xs
xsm
sm
md
lg

“พิพิธภัณฑ์พยาบาล” รากฐานอนามัยสตรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
การจัดแสดงภายในห้องคุณหญิงพิณพากย์พิทยาเภท
วันที่ 24 กันยายน ของทุกปี เป็นวันสำคัญของเหล่าวงการแพทย์ทั้งหลาย เนื่องจากเป็น “วันมหิดล” หรือเป็นวันคล้ายวันทิวงคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (กรมหลวงสงขลานครินทร์) พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

แต่นอกจากวงการแพทย์แล้ว สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรยังมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการพยาบาลด้วยเช่นกัน โดยพระราชกรณียกิจหนึ่งของพระองค์คือทรงปรับปรุงการศึกษาแพทย์ การศึกษาพยาบาล และการปรับปรุง โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้น ฉันจะพาไปติดตามกันที่ “พิพิธภัณฑ์ประวัติการพยาบาลไทย” ใน รพ.ศิริราช
เครื่องแบบนักเรียนพยาบาลศิริราชในสมัยแรก
สำหรับการมาชมพิพิธภัณฑ์ฯพยาบาลไทยในครั้งนี้ ฉันได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ถนอมขวัญ ทวีบูรณ์ เป็นผู้ให้ความรู้เรื่องราวต่างๆภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ โดยอาจารย์เล่าว่า การพยาบาลไทยนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2439 โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงตระหนักถึงความทุกข์ทรมานและการเสียชีวิตในการคลอดของสตรี ซึ่งในสมัยก่อนสำหรับผู้หญิงเรียกได้ว่า การคลอดลูกเหมือนการออกศึก ในยุคนั้นใช้หมอตำแยซึ่งไม่ค่อยมีความรู้ในการทำคลอด ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงประสบกับพระองค์เองด้วย

ต่อมามีการแพทย์แผนตะวันตก มีพวกมิชชันนารีเข้ามาแต่ก็จะเป็นหมอสอนศาสนาที่มีแต่ผู้ชายทั้งหมด ซึ่งในสมัยก่อนสตรีรักนวลสงวนตัวมากโดยเฉพาะหญิงชาววัง ทำให้ไม่สามารถรักษากับหมอผู้ชายได้ พระองค์ท่านเล็งเห็นถึงความยากลำบากนี้จึงได้ก่อตั้ง “โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาล” ขึ้นมา เพื่อให้สตรีเป็นแพทย์และพยาบาลผดุงครรภ์ที่มีความรู้ในการทำคลอดสตรี

โดยในยุคแรกโรงเรียนแห่งนี้เน้นการผดุงครรภ์ แต่ผู้ที่มาเรียนก็ต้องเรียนการพยาบาลด้วย เนื่องจากต้องดูแลพยาบาลคนไข้และคนที่มาคลอด จนมาในยุคที่มีการพัฒนาสูงสุดคือยุคของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร ที่พระองค์ท่านไปศึกษาต่างประเทศ และทรงกลับมาพัฒนาการแพทย์ให้เจริญรุ่งเรือง อีกทั้งพระองค์ยังมีสายพระเนตรยาวไกล หากการแพทย์เจริญเพียงอย่างเดียวการพยาบาลไม่เจริญก็ไม่ได้ เพราะต้องทำงานควบคู่กัน จึงได้พัฒนาการพยาบาลด้วย
เครื่องแบบพยาบาลศิริราช
พระองค์ทรงพัฒนาทั้งหลักสูตรทั้งสถานที่ โดยเฉพาะทุนร็อกกี้ เฟลเลอร์ พระองค์ท่านให้พยาบาลชาวอเมริกันมาปรับปรุงหลักสูตรการพยาบาลของไทยเราให้เป็นมาตรฐานเทียบเท่าสากล มีห้องแล็ปในการเรียน ซึ่งถือเป็นการพัฒนาทั้งพยาบาลและผดุงครรภ์ควบคู่กันไป

โดยในยุคแรกนั้นการแต่งกายของนักเรียนพยาบาลศิริราชจะนุ่งโจงกระเบน และเสื้อแขนยาวประมาณศอก สีขาว รองเท้าแตะ ปี2จะมีเอี๊ยมสีขาว ซึ่งได้จัดแสดงอยู่ในส่วนแรกของพิพิธภัณฑ์ และชุดเข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตรที่นุ่งจูงกระเบน เสื้อแขนยาว คาดผ้าแถบ สวยเหมือนท่านหญิงในละครย้อนยุคเลยทีเดียว
จำลองการทำคลอดในสมัยโบราณ
ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเรียนพยาบาลจำเป็นต้องส่งพยาบาลออกไปช่วย แต่ชุดพยาบาลในสมัยนั้นไม่มีสัญลักษณ์บ่งบอกว่าเป็นพยาบาล สมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการราชแพทยาลัย จึงได้ออกแบบเครื่องแบบพยาบาลชุดแรกเป็นชุดกระโปรงยาวประมาณคลุมเข่า สีขาวทั้งตัว มีหมวก เริ่มใช้ในปี พ.ศ.2460

จากนั้นก็มีการพัฒนารูปแบบเครื่องแบบพยาบาลศิริราชเรื่อยมา แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งชุดและหมวกสีขาวจนปัจจุบัน โดยทางฝั่งซ้ายของการจัดแสดงในช่วงแรกจะเป็นเครื่องแบบของพยาบาลศิริราช ส่วนถัดมาจัดแสดงเครื่องแต่งกายจำลองของกรมการแพทย์ เช่น ชุดเครื่องแบบออกอนามัย ชุดพยาบาลของวชิระพยาบาล ตู้ถัดไปเป็นเครื่องแบบของกองทัพ ทั้งกองทัพบท กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกรมตำรวจ

อีกฝั่งเป็นเครื่องแบบของสภากาชาดไทย โดยสภากาชาดไทยกำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2457 ชุดแรกจะคล้ายกับชุดนักเรียนพยาบาลรุ่นแรก เป็นการนุ่งโจงกระเบน เสื้อสีขาว และเพิ่มสัญลักษณ์ของสภากาชาดไทย คือเครื่องหมายกากบาทสีแดง และเครื่องแบบของสภากาชาดไทยในรุ่นต่อๆมา ถัดไปเป็นเครื่องแบบของแมคคอร์มิค ปัจจุบันคือคณะพยาบาลศาสตร์ ม.พายัพ จ.เชียงใหม่ เครื่องแบบก็คล้ายๆกับพยาบาลศิริราช แต่มีสัญลักษณ์คือตัว M ที่หมวก ซึ่งทั้ง 3 สถาบันนี้ เป็น 3 สถาบันพยาบาลแห่งแรกที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์
จำลองการทำคลอดโดยแพทย์แผนปัจจุบัน
ในส่วนถัดจากการจัดแสดงเครื่องแบบพยาบาลตั้งแต่เริ่มจนปัจจุบัน เป็นส่วนของการจำลองการทำคลอดในอดีตของหมอตำแยกับการทำคลอดโดยแพทย์แผนปัจจุบัน รวมถึงการอยู่ไฟ และกระเป๋าทำคลองที่แตกต่างกัน

ในส่วนต่อมาเป็นการจัดแสดงภาพในอดีต และคำพูดต่างๆที่มีความสำคัญต่อการพยาบาล ภาพหอผู้ป่วยในอดีต ภาพตึกในสมัยก่อนที่คณะพยาบาลเคยอยู่ โดยสมเด็จพระราชบิดาซื้อที่ดินของโรงเรียนกุลสตรีวังหลังให้มาเป็นที่ดินของคณะพยาบาลในปัจจุบัน ภาพของอาจารย์ในยุคแรกๆ และบุคคลสำคัญของวิชาชีพพยาบาล รวมถึงเอกสารต่างๆที่เกี่ยวกับการพยาบาล
ภาพตึกผู้ป่วยและอาคารเรียนในสมัยก่อน
จากนั้น ฉันเข้าไปยังอีกห้องจัดแสดงคือ “ห้องคุณหญิงพิณพากย์พิทยาเภท” ซึ่งคุณหญิงพิณพากย์พิทยาเภทนั้นเป็นผู้อำนวยการคนไทยคนแรกที่เข้ามาบริหารโรงเรียนพยาบาลหลังมูลนิธิร็อกกี้ เฟลเลอร์กลับไป และท่านยังได้ปรับปรุงหลักสูตรการพยาบาลให้เป็นวิทยาสาสตร์บัณฑิตเป็นครั้งแรกในประเทศไทยด้วย
ร้านเอกสารและจดหมายเหตุที่เกี่ยวกับการพยาบาล
ภายในห้องคุณหญิงพิณพากย์พิทยาเภท แบ่งการจัดแสดงเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกเป็นส่วนของ “เอกสารและจดหมายเหตุ” ซึ่งได้รวบรวมเอกสารและจดหมายเหตุต่างๆตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ทะเบียนประวัติของนักเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และพยาบาลรุ่นต่างๆ โดยในส่วนนี้ฉันได้เห็นทะเบียนของสมเด็จย่าด้วย

โดยอาจารย์เล่าว่า สมเด็จย่าทรงได้รับพระราชทานประกาศนียบัตรสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนในฐานะแพทย์ผดุงครรภ์ในปี พ.ศ.2459 และทรงได้รับทุนไปศึกษาต่อยังต่างประเทศอีกด้วย
ตู้แสดงเข็มและเหรียญตราต่างๆ
ในส่วนต่อมาจัดแสดงเครื่องหมาย เข็ม กระดุม และเหรียญตราสัญลักษณ์ต่างๆ ของบุคคลสำคัญเกี่ยวกับการพยาบาลในอดีต และในส่วนสุดท้ายจัดแสดง “อุปกรณ์การแพทย์สมัยเก่า” โดยในส่วนนี้เราจะได้อุ้มเด็กทารกที่ฉันคิดว่าเหมือนเด็กจริงมากเลยทีเดียว นอนอยู่ในเตียงเด็กแรกเกิดในสมัยก่อน
เตียงเด็กแรกเกิดและเก้าอี้คนไข้แบบปรับเอนนอนได้ในสมัยก่อน
นอกจากนี้ยังจัดแสดงอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในอดีตอีกมากมาย เช่น เก้าอี้คนไข้แบบโบราณปรับเอนนอนได้ เครื่องฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์ โถปัสสาวะสำหรับผู้ป่วยหญิง โกร่งบดเม็ดยา เครื่องมือถ่างช่องคลอดวงเวียนวัดเชิงกราน ท่อสวนปัสสาวะของสตรี ครีมตรวจปากมดลูก ขนไก่ที่ใช้พันเสมหะในผู้ป่วยที่เจาะคอ ชุดให้น้ำเกลือ ห่วงอนามัยคุมกำเนิด เครื่องมือทำคลอดโลหะ ถาดอุปกรณ์ฉีดยา เป็นต้น
เครื่องมือทางการแพทย์ในการตรวจครรภ์สตรีในสมัยก่อน
ซึ่งเครื่องมือแต่ละชนิดที่ฉันเห็น เล่นเอาผวาแทนสุภาพสตรีเลยจริงๆ นี่ขนาดเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ในสมัยก่อน หากย้อนไปในช่วงก่อนที่จะมีการแพทย์การพยาบาลคงยิ่งน่ากลัวกว่านี้อีกหลายเท่า ฉันเข้าใจเลยว่าสตรีคงจะต้องทุกข์ทรมานเหมือนคำกล่าวที่ว่า การคลอดลูกเหมือนการออกศึก จริงๆ
เครื่องมือทางการแพทย์โบราณ
ต้องขอเทิดพระเกียรติในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ที่ทรงเล็งเห็นถึงความทุกข์ยากของสตรี และพระบรมราชชนกที่ทรงวางรากฐาน และพัฒนาการแพทย์และการพยาบาลให้เจริญทัดเทียมอารยประเทศ ทำให้ประชาชนอยู่กันอย่างเป็นสุขจนทุกวันนี้
ตู้จัดแสดงเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ
**********************************************************
**********************************************************

"พิพิธภัณฑ์ประวัติการพยาบาลไทย" ตั้งอยู่ที่ชั้น 4 อาคารพระศรีพัชรินทร คณะพยาบาลศาสตร์ ม.มหิดล (โรงพยาบาลศิริราช) ถ.พรานนก แขวงศิริราช เขตยางกอกน้อย กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลาราชการ และต้องติดต่อล่วงหน้าเพื่อเตรียมเจ้าหน้าที่นำชม สอบถามเพิ่มเติมโทร. 0-2419-7466-80 ต่อ 1206-7
กำลังโหลดความคิดเห็น