ปี 2537 หากใครเป็นสาวกวงโมเดิร์นด็อก นักดนตรีร็อกกลุ่มแรกๆที่จุดประกายดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ เชื่อว่าก็ต้องรู้จัก เฟี่ยว - ฟิโอน่า ธาริณี เกรแฮม ผู้หญิงนอกกรอบอีกคนที่ร่วมปลุกปั้นโมเดิร์นด็อกให้ดังคับฟ้าในช่วงนั้น
เฟี่ยว เป็นลูกของมาร์ค แกรแฮม กับ จันทรนิภา กระบวนรัตน์ พ่อของเธอเป็นผู้ดีอังกฤษจากตระกูลเก่าแก่ผู้มั่งคั่ง เฟี่ยวเกิดและโตเมืองไทย จนอายุ 11 ขวบ จึงถูกส่งตัวไปเรียน Hatherop Castle School ที่อังกฤษเพื่อไปเรียนรู้วิถีชีวิตของผู้ดีอังกฤษเตรียมการเป็น "เลดี้" เพื่อเข้าไปรับใช้ในวัง แม้ว่าเฟี่ยวจะไปได้ดีการการเรียนแต่ไม่ชอบการแบ่งชั้นวรรณะ ขณะเดียวกันก็อยากเรียนการแสดงจึงปลอมลายเซ็นของพ่อ-แม่แต่โดนจับได้ พ่อจึงส่งเธอไปเรียนการแสดงที่ Hurtwood Horse International Sixth form College เป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เพราะโลกของแสดงคือสิ่งที่เธอรักจึงทำได้ดี เมื่อจบก็มีเอเยนซี่มารับตัวไปฮอลลีวู้ดได้เล่นละครทีวี
ชีวิตของเฟี่ยวดูเหมือนกำลังจะไปได้สวย แต่ความฝันที่ฝังลึกในใจ ได้ปรากฏในโลกแห่งความเป็นจริงอย่างเหลือเชื่อ “ช่วงเรียนจบใหม่ๆ เริ่มฝันแบบไม่ธรรมดา เหมือนคนบ้าคือได้ยิน ได้สัมผัสกับมิติที่มันเกินกว่าที่เราเห็น มีครั้งหนึ่งฝันมีคนมาบอกว่าต้องเจอผู้ชายผิวดำเพื่อให้เขาเป็นพ่อของลูก แล้วก็เจอจริงที่นิวยอร์ค เขาชื่อ “รอน” เราไม่ได้เป็นแฟนกัน ไม่ได้หลงรักหรืออะไร รู้สึกเหมือนเป็นหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อให้แสงฟ้า เกิด” เฟี่ยวเล่าเรื่องราวในอดีต
ช่วงตั้งท้อง “แสงฟ้า” ลูกสาวคนแรกเป็นช่วงเวลาที่เธอกำลังสนใจลิเกป่า จึงตัดสินใจทิ้งนิวยอร์คกลับไทย “เฟี่ยวตามคณะลิเกป่ามาหมู่บ้านชาวอิสลามที่เกาะเจ้าไหม จังหวัดตรัง เจอครอบครัวฮาวา เป็นชาวเล ไปอยู่กับเขา เขาก็รักเราเป็นลูกหลาน เรารู้สึกปลอดภัย เขาสร้างกระท่อมให้ ตอนหลังมารู้เขาเป็นครอบครัวหมอตำแยกัน แต่เขาไม่ได้เฉลยจนใกล้จะคลอดแล้ว”
ที่เกาะเจ้าไหม เฟี่ยวได้พบความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ได้สัมผัสกับความจริงในข้อนี้ด้วยตัวเธอเองว่าชีวิตที่แท้จริงแล้วเราทุกคนต่างก็เกิดขึ้น มีชีวิตอยู่ และลาลับโลกนี้ไป ด้วยวิถีแห่งธรรมชาติทั้งสิ้น จากนั้นมาวิถีชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไปจากเดิม
ฟีโอน่าเลือกที่จะทำคลอดด้วยวิธีธรรมชาติกับ “หมอตำแย” ผู้สูงวัยของหมู่บ้าน เป็นการคลอดแบบง่ายๆภายใต้กระท่อมเก่าหลังเล็กริมทะเล ที่นั่นปราศจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่มีขาหยั่ง ไม่มีพยาบาลมารายล้อมส่งเสียงเชียร์ ไม่มีคนไข้ ไม่มีกระดาษบันทึกเรื่องราวการให้ยาของคนไข้
การคลอด “แสงฟ้า” ลูกสาวคนแรกกับหมอตำแยชาวอิสลาม สร้างความประทับใจมาก “มันไม่น่ากลัวไม่เป็นอย่างที่เราเห็นในภาพยนตร์ ช่วงเวลานั้นหมอตำแยทำให้เรารู้สึกสบาย ผ่อนคลาย สัมผัสได้ว่ามันเป็นพลัง เป็นแรงบันดาลใจคือมันโล่ง เฟี่ยวคิดว่ามันเป็นอะไรที่สบายมากเมื่อเทียบกับที่เราได้เห็นหลายคนที่คลอดลูกแบบแผนปัจจุบัน ที่มานั่งรู้สึกว่า โอ๊ย! เหนื่อยเป็นบ้าเลย ทำไมมันเจ็บอย่างนี้ โอ๊ย! ฉันจะไม่มีอีกแล้วนะ ฉันเข็ดแล้ว คือมันคนละเรื่องกันเลย”
ตามศาสตร์ของการคลอดลูกกับหมอตำแย เขาจะเรียกผู้หญิงท้องว่า “คุณแม่” ไม่เรียกว่า “คนไข้” เหมือนแพทย์แผนใหม่ “เฟี่ยวมองว่า แพทย์แผนใหม่ก็จะมีวิธีการของเขาอีกแบบหนึ่งที่เป็นระเบียบแบบแผน แต่เฟี่ยวคิดว่ามันเหมือนการ“ข่มขืน” หรือ “ยัดเยียด” ให้คนที่กำลังจะเป็นแม่กลายเป็นคนไข้ ทั้งๆที่เขาไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ได้เป็นโรคที่ต้องรักษา เขาแค่ตั้งท้องกำลังจะให้กำเนิดบุตร แต่พอไปฝากท้องที่โรงพยาบาล คุณแม่ทั้งหลายกลับกลายเป็นคนไข้ไปทันทีซึ่งเฟี่ยวว่ามันไม่ใช่แล้วอันนี้มันทำให้กฎเกณฑ์ธรรมชาติความสวยงามหายไปทันทีผู้หญิงท้องกำลังจะมีลูกเป็นเรื่องน่ายินดี แต่นี่อะไรอยู่ ๆ กลายมาเป็นคนไข้”
เสน่ห์แห่งการคลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติทำให้ “เฟี่ยว” หลงใหลจนต้องหาครูสอนวิชาการเป็น “หมอตำแย” จนวันหนึ่งเพื่อนรุ่นพี่ที่ “เฟี่ยว” เรียกว่า “พี่รุ้ง” ซึ่งสนใจในเรื่องเดียวกัน ไปรู้จักหมอตำแยท่านหนึ่งชื่อ “ครูสว่าง” เฟี่ยวจึงเดินทางไปฝากตัวขอเป็นลูกศิษย์
“ตอนแรกครูสว่างก็ไม่รับ บอกขอกลับไปคิดดูก่อน ก็หายไปหลายวัน เฟี่ยวก็รอ จนวันหนึ่งแกยอมรับเราเป็นลูกศิษย์ ใช้เวลาเรียน 5 ปี พูดตรงๆ 3 ปีแรกแทบไม่ได้ทำคลอดเลย ได้แต่ดูวิธีที่ครูสว่างปฏิบัติกับคุณแม่ทั้งหลาย คือ ครูเขาจะสอนให้เราเรียนรู้เรื่องประสาทสัมผัสทั้งหมด เราต้องรู้ให้ได้มากกว่าคนอื่น คือจากเดิมเรามี 3 มิติ แต่นี่เราต้องเรียนรู้ให้ได้ทั้ง 7 มิติคลอดธรรมชาติคุณแม่ต้อง สงบ ไม่ใช้วิชาเบ่ง แต่ใช้วิชาคลาย มันต่างกันมาก หมอตำแยทุกคนรู้ว่าหากให้คุณแม่เบ่งมันจะทำให้ปากช่องคลอดบวม จึงต้องทำให้คุณแม่เริ่มต้นด้วยการคลี่คลายในหลายๆจุด เพื่อให้ทั้งแม่และลูกไม่มีบาดแผลใด ในขณะที่การทำคลอดแผนปัจจุบันจะเน้นให้เบ่ง”
เฟี่ยวแยกแยะให้ฟังว่า สิ่งแรกที่ต้องเข้าใจระหว่างการคลอดกับหมอตำแยและหมอแผนปัจจุบัน คือ ในศาสตร์ของหมอตำแย มองการเจ็บท้องเป็นช่วงเวลาที่ฝึกลูกให้เรียนรู้เรื่องการฝึกลมหายใจ คือเวลาที่เจ็บท้อง ท้องจะเกร็งดังนั้นคนเป็นแม่ต้องคลาย การคลายนี่คือสิ่งที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตเขา
“ลมหายใจแรก” ของทารกที่ออกมาสู่โลกภายนอกหากผ่านการเกร็งมันคือบาดแผลที่จะเกิดขึ้นกับเด็กทั้งทางกายและใจ หากคุณแม่คลายทุกอย่างจะโล่ง ตัวเด็กออกมาก็ไม่ต้องผ่านการบีบรัด ไม่เจ็บปวด ไม่มีบาดแผลเป็นความรู้สึกที่สบายทั้งแม่และลูก
หลังครูสว่างเสียชีวิต เฟี่ยวจึงหันหลังให้กับวงการนางแบบแล้วกลับสู่อังกฤษเพื่อนำวิชาความรู้ที่ได้มาไปปฏิบัติกับบรรดาคุณแม่ที่อังกฤษ แต่เธอรู้ดีว่าอาชีพ “หมอตำแย” ที่อังกฤษจะทำไม่ได้หากไม่ประกาศนียบัตร เธอจึงต้องมาเรียนเสริมวิชานวดที่วัดโพธิ์เพิ่มเติมเพื่อใบประกาศนียบัตร
ที่อังกฤษเฟี่ยวได้มาเริ่มต้นปฏิบัติกับคุณแม่ที่ต้องการคลอดแบบธรรมชาติ โดยการใช้วิธีการให้เพื่อนบอกต่อปากต่อปาก “มันน่าประหลาด ที่อังกฤษมีคุณแม่หลายคนหันมาสนใจการคลอดแบบธรรมชาติมากขึ้น เพราะเขาเบื่อการคลอดแบบข่มขืนเต็มทน เฟี่ยวมีโอกาสตรงนี้ได้ปฏิบัติกับคุณแม่หลายระดับ ตั้งแต่ระดับล่างจนถึงเชื้อพระวงศ์”
ขั้นตอนการปฏิบัติคุณแม่ที่ต้องการคลอดกับหมอตำแย คือเมื่อแม่ตั้งท้องได้ประมาณ 3 เดือน ก็จะต้องมาคุยสร้างความคุ้นเคยกัน เหมือนฝากครรภ์กับโรงพยาบาล “เมื่อตกลงกันแล้ว ก็จะพูดคุยสร้างความคุ้นเคยให้เค้าสบายใจ ต้องปฏิบัติกับตัวเองอย่างไร หลักการของมันง่ายมาก เฟี่ยวจะอยู่กับคุณแม่อย่างใกล้ชิด ยิ่ง 3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด จะต้องไปแต่งท้องให้คุณแม่ คือ ค่อยๆไปลูบคลำท้อง จัดร่างกายเด็กให้รู้ว่าเด็กอยู่ในท่าไหน”
การปฏิบัติที่ดูเรียบง่าย แต่ความเป็นจริงหมอตำแยที่อังกฤษ ไม่ได้ราบรื่น รัฐบาลยังมองว่าการทำคลอดกับหมอตำแยยังเป็นสิ่งอันตราย มีกฎหมายฉบับหนึ่งกำหนดห้ามบริษัทประกันทุกแห่งให้ความคุ้มครอง ซึ่งหมอตำแยที่นั่นก็ตั้งกลุ่มพยายามต่อสู้ แต่ชัยชนะก็ดูเลือนโชคดีที่คุณแม่รุ่นใหม่หลายคนเบื่อระบบข่มขืน หันกลับมาใช้การคลอดหมอตำแยมากขึ้น
13 ปีกับการเป็นหมอตำแยของเฟี่ยว เธอบอกว่าทำคลอดเด็กมาแล้วกว่า 30 คน ทุกวันนี้ก็ยังติดต่อกับพ่อแม่ของเด็กอยู่ บางคนโตแล้วแม่เขาก็จะส่งรูปถ่ายมาให้ดู บางคนก็ได้พูดคุยกันแบบอบอุ่น
ด้านราคาในการปฏิบัติกับคุณแม่แต่ละราย เฟี่ยวบอกว่า “ไม่รู้จะบอกยังไงคือคุณแม่มีทุกระดับ ในบางรายที่เขาเงินน้อยก็ได้น้อย เอาเป็นว่าได้ตั้งแต่ 70 ปอนด์ สูงสุดที่เคยได้คือ 7,000 ปอนด์”
เดินทางกลับมาไทยครั้งนี้ เฟี่ยวคิดว่าเวลาของคนเรากับธรรมชาติมันลดน้อยลงไปทุกที เธออยากทำโครงการฟรีเบิร์ด(Free Birth) ให้คุณแม่คนไทยสนใจกลับมาให้ความสำคัญกับการคลอดลูกแบบธรรมชาติอีกครั้ง
“กลับมาครั้งนี้ก็สานต่อโครงการฟรีเบิร์ดหรือการคลอดแบบธรรมชาติ ที่ทำตั้งแต่ก่อนไปอังกฤษ แต่ปีนี้เฟี่ยวจะทำให้มันสนุก คือให้มันง่ายขึ้น ตอนนี้เราอยู่ภายใต้ภาวะที่ตึงเครียดมากพอแล้ว โครงการนี้เฟี่ยวให้ชื่อ “สวนสนุกแห่งจินตนาการ” ก็จะค่อยๆทำไป โดยช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้จะจัดนิทรรศการถ่ายทอดความรู้ให้คุณแม่ สอนให้เขารู้ว่าการคลอดธรรมชาติเป็นอย่างไร? มันไม่น่ากลัวอย่างที่คุณคิดนะ อันนี้เชื่อว่าต้องใช้เวลา แต่หากคุณแม่เหล่านี้ได้รู้แล้วเฟี่ยวเชื่อว่าเขาจะหันกลับมาสนใจ” เฟี่ยวกล่าวทิ้งท้ายกับเราด้วยแววตาแห่งความมุ่งมั่น
“สวนสนุกแห่งจินตนาการ” นับเป็นหนึ่งของโครงการ กิจกรรมนี้ใช้ชื่อว่า “งานบุญอยุธยา” เริ่มตั้งแต่วันที่ 2-4 มีนาคม 2555 ในงานจะมีนิทรรศการโชว์การคลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติ
เฟี่ยวเป็นเพียงฟันเฟืองชิ้นเล็ก ที่พยายามดึงมนุษย์ให้กลับมาอยู่กับธรรมชาติ จะสำเร็จหรือไม่เธอไม่รู้ แต่แววตาที่มุ่งมั่น เราจึงเชื่อว่าสวนสนุกแห่งจินตนาการ จะไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป เพราะคุณแม่หลายคนพร้อมเปิดประตูบ้านรับหมอตำแยมาทำคลอดให้เด็กไทยมากขึ้น