เราอาจจะคุ้นตากับเซเลบหนุ่มสาวรุ่นใหม่ลูกหลานตระกูลดังขยันออกงานสังคมไม่เว้นแต่ละวัน พาย-ณัฐอร ลิมปิชาติ ก็เคยเป็นหนึ่งในกลุ่มนี้มาก่อน แต่วันนี้ชีวิตเธอเริ่มเปลี่ยนไป หลังจากที่เข้ามาทำงานในมูลนิธิชัยพัฒนา
พาย-ณัฐอร เป็นหลานสาว ม.ร.ว. ศรี โสณกุล (ท่านผู้หญิงศรี ลิมปิชาติ) ที่ปรึกษาองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO (Food and Agriculture Organization of the United Nations) เธอบอกว่า ตอนเรียนจบก็คิดว่าอยากจะทำอะไรสักอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ผู้ที่จุดประกายความคิดนี้ให้กับเธอคือ คุณย่า (ท่านผู้หญิงศรี) ที่ทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม จนกลายมาเป็นความภูมิใจของครอบครัวและคนรอบข้าง ซึ่งพายก็อยากจะให้ครอบครัวของเธอเกิดความภาคภูมิใจเช่นนี้เหมือนกัน
แล้วความหวังของพายก็เป็นจริง เมื่อมูลนิธิชัยพัฒนาเปิดสำนักใหม่ขึ้นโดยใช้ชื่อ “สำนักวิเทศสัมพันธ์” ซึ่งแยกออกมาจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ โดยหน่วยงานนี้หน่วยงานใหม่ เนื่องจากช่วงหลังต่างชาติให้ความสนใจและมาดูงานของมูลนิธิชัยพัฒนามาก จึงต้องมีสำนักที่สามารถรับรองชาวต่างชาติที่สนใจ ตั้งแต่ระดับนักการทูตถึงเกษตรกร พอรู้พายก็เขียนใบสมัครเลย เพราะจบนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคนานาชาติ ก็พอใช้ภาษาได้เพราะฉะนั้นเวลาสื่อสารเอกสารต้องทำเป็นภาษาอังกฤษ และพายจบมาพอดีเลยลองเข้าไปทำ”
น้องพายยังได้กล่าวถึงการก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนาของในหลวงด้วยว่า จุดมุ่งหมายของมูลนิธิชัยพัฒนาก็เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี โดยรอบด้านตั้งแต่อาหารการกิน สุขภาพ การศึกษา อาชีพ และอีกหลายๆอย่าง โดยต้องอยู่บนความพอดี ความเรียบง่าย “พอเพียง” และไม่เกินตัว สิ่งเหล่านี้ทำให้ “คุณหนู” ที่เกิดมาจากสังคมที่มีพร้อมทุกอย่างแบบเธอ ได้มองเห็นโลกอีกมุมหนึ่งที่ยังต้องการความช่วยเหลือและ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
“ต้องบอกว่า เป็นจังหวะชีวิตที่ลงตัวจริงๆ พอรู้ก็รีบเขียนใบสมัครทันที แล้วก็สอบได้ คือเนื่องจากช่วงหลังชาวต่างชาติให้ความสนใจ และมาดูงานของมูลนิธิชัยพัฒนามาก เขาจึงตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมาเพื่อเผยแพร่งานของมูลนิธิ ให้ชาวต่างชาติได้รับรู้ และพายจบนิเทศศาสตร์อินเตอร์มา ก็พอดีตรงกับความต้องการที่ต้องใช้ภาษาเยอะด้วย”
แม้จะทำงานกับมูลนิธิชัยพัฒนาได้ไม่นาน แต่พายก็ได้ซึมซับประสบการณ์หลายๆ อย่างที่ได้พบเห็น เธอบอกว่า จุดมุ่งหมายของมูลนิธิชัยพัฒนา ก็เพื่อต้องการให้คนไทยรู้จักรากเหง้าของตน โดยใช้ชีวิตแบบ “พอเพียง” คือทำให้พอดีตัว เหมาะสมกับตัว และไม่เกินตัว สิ่งเหล่านี้ทำให้ “คุณหนู” ที่เกิดมาจากสังคมที่มีพร้อมทุกอย่างแบบเธอ ได้มองเห็นโลกอีกมุมหนึ่งที่ยังต้องการความช่วยเหลือ
“โครงการของมูลนิธิชัยพัฒนามี 200 กว่าโครงการ ซึ่งแต่ละโครงการก็จะมีโครงการย่อยออกไปอีก ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นการนำแนวคิดของพระองค์ท่านมาใช้ เพื่อปลูกจิตสำนึกให้คนไทยที่อยู่ในชนบท รู้จักการบริหารจัดการชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น ภายใต้ทฤษฎีใหม่ที่ท่านคิดขึ้นมา เช่น 30-30-30-10 เพื่อนำมาปรับใช้ในชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องใช้กับการทำนาเพียงอย่างเดียว อาจจะเป็นเรื่องการใช้จ่ายหรือการการทำงานก็เป็นได้”
น้องพายยังได้กล่าวถึงความปลาบปลื้มที่มีต่อองค์พ่อหลวงว่า “ทุกวันนี้พายปลาบปลื้มในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ที่ให้เราไปพัฒนาชุมชนแบบครบวงจร ไม่ใช่แค่การผันน้ำ เพราะอย่างแรกที่ในหลวงทรงให้ความสำคัญคือ ก่อนที่ประชาชนจะมีชีวิตและฐานะที่ดี ทุกคนจะต้องมีสุขภาพที่ดีก่อน ถึงจะทำทุกอย่างได้ ซึ่งสุขภาพที่ดีก็คือมาจากอาหารที่ดี บวกกับการศึกษาที่ดี”
สำหรับเรื่องของการศึกษานั้น น้องพายได้มีโอกาสไปสัมผัสกับชีวิตของนักเรียนในชนบท โดยเฉพาะ โรงเรียนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ประสบภัยจากน้ำท่วม ทำให้โรงเรียนได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นผลให้เกิดความยากลำบากในการศึกษาเล่าเรียนของเด็กๆ ในชุมชนแห่งนั้น
“เราได้เห็นว่าเขาต่างจากเราเยอะมาก เขาขาดเขาไม่มีจริงๆ ซึ่งอันนี้ก็เป็นพระประสงค์ของสมเด็จพระเทพฯ ด้วย ที่ต้องการให้เราทำให้ครบวงจรตลอดชีวิตของคนๆ หนึ่ง พัฒนาสิ่งแวดล้อมและพัฒนาชนบทด้วย อันนี้แหละเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้พายอยากทำต่อ เพราะเมื่อก่อนเราอยู่ในกรุงเทพฯ เราไม่รู้ไม่เห็นว่ามันต่างกันอย่างไร งานที่นี่ทำให้เราได้เห็นโลกแห่งความเป็นจริง ได้เห็นว่าเขาต่างกับเราจริงๆ”
“งานทุกงานไม่ใช่ว่าเราได้รับเลือกมาแล้ว เราจะเข้าไปเปลี่ยนทุกอย่าง แต่เป็นเหมือนเราได้รับโจทย์มาแล้ว ว่าเขาเคยทำอะไร? เขาต้องการอะไร? และเขาควรทำอะไร? ซึ่งอันนี้แหละที่เราต้องเอา 3 อย่างมาผสมกันและพัฒนาให้เขาอยู่ด้วยตัวเองให้ได้ โดยนำวิถีชีวิตเดิมๆออกมา ในหลวงกับพระเทพฯ ไม่ได้คิดแทนชาวบ้าน แต่จริงๆ ป่าลึกที่แม้แต่ทหารยังไม่กล้าเข้า สมเด็จพระเทพฯ ก็เสด็จเข้าไปแล้ว ทรงเข้าไปทอดพระเนตรเอง ทุกเรื่องท่านต้องเห็นกับตาว่ามีอะไรบกพร่องบ้าง? ท่านเสด็จไปที่ไหนจะต้องคุยกับชาวบ้าน ท่านจะถามว่าเราจะทำอะไรกันดี และตัวเองทำอะไร และท่านก็จะเอาจากตรงนั้นมาระดมความคิดว่าจะทำอะไรต่อ”
สำหรับโครงการที่เธอรู้สึกประทับใจมากคือ โครงการโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ จ.สระแก้ว ที่เป็นโรงเรียนที่รวบรวมควายชาวบ้าน มาสอนการไถนา นอกจากนี้ ก็มีโครงการความร่วมมือกับจีนในการสกัดเมล็ดชา ที่เชียงราย เพื่อใช้แทนน้ำมันพืช ซึ่งปรากฏว่าเป็นที่นิยมมากจนผลิตขายไม่ทัน เพราะช่วยรักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ไขข้อ ได้ดี
ในระยะเวลาเพียง 3 เดือน ที่ได้เรียนรู้และทำงานกับมูลนิธิชัยพัฒนา ก็ทำให้น้องพายได้ประสบการณ์มากมาย ยิ่งกว่าการเรียนในห้องเรียน หรือแม้แต่การใช้ชีวิตในแวดวงสังคม เพราะความจริงในโลกใบนี้ ยังมีสิ่งที่แตกต่างจากวิถีการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคล ซึ่งน้องพายก็เป็นหนึ่งในนั้นที่รู้จักและเรียนรู้วิถีพอเพียง โดยนำหลักการเหล่านั้นมาทำให้เกิดประโยชน์แก่คนหมู่มาก