xs
xsm
sm
md
lg

กราฟฟิตี้หนุ่ม ไทย-ลาว ปล่อยของผ่าน “ช้าง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ART EYE VIEW---เส้นทางอุดรธานี - สปป.ลาว ไม่ได้เป็นเพียงแค่เส้นทางสายเศรษฐกิจระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นเส้นทางที่นำพาให้คนรุ่นใหม่ของทั้งสองประเทศได้มาสร้างสรรค์และแลกเปลี่ยนไอเดียใหม่ๆ ร่วมกันอีกด้วย น้อยคนนักที่ยังไม่รู้ว่าระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้านนี้มีการแลกเปลี่ยนกิจกรรมดีๆ ร่วมกันอยู่เสมอ

ตัวอย่างเช่นในงาน R16 Thailand 2013 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การค้ายูดี ทาวน์ จ.อุดรธานี ที่ได้เปิดพื้นที่ให้ “เรา”(ศิลปินรุ่นใหม่ชาวไทย) และ “เขา” (ศิลปินรุ่นใหม่ชาวลาว) ได้ร่วมกันปล่อยของให้ผู้สนใจได้ชม โดยความน่าสนใจของงานนี้อยู่ที่ผลงานงานศิลปะแนวกราฟฟิตี้ ที่ไม่ได้สร้างสรรค์ลงบนกำแพงเหมือนปกติทั่วไป แต่สร้างสรรค์บนประติมากรรมรูปช้าง 3 มิติ

ช้างทั้ง 5 ตัวถูกศิลปินรุ่นใหม่ไทยและลาว ทั้ง 5 คน เปลี่ยนโฉม ภายใต้คอนเซ็ปท์ “ความเคารพซึ่งกันและกัน” หรือ Respect ซึ่งแต่ละคนใช้เวลาอยู่กับชิ้นงานคนละไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง แม้แดดจะร้อน อากาศไม่เป็นใจให้ยืนวาดลวดลายกันกลางแจ้งได้นานๆ แต่ก็หาได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด เพราะทุกคนต่างใจจดใจจ่ออยู่กับการพ่นสีสเปรย์ลงไปบนชิ้นงาน และหาเทคนิคต่างๆ มาใส่เพื่อให้ช้างน้อยที่เคยนิ่งสงบ กลายเป็นช้าง (เด็ก) แนว พลิกคาแรกเตอร์กันไปแบบไม่รู้ที่มา

คเชนทร์ จงสถิตไพบูลย์ (ชิน) ศิลปินหนุ่มวัย 24 ปี จากจังหวัดมหาสารคาม สื่อสารความเคารพ ผ่านภาพคนสวัสดีอย่างนอบน้อมอยู่ภายในประติมากรรมชิ้นใหญ่ โดยให้แนวคิดว่า

“คนตัวเล็กในช้างตัวเล็กนั้นเปรียบเสมือนคนเรา ที่แม้รู้ว่าตัวเองมีฝีมือหรือชำนาญในด้านในก็ตาม แต่ก็ยังนอบน้อม ถ่อมต้น รู้และเข้าใจว่าตัวเองยังเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ ในสังคม ยังเคารพและให้เกียรติผู้อื่นหรือคู่แข่งอยู่เสมอ ความเคารพเหล่านี้จะทำให้เราอยู่ในสังคมร่วมกันได้ เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเองแม้ว่าเราจะฝึกฝนฝีมือมาอย่างหนัก เริ่มต้นลองผิดลองถูกจากสเปรย์เพียง 2 กระป๋อง หาโอกาสไปศึกษากับรุ่นพี่ที่มีมีความชำนาญ มาจนถึงวันหนึ่งที่เราคิดว่าผลงานเราก็ไม่น้อยหน้าใคร แต่ผมก็ยังชื่นชมและเคารพผลงานของศิลปินท่านอื่นๆ อยู่เสมอ”



วิษณุ แสงพรหมเพชร (โลโก้) ศิลปินแรปเปอร์และกราฟฟิตี้หนุ่ม วัย 21 ปี จาก สปป.ลาว นอกจากมีสตูดิโอผลิตงานเพลงที่ผลิตเองแล้ว ยังชื่นชอบงานกราฟฟิตี้มาก ได้แลกเปลี่ยนมุมมองของศิลปะแขนงนี้ในประเทศตนว่า

“สำหรับ สปป.ลาวศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานกราฟฟิตี้แบบจริงจังมีไม่ถึง 10 คน และทุกคนต่างก็มีงานหลักทำอยู่ อาทิ ธุรกิจส่วนตัว ทำงานในองค์กรหรือบริษัทต่างๆ เพราะงานกราฟฟิตี้เพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถอยู่รอดได้ เพราะในประเทศแถบเรานี้ไม่มีผู้สนับสนุนแบบจริงจังเหมือนอย่างอเมริกาหรือยุโรป โดยตัวเองก็ทำมาถึงปีนี้เป็นปีที่ 4 แล้ว ได้รับแรงบันดาลใจจากการได้พบกับศิลปินกราฟฟิตี้จากเนเธอร์แลนด์และอเมริกา จึงเริ่มทำบ้าง และผมชื่นชอบงานกราฟฟิตี้ที่เป็นลูกกลมๆ หรือ บั๊บเบิล มากที่สุด แม้จะเป็นทรงที่ยาก แต่ก็สนุกในการผลิตผลงานแนวนั้น งานกราฟฟิตี้ต้องมีองค์ประกอบหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นพื้นผิวของวัสดุที่จะทำ รูปทรง ขนาด และสีที่เป็นสิ่งสำคัญ สีที่เหมาะสำหรับงานแนวนี้คือเมื่อพ่นไปจะต้องติดสนิท ไม่ไหลเยิ้มลงมา และเมื่อพ่นสีทับกันแล้วไม่มาผสมกันจนกลายเป็นสีที่เพี้ยนออกไปจากเดิม

สำหรับผลงานที่ผมแสดงออกกับประติมากรรมช้างในครั้งนี้ คือ คัลเลอร์ฟูลหรือความหลากสีสันของทุกสิ่งที่อยู่บนโลก โดยเฉพาะธรรมชาติ ต้นไม้ ท้องฟ้า แม่น้ำ หากเราเคารพในธรรมชาติ เราก็จะได้เห็นสีสันเหล่านี้ตลอดไป แต่เมื่อไรที่เราไม่เคารพในกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ สีสันเหล่านี้คงปรากฏให้เราเห็นน้อยลงทุกที เหมือนอย่างที่กำลังเป็นอยู่ สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เริ่มต้นทำงานกราฟฟิตี้ สิ่งเดียวที่ทำให้พัฒนาผลงานได้คือต้องไม่ท้อ หมั่นฝึกมือให้คล่อง สามารถควบคุมความหนักเบาของหัวสเปรย์ได้ ศิลปินดังที่มีชื่อเสียงต่างก็ผ่านการฝึกฝนที่หนักมาแล้วทั้งสิ้น” แรปเปอร์ชาวลาวกล่าว



คฑากรณ์ ใจจินา (คฑา) ดีไซเนอร์รุ่นใหม่วัย 27 ปี ที่แม้ว่าจะหันไปจับงานด้านดีไซเนอร์แล้วแต่ก็ยังไม่ทิ้งงานกราฟฟิตี้ที่เคยทำมาเมื่อหลายปีก่อน ฝากมุมมองของการทำงานกราฟฟิตี้ในเมืองไทยว่า

“สิ่งสำคัญที่จะทำให้ศิลปะเติบโตได้คือพื้นที่ของการแสดงออก ซึ่งในเมืองไทยไม่ค่อยมี ต่างกับบางประเทศที่เคยไปดูงานมานั้นจะมีการหมุนเวียนการจัดแสดงงาน หรือบางที่ก็มีจัดทัวร์ชมงานกราฟฟิตี้กันเลยทีเดียว ดังนั้น การได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานหรือผู้ใหญ่ที่มองเห็นคุณค่าจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนรุ่นใหม่มากที่จะทำให้ผลงานได้แพร่หลายออกไป”

นอกจากนี้ คฑายังบอกเล่าถึงผลงานกราฟฟิตี้บนช้าง 3 มิติ ของตนเองว่า “ผลงานชิ้นนี้ทำขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์การเคารพซึ่งกันและกัน จึงสื่อสารออกมาผ่านรูปแบบของการจับมือกัน ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นการกระทำที่แสดงออกถึงความสุภาพและให้เกียรติ โดยโทนสีเน้นไปโทนร้อน เพื่อเรียกพลังของความสดใสออกมา เหมาะกับช่วงซัมเมอร์แบบนี้ และความสนุกหลังจากชิ้นงานเสร็จสิ้นคือการเปิดปลายเอาไว้ให้คนตีความ ซึ่งเราพอใจที่จะให้คนตีความหมายของผลงานเราไปในทางต่างๆ หลากหลายรูปแบบ เพราะการตีความเหล่านี้จะทำให้งานมีคุณค่าขึ้นมาได้”

เหล่านี้คือตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยหยุดหยิบกระป๋องสีขึ้นมาสานต่อความสุขและความฝัน ด้วยหวังว่าสักวัน กราฟฟิตี้จะกลายเป็นศิลปะที่ได้รับการยอมรับ จากหัวใจของผู้ใหญ่ในสังคมได้ในสักวัน





ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
กำลังโหลดความคิดเห็น