดียว ตอนหลังน้องสาวกับน้องสะใภ้ที่ถนัดทำอาหารคาวสนใจ ก็เลยถ่ายทอดวิชาให้จนเก่ง ทั้ง 3 คนจึงช่วยกันคิดเค้กสูตรใหม่ๆ มาขายที่ร้านทุกวัน“ตอนอยู่ที่อังกฤษ เราชอบชีสเค้กร้าน Hummingbird มาก ก็เลยทดลองทำ และนำมาปรับปรุงให้เป็นสูตรเฉพาะของที่ร้าน เนื้อเค้กเบานุ่มหอมช็อกโกแลต แต่งหน้าครีมชีสหวานมันกลมกล่อม หมี่กับปุ๊ (น้องสาวคนเล็กและน้องสะใภ้) ทำชีสเค้กเก่งมาก เขาปั่นเนื้อชีสได้เนียนนุ่ม อร่อยไม่แพ้เจ้าของสูตรเลยค่ะ”
สำหรับ “กระท่อมสีฟ้า” ที่ถูกเลือกเป็นสัญลักษณ์ร้าน Blue Cottage นั้น ตู่ซึ่งป็นคนออกแบบบอกว่า เป็นคนที่ชอบสีฟ้า อีกทั้งต้องการให้สถานที่แห่งนี้เป็นเสมือนบ้านอีกหลังของลูกค้า ไม่ว่าจะมากี่ครั้ง บ้านหลังนี้ก็พร้อมจะมอบความสุขให้ผู้มาเยือน ดังนั้น สัมผัสแรกที่เข้ามาร้านนี้ ก็รู้สึกอย่างที่เจ้าของต้องการนำเสนอ คือเหมือนอยู่ในบ้านที่คุ้นเคย ทั้งนี้ อาจจะมาจาก “ขนาด” ของพื้นที่และการตกแต่งร้าน ที่ถูกประดับด้วยสินค้าที่ทำโดยเทคนิคเดคูพาจ ผสมผสานกับตุ๊กตาและดอกไม้ตามจุดต่างๆ ทุกอย่างถูกจัดวางอย่างลงตัว ตามสไตล์ฝรั่งผสมไทย ทำให้ร้านสดใสมีชีวิตชีวา บ่งบอกถึงรสนิยมความเป็นคนรักสวยรักงาม ที่มีความสุขกับชีวิต
“ของตกแต่งร้านเป็นของที่เราทำเองเป็นส่วนใหญ่ อย่าง กล่องกระดาษทิชชู และถาดวางบิลเป็นสนิม จะทิ้งก็เสียดาย เลยส่งมาให้ตู่ดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง เขามาทำกุ๊กๆ กิ๊กๆ แป๊บนึงก็ได้เป็นของชิ้นใหม่ดูดีมีราคา ก็เลยเอามาตกแต่งทำเป็นของใช้ในร้าน ลูกค้าเห็นก็ชอบ เพื่อนบางคนมาที่ร้านขอให้สอน พอดีที่หลังร้านว่าง เราก็เลยบอกเพื่อนๆ ว่า ใครสนใจอยากเรียนทำเดคูพาจมาได้” ตากล่าวอย่างอารมณ์ดี
กระท่อมหลังเล็กแห่งนี้ พอที่จะต้อนรับผู้มาเยือนได้ราว 10-15 คน ด้านหลังร้านถูกใช้เป็นห้องเรียนสอนทำงานศิลปะแฮนด์เมด อย่าง เดคูพาจ (Decoupage) ที่กำลังเป็นที่นิยม “ช่วงแรกเพื่อนๆ นั่นแหละที่เป็นทั้งลูกค้าและลูกศิษย์ ต่อมาก็เริ่มมีตัวจริงที่เข้ามาซื้อขนมเค้ก แล้วเห็นของแต่งบ้านเดคูพาจก็ชอบ อยากให้สอน เราก็สอนไป ทีนี้พอลูกค้าคนอื่นมาเห็นอยากเรียนบ้าง จาก 1 เป็น 2 แล้วก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยตัดสินใจเปิดสอน นัดวันมาเรียนพร้อมกัน เปิดด้านหลังเป็นห้องเรียนเลยค่ะ ดาราก็มีมาเยอะนะคะ (หัวเราะ) แต่ส่วนใหญ่จะมาซื้อขนมและซื้อของ อย่าง ณัฐ เทพหัสดิน ณ อยุธยา นี่มาดื่มกาแฟแล้วเห็นเสื้อเห็นของกุ๊กกิ๊ก เขาชอบก็ซื้อเลยค่ะ” ตู่บอกเล่าพร้อมรอยยิ้ม
จากรอยยิ้มและความเป็นกันเองของสองพี่น้องที่ได้พบในวันนั้น เราเองแค่สัมผัสเพียงไม่กี่ชั่วโมง ยังหลงรักอย่างง่ายดาย ความเป็นกันเองสร้างความรู้สึกเหมือนอยู่กับครอบครัวและมิตร ซึ่งเป็นหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญ เหล่านี้นี่เองที่ทำให้ “กระท่อมสีฟ้า” หลังนี้กลายเป็นที่ที่หลายคนถวิลหา