xs
xsm
sm
md
lg

“คิด ก่อน คลิก” รู้เท่าทันมหันตภัยปลายนิ้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทุกวันนี้การทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือหรือการใช้อุปกรณ์ทั้งหลายที่เชื่อมต่อการใช้งานกับคลื่นความถี่ อย่างแท็บเลต โทรศัพท์สมาร์ทโฟนต่างๆ ถือเป็นไลฟ์สไตล์ของคนในยุคนี้ไปแล้ว และนับวันจำนวนผู้ใช้ก็ยิ่งขยายตัวเพิ่มอย่างมาก โดยขณะนี้มีหมายเลขโทรศัพท์มือถือมากกว่า 80 ล้านเลขหมาย ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรเสียด้วยซ้ำ

ยิ่งการมาถึงยุคของอินเทอร์เน็ตไร้สาย ที่เอื้ออำนวยความสะดวกสบายให้กับประชาชนมากขึ้น การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยไม่จำเป็นต้องผ่านเพียงเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี ยิ่งกระตุ้นให้ยอดจำหน่ายของโทรศัพท์สมาร์ทโฟน และแท็บเลต ทะยานสูงขึ้นเป็นเท่าตัว และอีกไม่นาน เทคโนโลยี 3G แบบเต็มรูปแบบการจะพร้อมใช้บริการ

“เรามีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือ 3G ที่หนักไปทางด้านข้อมูล เพราะเดี๋ยวนี้คนก็มักจะส่งข้อมูลผ่านทางออนไลน์ต่างๆ ทั้งแชท ทั้งเฟซบุ๊ก หรือไลน์ ซึ่งเมื่อเราให้ใบอนุญาต 3G ไปแล้ว เราคาดการณ์ว่าประชาชนจะต้องใช้บริการโทรศัพท์มือถือเพิ่มมากขึ้น แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนมันช่วยเรื่องการทำงานต่างๆ

โดยทาง กสทช. เราจะเน้นการดูแลเรื่องของการใช้อินเทอร์เน็ตไร้สายบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ ที่เราเรียกว่า มหันตภัยไร้สาย และจะเน้นเรื่องการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิคส์ เมื่อเป็นการใช้งานเรื่องคลื่นความถี่เราต้องเข้ามาดู”


พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เผยข้อมูลถึงการใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตไร้สายของคนไทย ที่มีปริมาณการใช้งานมากในปัจจุบัน พร้อมแจงหน้าที่ของ กสทช. ในส่วนการควบคุมดูแลอินเทอร์เน็ตไร้สาย

“เมื่อ 3G มา อย่างธนาคารเองก็มี ebank กันหมด ก็เพื่อให้สะดวกถอนเงิน โอนเงิน แต่เมื่อมันใช้ง่าย สิ่งไม่ดีหรือเชื่อโรคมันก็เข้ามาได้ง่าย มันตามเข้ามาในระบบ ถ้าเราไม่ระมัดระวัง นอกจากนั้นยังเข้ามาเอาข้อมูลส่วนตัว บางทีพอเรากดรับมันก็ถ่ายรูปเราแบบไม่รู้ตัวเป็นต้นนะ มันยังมีอีกมากมาย ซึ่งอันนี้เราคิดว่าเป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง ที่ต้องเตือนให้ผู้บริโภคใช้อย่างรู้เท่าทัน อย่างระมัดระวัง”

นอกจากการทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ตที่ส่อแววว่าอาจเป็นช่องทางให้พวกมิจฉาชีพเข้ามาโจรกรรมข้อมูลด้านการเงิน เกิดการยักย้ายถ่ายโอนเงินออกจากบัญชีโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว อีกสิ่งหนึ่งพลอากาศเอก ธเรศ เป็นกังวลคือ เยาวชนที่เป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเลตในการเข้าสู่โซเชียล มีเดีย ต่างๆ ซึ่งมันก็มีอันตรายแฝงตามมาไม่น้อยเช่นกัน และวัยรุ่นก็เป็นวัยคิดเร็ว ใจร้อน ไม่ตรวจสอบข้อมูลให้ถี่ถ้วน

“การใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ หรือการแชท มันมีภัยตามมา โดยที่คนเหล่านี้อาจรู้ไม่เท่าทัน ตัวอย่างเช่น การล่อลวง การปลอมตัวเป็นคนนั้นคนนี้เข้ามาคุย และหลอกไปทำร้าย ไปเอาทรัพย์สิน ซึ่งมันเป็นภัยที่อันตรายต่อเยาวชนมาก

ตรงนี้จึงเป็นภาระหน้าที่ของ กสทช. ที่ต้องดูแลผู้บริโภค ไม่ใช่มีหน้าที่ดูแลผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียว แต่สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้บริโภคด้วย เพราะการดูแลแค่ผู้ประกอบการนั้น ไม่สามารถครอบคลุมได้ทั้งหมด เหมือนกับไข้หวัดใหญ่ระบาด เราก็ต้องไปฉีดวัคซีนให้กับคนทั่วไป อย่างนี้คือกระบวนการในการสร้างภูมิต้านทานให้กับประชาชนในเรื่องของภัยที่เกิดขึ้นจากการใช้อินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ”

ใครเลยจะไปคาดคิดถึง ภัยร้ายที่อยู่ใกล้แค่ปลายนิ้ว เพียงคลิกเดียว ข้อมูลต่างๆ อาจตกไปอยู่มือของมิจฉาชีพอย่างง่ายดาย

“อย่างโทรศัพท์เราก็จะใช้อีเมล์ พอเปิดมาปุ๊บเราก็คลิกเลย ทีนี้ไวรัสจะติดเข้ามาแล้ว จากเมื่อก่อนเราจะเจอไวรัสแค่ในคอมพิวเตอร์เท่านั้น ไม่มีไวรัสในมือถือ แต่เดี๋ยวนี้มันสามารถเข้ามาขโมยข้อมูลในโทรศัพท์เราได้ง่ายขึ้น เพราะเมื่อก่อนโทรศัพท์เราไม่ได้มีความลับอะไร

แล้วไวรัสก็ไม่ได้มากับอีเมล์อย่างเดียว มันยังสามารถมากับบลูทูธ ไวไฟ พวกนี้มันสามารถเจาะเข้ามาได้หมด เราใช้เข้าเว็บ เปิดเฟซบุ๊ก มัลแวร์มันก็เก็บข้อมูลเราเอาไว้หมด เราใช้พาสเวิร์ดอะไร ก็อยากให้ประชาชนได้ตระหนักและรู้ในสิ่งเหล่านี้ ว่าภัยมันมีมากและน่ากลัวขนาดไหน นี่คือสิ่งที่อยากให้คิดก่อนที่จะคลิก”

จากปัญหาน่าวิตกเรื่องของการใช้สมาร์ทโฟน แท็บเลต เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตไร้สาย จึงเกิดเป็นงานใหญ่ที่ กสทช. ตั้งใจจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมาเพื่อให้ข้อมูล ความรู้ และเกิดความตระหนักถึงความปลอดภัยจากอุปกรณ์ข้างกายที่ผู้บริโภคจำนวนมากไม่รู้ว่ามีอันตรายแอบซ่อนอยู่ อันเป็นวัตถุประสงค์หลักของการจัดงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ Cyber Security

“วัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้เพื่อให้เกิดการรับรู้ รับทราบ ให้ผู้บริโภคได้ตระหนักรู้ รู้เท่าทัน ลักษณะของภัยต่างๆ ที่จะมาจากการใช้ โทรศัพท์มือถือร่วมกับอินเทอร์เน็ต ซึ่งเราควรใช้อย่างระมัดระวัง ใช้อย่างมีสติ ในขณะเดียวกันก็อยากให้ประชาชน เกิดความเข้าใจ จะได้ช่วยกันผลักดันในอนาคต ว่าเราจะมีกฎกติการองรับกับเทคโนโลยีที่ไปอย่างรวดเร็วมาก ซึ่งกฎหมาย กฎระเบียบตามไปไม่ค่อยทัน”

เจตนารมณ์ของเราไม่ได้ต่อต้านให้ใช้ แต่ต้องการให้ใช้แบบมีสติ เราจึงเชิญชวนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นธนาคารสถาบันการเงิน รวมทั้งผู้ให้บริการทั้ง 3 เจ้า เข้ามาร่วมคุยว่า ทำอย่างไรเพื่อเตือนให้ประชาชนผู้ใช้งานรับทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างถ้าถูกขโมยข้อมูล ถึงแม้ไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่ก็ทำให้โอกาสมันเกิดยากขึ้น เราก็เลยจัดกิจกรรมเหล่านี้ ขึ้นมาเพื่อให้ได้มาเห็นโทษที่เกิดขึ้น เมื่อป้องกัน รู้เท่าทันแล้ว เราก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อ”

กิจกรรมเพื่อผู้บริโภคจาก กสทช. จะเริ่มจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม โดยในวันแรกจะเป็นการจัดสัมมนา “National Cyber security Awareness Day” ก้าวสู้สังคมไร้สายอย่างปลอดภัย ณ โรงแรม Intercontinental Bangkok โดยมีตัวแทนผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและเอกชนมารวมตัวกันทั้ง น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ, สุทธิชัย หยุ่น, พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ, ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และในวันที่ 25-27 มกราคม จะเป็นการจัดนิทรรศการ “คิดก่อนคลิก Cyber security มหันตภัยปลายนิ้ว” ณ Terminal 21 ที่มีการจำลองสถานการณ์ให้สัมผัสได้โดยตรง ทั้งการขโมยข้อมูล การ Phising คืออะไร ภัยจากการใช้โซเชียล มีเดีย

สุดท้ายพลอากาศเอก ธเรศ ฝากคำถามแก่ผู้บริโภคเอาไว้ว่า “เราสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ เราสามารถเชื่อมโยงโลกทั้งใบให้อยู่ใต้จอเล็กๆ แต่เราจะเชื่อมั่นในความปลอดภัยได้อย่างไร วิธีการที่เราจะปกป้องตัวเองนั้นทำอย่างไร?” ซึ่งทุกท่านสามารถหาคำตอบได้ด้วยตัวเองจากทั้งสองกิจกรรมดีๆ ครั้งนี้

Facebook : คิดก่อนคลิก Cyber Security มหันตภัยปลายนิ้ว By NBTC


(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)
กำลังโหลดความคิดเห็น