xs
xsm
sm
md
lg

"อาทิตยา กุลโมไนย" กับอาชีพ “ช่างซ่อมภาพเขียนสีน้ำมัน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อพูดถึงอาชีพ “ช่างซ่อมภาพ” แล้ว ดูเหมือนว่าแทบจะไม่มีใครรู้จักอาชีพนี้ ว่ามีอยู่ในเมืองไทย แต่อย่างน้อยก็มี “อุ๊-อาทิตยา กุลโมไนย” ที่ประกอบอาชีพนี้

ปัจจุบัน “อุ๊-อาทิตยา” ที่ปรึกษามูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร
 - ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์งานศิลปะ
นอกเหนือจากนี้อีกหนึ่งในหน้าที่สำคัญคือ การดูแลจัดเก็บและรักษาศิลปะ โดยเฉพาะ ผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร พระธิดาในพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต และ หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์บริพัตร เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ถึงผลงานอันทรงคุณค่าเหล่านี้


หน้าที่สำคัญนี้เอง จึงทำให้เธอได้ใช้ความรู้เรื่องศาสตร์ของการซ่อมภาพที่เรียนมาจากฝรั่งเศส นำมาดูแลซ่อมแซมภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์อันทรงคุณค่า ของหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร


เธอบอกว่า อาชีพซ่อมภาพในเมืองไทยหากจะทำโดยตรงคงไม่มี เพราะบ้านเราไม่มีวัฒนธรรมการวาดภาพ มานานพอที่จะส่งต่อให้ลูกหลาน เพื่อเป็นมรดกไว้จนเก่า ผิดกับประเทศทางตะวันตกที่ให้ความสำคัญด้านศิลปะมากกว่าพันปีแล้ว ดังนั้น จึงมีภาพเก่าๆ อันทรงคุณค่า ที่จะต้องมีการดูแลและซ่อมแซม ประเทศเหล่านี้จึงมีคนที่ประกอบอาชีพนี้อยู่จำนวนหนึ่ง

อุ๊ เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำงานซ่อมภาพว่า เมื่อครั้งทำงานที่พิพิธภัณฑ์ “วังสวนผักกาด” และเป็นอาจารย์พิเศษระดับปริญญาโทที่มหิดล ได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานที่ฝรั่งเศส ท่านหญิง (หม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร) ซึ่งประทับอยู่ที่นั่น ทรงโปรดให้เธอไปพักที่ตำหนัก โดยท่านทรงเล่าให้ฟังว่า พระสหายท่านคนหนึ่งซึ่งบ้านอยู่ใกล้ตำหนักของท่าน มีอาชีพเป็นช่างซ่อมภาพ เมื่อได้ยินเช่นนั้น “อุ๊” จึงทูลท่านหญิงว่า สนใจ อยากเรียน ซึ่งท่านรับสั่งว่า จะลองเกริ่นถามให้ เพราะเพื่อนท่านซ่อมภาพเป็นอาชีพ ไม่ได้เป็นครูรับสอนใคร และในที่สุด “อุ๊” จึงได้เป็นลูกศิษย์คนไทยคนแรกและคนเดียวที่นั่น
 
การเรียนซ่อมภาพกับอาจารย์ที่ฝรั่งเศส เป็นลักษณะจดจำมากกว่า คือ อยากรู้หรือสงสัยตรงไหนให้ถาม ซึ่งเธอก็ทำได้ในระดับที่อาจารย์พอใจ และพาไปร่วมเป็นคณะทำงานกับสตูดิโอที่แวร์ซายส์ (Versailles) ด้วย แต่ตัวเธอเองกลับบอกว่า“สิ่งที่เรียนมาเป็นเพียงความรู้เล็กๆ ความจริงมันมีเยอะกว่านี้ ที่ไปเรียนคือเรียนจากประสบการณ์ตรง เรียนจากคนที่รู้จริงเท่านั้น ความรู้ของการซ่อมภาพมันเป็นเรื่องเทคนิคและความละเอียดอ่อน”

อาชีพช่างซ่อมภาพที่ฝรั่งเศส แม้ไม่ถูกจัดให้เป็นอาชีพที่ผู้คนสนใจเป็นอันดับหนึ่ง แต่ถือเป็นอาชีพที่ได้รับเกียรติมาก จะทำโดยไม่มีพื้นฐาน ไม่มีสตูดิโออ้างอิงไม่ได้

“อาจารย์เล่าให้ฟังว่า สมัยที่ท่านเรียนมหาวิทยาลัย เฉพาะสาขาศิลปะ เขาจะถามเลยว่า จะเรียนไปเป็นศิลปิน หรือไปซ่อมงานศิลปะ คุณลองคิดดูว่าความสำคัญขนาดไหน คือเทียบเท่าศิลปินเลย อาจารย์ของอุ๊ท่านได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากกษัตริย์อัลแบร์ แห่งโมนาโก หลังจากท่านถวายงานซ่อมในพระราชวังโมนาโก”


“อุ๊” เปรียบเทียบการซ่อมภาพ เหมือนแพทย์รักษาคนเป็นโรค ซึ่งมีมากมาย แพทย์แต่ละคนจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน การซ่อมภาพก็เหมือนการรักษาภาพ คือมีทั้ง ป้องกันและรักษา โดยการป้องกันคือเก็บให้ถูกต้อง ควบคุมอุณหภูมิให้ดี จัดแสดงให้ถูกต้อง และขนย้ายให้ถูกต้อง ส่วนการรักษาคือ เมื่อภาพมีการกะเทาะ สีแตก เป็นรอย ช่างก็มีหน้าที่ซ่อมแซม


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อุ๊อยากเห็นและอยากให้เกิดขึ้นในเมืองไทยคือ การอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนัง “มันเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเก็บรักษา มันเป็นวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนใครในโลก คือเอกลักษณ์ของคนไทย ตรงนี้ที่อุ๊คิดว่ามันควรมี ทั้งที่เป็นอาชีพ ส่งเสริมการศึกษาด้านนี้ ยกย่องให้เกียรติเป็นอาชีพด้านการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง คนที่ทำต้องมีความรู้ ที่สำคัญต้องมีความรักศิลปะไทยในสายเลือด เพราะถือเรื่องสร้างชาติด้วย

ภาพเขียนของท่านหญิงในสตูดิโอที่ฝรั่งเศสจำนวนกว่า 100 ภาพ ซึ่งส่งมาซ่อมเพื่อเตรียมแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสครบรอบ 80 พรรษานั้น ขณะนี้เสร็จเกือบหมดแล้ว

อุ๊บอกว่า เธอภูมิใจที่ได้มีโอกาสถวายงานท่านหญิง ด้วยการอนุรักษ์และรักษาภาพเขียนอันทรงคุณค่าของท่าน เพราะทรงเป็นเจ้านาย ที่ทรงทำงานตลอดพระชนม์ชีพด้วยใจรัก ไม่ได้หวังอะไรเลยนอกจากการเป็นศิลปินที่ดี เป็นงานที่ทรงเริ่มศึกษาด้วยพระองค์เอง จนทรงสามารถสร้างสรรค์เป็นแนวทางของท่านเอง เรียกว่า"เซอร์เรียลลิสต์-แฟนตาสติก" (surréaliste-fantastique)  ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับอย่างสูงในวงการศิลปะระดับสากล
 


หน้าที่ที่ได้ทำวันนี้ จึงเป็นเหมือนการส่งต่อสิ่งมีคุณค่าในสังคม ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้สืบทอดต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น