“อาจารย์ที่นั่น (อิตาลี) ถามผมว่า คุณจบปริญญาตรีร้องได้แค่นี้หรือ?” ประโยคนี้เองที่เป็นแรงผลักดันให้ สนุ๊ก-กรวีร์ สุนทรวิภาต ที่บินลัดฟ้าไปเรียนการร้องโอเปร่าถึงถิ่นกำเนิดอย่างอิตาลี มุ่งมั่นในการเรียนและฝึกซ้อมจนสามารถคว้าเกียรตินิยมทำคะแนนสูงสุดกว่าเพื่อนๆ เจ้าถิ่น และพร้อมที่จะนำการร้องโอเปร่าของจริงมาให้คนไทยได้สัมผัสบนคอนเสิร์ตครั้งยิ่งใหญ่ ในเดือนมกราคมนี้
หลังจากเป็นนักร้องในวงดนตรีของวชิราวุธวิทยาลัย สนุ๊กตัดสินใจเข้าศึกษาปริญญาตรีดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้าน Voice Performance (Classical) จนสำเร็จปริญญาตรี แต่เขาก็ยังเกิดคำถามขึ้นในใจว่า “ทำไมนักร้องโอเปร่าบ้านเรา ถึงร้องไม่เหมือนคนยุโรป หรือเพราะเราเป็นคนเอเชียมั๊ง!?!” แต่หลังจากสืบค้นในอินเทอร์เน็ตแล้ว ก็พบว่าคนญี่ปุ่นหรือเกาหลี ก็ยังร้องสำเนียงแบบยุโรปได้
เขามุ่งมั่นหาคำตอบและสานต่อเส้นทางชีวิตสายโอเปร่าจนสามารถคว้าทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิกในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลป์ยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และกองทุนพระวรวงค์เธอฯ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ไปเรียนขับร้องโอเปร่าที่สถาบัน AEF (Accademia Europea di Firenza) สถาบันที่มีชื่อเสียงทางด้านดนตรีและศิลปะที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เป็นคนแรกของประเทศไทย เป็นระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน
“คุณแม่ (วิบูลย์สุข พรหมสาขา ณ สกลนคร) เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้ครับ ท่านสนับสนุนทุกอย่าง และทำให้ผมได้รู้จักกับอาจารย์คิม (Charles Kim) ครูสอนโอเปร่าชาวเกาหลี ซึ่งท่านก็มีดีกรีโอเปร่าที่อิตาลีเหมือนกัน พอผมได้พูดคุยกับท่าน จึงทราบว่าที่เราเรียนมาทั้งเทคนิคและวิธีการร้องนั้นผิดหมดเลย ยิ่งผมได้ร้องให้อาจารย์ฟัง คำตอบที่ได้คือ ร้องแบบนี้สอบที่นั่นไม่ติดหรอก! นั่นทำให้ผมต้องเริ่มต้นปูพื้นฐานการร้องใหม่กว่า 2 ปี ก่อนที่จะเดินทางไปสอบเข้าโดยวิธีการร้องสดให้กรรมการฟังที่ AEF ผมตื่นเต้นและดีใจมากครับที่สอบผ่าน”
เมื่อเริ่มต้นเปิดตำราเล่มใหม่ และเทคนิคใหม่จนพร้อมที่จะออกไปเรียนยังประเทศอิตาลี สิ่งหนึ่งที่นักร้องไฟแรงคนนี้ต้องขบคิดเป็นการบ้านอย่างหนักคือ จะเลือกสถาบันไหนดี เพราะที่นั่นมีสถาบันที่มีชื่อหลายแห่ง เขาได้ค้นข้อมูลของสถาบันหลายๆ ที่ ทั้งในมิลานและฟลอเรนซ์ แต่คำตอบที่ได้กลับไม่ได้อยู่ที่สถาบัน เมื่อเขาได้พบว่า ที่ AEF มีอาจารย์คนดังอย่าง Susanna Rigacci
“อาจารย์เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงมากครับ เป็นซูเปอร์สตาร์ด้านโอเปร่าที่อิตาลี ซึ่งตลอดทั้งปี อาจารย์ก็มีทัวร์คอนเสิร์ตไปทั่วโลก แต่ด้วยเหตุผลอะไรก็ตามอาจารย์เลือกที่จะสอนขับร้องที่สถาบันแห่งนี้ และผมก็โชคดีมากครับที่ได้เรียนกับอาจารย์ นี่คือเหตุผลที่ผมเรียนที่ AEF โดยเลือกเรียน Belcanto Traditional Technique เพราะชื่นชอบการขับร้องด้านนี้ และฟังง่าย ไพเราะ”
ปฐมบทเล่มใหม่แห่งการเรียนโอเปร่าของสนุ๊กได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง แต่ประโยคแรกของอาจารย์ที่นั่นก็ไม่ต่างจากคำพูดของอาจารย์คิมนัก “นี่คุณจบปริญญาตรีด้านร้องเพลงที่เมืองไทยมาเหรอ ทำไมร้องได้แค่นี้?” ทำให้นักเรียนไทยคนเดียวคนนี้เสียใจมาก แต่ก็เป็นเหมือนเชื้อเพลิงเติมพลังให้เขามุมานะอุสาหะ จากการเริ่มต้นเรียนด้วยคะแนนน้อยที่สุดของห้อง สนุ๊กสามารถทำคะแนนสูงสุดในระดับ Advanceโดยได้รับคะแนน Ottimo หรือเมื่อเทียบกับเมืองไทยก็คือได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
“ผมต้องเรียนหนักกว่าคนอื่น เพราะนอกจากจะต้องเรียนภาษาอิตาเลี่ยนด้วยแล้ว ยังต้องเรียนรู้วัฒนธรรมและทำความเข้าใจดนตรีของยุโรปมากขึ้น คนที่นั่นได้เปรียบกว่าอยู่แล้ว เพราะเขาเข้าใจดนตรีของเขาตั้งแต่เกิด แต่สำคัญที่สุดคือเทคนิคและการสอนของที่นั่นแตกต่างจากการเรียนการสอนที่บ้านเราโดยสิ้นเชิง ตอนสมัยผมเรียนมหาวิทยาลัย เราเชื่อกันว่าโน้ต High C คือโน้ตแห่งความใฝ่ฝันของนักร้องเสียงเทเนอร์ ถ้าใครทำได้จะถือว่าเจ๋งมาก แต่พอผมมาเรียนที่อิตาลี กลายเป็นว่าโน้ตตัวนี้เขาร้องกันได้ทุกคน อาจารย์ถามว่า ทำไมถึงให้ความสำคัญกับโน้ตตัวนี้ขนาดนี้ เพราะทุกคนสามารถทำได้ด้วยเทคนิคที่ถูกต้อง”
หลังจากได้เรียนรู้เทคนิคที่ถูกต้อง สนุ๊กก็ยังใช้เวลาเกือบปีในการฝึกร้องโน้ต High C แต่นั่นกลับไม่ใช่สิ่งที่เขาได้ค้นพบว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดของการร้องโอเปร่า “การไปเรียนครั้งนั้น ผมได้คนพบว่าดนตรีที่ดีไม่ใช่แค่มีเทคนิคดีเลิศแล้วแปลว่าคุณเก่ง แต่ดนตรีคืออะไรก็ได้ที่เราทำให้เพราะ เราไม่ต้องร้องถึงโน้ต High C เราก็ทำให้เพราะได้ และเมื่อเราร้องเพราะผู้ฟังก็มีความสุข เป้าหมายสูงสุดของการเป็นนักดนตรีและนักร้องอยู่แค่ว่า ผู้ฟังฟังแล้วมีความสุขครับ”
นักร้องโอเปร่าดีกรีจากอิตาลีคนแรกของไทยคนนี้ ตั้งเป้าหมายว่าจะนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาต่อยอดความรู้ให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจดนตรีคลาสสิก และยังได้ฝากให้รุ่นน้องที่ต้องการไปศึกษาต่อดนตรีโดยเฉพาะด้านโอเปร่าว่า “ก่อนอื่นต้องตอบใจตัวเองให้ได้ก่อนว่า เป้าหมายอยากเป็นครู หรือเป็นนักแสดง เพราะหากแค่เป็นครูก็เลือกเรียนเอาวุฒิที่ไหนก็ได้ แต่ถ้าตั้งใจเป็นนักแสดงก็ควรเน้นความสำคัญที่ครูผู้สอนไม่ใช่สถาบัน”
ใครที่อยากสัมผัสมนต์เสน่ห์แห่งโอเปร่า เตรียมพบกับคอนเสิร์ตครั้งยิ่งใหญ่ของ สนุ๊ก-กรวีร์ ได้ในวันที่ 6 มกราคมนี้ ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรม พร้อมเชิญอาจารย์ซูซานน่า มาขับร้อง และ Cristiano Manzoni โอเปร่าโค้ช มาร่วมบรรเลงเปียโนในการแสดงคอนเสิร์ตครั้งนี้ด้วย โดยจะนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายมอบให้มูลนิธิวังพญาไท และ กองทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิกในพระอุปถัมภ์ฯ
ผู้สนใจสามารถสำรองที่นั่งได้ที่ มูลนิธิวังพญาไท 02-354-7735 หรือ 02-354-7987