อาชีพ “ล็อบบี้ยิสต์” แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะกระโดดเข้ามาวงการนี้ โดยเฉพาะ การวิ่งเต้นพาคนไปลงทุนในประเทศที่มีความเสี่ยง อย่าง เมียนมาร์ (พม่า) แต่ด้วยจังหวะและโอกาสอันเหมาะสม ทำให้ โอบอุ้ม-รัสรินทร์ ชุมสาย ณ อยุธยา เข้ามารู้จักนักการเมืองระดับชาติชาวพม่า จากคุณหนูไฮโซที่คุ้นเคยกับความสบาย ต้องกลายมาเป็นนักเจรจาต่อรอง แถมเจอกับระบบราชการที่มากด้วยขั้นตอนและข้อจำกัด แต่ผลตอบแทนกลับคุ้มค่าเหนื่อยมากๆ เพราะสามารถเลี้ยงดูพ่อ-แม่ได้ และยังเนรมิตสิ่งที่ใฝ่ฝันอย่างรถสปอร์ต ปอร์เช่ คันหรู ราคา 13 ล้านบาท มาครอบครองได้ภายในช่วงเวลาเพียงปีเศษ
สัปดาห์นี้เรามีนัดกับเซเลบสาวหน้าใส โอบอุ้ม สาวน้อยร่างบอบบาง ซึ่งผันตัวมาเป็นล็อบบี้ยิสต์หน้าใหม่ป้ายแดงของเมืองไทย โอบอุ้มที่เราได้พบเจอในวันที่เธอยังเป็นออกาไนเซอร์นั้น เปลี่ยนไปจากเดิมมาก เพราะนอกจากจะดูเรียบร้อยสงบนิ่งแล้ว ยังดูเป็นผู้ใหญ่เกินวัย 24 อีกด้วย
โอบอุ้มเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเข้ามาสู่แวดวงนักล็อบบี้ว่า เมื่อครั้งยังเรียนปริญญาโท เพื่อนได้มาชวนให้ไปทำงานเป็นล็อบบี้ยีสต์ เนื่องจากแม่ของเพื่อนเป็นนักธุรกิจดัง รู้จักและคุ้นเคยดีกับนักการเมืองของพม่า ประจวบกับขณะนั้น โอบอุ้มเองก็กำลังเบื่องานออกาไนซ์ที่ทำให้บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง จึงตัดสินใจลองเปลี่ยนงาน
การเป็นล็อบบี้ยีสต์ แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป ซึ่งขั้นตอนการทำงาน จะเริ่มจากการมีนักธุรกิจเข้ามาปรึกษา ว่าอยากไปทำธุรกิจที่พม่า เพื่อนของเธอจะเป็นคนให้ข้อมูลด้านการลงทุน กฎหมาย สภาวะแวดล้อมว่าคุ้มกับการลงทุนของลูกค้าหรือไม่ หากลูกค้าพอใจ โอบอุ้มก็จะประสานงานเรื่องที่พัก และพาลงพื้นที่ไปดูสถานที่จริง ก่อนพาไปเจรจากับรัฐบาลพม่าผ่านแม่ของเพื่อน ซึ่งโครงการที่เธอเลือกทำ จะเน้นโครงการใหญ่ อย่าง โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานทางเลือก
ขั้นตอนที่กล่าวมานี้ ล็อบบี้ยิสต์ก็กวาดเงินค่าที่ปรึกษาก้อนแรกเข้ากระเป๋าได้แล้ว 2 ล้านบาท และถ้าสัมปทานผ่าน โอบอุ้มจะได้คอมมิชชั่นตามสัดส่วนการลงทุนนั้นๆ อีกก้อนหนึ่ง
“เงินสองล้านบาท ถือเป็นค่าที่ปรึกษาประสานงานตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ละโปรเจกต์ต้องใช้เวลาบินไปมา 2-3 รอบ ช่วงแรกอุ้มเน้นพาไปลงทุนที่ทวาย ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ยังไม่มีอะไร ชาวบ้านต่างคนต่างอยู่ โรงแรมที่พัก-อาหารการกินลำบากมาก แล้วลูกค้าบางคนกินยาก ตอนหลังเลยต้องพาแม่ครัวไปช่วยด้วย เพราะจะทำเองก็ไม่ไหว ไปดูทีก็ต้องขึ้นเขาลุยน้ำตก มันเหนื่อยมาก แล้วถ้าปวดท้องหนัก-เบา จะเข้าห้องน้ำแบบที่สบายๆ ไม่มีให้นะคะ ต้องขุดหลุมทำส้วมเองค่ะ หลุมใครหลุมมัน (หัวเราะ) แต่ก็สนุกนะคะ ตรงนี้จะทำให้ได้ใจกันเอง เพราะมาลำบากด้วยกัน” โอบอุ้มกล่าวด้วยท่วงท่าสบายๆ
ผลงาน 1 ปีที่ผ่านมาของล็อบบี้ยิสต์ป้ายแดงคนนี้ เธอดีลมาแล้ว 2-3 โปรเจกต์ ซึ่งค่าตอบแทนก็เป็นที่พอใจ เพราะเธอมีเงินเก็บคุ้มค่าเหนื่อย สามารถดูแลพ่อ-แม่ได้ และที่สำคัญคือ มีเงินเหลือพอที่จะไปซื้อรถสปอร์ตคันหรูราคา 13 ล้านบาท มาครอบครอง ซึ่งหากวันที่เพื่อนมาชวนแล้วเธอไม่คว้าโอกาสนั้นไว้ ก็คงไม่สามารถหาเงินจำนวนมากได้ภายในเวลารวดเร็ว
สำหรับ “ล็อบบี้ยิสต์” เมืองไทย แม้จะไม่ใช่อาชีพที่ผิดกฎหมาย แต่ก็เป็นอาชีพที่หลายคนมองว่า เป็นเหมือนธุรกิจสีเทา เพราะต้องใช้ระบบเครือข่ายความสัมพันธ์ที่กว้างขวาง สาวโอบอุ้มรีบชี้แจงว่า ทุกอาชีพต้องมีค่าตอบแทน ล็อบบี้ยิสต์ก็เหมือนนายหน้าที่คอยประสานงานให้นักลงทุน “อุ้มว่าเป็นงานที่สุจริตด้วยซ้ำ เพราะบางมุมเราต้องใช้ทักษะความรู้ การเป็นคนกลางประสานผลประโยชน์ระหว่างกัน มันเหนื่อยนะคะ ยิ่งลงทุนมาก เวลาดีลก็ยากตาม เพราะไม่มีใครยอมเสียเปรียบ เราอยากปิดงานเร็วๆ เราก็ต้องดูว่าใครอยากได้อะไร แล้วต่อรองให้ทั้งสองฝ่ายพอใจ อันนี้ก็ต้องอาศัยเทคนิคนิดนึง (หัวเราะ)”
เมื่อย้อนถามว่า เคยนึกกลัวกับคำวิจารณ์ของสังคมหรือไม่ สาวโอบอุ้มรีบตอบทันทีว่า ไม่รู้สึกอะไร เพราะเวลาทำงานเธอจะทำงานจริงๆ “เวลาอุ้มทำอะไร ไม่มีใครรู้ดีเท่าตัวอุ้มเอง การทำธุรกิจกับต่างประเทศ ทุกบริษัทต้องใช้คนประสานงาน ทุกอย่างต้องมีค่าใช้จ่าย เราไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย เราพานักลงทุนไปลงทุนที่นั่น เพราะไม่มีใครกล้าไป เมื่อไปแล้วชาวบ้านที่นั้นเขาก็แฮปปี้ เพราะเราไปพัฒนาให้เขา โรงไฟฟ้าที่อุ้มพาลูกค้าเข้าไปลงทุน เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกทั้งหมด ไม่ใช้กำมะถัน ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน ดังนั้น ใครจะมาว่ามาเม้าท์ อุ้มก็ไม่แคร์ เพราะอุ้มถือว่าใครที่ว่า แสดงว่าเขาอิจฉาเรา (หัวเราะ)”
ก่อนจากกัน โอบอุ้มบอกกับเราว่า ในอนาคตหากเก็บเงินได้ก้อนใหญ่ เธออาจจะนำไปลงทุนทำธุรกิจของตัวเอง แต่ตอนนี้จะยังขอสนุกกับงานล็อบบี้ยิสต์ไปเรื่อยๆ และจะเร่งศึกษาปริญญาเอก คณะบริหารธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้จบให้เร็วที่สุด