xs
xsm
sm
md
lg

‘นิยามความเท่ห์’ แบบท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
     ณ ใจกลางสยามสแควร์ สีสันสตรีทแฟชั่นยังคงเจิดจ้าอย่างไม่เคยอับแสง
 
     หนุ่มมาดเซอร์กับกางเกงขาเดฟ, สาวหมวยกับกางเกงขาสั้นอวดเรียวขา, สาวเก๋กับเสื้อสายเดี่ยวสีสันบาดตา เขาและเธอ...เติมความสดใสให้บาทวิถีที่แข็งกระด้างได้มีชีวิตชีวา
 
     ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปกี่ยุคสมัย สยามสแควร์ก็ยังคงความเป็นหนึ่งในสุดยอดแหล่งช้อปปิ้งที่วัยรุ่นวัยใสพร้อมใจ ‘จัดเต็ม’ สมฉายา ‘เทรนด์เซ็ตเตอร์’ ต้นกำเนิดความฮิป...

 
 
     แต่นั่น...ร้านเล็กๆ ที่ซุกตัวอยู่ในมุมหนึ่งของย่านนี้ ดูราวกับหลุดมาจากอีกโลกหนึ่ง... เป็นโลกที่แตกต่างแต่ชวนมอง กระทั่งประชากรชาวสตรีทแฟชั่นหลายต่อหลายคน...ต้องก้าวเข้ามาทำความรู้จัก ก็ข้าวของทุกชิ้นในร้านช่างแลดูแตกต่างกว่าข้าวของเครื่องใช้ส่วนใหญ่ในย่านนี้





 
 
     ไม่ว่า ตุ๊กตาพ่อไก่แม่ไก่ตัวอ้วนกลมที่ถูกเย็บขึ้นอย่างบรรจงจากเศษผ้าหลากสีสัน...กระเป๋าสานใบเล็กๆ น่ารัก ต่างจากกระเป๋าสานใบโตของคุณป้าคุณยายที่หลานๆ วัยรุ่นคุ้นเคย...โคมไฟรูปลักษ์สะดุดตาที่สร้างขึ้นจากเส้นด้ายซึ่งหลงเหลือจากการทำผ้าม่าน...สมุดโน๊ตเรียบเก๋ที่ทำขึ้นจากกระดาษรีไซเคิล...ตุ๊กตานางฟ้าและเทพธิดาถูกปะติดปะต่อขึ้นจากก้านไม้และเศษผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อย...ซองใส่นามบัตรเท่ห์ๆ ที่ทำจากเศษกระดาษซึ่งใครบางคนอาจไม่เห็นค่า... และอีกหลากหลายผลิตภัณฑ์ที่ถูกสร้างขึ้นจากวัสดุเหลือใช้ ผ่านการออกแบบให้ดูสะดุดตาน่าใช้สอย ล้วนถูกนำมาวางเรียงรายจนเต็มร้านเล็กๆ แห่งนี้
 
     ร้านที่ของทุกชิ้น ถูกสร้างขึ้นจากวัสดุที่ ‘ไม่ทำร้ายโลก’
 
     และหากคุณกำลังสงสัยว่าใคร? คือผู้ให้กำเนิดพื้นที่อันเปี่ยมด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว

 
 
     ชายหนุ่มเจ้าของรอยยิ้มสดใส ผู้ครอบครองดีกรีศิลปกรรมศาสตรบัณฑิตด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์
และปริญญาโท MBA ด้านการตลาดจากรั้วมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒคนนี้ พร้อมจะบอกเล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาของร้านเล็กๆ ที่สร้างขึ้นจากความฝัน ความหวัง และความสุขในใจ

 
 
     “ผมว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นมากที่จะทำให้คนรุ่นใหม่เห็นว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เท่ห์มากและมันจะเท่ห์มากกว่านี้ ถ้าเขายินดีที่จะทำ ‘เพื่อใคร’ หรือเพื่ออะไรสักอย่างในชีวิตด้วย ไม่ใช่แค่เพื่อสิ่งแวดล้อม แต่ทำเพื่อคนอื่นๆ เพื่อเพื่อนมนุษย์ เพื่อ ‘สภาพแวดล้อม’ ของเรา ซึ่งสภาพแวดล้อมมันรวมทุกอย่าง ทั้งผู้คน ต้นไม้ สังคม ไม่ใช่แค่ ‘เพื่อโลก’ แต่รวมเรื่องของคนด้วย”
 
     แม้ไม่ใช่พระเอกร้อยล้านหรือพรีเซนเตอร์งานชุก แต่ชื่อของท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร ก็เป็นที่คุ้นหูของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแวดวงของการออกแบบผลิตภัณฑ์
 
     เปล่าหรอกไม่ใช่เพียงผลิตภัณฑ์ที่คงคอนเซ็ปต์ดั้งเดิมอย่างการถูกออกแบบให้มีดีไซน์ ทั้งพร้อมสรรพด้วยประโยชน์ใช้สอย แต่การออกแบบผลิตภัณฑ์หลายชิ้นของท็อปยังมีอีกจุดมุ่งหมายสำคัญคือเพื่อ...‘สิ่งแวดล้อม’
 
     เป็นการออกแบบที่เขาบอกว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากไปกว่านี้ สร้างสิ่งใหม่ ขึ้นมาจากสิ่งที่มีอยู่ แน่ล่ะ เขายอมรับว่าความสนใจเรื่องการรักษ์โลกไม่ได้ฝังแน่นในใจมาแต่อ้อนแต่ออก ทว่า มันก่อเกิดมาพร้อมๆ กับกระแสที่คนทั่วโลกเริ่มตระหนักว่าความเห็นแก่ตัวของผู้คนในยุคบริโภคนิยม กำลังเป็นมีดทิ่มแทงโลกทั้งใบให้เต็มไปด้วยบาดแผล มลพิษสารพัดรูปแบบจากเมืองใหญ่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศและก่อตัวเป็นภัยคุกคามย้อนกลับมาทำร้ายโลกอย่างสาหัส

 
 
     “เราอยู่ในประเทศที่สุดแสนจะสบายและชิวมากประเทศหนึ่งในโลก ทำให้เราไม่ได้รู้เลยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับโลกของเราบ้าง? แต่หลังจากที่ผมได้ดูภาพยนตร์สารคดีเรื่อง An inconvenient truth มันทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจ พอกลับมาบ้านแล้วผมก็คิดหาหัวข้อทำวิจัยได้เลย
 
    
     “ตอนนั้นผมเรียนปริญญาโท MBA เอกการตลาด ที่มศว. ผมเรียนเพื่อจะทำร้านของผมเองนี่แหละครับ ตอนนั้นต้องทำวิทยานิพนธ์ แต่ผมยังหาหัวข้อไม่ได้ แต่พอไปดูหนังเรื่องนี้ผมก็ได้ไอเดียว่า ‘เอาล่ะ ผมจะทำในเรื่องที่ผมชอบ’ คือทั้งเรื่องดีไซน์ และเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เอา 2 อย่างมาผนวกกัน ก็ได้ชื่อหัวข้อสำหรับทำวิจัยว่า ‘แนวโน้มพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค ที่มีต่อเฟอร์นิเจอร์เพื่อสิ่งแวดล้อม’ คอนเซ็ปต์ชัดเจนมาก ผมทำวิจัยโดยเริ่มตั้งแต่การตั้งคำถามว่า เวลาที่ผู้บริโภคเขาเห็นผลิตภัณฑ์แล้ว เขารู้สึกดีหรือไม่ดี? แล้วลำดับต่อไป เขาชอบหรือไม่ชอบ? และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผมอยากรู้ว่า สรุปแล้วเขาจะซื้อหรือไม่ซื้อครับ เฟอร์นิเจอร์เพื่อสิ่งแวดล้อมเนี่ย?”
 
     
     ท็อปยอมรับว่า งานวิจัยในครั้งนั้น ส่งผลต่อเนื่องถึงการก่อกำเนิดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม เพราะทำให้เขาได้รับรู้ถึงมุมมองของผู้คน แต่เหนืออื่นใด งานวิจัยดังกล่าวยังนำพาให้เขาได้ก้าวเข้าไปทำความรู้จักกับนักออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมคนสำคัญคนหนึ่งของเมืองไทยด้วย
 
    
     นั่นคือ ดร.สิงห์ อินทรชูโต ซึ่งแนวความคิดที่สอดคล้องกันของทั้งคู่ยังนำไปสู่การทำงานออกแบบที่ดร.สิงห์และทีมงานเชิญชวนท็อปให้มาออกแบบเฟอร์นิเจอร์ร่วมกัน นับเป็นก้าวแรก ที่ท็อปได้ริเริ่มพัฒนาโปรเจ็กต์งานดีไซน์เพื่อสิ่งแวดล้อมในแบบของตนให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นในโลกของความเป็นจริง

 
 
     “ตอนที่ผมเริ่มวิจัย ผมก็เข้าไปเสิร์ชข้อมูลในกูเกิ้ล เพื่อหาว่า ใครบ้างในประเทศไทย ที่ทำเฟอร์นิเจอร์เพื่อสิ่งแวดล้อม ผลออกมาคือมีคำว่า ‘Osisu’ เยอะมาก ซึ่งเมื่อผมหาข้อมูลต่อไป ก็ได้รู้ว่า ชื่อนี้เป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์เพื่อสิ่งแวดล้อมของ ดร. สิงห์ อินทรชูโต และพี่จ๋า วีรนุช ตันชูเกียรติ ร่วมกันสร้างขึ้น ผมก็โทร.ไปที่บริษัทเลย แล้วก็ได้คุยกับพี่จ๋า ผมก็เล่าความประสงค์ของผมให้พี่จ๋าฟัง พี่จ๋าก็ส่งผมไปหาอาจารย์สิงห์ที่ ม. เกษตรฯ ดังนั้น แม้ผมจะเรียนปริญญาโทที่มศว. และมีอาจารย์ที่มศว.เป็นที่ปรึกษาให้แล้ว ผมก็ได้มีอาจารย์สิงห์ซึ่งสอนอยู่ที่ ม .เกษตรฯ เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้ด้วย” 
 
     
     เมื่อวิทยานิพนธ์ผมเสร็จเรียบร้อย จ๋า-วีรนุช ตันชูเกียรติ ก็ชวนท็อปไปร่วมดีไซน์เฟอร์นิเจอร์เพื่อสิ่งแวดล้อมให้กับแบรนด์ Osisu โดยผลงานที่ท็อปออกแบบเป็นเก้าอี้ที่มีชื่อว่า ‘Need’ ซึ่งทำขึ้นจากเศษไม้อัด และหลังจากนั้น ท็อปก็ได้มีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในทีมของอาจารย์สิงห์อีกครั้ง ในโครงการของ สวทช. ซึ่งมีชื่อว่า ‘เปลี่ยนขยะให้เป็นทอง’ โดยเฟอร์นิเจอร์ในโครงการนี้ต้องทำขึ้นจากวัสดุเหลือใช้ซึ่งท็อปก็ออกแบบโดยเริ่มจากการเข้าไปในโรงงานทำผ้าม่านแห่งหนึ่ง แล้วดูว่าจะนำอะไรมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้บ้าง 
 
    “สรุปว่าผมก็ได้โคมไฟ ชื่อ ‘ฟริปแลมป์’ เป็นโคมไฟที่ทำจากเศษด้าย ซึ่งเป็นเศษด้ายที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์ เพราะเป็นด้ายที่โรงงานเขาสั่งซื้อมาเผื่อด้ายไม่พอ แต่ปรากฏว่าด้ายที่ซื้อเผื่อไว้นั้นกลายเป็นด้ายเหลือทิ้ง ไม่ได้ใช้ ผมก็เลยนำมาออกแบบเป็นฟริปแลมป์ โคมไฟที่ทำขึ้นจากเศษด้ายสายคล้องผ้าม่าน”
 
     ท็อปเล่าว่า เมื่อทำโคมไฟเสร็จแล้ว เจ้าของโรงงานทำผ้าม่านกลับถามเขาว่า ทำโคมไฟอย่างนี้ออกมาแล้ว โรงงานเขาจะขายยังไง? เพราะปรกติเขาก็ขายแต่ผ้าม่าน ไม่ถนัดในการขายสินค้าแบบนี้ ซึ่งคำถามนั้นเอง นับเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ท็อปอยากมีร้านสำหรับขายผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ

 
 
     “คำถามของเจ้าของโรงงานเป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่ง บวกกับสิ่งที่ผมเห็นว่า หลายๆ ครั้ง งานดีไซน์เพื่อสิ่งแวดล้อมมักถูกจุดกระแสเพื่อทำงานประกวด ถ่ายรูปกัน ลงข่าว เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ แล้วก็หายไป คำถามคืองานพวกนั้นหายไปไหน?
 
     “แล้วก็เพื่อทำตามความฝันของผมตั้งแต่สมัยเรียนออกแบบ ที่อยากมีร้านสำหรับงานออกแบบโดยเฉพาะ เป็นพื้นที่เล็กๆ เพื่อให้เรามีที่ทางเล็กๆ เฉพาะตัว เป็น ‘จิ๊กโก๋ในซอย’ ที่ไม่ต้องไปแข่งขันกับใครที่ถนนใหญ่”
 
     ทั้งความรัก ความสนใจ จิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ถูกกระตุกอย่างไม่อาจเพิกถอนหรือเมินเฉย ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น ก่อร่างให้ความฝันเติบโตขึ้นเป็นร้าน ECOSHOP ร้านที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวของเครื่องใช้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งล้วนมีดีไซน์เฉพาะตัวตามแต่เจ้าของผลงานหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะรังสรรค์ขึ้น แล้วนำมาฝากขายที่ร้าน 
 
     ทว่า สิ่งที่ทำให้ของในร้านนี้แตกต่างไปจากร้านอื่นๆ ก็คือ ที่นี่...จำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อสร้างแรงกระตุ้น สร้างจิตสำนึกให้คนใส่ใจสิ่งแวดล้อม ของทุกชิ้นจึงต้องสร้างขึ้นจากวัสดุที่ไม่ทำร้ายโลก

 
 
     เศษผ้า เศษกระดาษ แผ่นหนังที่ผ่านการใช้งาน แผ่นกระดาษที่กำลังจะถูกทิ้ง ได้ถูกนำมาแปรรูปรังสรรค์ขึ้นเป็นสิ่งใหม่ที่เท่ห์สะดุดตา โดนใจคนรุ่นใหม่ เพราะท็อปมุ่งหวังให้จิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ ค่อยๆ ถูกบ่มเพาะอย่างกลมกลืนกับวิถีชีวิตของผู้คนในยุคนี้ ดังที่เขาเน้นย้ำอีกครั้ง
 
     “ผมว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นมาก ที่จะทำให้คนรุ่นใหม่เห็นว่า การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เท่ห์มากและมันจะเท่ห์มากกว่านั้น ถ้าเขายินดีที่จะทำเพื่อใคร หรือเพื่ออะไรสักอย่างในชีวิต
 
     “แม้แต่เรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ยิ่งถ้ามองเป็นแฟชั่น มองเป็นกระแสก็ดีจะตาย เพราะมันหมายถึงการที่คนเยอะๆ มารวมตัวกันทำอะไรสักอย่าง ผมว่ายิ่งดีใหญ่เลยนะถ้าในจำนวนคนที่ทำตามกระแส 10 คน แล้วในสิบคนนั้น เกิดมีสักคนที่รู้สึกชอบและสนใจที่จะทำอะไรจริงจังเพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ผมว่าคนๆ นั้น จะยิ่งทำอะไรต่อยอดได้อีกเยอะแยะเลย”

 
     จวบจนวันนี้ ‘1 ปี 7 เดือน’ คือระยะเวลาที่ ECOSHOP ก้าวเดินเตาะแตะผ่านการเฝ้ามองอย่างภาคภูมิใจของผู้ให้กำเนิด...
 
     ท็อปบอกว่า เขามีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็นวัยรุ่น หรือใครก็ตาม สนใจสินค้าในร้าน และทึ่งเมื่อรู้ว่าวัสดุที่ใช้นั้น เกือบจะกลายเป็นขยะไปแล้วหากไม่ถูกนำมารื้อฟื้นคืนชีวิตใหม่ด้วยรูปลักษณ์ที่เตะตา
ท็อปยังมีความสุข เปี่ยมด้วยรอยยิ้มและมีบันไดฝันในขั้นต่อๆ ไปรออยู่ เช่น หวังให้ร้านเล็กๆ ที่ซุกตัวอยู่ใจกลางดิจิตอล
เกตเวย์ ณ สยามสแควร์แห่งนี้ กลายเป็นแหล่งพบปะ เป็นชุมชนเล็กๆ ของนักออกแบบ

 
 
     เขายังฝันว่าวันหนึ่ง อยากทำมุมคาเฟ่เล็กๆ ให้นักออกแบบและเพื่อให้คนที่อยากทำอะไรดีๆ เพื่อโลก เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสังคม เพื่อผู้คนรอบข้าง ได้มาพบปะเจอะเจอกัน 
 
    
     ...เขายังวาดภาพนั้นอยู่ในใจ แม้ในวันที่ร้านกำลังจะถูกสั่งปิดอีกเพียงหนึ่งเดือนข้างหน้านี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า...มีผู้เช่ารายใหม่ ให้ราคาค่าเช่าดีกว่า และเจ้าของตึกก็พร้อมรับข้อเสนอที่ดีกว่า
 
    
     แน่นอนเขาไม่ใช่เศรษฐีมีเงินถุงเงินถังมาต่อชีวิตให้ร้านตนเองเพื่อสู้กับผู้เช่ารายใหม่ที่มีกำลังกว่า แต่เขาก็ยังฝันต่อไป
 
    
     เป็นฝันที่แจ่มใส สวนทางกับสถานการณ์ของร้านที่ดูมืดมน
 
    
     แต่นั่น ก็ไม่สำคัญเท่าความตั้งใจของเขาและสิ่งที่เขาได้ทำตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
 
       ...เพราะสิ่งเหล่านั้นสดใสและสวยงามอยู่แล้วในตัวมันเอง 
 
                          

 
                                ............
 
                      เรื่องโดย : นางสาวยิปซี 
                          ภาพโดย : วรงค์กรณ์ ดินไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น