xs
xsm
sm
md
lg

"แก้ม-มลลิกา" ดัน Kloset สู่ปีที่ 10 ชิมลางนายกฯ แฟชั่นดีไซเนอร์กรุงเทพฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


>> ย้อนไปเมื่อ 9 ปีที่แล้วมีตู้เสื้อผ้าใบเล็กๆ ถือกำเนิดขึ้นในย่านแฟชั่นชื่อดังของไทยอย่างสยามสแควร์ ผู้ซึ่งสร้างความแตกต่างด้วยการขายเสื้อผ้าคัตติ้ง เนี้ยบ ในราคาที่แตกต่างจากร้านทั่วไป โดยมีเจ้าของร้านสองคนพลัดกันเฝ้าร้านหลัง จากล้มลุกคลุกคลานจนต้องหยุดกิจการไปในช่วงแรก วันนี้เธอทำให้เห็นแล้วว่าตู้เสื้อผ้าใบนี้ของเธอ เป็นตู้เสื้อผ้าที่ผู้หญิงหลายๆ คนอยากเข้าไปหยิบชุดสวยมาใส่มาที่สุด ซึ่งเราจะมาเปิดตู้เสื้อผ้าใบนี้ที่มีอายุ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ของเธอกัน...

เมื่อหลายปีก่อนยังดีไซเนอร์หรือแบรนด์ใหม่ๆ ถือกำเนิดขึ้นในวงการแฟชั่นเมืองไทยมากมาย หนึ่งในนั้นคือ “แก้ม-มลลิกา เรืองกฤตยา” ทายาทคันทรี่ กรุ๊ป กลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ แต่มลลิกาเลือกที่จะฉีกออกจากครอบครัวด้วยการเปิดร้านเสื้อผ้าเล็กๆ ของตัวเอง โดยใช้ชื่อ “Kloset” ด้วยความหวังว่าจะเป็นตู้เสื้อผ้าใบใหม่ให้ผู้หญิงที่รักการแต่งตัวอย่างแตกต่างได้ลองเลือกใส่

“หลังจากเรียนจบกลับมาได้เข้าไปช่วยทางบ้านสักพักแล้วรู้สึกว่าไม่ชอบ พอดีพี่สาวกลับมาจากต่างประเทศก็เลยลองชวนเธอมาทำ ตอนแรกเปิดเป็นเพิงเล็กๆ ที่สยามสแควร์ ทำกัน 2 คนจริงๆ เราจะวิ่งไปซื้อผ้าไปหาช่างแพตเทิร์น แล้วพี่สาวเฝ้าร้าน ด้วยความที่ไฟแรงและคิดว่าเราอยากจะสร้างความแตกต่าง

ตอนนั้นขายเสื้อตัวละ 1,200 บาท บางทีเจอลูกค้าต่อเหลือ 500 บาท ก็ต้องขาย แต่...โอ๊ยเซ็ง!! ทำไมลูกค้าเขาไม่เข้าใจในสินค้าของเรา? ทั้งที่เราพยายามเสนอคัตติ้งเนี้ยบๆ เนื้อผ้าคุณภาพดีให้ พอเปิดได้ 1 ปีก็ปิดตัวลง แล้วก็มาคิดว่าเสื้อผ้าเราต้องอยู่ในห้างสรรพสินค้า จึงเริ่มศึกษาตลาดอย่างจริงจัง วางตำแหน่งของแบรนด์ใหม่ คิดหาทางทำการตลาด จนเปิดร้านในห้างสรรพสินค้าจนได้ เริ่มตั้งแต่มีพนักงาน 5 คน มีออฟฟิศเล็กๆ ที่ไม่ได้มีอุปกรณ์ครบครัน เราดูแลเองตั้งแต่บัญชี ดีไซน์ แพตเทิร์น การผลิต เรียกว่าต้องทำเองทุกอย่าง แม้กระทั่งเดินไปธนาคารเอง ดูแลสต็อกเอง จนวันนี้ผ่านมา 9 ปีแล้ว ก็ยังรู้สึกเหมือนเพิ่งเริ่มต้นอยู่เลย แต่จริงๆ Kloset เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อปีที่ 6 นั่นเอง”

:: ตู้ใบนี้ไม่เหมือนคนอื่น

Kloset เป็นแบรนด์ในยุคแรกๆ ที่ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ เริ่มมีการจัดสรรพื้นที่ให้ดีไซเนอร์หน้าใหม่เข้ามาเปิดร้านในศูนย์การค้า เธอจึงยอมลงทุนเพื่อสร้างความแตกต่าง แล้วการลงทุนนั้นก็ได้ผลดีซะด้วย

“พอเข้าไปเปิดร้านในห้างสรรพสินค้าเราต้องทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า สิ่งที่เราทำนั้นแตกต่างต่กแบรนด์อื่นๆ ที่มีอยู่ตอนนั้น เรายอมลงทุนทำแคตตาล็อก ด้วยการเลือกใช้ทีมงานโปรดักชั่นระดับท็อป มีฟลอเรนส์เป็นนางแบบ มีสไตลิสต์เป็นคุณสัญชัย และช่างภาพระดับท็อป ตอนนั้นพิมพ์ 1,000 เล่ม ลงทุนไปเป็นแสนบาท แต่ก็ประสบความสำเร็จ เพราะมีคนพูดถึงแคตตาล็อกของเราเยอะมาก จนถึงวันนี้เรามี 5 สาขา คือที่สยามเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิล์ด และล่าสุดที่เซ็นทรัลลาดพร้าว นอกจากนี้ ยังมีเคาน์เตอร์ที่สยามพารากอน เซ็นทรัลชิดลม และช็อป Kloset Etcetera ที่สยามเซ็นเตอร์”

มลลิกาออกตัวกับเราก่อนเลยว่าตัวเองไม่ได้สำเร็จการศึกษาด้านการออกแบบแฟชั่น แต่การสร้างบริษัทในระยะแรก ใช้วิธีการ Learning by Doing คือลองผิดลองถูก กลับมาปรับปรุงแล้วก็ต่อสู้ต่อไป ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ

“เราไม่ได้เรียนอะไรที่เกี่ยวกับแฟชั่นดีไซน์เลย สิ่งที่ทำ เป็นการตอบสนองรสนิยมของตัวเองล้วนๆ ด้วยความที่ชอบครีเอต ชอบประดิษฐ์ พอโตมาก็แปลงจากความคิดสร้างสรรค์มาเป็นเรื่องเสื้อผ้า การแต่งตัว บางทีก็เอาของที่มีอยู่มาปรับปรุงใหม่ แต่ไม่คิดว่าอยากจะทำงานด้านแฟชั่น เพราะว่าที่บ้านมีธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ มารู้ตัวว่าอยากทำงานด้านเสื้อผ้าคือตอนเรียนจบจากจุฬาฯ แล้วไปต่อด้านการตลาดที่ต่างประเทศ

พอไปเรียนต่างประเทศเห็นเสื้อผ้าหลายแบรนด์ ในขณะที่เมืองไทยมีจำนวนจำกัด จึงรู้สึกว่าเมืองไทยยังขาดเสื้อผ้าในแบบที่เราอยากใส่อยู่ เลยคิดว่าน่าจะมีช่องว่างให้เราเข้าไป ตอนที่ตัดสินใจทำแบรนด์ไม่คิดนานเลยนะ แต่มาคิดละเอียดตรงที่ว่าตัวเองจะทำได้นานแค่ไหน? เราแค่บ้าการแต่งตัวหรือเปล่า? ถ้าเบื่อแล้วจะทำอย่างไร? ใช้เวลาศึกษาตัวเองอยู่พอสมควร ซึ่งก็สังเกตได้ว่าตัวเองเอนจอยกับการดูเทคนิดการตัดเย็บและเนื้อผ้าของเสื้อผ้าแบรนด์แพงๆ ชอบศึกษาแพตเทิร์นแปลกๆ เลยมั่นใจว่าเราน่าชอบจริงๆ

ถ้าย้อนอดีตไปให้เลือกเรียนใหม่ก็ไม่เลือกเรียนดีไซน์อยู่ดี คิดว่าเราไม่ได้เก่งเรื่องดีไซน์นัก แต่เราคิดได้ เอนจอยกับการผลิตและขายได้ สนุกและมีความสุขเมื่อเห็นลูกค้าซื้อของเราไปใช้ มองว่าตัวเองเป็นผู้ประกอบการที่รักศิลปะ มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่ “ดีไซเนอร์” ก่อนทำจะถามตัวเองก่อนว่าตอนนี้อยากใส่อะไร เราเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ชอบแต่งตัว แต่เราก็คำนึงถึงผู้บริโภคด้วย ทำในสิ่งที่ตลาดและลูกค้าต้องการ คิดว่าถ้าเราเรียนดีไซน์มาอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเท่านี้ก็ได้ เพราะการทำธุรกิจต้องบาลานซ์ระหว่างการขายได้จริงกับความคิดสร้างสรรค์”

:: Kloset Etcetera.

หลังจากตู้เสื้อผ้าของเธอเริ่มมีเสื้อผ้าที่หลากหลายและเพียบพร้อมแล้ว เธอก็เริ่มมองหาเครื่องประดับชิ้นใหม่มาเติมสีสันให้กับตู้เสื้อผ้าของเธอ ด้วยการผลิตไลน์ใหม่ที่มีชื่อว่า Etcetera เริ่มต้นด้วยการผลิตผ้าพันคอชีฟองเบาบางที่กลายเป็นไอเท่มคู่ใจของแฟชั่นนิสต้าหลายๆ คน

Kloset Etcetera เป็นไลน์ใหม่ที่เน้นให้เป็นไอเท่มชิ้นโปรดของสาวๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าใส่เครื่องเขียนที่ให้อารมณ์หรูหรา สมุดโน๊ตปกลายพิมพ์ซิกเนเจอร์ของ Kloset ไปจนถึงครอบครัวกระเป๋าผ้าเคลือบหลากลายหลายขนาด ที่กลายเป็น Must Have ของนักเรียน นักศึกษา หรือว่าคนทำงานไปเป็นที่เรียบร้อย

“ตั้งแต่เด็กๆ เราชอบสะสมของจุกจิก อย่างพวกยางลบหอมๆ กล่องดินสอ กระเป๋าผ้า ปากกา สมุดโน้ต สมัยก่อนเวลาอยากซื้อต้องรอโอกาสที่จะได้ไปญี่ปุ่น เพราะที่นั่นมีของกุ๊กกิ๊กให้เลือกเยอะ เคยคิดว่าอยากจะทำเองซะเลย แต่ตอนนั้นยังเด็กๆ ก็ไม่ได้มีความตั้งใจเหมือนตอนนี้ พอโตขึ้นด้วยความที่เราเป็นคนช่างคิดอยากทำโปรเจ็กต์ใหม่ๆ ตลอดเวลา แต่เรายังห่วงแบรนด์เสื้อผ้าอยู่ โปรเจ็กต์ที่คิดไว้หลายๆ อย่างจึงยังไม่ได้ทำ แล้วก็ถูกคนอื่นตัดหน้าไปเสียก่อน ซึ่งถ้าเราทำทีหลังเราก็จะเป็นผู้ตาม ฉะนั้น แบรนด์เครื่องเขียน และของกระจุกกระจิกที่เราใฝ่ฝันเรายอมไม่ได้ ต้องทำให้ได้ พอดีที่ผ่านมาเมื่อปีกว่า Kloset เริ่มอยู่ตัว เราก็เลยแตกไลน์ใหม่ขึ้นมาเป็น Kloset Etcetera

เพราะเรามีกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ซึ่งปกติใส่เครื่องแบบนักศึกษาแต่เขาก็อยากจะมีความเป็นแฟชั่น เราเลยทำผ้าพันคอขึ้นมา ซึ่งผ้าพันคอก็อเนกประสงค์ดีสามารถคลุมไหล่ได้ หรือถ้ากระโปรงสั้นก็เอามาคลุมขาได้ แล้วลายผ้าของเราก็เป็นเอกลักษณ์ หลายๆ คนก็นิยมที่จะซื้อไปสะสม”

ในระยะเวลาเพียงปีกว่าๆ ผลิตภัณฑ์ในไลน์ใหม่ของ Kloset Etcetera กลับเป็นกระแสที่ดังขึ้นมา แถมยังขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนบางช่วงที่สินค้าหมดถึงขั้นต้องแปะป้ายหมดสต็อกหน้าร้านกันเลยทีเดียว

“ตอนแรกเราคิดแค่ทำตอบสนองความต้องการตัวเองเท่านั้น แต่ปรากฏว่ายอดมากกว่าที่เราตั้งเป้าไว้ 3-4 เท่า คิดว่าน่าจะเป็นเพราะ Kloset Etcetera ตอบสนองวัยรุ่นที่อยากมีคอเซต แต่ราคาไม่สูงมาก ซึ่งทีมงานเองก็มีความสุขที่ผลิตแล้วเห็นคนใช้

แต่ปัญหาคือเรารับมือกับความนิยมนั้นไม่ไหว เพราะกำลังการผลิตเราต่ำและที่ผ่านมาก็มีเรื่องของสินค้าสเปคที่ผิดบ้าง ทำให้สินค้าล่าช้า ซึ่งเราพยายามหาโรงงานในเมืองไทยที่สามารถผลิตได้ถูกใจจริงๆ เมื่อสินค้าเริ่มดีเลย์ ผู้บริโภคก็เข้าใจผิดว่าเราตั้งใจทำให้ของขาดตลาด เพื่อสร้างกระแส แต่ที่จริงไม่ใช่เลยเราอยากจะขาย อยากจะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด

แบรนด์เรามีกลุ่มคนที่ทำงานอยู่ไม่เยอะเพียง 4-5 คนเท่านั้นที่ทำทุกอย่าง ตั้งแต่ออกแบบ ไปจนถึง QC แต่เราก็พยายามทำลายใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ รวมถึงลายพิมพ์ที่อยู่ในคอลเลกชั่นเสื้อผ้าด้วย”

:: ก้าวต่อไปของตู้เสื้อผ้าใบนี้

จากตำแหน่งสินค้าที่วางไว้ในตอนแรกเป็นกลุ่มคนทำงาน แต่เสื้อผ้าของ Kloset กลับถูกใจสาวแฟชั่นหลากหลายวัย ทั้งกลุ่มวัยรุ่นไปจนถึงกลุ่มคุณแม่ยังสาว ทำให้ฐานลูกค้าของ Kloset กว้างขึ้น แต่การทำงานของ Kloset ก็ยังดำเนินต่อไป แถมยังเตรียมหมัดเด็ดไว้น็อกลูกค้าอีกด้วย

“ด้วยเทคนิคที่เราพยายามสร้างสรรค์ทำให้กลุ่มลูกค้าเรากว้างขึ้น อย่างกลุ่มคุณแม่วัยรุ่นที่มาชอปปิ้งกับลูก และผู้ใหญ่ที่หัวใจวัยรุ่นรักการแต่งตัว ซึ่งเมื่อความนิยมมากขึ้น เราก็ห่วงเรื่องของปริมาณสินค้าอีก เราจึงอยากหันกลับมาพัฒนาเรื่องการผลิต เคยคิดว่าจะไปผลิตที่จีน แต่ก็กลัวเรื่องก็อปปี้และคุณภาพ ซึ่งเราจะคุมยาก จึงพยายามหาโรงงานที่ตอบสนองเราได้

จุดเด่นของเรามีความเป็นออริจินัลเรื่องลายพิมพ์ ตอนนี้เราได้พัฒนามาถึงเรื่องการทอแล้ว เช่น ทอลูกไม้ลายแปลกๆ ที่เราดีไซน์เอง เราพัฒนาผ้าเอง แต่เราก็ต้องการความหลากหลาย อย่างในไลน์ของ Kloset Etcetera กำลังเตรียมโปรเจ็กต์อื่นๆ เช่นถุงผ้าใบเล็กๆ เพราะเราเป็นคนที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้ในกระเป๋าจะต้องมีกระเป๋าผ้าใบเล็กๆ พกติดตัวไว้เป็นนิสัย บางทีซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตก็จะใส่ถุงผ้าที่เราพกไว้ในกระเป๋า

เราอยากจะทำให้ Kloset Etcetera เป็นร้านที่ให้อารมณ์เหมือนเราเข้าไปในร้านซานริโอ้เหมือนตอนเด็กๆ ที่มีของเยอะแยะไปหมด ซึ่งเราอยากผลิตให้ได้มากกว่านี้มากๆ”

:: ปลุกกระแสเมินของก็อป

ในฐานะเจ้าของแบรนด์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการแฟชั่นไทยมานาน วันนี้มลลิกากลายเป็นรุ่นพี่ตัวแทนของดีไซเนอร์หน้าใหม่ เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกสมาคมแฟชั่นดีไซเนอร์กรุงเทพ หรือ Bangkok Fashion Society (BFS) ต่อจาก “คุณภาณุ อิงคะวัต” ที่เคยดำรงตำแหน่งนี้มาถึง 6 ปี

“ตอนนี้เป็นนายกสมาคม BFS ด้วย ซึ่งเราเป็นสมาชิกมาตั้งแต่แรก แก้มเข้ามาทำงานต่อจากพี่ภาณุ ซึ่งพี่เขาบุกเบิกมาก่อนเรียกว่าถ้าขาดพี่ภาณุคงไม่มาถึงขั้นนี้ ในยุคที่ผ่านมาคนไทยยังไม่อินกับแบรนด์ที่ทำโดยคนไทย แต่เมื่อมีการผลักดันมากขึ้น สังเกตได้ว่าแบรนด์ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะได้รับการยอมรับเร็วขึ้น ฉะนั้น จึงต้องบอกว่าการที่มีสมาคมทำให้วงการแฟชั่นไทยพัฒนาขึ้น

แต่มีอุปสรรคคือขับเคลื่อนช้าหน่อย เพราะว่าการนัดประชุมแต่ละครั้งเจ้าของแบรนด์จะมาเอง ซึ่งแต่ละคนก็ว่างไม่ตรงกัน แต่ทุกคนก็พยายามเต็มที่ ทุกคนมีความมุ่งหวังในการพัฒนามาตรฐานแบรนด์ให้ดีขึ้น แล้วก็อยากให้คนไทยหันมาบริโภคสินค้าไทย”

ทุกวันนี้สิ่งที่สมาคมแฟชั่นดีไซเนอร์กรุงเทพทำนั้นได้เห็นผลอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการที่มีแบรนด์น้องใหม่เกิดขึ้นมากมาย และหลายๆ มหาวิทยาลัยมีคณะที่เปิดสอนเรื่องแฟชั่นดีไซน์โดยเฉพาะ แต่อย่างไรก็ตาม BFS ก็ยังไม่หยุดพัฒนาวงการแฟชั่นต่อไป พวกเขายังคิดที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับแฟชั่นในเมืองไทยด้วยการผุดแคมเปญใหม่ๆ ขึ้นมาเสมอๆ

“ที่ผ่านมาเราได้แสดงจุดยืนในเรื่องต่างๆ อย่างคอนเซ็ปต์ “Think Global Dress Local” ที่คอยสนับสนุนให้คนหันมาใช้ของไทยจนมาถึงซีซั่นนี้ที่เป็น เรื่องการรณรงค์หยุดใช้ของปลอมในคอนเซ็ปต์ “Stop Fake Wear Original Now!” เพราะที่ผ่านมาเสื้อผ้าไทยหลายแบรนด์ได้รับผลกระทบจากสินค้าลอกเลียนแบบที่ออกวางจำหน่ายตามที่ต่างๆ ซึ่งเป็นเหมือนการบ่อนทำลายวงการแฟชั่นของไทยกันเองและส่งผลให้วงการแฟชั่นไทยหยุดพัฒนา สมาคมจึงอยากเรียกร้องให้ทั้งภาครัฐและเอกชนโปรโมตให้คนไทยหยุดผลิตและบริโภคของปลอม แต่มาช่วยกันสนับสนุนความเป็นเมืองแฟชั่นที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปอีกขั้น

หลายๆ แบรนด์ประสบปัญหานี้ผลิตออกจำหน่ายไม่ทันไร ก็โดนก็อปขายที่ประตูน้ำแล้ว ซึ่งหลายๆ ครั้งที่เราจับได้ก็เป็นลูกค้าระดับวีไอพีของเรานี่แหละเป็นผู้นำไปกอปปี้ เราจึงอยากเป็นกระบอกเสียงให้คนรู้จักในเรื่องของลิขสิทธิ์ ว่าถ้าคนไทยกันเองยังบริโภคของก็อปกันเองประเทศจะพัฒนาได้อย่างไร

อีกสิ่งที่เราพยายามผลักดันคือ เรื่องของดีไซน์ เมืองไทยน่าจะทำให้แตกต่างจากเพื่อนบ้านที่เป็นผู้ผลิตเหมือนกันได้ บางทีในมุมกว้างหรือรัฐบาลอาจมองว่าเรื่องของแฟชั่นสิ้นเปลือง ไร้สาระ แต่สำหรับเราเรามองว่าเมื่อต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ประเทศไทยให้โลกรู้ว่าบ้านเราพัฒนาแล้ว เราต้องค่อยๆ ปูพื้นแสดงศักยภาพให้เห็นว่าเราสามารถดีไซน์สินค้าได้และฝีมือการผลิตเนี้ยบแน่นอน นอกจากนั้นเรายังพยายามชี้ให้เห็นว่าวงการเราไม่ได้ไร้สาระ เราทำเพื่อส่วนรวมด้วย เช่น ทำการกุศลกับองค์กรต่างๆ ด้วย”

และตอนนี้ยังมีแบรนด์รุ่นใหม่เข้ามาเสริมกำลังกับสมาคมแฟชั่นดีไซเนอร์กรุงเทพมากขึ้นด้วย ซึ่งทุกแบรนด์นั้นมีความพร้อมที่จะเติบโต และพัฒนาตัวเองไปด้วยกัน...แม้มลลิกาจะบอกว่าเป็นเพียงสมาคมกลุ่มเล็กๆ แต่ถ้าทุกคนทำงานร่วมกันเป็นปึกแผ่น การร่วมมือกันทำสิ่งไหนก็ไม่ยาก แล้ววันนั้นวงการแฟชั่นไทยก็จะพัฒนาสมกับความตั้งใจของทุกคน

:: เทรนด์สำหรับ Autumn / Winter นี้

สไตล์ :: Autumn/Winter นี้ สไตล์น่าจะมีความเป็นกระโปรงยาว เดรสยาว เปลี่ยนจากกางเกงขาลีบจะเป็นขาบาน หรือทรงขาม้านิดๆ ให้ดูมีความทะมัดทะแมงมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีรายละเอียดของความเป็นผู้หญิงอย่างลูกไม้ หรืองานปัก
สีสัน :: หลีกจากกฎเดิมที่เป็นสีเทา สีดำ สีแดงมารูน สีม่วงเข้ม ทลายกำแพงสีทึมๆ มอๆ ซะ เพราะตอนนี้หลายแบรนด์เริ่มหยิบสีที่เบรกความน่าเบื่อของวินเทอร์ ด้วยการใช้สีโทนพาสเทลที่มีความอุ่น ไล่โทนสีอื่นๆ เข้ามา อย่างเช่น ฟ้าอ่อนๆ แดงเจือจาง เขียวพริ้วเบา



Credit
นางแบบ :: มลลิกา เรืองกฤตยา
แต่งหน้า :: จีรวัฒน์ วรรธนะวิริยะกุล จากเครื่องสำอางลังโคม โทรศัพท์ 0-2684 -3000
สถานที่ :: Shop KLOSET สาขา เซ็นทรัล ลาดพร้าว
ช่างภาพ :: กมลภัทร พงศ์สุวรรณ
ช่างภาพวีดีโอ :: ภาสกร โตวณะบุตร


 
>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net
กำลังโหลดความคิดเห็น