เมื่อถูกเรียกให้มารับงาน”ใหญ่”ครั้งนี้ คริส เลอวีน ช่างภาพระดับแถวหน้า ทั้งแปลกใจและไม่เชื่อตัวเอง ว่างานนี้จะเป็นจริง เขาคิดว่าอาจถูกหลอกหรืออาจเพียงแค่หนึ่งในทีมที่จะต้องนำมาคัดเลือกอีกครั้งก็เป็นได้ ซึ่งเขาพูดว่าไม่ได้มีความแน่ใจในงานนี้เลย จนกระทั่งสำนักพระราชวังแห่งบัคกิ้งแฮม ได้กำหนดวันที่ชัดเจนว่า เขาจะต้องเป็นช่างภาพผู้ทำการฉายพระบรมฉายาลักษณ์ถวายแด่ สมเด็จพระราชินีอลิซาเบ็ธII เพื่อแสดงในงานพระราชพิธีพัชราภิเษกครั้งนี้
คริส และผู้ช่วยคือนิน่า ดันแคน ต้องตระเตรียมการนี้ให้เป็นไปอย่างสุดพิเศษ เพราะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่จะมีโอกาสอวดฝีมือที่ได้รับความไว้วางใจอย่างที่สุด ที่ในช่วงเวลาสองวันที่จะทำการฉายพระบรมฉายาลักษณ์ในแบบสามมิติ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่จะนำภาพแบบใหม่ไปใช้ในงานพระราชพิธีดังกล่าว
โดยเฉพาะพระบรมฉายาลักษณ์องค์ที่สำคัญที่สุด คือพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีที่ทรงพระมหามงกุฎที่เคยทรงเป็นครั้งแรกเมื่อปี1953 เมื่อครั้งที่ทรงเข้าสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นองค์พระประมุขแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งพระมหามงกุฎองค์นี้สร้างขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระราชาธิบดี จอร์จ IV และต้องทรงฉลองพระองค์เสื้อคลุมยาวซึ่งเป็นผ้ากำมะหยี่สีน้ำเงินเข้มที่ประดับด้วยหนังเออร์มีน อันเป็นหนึ่งในเครื่องทรงประจำพระองค์สำหรับงานพระราชพิธี ซึ่งมีช่างพระภูษา แอนเจล่า เคลลี่ เป็นผู้ดูแลถวาย
จุดสำคัญของงานนี้ คือการนำเสนอภาพที่ดูเป็นภาพที่พิเศษที่สุดสำหรับผู้พบเห็น โดยเฉพาะประชาชนชาวอังกฤษที่เฝ้ารอดูอยู่ เพราะพระบรมฉายาลักษณ์ขององค์พระประมุขนั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาที่ออกสู่สายตาของประชาชนไม่รู้ว่ากี่ร้อยกี่พันภาพ ดังนั้นพระบรมฉายาลักษณ์ที่จะถูกฉายในครั้งนี้ ต้องไม่ซ้ำกับสิ่งเดิมๆที่ประชาชนเคยเห็นมาแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของช่างภาพเป็นที่สุด
ตลอดเวลาที่คณะช่างภาพได้ถวายงานในครั้งนี้ ทุกคนรู้สึกประทับใจในพระอิริยาบทที่เรียบง่ายและเป็นกันเองของสมเด็จพระราชินีเป็นอย่างมาก เช่นในเวลาที่จะทรงพระมหามงกุฎที่ช่างภาพต่างคิดว่าต้องมีผู้อัญเชิญถวายนั้น กลับกลายเป็นสมเด็จพระราชินี ที่ทรงพระมหามงกุฎด้วยพระองค์เองหน้าพระฉาย และทรงตรวจตราว่าวางได้เหมาะสมดีแล้วหรือไม่ อันเป็นพระอิริยาบทที่ดูง่ายที่สุด ทำให้คณะช่างภาพสามารถดำเนินการถ่ายทำได้อย่างรวดเร็วที่สุด
ตลอดระยะเวลาสองวันนั้น คริส เลอวีน ได้ถ่ายภาพที่จะนำมาเลือกเป็นจำนวนถึง 10,000 ภาพและมีข้อมูลในแบบสามมิติอีก 3 ชุด โดยพระบรมฉายาลักษณ์ในแบบสามมิติที่จะนำออกแสดงนั้น จะเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่จะฉายบนแก้วโปร่งใส และใช้หลอดไฟในแบบ LED ซึ่งคาดว่าจะได้รับการแซร่ซร้องสรรเสริญจากประชาชนเมื่อได้เห็นพระบรมฉายาลักษณ์นี้อย่างแน่นอน