เมื่อวันอังคารที่ 6 ก.ย.54 วชิราวุธวิทยาลัยจัดการแสดงดนตรีแห่งความอาลัย สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี "เพชรรัตนราชสุดา วาทนะสักการ" ขึ้น ณ หอประชุมวชิราวุธวิทยาลัย ที่นับเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “ขัตติยราชนารี ศรีแผ่นดิน” ณ หอศิลป์วชิราวุธวิทยาลัย อาคารเวสสุกรรมสถิต เพื่อน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณในฐานะที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์กิจการของวชิราวุธวิทยาลัยเรื่อยมา
นับตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวรแล้ว ทรงถือว่า กรณียกิจสืบสานพระราชปณิธานแห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเรื่องที่ทรงถือเป็นหน้าที่หลักที่สำคัญ พระองค์ได้เสด็จมาวชิราวุธวิทยาลัยอยู่เนืองๆ ทั้งที่เป็นการเสด็จแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อปฏิบัติพระกรณียกิจทรงเกื้อหนุน ค้ำจุนวชิราวุธวิทยาลัยเสมอมา จนล่าสุด เมื่อมีกิจกรรมเฉลิมฉลอง 100 ปี วชิราวุธวิทยาลัย ก็ทรงพระกรุณารับงานไว้ในพระอุปถัมภ์ด้วย
ส่วนวชิราวุธวิทยาลัยก็มีความซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณแห่งพระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดวชิราวุธวิทยาลัย ชาววชิราวุธวิทยาลัยต่างแสดงความจงรักภักดีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยผลัดกันไปเฝ้าถวายเครื่องเสวย บรรเลงดนตรีในวาระต่างๆ ณ วังรื่นฤดี และเฝ้ารับเสด็จเมื่อเสด็จมาวชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งชาววชิราวุธต่างก็เต็มใจถวายงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ
จวบจนถึงวาระที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ สิ้นพระชนม์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นวาระแห่งความเศร้าอาดูรอย่างสูงสุด วชิราวุธวิทยาลัยก็ได้ถวายงานเป็นครั้งสุดท้าย ในวาระต่างๆ อาทิ ตั้งแถวรับพระศพเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์เมื่อเสด็จมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทาน และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาร่วมฟังสวดพระพิธีธรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสายใยความผูกพันระหว่างสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ กับวชิราวุธวิทยาลัย เป็นเรื่องที่ฝังลึกในจิตใจ ยังความซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณที่พระราชทานให้ชาววชิราวุธตลอดมา
การจัดกิจกรรมแสดงดนตรี "เพชรรัตนราชสุดา วาทนะสักการ" จึงเกิดขึ้น ได้รับเกียรติจาก ทฤษฎี ณ พัทลุง วาทยากรชาวไทยผู้มีชื่อเสียงในต่างประเทศมาบรรเลงเปียโนในบทเพลงที่มีคำร้องอันเนื่องมาจากบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ ดวงใจ สาส์นรัก ความรัก สุริยัน-จันทรา และที่เป็นบทประพันธ์ของ ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ ได้แก่ บัวขาว เงาไม้ ดอกไม้ จันทร์เอ๋ย และไฮไลต์ของงานคือ การบรรเลงเพลง “พระหน่อนาถ” บทกล่อมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประพันธ์ดนตรีและทำนองโดย ทฤษฎี ณ พัทลุง เพื่อเฉลิมพระขวัญองค์ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 7 รอบ ซึ่งครั้งนี้เป็นการบรรเลงเต็มวงอีกครั้ง และนับเป็นการแสดงรอบปฐมทัศน์ในรูปแบบของผู้ชายขับร้อง ได้รับเกียรติจาก อ.สุรุจ ปรีดารัตน์ กรรมการผู้จัดการสมาคมขับร้องประสานเสียงแห่งประเทศไทย เป็นผู้ถ่ายทอดบทเพลง และเพลงอื่นๆ ร่วมกับ สพ.ญ.จีรพรรณ ปรีดารัตน์
>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net