ประเพณีสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีที่ดีงาม หากแต่ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จารีตที่งดงามก็เปลี่ยนตามกาลเวลา สงกรานต์กลายเป็นวันที่หนุ่มสาวรุ่นใหม่รอคอย เพราะเป็นเทศกาลที่พวกเขาจะสนุกสนาน ได้ "ปลดปล่อย" ความเครียดที่สั่งสมมาทั้งปี ด้วยน้ำเย็นดับความร้อนในกาย แถมด้วยการปะแป้งสาวแล้ว และการแต่งตัวแนวแปลกๆ หลุดโลก เมื่อเราไม่อาจหยุดหรือต้านทานการเล่นสงกรานต์ในแบบฉบับของคนรุ่นใหม่ได้ แต่เราสร้างค่านิยมให้คนรุ่นใหม่ ได้รู้จักสงกรานต์ของคนรุ่นเก่า อย่าง หลวงประดิษฐ์ไพเราะ หรือ นายศร ศิลปะบรรเลง พระเอกตัวจริงจากภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง ว่าสนุกสนานคลาสสิกอย่างไร ได้ด้วยการบอกเล่าผ่านความทรงจำของ “มาลินี สาคริก” ผู้เป็นหลานสาว
ในวันที่อากาศไม่ได้ร้อนอบอ้าวจนเกินไปนัก เรามีนัดกับ อาอี๊ด-มาลินี สาคริก เลขาฯ มูลนิธิหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) หลานสาวตัวจริงเสียงจริงอีกคนของระนาดเอกแห่งวังบูรพา เพื่อพูดคุยถึงประเพณีสงกรานต์ของคนไทย และธรรมเนียมปฏิบัติของบ้าน“ศิลปะบรรเลง” โดยอาอี๊ดบอกว่า สงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนมีความสุขมากเพราะเป็นวันขึ้นปีใหม่ คนโบราณจะเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ คือพิจารณาของเก่า อะไรที่ไม่ดีก็สละละทิ้ง และในทางดนตรี ใครที่ขุ่นข้องหมองใจกัน ก็จะมาขอขมากันในช่วงเวลานั้น"
ทายาทหลวงประดิษฐ์ไพเราะ เริ่มย้อนอดีตให้ฟังว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณตาออกมาอยู่บ้านตัวเองที่ตำบลบ้านบาตร ย่านป้อมปราบศัตรูพ่าย ซึ่งตอนนั้นมีคนสนใจดนตรีไทย ส่งลูกหลานมาสมัครเป็นลูกศิษย์มากมาย บางคนบ้านอยู่ไกล การเดินทางลำบาก จึงปลูกเรือนหลังเล็กรอบบ้านท่าน ให้ลูกศิษย์ได้พักอาศัย จึงไม่แปลกที่บ้านท่านจะคึกคักเต็มไปด้วยเสียงดนตรีและผู้คน ชนิดที่ว่าเสียงดนตรีไทยไม่เคยเงียบ
เมื่อถึงประเพณีสงกรานต์ บ้าน “ศิลปะบรรเลง” ก็มีกิจกรรมไม่ต่างไปจากบ้านอื่น “ทุกปีจะเห็นคุณยายเตรียมเครื่องหอม น้ำอบ และผ้าใหม่ไว้หลายชุด ซึ่งคุณตาก็จะนำเข้าวังไปไหว้สมเด็จวังบูรพา แม้ท่านจะสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ไปกราบเจ้านายที่เป็นทายาทของสมเด็จวังบูรพาทุกพระองค์ อาทิ พระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตมงคล, กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, เจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ และก็ต้องไปกราบไหว้ครูอาจารย์ ซึ่งเรื่องความกตัญญูตรงนี้ท่านจะไม่สอน แต่จะปฏิบัติให้ลูกหลานเห็น เมื่อเราเห็นก็ปฏิบัติตามท่านเรื่อยมา”
เมื่อท่านว่าง ลูกหลานและบรรดาลูกศิษย์จากทั่วสารทิศ มารวมกันเพื่อทำบุญใส่บาตรและรดน้ำขอพร ถือเป็นประเพณีสำคัญรองจากงานวันไหว้ครู “วันนั้นจะสนุกมาก ญาติพี่น้องที่ไม่ค่อยได้พบเจอก็มาเจอกัน ลูกศิษย์คุณตาบางคนที่ไปประกอบวิชาชีพโด่งดังก็มา พวกเราก็จะตื่นเต้นไปแอบดูกัน เพราะเมื่อกราบไหว้กันแล้ว ก็จะทานอาหารร่วมกัน มีการบรรเลงเพลงไทยเดิม โดยคุณตาจะนั่งฟังและชื่นชม ลูกศิษย์ก็จะดีใจ เพราะถือเป็นสิริมงคลที่ได้เล่นเพลงให้ครูได้ฟัง”
เสร็จสิ้นจากประเพณีสงกรานต์ของครอบครัวแล้ว อาอี๊ดยังเล่าถึงการเล่นสงกรานต์สาดน้ำในยุคที่เธอยังเด็กว่า เรื่องของความสนุกสนานที่หนุ่มสาวในยุคนั้นรอคอยไม่ต่างไปจากหนุ่มสาวยุคนี้คือ เป็นวันที่ผู้ชายจะได้แสดงออก ได้มีโอกาสสัมผัสเนื้อตัวหญิงสาวที่ตัวเองชื่นชอบ
“การเล่นน้ำของคนสมัยก่อนไม่เหมือนสมัยนี้ ตรงที่ผู้ชายจะเอาแป้งใส่ขันใส่น้ำอบ เวลาจะไปปะแก้มสาว ก็ต้องขออนุญาตเจ้าตัวก่อน ยุคนั้นไม่มีหรอกค่ะที่จะสาดน้ำหรือเอาปืนมาฉีดน้ำใส่กันแรงๆ แบบนี้ค่ะ” อาอี๊ดเล่าพร้อมรอยยิ้ม
และนั่นคือ วันวานในเทศกาลสงกรานต์ของบ้านหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ในความทรงจำของอาอี๊ด