เรื่องหมัดมวยที่ฝังรากลึกในสายเลือด บวกกับความชื่นชอบกีฬามากกว่าเรียน ไฮโซหนุ่ม “จิต เชี่ยวสกุล” ลูกชายคนสุดท้องจอมเฮี้ยวของ เฉลิมพงษ์ เจ้าของเวทีมวยราชดำเนิน จึงเลือกดำเนินเส้นทางชีวิตในแบบของเขา โดยรับอาสาสืบสานศิลปะแม่ไม้มวยไทย ไม่ให้หล่นหายไปกับกาลเวลา และพร้อมจะทำทุกทางที่จะเชื่อมต่อวัยรุ่น ให้หันมาดูและรักษาศิลปวัฒนธรรมกีฬาไทยชิ้นนี้ไว้ ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้
ในวันที่เมฆฝนอึมครึม เรามีนัดกับ จิต เชี่ยวสกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เวทีราชดำเนิน จำกัด ลูกชายของเฉลิมพงษ์ และ อัจฉรา เชี่ยวสกุล ที่เข้ามาช่วยงานและเตรียมรับช่วงดูแลเป็นนายสนามมวยต่อจากผู้เป็นพ่อ
หนุ่มจิตที่เราพบในวันนั้น อยู่ในชุดเสื้อยืดแขนสั้นและกางเกงกีฬาขาสั้น เขาเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเข้ามาช่วยพ่อที่เวทีมวยราชดำเนินว่า เกิดจากความชื่นชอบกีฬาเป็นชีวิตจิตใจ หลังเรียนจบปริญญาตรีด้านการตลาดที่ Academy of Art University ซานฟานซิสโก สหรัฐอเมริกา แล้ว จึงกลับเมืองไทยเพื่อช่วยงานพ่อในเรื่องการตลาด ตามที่ได้ร่ำเรียนมา
งานชิ้นแรกที่จิตเข้ามาทำทันทีคือ การปรับปรุงบูรณะสนามมวยที่มีอายุนานกว่า 65 ปี โดยปรับรูปโฉมให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เปลี่ยนเก้าอี้ที่นั่งชมมวยให้นั่งสบายขึ้น มีการเปิดซุ้มเบียร์ มีที่นั่งรอเข้าชมแบบเก๋ๆ เพื่อล้างภาพสนามมวยเก่าแก่ออกบ้างเล็กน้อย แต่ยังคงความคลาสสิก รูปแบบการดูมวยเหมือนเดิม เพราะสนามมวยนี้คุณปู่ (จอมพล ป.พิบูลสงคราม) เป็นผู้ก่อตั้ง
จิต ย้อนภาพความทรงจำเมื่อครั้งยังเด็กว่า เวทีมวยราชดำเนินจัดเป็นสนามกีฬาที่ยิ่งใหญ่มาก เขาบอกว่าสมัยก่อนคนดูมวยส่วนใหญ่ใส่สูทเข้ามา มีทั้งมาชมศิลปะแม่ไม้มวยไทยจริงๆ ขณะที่ คนอีกกลุ่มจะเข้ามาเพื่อการพนัน หากนับจำนวนที่นั่งและตั๋วเข้าชมแต่ละวัน จะมีคนเข้าชมไม่ต่ำกว่า 8-9 พันคน แต่เมื่อเขาเริ่มโตขึ้น จำนวนผู้ชมก็ลดลงเรื่อยๆ ตามเวลา ทำให้เขารู้สึกกังวลและเป็นห่วงว่า มวยไทยกำลังจะถูกลบเลือนไป เนื่องจากวัยรุ่นไทยสมัยนี้ มีทางเลือกในกิจกรรมต่างๆ มากมาย เขาจึงคิดอยากเชื่อมโยงมวยไทยที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว ให้วัยรุ่นได้หันมาเล่นกัน แม้จะเป็นเรื่องยากก็ตามที
“ตอนอยู่เมืองนอกผมซ้อมชกมวย มีฝรั่งวัยรุ่นสนใจมาก ซึ่งผมดีใจว่าบ้านเรามีของดี แต่พอกลับมาไทย กลายเป็นว่า วงการมวยไทยบ้านเราไม่คึกคักเหมือนอดีต คนดูน้อยลง วงการพนันมีช่องทางให้ไปเล่นอย่างอื่นมากขึ้น ส่วนวัยรุ่นบางคนก็ติดเทคโนโลยี ติดโซเชียลเน็ตเวิร์ก คนไหนที่ชอบกีฬาก็หันไปเล่นกีฬาอย่างอื่น เช่น เทควันโด มวยปล้ำ ซึ่งผมมองว่าไม่ใช่ เป็นคนไทยก็ควรเล่นมวยไทย ตอนกลับมาใหม่ๆ ก็เลยอยากเปิดค่ายมวยไทยชื่อ “ราชดำเนิน” ”
แม้ตอนนั้นยังไม่รู้ว่า ทำแล้วตลาดจะตอบรับหรือเปล่า แต่ด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ที่คิดไวทำไว จิตจึงตัดสินใจทุบกระปุก นำเงินไปเช่าสถานที่เปิดค่ายมวยของเขา โดยมีเป้าหมายให้เป็นสถานที่ฝึกมวยไทย ดึงวัยรุ่นให้มาเรียนมวย เพื่อออกกำลังกาย พร้อมๆ กับเรียนรู้ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
“ก่อนเปิด ได้รู้จักกับ ต๊อด-ปิติ และ เต้-ภูริต ภิรมย์ภักดี ที่ชอบมวยเหมือนกัน พอเขารู้เรื่องก็สนใจ เขาก็เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้ ค่ายฝึกมวย Rajadamnern Singha (RSM Acadamy) ก็เลยเป็นรูปร่าง เปิดมาได้ 2-3 ปี มีวัยรุ่นสนใจเข้ามาเล่นมากครับ แต่ละวันจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการประมาณ 60 คน” จิตกล่าว
ทายาทเจ้าของเวทีมวยชื่อดังของไทย ยังบอกอีกว่า วัยรุ่นที่เข้ามาแทบไม่มีใครต่อยมวยเป็น ทุกคนมาเริ่มเรียนรู้จากเทรนเนอร์ที่เป็นอดีตนักมวย ซึ่งบางคนก็เป็นแชมป์ บางคนก็อยู่ทีมชาติแต่เลิกชกแล้วรีไทร์มาเป็นครู คนพวกนี้นอกจากมีทักษะแล้วยังมีมีวินัย ถือเป็นจุดสำคัญที่สุดของการฝึกมวย
“มวยไทยเป็นกีฬาที่มีเสน่ห์นะครับ แต่เข้าไม่ถึงวัยรุ่น พอมีอะคาเดมีแล้ววัยรุ่นที่เข้ามาสัมผัส ได้ฝึกกับเทรนเนอร์ดีๆ เรียนรู้การออกหมัด การเตะ ก็หลงใหลชวนกันปากต่อปาก ทำได้เท่านี้ผมก็ดีใจนะครับ ขั้นตอนต่อไปผมกำลังหานักมวยไทยฝีมือดีๆ มาฝึกที่นี่ อยากให้เด็กเห็นของจริง เพราะจะให้คนกลุ่มนี้เขาไปดูมวยที่ราชดำเนิน ก็คงไม่มีใครไป แต่การจะให้นักมวยฝีมือดีๆ มาฝึกที่นี่ก็ยาก เพราะไม่มีค่ายมวยไหนอยากให้ตัวมา (หัวเราะ) เขากลัวมาแล้วเสียวินัย”
ทุกวันนี้ จิตทุ่มเทให้ RSM Acadamy อย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่ทิ้งงานที่เวทีมวยราชดำเนิน โดยเขาแบ่งเวลาทำงานไว้อย่างลงตัว ทุกเช้าเข้าบริษัท ราชดำเนิน พอตกสายจะมาที่ RSM Acadamy เพื่อดูแลให้คำแนะนำลูกค้า และที่สำคัญคือ ตัวเองก็ได้ออกกำลังกายเรียกเหงื่อ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงไปในตัวด้วย
แม้จะมีประสบการณ์เรื่องหมัดมวยมาตั้งแต่เด็ก ได้เห็นและเรียนรู้การออกท่าทางที่ถูกต้องตามแบบฉบับแม่ไม้มวยไทย ทั้ง เตะ ต่อย ศอก เข่า จนเข้าขั้นหลงใหล แต่เขาบอกไม่คิดเลื่อนขั้นเป็นนักมวยหรือโปรโมเตอร์
“ผมรักและหวงแหนกีฬามวยไทยมาก เพราะมวยไทยเป็นของคนไทย และเวทีมวยราชดำเนิน ก็เกิดขึ้นได้ด้วยพระเมตตาของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงอยากให้คนไทยได้มีสนามกีฬาเป็นของตัวเอง คุณปู่คุณพ่อก็ทำมาดี ผมในฐานะหลาน ก็อยากสืบสานตรงนี้ต่อไป และผมคงทนไม่ได้ หากกีฬาดีๆ เช่นนี้ ต้องสูญหายไปในรุ่นผม” จิต เชี่ยวสกุล กล่าวทิ้งท้ายกับเราในวันนั้น