>>ทันทีที่ได้รับมอบหมายให้ไปสัมภาษณ์ “คุณปิ๋ม-ดร.อภิรมณ อุไรรัตน์” ผู้บริหารของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ภาพแรกที่คิดไว้คือ ผู้บริหารมาดขรึม รวบผมตึง ใส่แว่นตาหนาเตอะ แต่เมื่อเริ่มค้นหาข้อมูลของเธอเรากลับพบว่า เธอเป็นผู้หญิงคล่องแคล่ว จนเราแทบจะลืมภาพของนักวิชาการที่ดูคร่ำเคร่ง มีองค์(ความรู้) ไปเลย...
เมื่อวันที่ต้องไปพูดคุยกับเธอมาถึง นอกจากความเป็นกันเองที่ได้นั่งพูดคุยกับ ดร.อภิรมณ นั้น เรายังพบกับความน่ารักแสนซนของ “น้องธาร่า-เด็กหญิงอติวัณณ์ อุไรรัตน์” ลูกสาววัย 6 ขวบของเธอที่เราต้องขอเก็บเรื่องราวและภาพถ่ายของสองแม่ลูกทายาทตระกูลอุไรรัตน์มาฝากกัน
ดร.อภิรมณ ลูกสาวคนเดียวจากพี่น้อง 3 คนของ “ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ถึงแม้เธอจะทำงานด้านการศึกษา ทั้งดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้จัดการ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ควบคู่กับการเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยรังสิต แต่ก็ยังไม่ทิ้งสิ่งที่เกิดมาคู่กับผู้หญิงในเรื่องการดูแลความสวยความงามด้วยการดูแล “ภิมณ์ธารา เอสเตติกา” ศูนย์ความงามครบวงจร และกับหน้าที่สำคัญการเป็นแม่ของน้องธาร่า ลูกสาวคนเดียวของเธออีกด้วย
แต่กว่าชีวิตจะเดินทางมาถึงวันที่หลายๆ อย่างค่อยๆ ลงตัวทั้งครอบครัว เรื่องการงาน เธอเองก็เคยผ่านการทดลองเรียนรู้การใช้ชีวิตมาก่อน ตั้งแต่การเริ่มต้นค้นหาการเรียน การงานที่ชอบ...
“ช่วงเด็กๆ เหมือนเป็นช่วงเวลาที่ค้นหาตัวเอง เราค่อนข้างมีความสามารถทางภาษา จึงเอนทรานซ์เข้าเรียนที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ รู้สึกไม่ใช่ตัวเองจึงออกไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ไปเรียนด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ แต่พอเรียนไปได้ 1 เทอมก็รู้สึกว่ามีทฤษฎีมากเกินไป ไม่ใช่ตัวเรา ต้องท่องจำเยอะมาก กลับบ้านมาต้องอ่านเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ไปจนถึงสงครามโลก ก็เลยเปลี่ยนมาเรียนบริหารธุรกิจดีกว่า เพราะคิดว่าน่าจะเป็นพื้นฐานในการไปทำงานอะไรหลายๆ อย่าง
...พอมาเรียนบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ก็สนุกดี สามารถปรับใช้กับชีวิตจริงได้ เป็นทฤษฎีที่เข้าใจง่าย ไม่ต้องค้นคว้าทฤษฎีมากเกินไป”
จนกระทั่งเรียนจบปริญญาตรี ดร.อภิรมณได้กลับมาทำงานเป็นเลขานุการ ที่ปรึกษาผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คุณศิวะพร ทรรทรานนท์ ซึ่งตลอดระยะเวลาการทำงาน 1 ปีนั้น เธอได้ประสบการณ์ชีวิตและมุมมองมากมายจากการทำงานจริง
“คุณศิวะพรเป็นคนที่ทันสมัยในเรื่องของเทคโนโลยี เราจะได้ประสบการณ์ในการทำงานเก็บข้อมูลที่ทันสมัยเยอะมาก ทำได้ 1 ปีก็คิดว่าเราน่าจะหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อจะได้ทำงานเก่งขึ้นกว่านี้อีก และเริ่มมีอุดมการณ์อยากทำงานเพื่อสังคม อยากทำเรื่องนโยบายสังคม ก็เลยมาเรียนต่อปริญญาโท Msc in Voluntary Sector Organization ที่ London School of Economic and Political Science ประเทศอังกฤษ
แต่พอเรียนจบปริญญาโทกลับมาก็มีการลองผิดลองถูก หาความชอบของตัวเองหลายอย่าง เคยทำร้านราเม็งชื่อ “รามณ ราเม็ง” คิดว่าเราต้องเป็นเจ้าของธุรกิจก็เลยไปคิดค้นหาสูตรราเม็งมา เปิดที่เซ็นทรัล อยู่ได้ 2-3 ปี ก็เริ่มเหนื่อย เพราะต้องยอมรับว่าคนที่ทำร้านอาหารประสบความสำเร็จนี่คือเก่งมาก (หัวเราะ)”
เธอบอกกับเราว่าแพลนของชีวิตเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วแต่จังหวะเวลาของชีวิตในช่วงนั้น...แต่สุดท้ายก็กลับมาทำโรงเรียน โดยเริ่มจากการเข้ามาเป็นกรรมการบริหารที่โรงเรียนนานาชาติบริติช ภูเก็ต และปัจจุบันเข้ามาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้จัดการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ควบคู่ไปกับการเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่คณะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยรังสิต
“หลักๆ ตอนนี้คืองานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ถ้านอกเหนือจากนี้ก็มีงานสอน ซึ่งสอนมาได้ประมาณ 4-5 ปีแล้ว สอนการตลาด เรื่องของอุตสาหกรรมบริการครอบคลุมหลายอย่าง เรื่องการศึกษาก็ถือเป็นการบริการ ที่ผ่านมาคนมักมองว่าการศึกษาจะต้องทำอะไรเป็นเส้นตรง เป็นนักวิชาการเกินไป จริงๆ มันต้องบาลานซ์ทั้งเรื่องวิชาการและบริการด้วย”
:: ผู้มองวงการการศึกษาไทย
เคยคิดมาก่อนหรือไม่ว่าวันหนึ่งจะมาเป็นอาจารย์? “อาจารย์” คำนั้นแทบไม่เคยอยู่ในระบบความคิดของหญิงสาวคนนี้เมื่อวัยประมาณ 24-25 ปีเลย แต่เรื่องของจังหวะเวลาเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกอย่างดำเนินไปจนเธอเข้ามาอยู่ในแวดวงการศึกษาเต็มตัว
“ไม่เคยแพลนเลย เป็นเรื่องของจังหวะเวลามากกว่า เมื่อก่อนเราคิดแค่เพียงว่าอยากตั้งใจทำอะไรสักอย่างที่จะได้มีโอกาสรับใช้สังคม แล้วก็มาเป็นในเรื่องของการศึกษา”
เป็นเวลาเกือบ 9 ปีแล้วที่เธอเข้ามาคลุกคลีอยู่กับวงการการศึกษาไทย ทั้งส่วนที่เป็นมหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ และโรงเรียนสาธิตแห่งนี้ ทำให้เธอสัมผัสได้ถึงวงการการศึกษาบ้านเรา
“การศึกษาบ้านเรายังไม่ประสบความสำเร็จ หลายๆ รัฐบาลที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับการศึกษา การเรียนรู้น้อยมาก โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งน่าแปลกใจที่เด็กไทยก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้แม้ว่าจะเรียนมา 12 ปี มาตรฐานอาจารย์ก็เช่นกัน
.... เราอาจมองอะไรที่ล้ำมากเกินไป เช่น แจกโน่นแจกนี่ แจกคอมพิวเตอร์ เน้นอะไรที่เป็นวัตถุ แต่เรื่องกระบวนการเราไม่ได้ให้กับผู้ถ่ายทอด คนสำคัญที่สุดที่จะผลิตคุณภาพการศึกษาก็คือครู
ขณะเดียวกันครูบ้านเราเงินเดือนต่ำมาก คนเก่งๆ ถามว่าทำไมไม่เรียนครู? คณะครุศาสตร์ก็ไม่ได้เป็นคณะที่มีอันดับต้นๆ ของการเอนทรานซ์ จะเป็นแพทย์ รัฐศาสตร์ วิศวะ ตรงนี้เราต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้น คนที่เป็นครูต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผลตอบแทนที่ดี
แม้ว่าเราจะเป็นโรงเรียนเอกชน แต่ก็อยู่ในหลักสูตรของรัฐบาลกับกระทรวงศึกษาธิการ หลายอย่างต้องรอรัฐบาลอนุมัติ แต่ในเรื่องของความอิสระในการบริหารจัดการ เราให้ความสำคัญกับบุคลากร โดยเฉพาะครู เราให้สวัสดิการที่ดี เงินเดือนที่ดี ให้โอกาสทางการศึกษา เราจะมีการทำ Professional Development ของครู เรามีทุนการศึกษาให้เรียนต่อ ไม่ว่าจะเป็นระดับปริญญาโท หรือปริญญาเอก สนับสนุนให้ไปศึกษาดูงานเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นในประเทศและต่างประเทศ เราเชื่อว่าคุณภาพของเด็กที่ออกมาขึ้นอยู่กับครู”
ครอบครัวอุไรรัตน์
สำหรับครอบครัวอุไรรัตน์นั้น ลูกทั้ง 3 คนของ ดร.อาทิตย์ มีส่วนในการดูแลธุรกิจในเครือของมหาวิทยาลัยรังสิตทุกคน เริ่มต้นที่ “ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์” พี่ชายคนที่ 2 ถูกมอบหมายให้เข้ามาเป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายแผนพัฒนาคุณภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่สร้างมากับมือ ขณะที่ “อภิวัฒิ อุไรรัตน์” พี่ชายคนโต ถูกวางตัวให้เข้ามาดูแลงานบริษัท อาร์เอสยู เฮลธ์แคร์ จำกัด ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการที่สามารถต่อยอดให้กับมหาวิทยาลัยรังสิต และ “ดร.อภิรมณ อุไรรัตน์” ลูกสาวคนเล็กที่เรากำลังนั่งพูดคุยกับเธออยู่ในขณะนี้ ซึ่งเราต้องขอพูดคุยถึงสไตล์การเลี้ยงดูจากคุณพ่ออาทิตย์กันสักหน่อย...
“เรื่องการเลี้ยงดูจากคุณพ่อ (ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์) ท่านไม่ได้บังคับเรา เพียงแต่จะไกด์ให้ว่าถ้าเราชอบอย่างนี้จะต้องไปในทางไหน แล้วท่านก็ไม่ได้คาดหวังตั้งแต่แรกด้วยว่าปิ๋มจะต้องมาช่วยดูงานด้านการศึกษา ความที่เราเป็นลูกสาวคุณพ่อที่ทำงานด้านการเมืองและด้านการศึกษา ไม่ได้มีสิทธิพิเศษอะไร เรายังเหนื่อยเหมือนเดิม (หัวเราะ) น่าจะเป็นเรื่องของความเชื่อของคนมากกว่า เนื่องจากคุณพ่อเคยทำงานด้านการเมืองมา
แต่ส่วนตัวปิ๋มเป็นความภูมิใจนะที่ท่านทุ่มเท มีความตั้งใจที่จะทำงานให้บ้านเมือง เมื่อก่อนมีความชอบเรื่องการเมืองเหมือนกัน ชอบที่จะเห็นการเมือง ดูการพัฒนา ดูความเคลื่อนไหว ความเป็นไป แต่พอมาหลังๆ เรื่องการเมืองเป็นเรื่องยาก และเป็นเรื่องน่าเบื่อมากๆ สำหรับคนอย่างเรา รู้สึกว่าคนที่มีความตั้งใจทุ่มเทจริงๆ คงอยู่ยาก อย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้”
จนปัจจุบันนี้มาถึงรุ่นหลานของ ดร.อาทิตย์ ซึ่งเรากำลังจะเปิดตัว “น้องธาร่า-เด็กหญิงอติวัณณ์ อุไรรัตน์”
หลานสาวคนโตวัย 6 ขวบ ของครอบครัวอบอุ่นครอบครัวนี้ น้องธาร่าเป็นบุตรสาวของคุณปิ๋มกับสามี “ดร.อัครเวช โชตินฤมล”
คุณแม่ดุมั้ยคะ? “ดุค่ะ” น้องธาร่าตอบอย่างรวดเร็ว
คุณแม่ตามใจมั้ย? “ไม่ตามใจ”
แล้วธาร่าดื้อมั้ย? “ไม่ดื้อค่ะ” ธาร่าตอบก่อนจะหายไปวิ่งเล่นอีกครั้ง โดยปล่อยให้เราสนทนากับคุณแม่ปิ๋มต่อไป
“เขากำลังอยู่ในวัยทดลอง เราดุหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องเรียน เรื่องความประพฤติ อยากให้เขามีความเคารพ มีมารยาทไทย ที่เราคาดหวังคืออยากให้เขาพูดได้ 2 ภาษา เก่งทางด้านภาษาไทย วัฒนธรรมไทย มีบุคลิกแบบไทย แต่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว เข้าใจทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เราพยายามที่จะเลี้ยงเอง
ตอนนี้ยังไม่มีแพลนที่จะมีลูกคนที่สอง ที่จริงก็อยากมีเหมือนกัน บางคนบอกว่าเวลาท้องแล้วจะมีความสุข แต่สำหรับตัวเองคิดว่าทรมาน เพราะเหนื่อยเร็ว ง่วง ยิ่งเราต้องทำงานด้วยแล้ว ทำอะไรก็อึดอัด ไม่คล่องตัว แต่ถ้ามีลูกแล้วมีคนช่วยเลี้ยงเยอะๆ ก็ดี ส่วนตัวชอบเด็กผู้หญิง เพราะได้ยินว่าเด็กผู้ชายซนมาก แต่นี่ก็ซนไม่ใช่น้อยเหมือนกัน (หัวเราะ)”
หากถามว่าน้องธาร่าหน้าเหมือนใคร แค่มองแวบแรกก็จะรู้ว่าถอดแบบออกมาจากคุณตาเป๊ะ!!
“น้องธาร่าจะเจอกับคุณตาคุณยายบ่อย เจอกันเขาก็นั่งคุยกันกะหนุงกะหนิง เขาจะคุยกันรู้เรื่องกับคุณตาเพราะคุณตาตามใจ หรือถ้าไม่เจอกันเขาจะแชตคุยทางไลน์กับคุณตา”
:: บริหารความสวย เรื่องไม่ยากของผู้หญิง
อย่างที่ทราบกันว่าพื้นฐานเดิมของครอบครัวอุไรรัตน์นั้น เคยมีธุรกิจด้านสถานพยาบาลมาก่อน แต่ก็มีการเปลี่ยนถ่ายกิจการไปแล้ว อย่างไรก็ดี เมื่อมีความถนัดในด้านนี้อยู่แล้ว ประกอบกับการดูเทรนด์ตลาดที่เรื่องของความสวยความงามเริ่มเป็นที่สนใจ จึงเป็นช่องทางให้เกิด บริษัท อาร์เอสยู เฮลธ์แคร์ จำกัด เป็นบริษัทในเครือของมหาวิทยาลัยรังสิต โดยหนึ่งในนั้นก็มี “ภิมณ์ธารา เอสเตติกา” ศูนย์ความงามครบวงจร อยู่ที่สุขุมวิท 31 ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว ที่มีหลายศูนย์เฮลท์ในเครือ โดยคุณปิ๋มไปช่วยดูแล “ภิมณ์ธารา เอสเตติกา” ที่เน้นเรื่องความสวยความงาม
“คลินิกความงามปัจจุบันนี้เกลื่อนไปหมดทั้งไฮเอนด์ โลว์เอนด์ แต่ที่เราเน้นเรื่องของการรักษาเฉพาะเจาะจงในแต่ละด้าน ตามความต้องการของลูกค้า เน้นเรื่องของคุณภาพการบริการที่ดี เทคโนโลยีที่ทันสมัยและดูแลโดยคุณหมออย่างใกล้ชิด ไม่ได้ใช้เทอราปิสเป็นคนทำ และเรามีคุณหมอที่เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์หลายคนมาก
ในส่วนนี้ปิ๋มดูเรื่องภาพรวม ส่วนใหญ่จะให้เป็นความคิดเห็นและให้คำปรึกษามากกว่า เพราะเราก็เป็นผู้หญิงที่สนใจเรื่องความสวยความงาม ส่วนเรื่องอื่นนั้นจะมีคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ดูแล”
หากจะพูดถึงสูตรความงามเฉพาะตัวของเธอเอง เธอบอกว่าประกอบไปด้วยหลายอย่างด้วยกัน แต่ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ต้องควบคุมให้อยู่ในอัตราที่พอเหมาะพอดี การแต่งหน้าก็เป็นเคล็ดลับความสวยอีกอย่างหนึ่งสำหรับผู้หญิง ไก่งามเพราะขนคนงามเพราะแต่งก็จริง แต่ถ้าแต่งจนเกินพอดีบางครั้งก็ทำให้หมดสวยได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น ทั้งการแต่งหน้าและแต่งตัวเธอจึงเน้นแบบเรียบๆ ไว้ก่อนเสมอ
“ปกติจะเป็นคนไม่ค่อยแต่งหน้า ถือเป็นการพักหน้าไปในตัว แต่ถ้าแต่งจะไม่ชอบเครื่องสำอางที่มันวาว ไม่ชอบแบบที่มีชิมเมอร์เยอะๆ เดินไปเดินมาเหมือนมีแต่หน้าลอยไปมาอย่างเดียว ชอบใช้ที่เนื้อแมตช์ รู้สึกเข้ากับหน้าเรามากกว่า ส่วนเรื่องแต่งตัวก็ต้องแต่งให้พอดีเหมือนกัน ชิ้นที่ชอบที่สุดก็เป็นต่างหูที่ต้องใส่ตลอด แต่ที่สะสมและชอบจริงๆ ก็คือผ้าพันคอ รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ได้ใช้และอยู่ได้นาน ไม่มีเอาต์ ไปไหนเราก็พกติดตัวไป อากาศหนาวก็ใช้ได้ เมื่อก่อนเรียกได้ว่าสะสมเลย แต่เดี๋ยวนี้แบ่งคนอื่นไปใช้บ้างแล้ว”
เรื่องการกินก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องควบคุมให้พอดี นอกจากต้องเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์แล้ว การทานวิตามินเสริมยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยคืนสมดุลให้แก่ร่างกายด้วย เมื่อระบบภายในมีความสมดุลก็ไม่ยากที่จะมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง
“เป็นคนชอบซื้อวิตามินอยู่แล้ว ก็จะรู้ว่าตัวไหนทานแล้วให้ผลต่อร่างกายยังไง ที่ทานอยู่ก็จะมีวิตามินซี นอกจากช่วยเรื่องภูมิแพ้แล้วยังช่วยให้หน้าใสขึ้นด้วย แล้วก็ยังมีจำพวกแอลคาเนทีน กลูตามีน สิ่งเหล่านี้จะไปเพิ่มเมตาบอริซึมของร่างกาย ส่วนน้ำมันตับปลาจะเลือกชนิดที่เป็นปลาทะเลลึกเพื่อให้ได้โอเมก้าสูงสุด ที่สำคัญเคยอ่านวิจัยเจอ เขาบอกว่าช่วยเรื่องควบคุมน้ำหนักได้ด้วย นอกจากต้องเลือกทานอาหารดีๆ เราต้องไม่มองข้ามเรื่องวิตามินเสริมด้วยค่ะ”
:: ฉีกภาพคุณครูในกรอบ สู่ผู้สอนผู้มาดมั่น
ระหว่างการสนทนาในบรรยากาศของโรงเรียนระดับชั้นนำ เราแทบจะลืมไปเลยว่าหญิงสาวที่กำลังนั่งคุยอยู่กับเราตอนนี้คืออาจารย์ผู้ที่ทำหน้าที่ให้ความรู้ ที่เราอาจคุ้นเคยตั้งแต่สมัยเด็กว่าต้องเป็นผู้หญิงสูงวัย ใส่แว่นหนาเตอะ แต่งกายเรียบร้อย แต่สำหรับอาจารย์ปิ๋ม ด้วยรูปหน้าเรียวยาว หุ่นเพรียวสูง และสไตล์การแต่งกายที่ออกจะอินเทรนด์แฟชั่นนิดๆ เสื้อผ้า เครื่องประดับ ก็เป็นแบรนด์เนมที่ถ้าเอ่ยชื่อออกไปทุกคนก็คงรู้จัก ทำให้เรารู้สึกเหมือนกำลังคุยอยู่กับเวิร์กกิ้งวูแมน ผู้รู้จักใช้ชีวิตมากกว่า
“จะบอกว่านักวิชาการไม่จำเป็นจะต้องมีลุคที่ดูเป็นคุณป้าเสมอไปนะ เราเป็นคนชอบแฟชั่นอยู่แล้ว และเรามีกลุ่มเพื่อนที่เจอกันก็จะเมาท์กัน อัปเดตกัน คอยเป็นสไตลิสต์ให้กัน บางคนก็เป็นดีไซเนอร์
ที่จริงปิ๋มไม่ค่อยตามแฟชั่นนะ ชอบดูแต่ไม่ได้ตาม ชอปปิ้งได้ทุกที่ไม่ว่าจะห้างสรรพสินค้าทั่วไป หรือว่าแหล่งชอปปิ้งยอดฮิต เดี๋ยวนี้ชอบชอปปิ้งออนไลน์ สะดวกดี เราคิดว่าแฟชั่นกับผู้หญิงเป็นของคู่กัน และทำให้ชีวิตเราสดใส แต่การที่เราเลือกของก็ไม่จำเป็นต้องแบรนด์เนม บางทีเน้นคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญ อย่างกระเป๋าเราจะใช้ใบเดิมๆ หลายปี ไม่ได้เปลี่ยนตามแฟชั่น
“แต่แบรนด์เนมนิดหนึ่ง” (เสียงผู้ช่วยคู่ใจแซวมาจากอีกฟากของห้อง)
ก็มันทน (หัวเราะ) แบรนด์โปรด? ไม่ได้มีใครที่ชอบเป็นพิเศษ อย่างดีไซเนอร์เมืองนอกคัตติ้งเขาเนี้ยบ ดีไซเนอร์ไทยก็สวยๆ เยอะ
ช่วงหลังๆ รู้สึกว่าเอาต์จากเรื่องแฟชั่นไปบ้าง เพราะมาโฟกัสเรื่องงานโรงเรียน เพราะมีแพลนที่จะขยายโรงเรียนไปที่อื่นอีกด้วย ก็เลยไม่มีเวลาที่จะไปติดตามดูเกี่ยวกับแฟชั่น ต้องหาโอกาสไปคุยกับเพื่อน (ยิ้ม)”
แน่นอนว่าทุกชีวิตของมนุษย์เกิดมาก็ต้องเผชิญกับบททดสอบในการใช้ชีวิตที่หลากหลาย สำหรับคุณปิ๋ม เมื่อต้องเจอกับเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตแล้ว เธอจะมีวิธีการจัดการปัญหาอย่างไร?
“สิ่งที่ดีที่สุดคือ เราต้องอยู่กับความเป็นจริง ยอมรับว่าปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เห็นแล้วก็วาง ไม่ฟูมฟาย เป็นหลักธรรมะ หากรู้ตัวว่าเริ่มโมโห ปิ๋มจะใช้วิธีดึงสติตัวเองกลับมาบ่อยๆ เพราะถ้าปล่อยให้ความหงุดหงิดเข้าครอบงำ อารมณ์ไม่คงที่ ก็จะส่งผลต่อร่างกายในที่สุด ปิ๋มไม่ค่อยได้อ่านหนังสือธรรมะนะ แต่พยายามปฏิบัติมากกว่า เช่น ปล่อยวาง นั่งสมาธิบ้าง บางครั้งก็จับลูกมานั่งด้วย (หัวเราะ) เมื่อก่อนเคยไปปฏิบัติธรรมบ่อย แต่ยุ่งๆ ก็เลยทำเองเมื่อมีเวลา”
แม้จะมีหลายอย่างต้องทำ ทั้งงานด้านบริหารโรงเรียน งานสอนที่มหาวิทยาลัย บริหารศูนย์ความงาม และหน้าที่คุณแม่ ทุกอย่างก็ดูจะไม่ใช่เรื่องที่เหลือบ่ากว่าแรงของเธอสักเท่าไหร่...
“เราบาลานซ์ทุกอย่างมากกว่า ไม่มีตารางว่าวันนี้ต้องเป็นอย่างนี้เป๊ะๆ แต่จะมีตารางนัด นอกจากนั้นพยายามที่จะให้เวลากับลูกมากที่สุด โชคดีที่ที่ทำงานและโรงเรียนลูกคือที่เดียวกัน ก็เลยมีโอกาสดูแลเขาเยอะ มาโรงเรียนพร้อมกัน กลับบ้านพร้อมกัน ทำการบ้านด้วยกัน ใช้เวลาด้วยกัน
ชีวิตเริ่มลงตัวในสิ่งที่ควรจะเป็นนะ แต่ก็ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่อยากจะทำ ทุกวันนี้ตื่นขึ้นมาก็ยังคิดจะทำอะไรหลายๆ อย่างอยู่ อยากทำโรงเรียนให้ประสบความสำเร็จ กระจายการศึกษาไปหลายๆ จังหวัด” :: Text by FLASH
>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net