xs
xsm
sm
md
lg

3 ข้ออันตรายที่คุณต้องระวัง(เอง)เมื่อไปทำเล็บ/@Bitchy

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

By Lady Manger @Bitchy

เตือน! สาวชอบทำเล็บทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นตัดเล็บตัดหนัง ทาสีเล็บ หรือต่อเล็บเพ้นท์ลาย อย่ามัวแต่ห่วงสวยจนละเลยความสะอาด ดูง่ายๆ ช่างทำเล็บล้างมือก่อนมานั่งจับนิ้วมือของคุณรึเปล่าคะ?!?

เพราะอันตรายจากร้านเล็บไม่ใช่เรื่องขี้เล็บ คุณอาจติดเชื้อขั้นรุนแรง เดี้ยงไปเลยก็ได้ เราไม่ห้ามคุณสาวๆ ไปทำเล็บหรอกค่ะ เข้าใจดีว่าเป็นความสุขส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ ของหญิงเรา ทว่าริจะตัดแต่งต่อเล็บสวยงามปรนเปรอตัวเอง ต้องรู้จักระแวดระวังดูแลตัวเองด้วย เราไปดูกันค่ะว่า มีอันตรายอะไรบ้างเวลาไปทำเล็บที่ร้าน สามารถป้องกันได้อย่างไร

อันตรายข้อ1 : เข้าร้านเล็บ ก็เสี่ยงแล้วล่ะ

ทันทีที่คุณเข้าร้านทำเล็บ เตรียมแช่นิ้วมือนิ้วเท้าในกาละมัง คุณก็เข้าข่ายสุ่มเสี่ยงติดเชื้อแล้วล่ะ คุณหมอ Robert Spalding ผู้เขียน Death by Pedicure บอกไม่ต้องสงสัยเลยว่า ร้านเล็บเป็นแหล่งรวมสะสมเชื้อโรคสารพัดชนิด อาทิ แบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา เพราะในแต่ละวันมีคนเดินเข้าเดินออกลั้นลาทำเล็บเป็นจำนวนมาก

“ไม่ว่าคุณจะไปร้านหรูระดับไหน คุณก็อยู่ในภาวะเสี่ยงเหมือนกัน” ท่านอ้างอิงตัวเลขจากการทำวิจัยร้านเล็บในอเมริกาว่า

“75% ของร้านเล็บในอเมริกาไม่ดำเนินการตามมาตรฐานความสะอาด วิธีการฆ่าเชื้อโรค อย่าง น้ำยาที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคในพื้นฐานประจำวัน การจุ่มอุปกรณ์ในน้ำยาฆ่าเชื้อโรคอย่างเหมาะสม กระทั่งการแอบใช้ผลิตภัณฑ์ปลอมแปลงเพื่อลดต้นทุน”

ทว่าอุปสรรคสำคัญที่สุดคือ ยากแก่การตรวจสอบ เนื่องจากต้องเข้าไปเช็กอย่างละเอียดยิบทั้งกระบวนการว่า ทำมั้ย ทำถูกต้องรึเปล่า แอบผสมใส่อะไรบ้าง ฯลฯ

นั่นขนาดในอเมริกาเค้านะ แล้วไทยแลนด์บ้านเราล่ะ ร้านเล็บตรึมไปหมด ระดับหรูหราไฮโซก็มีไม่น้อย แต่ระดับกลางมีเยอะกว่า นั่งตะไบต่อเล็บริมทางเดินในพลาซ่าห้างสรรพสินค้าก็มีให้เห็นดาษดื่น ซึ่งไม่เห็นมีหน่วยงานใดเข้าไปหมั่นสอดส่องควบคุมดูแลมาตรฐานความสะอาดอะไรกันเลย เว้นแต่เจ้าของร้านจะมีสำนึกเอง!

ดังนั้น ใช้วิจารณญาณเลือกร้านทำเล็บด้วยตัวคุณเองจึงเป็นวิธีป้องกันอย่างหนึ่งค่ะ สังเกตดูว่าร้านนั้นมีใบประกาศนียบัตรหรือใบรับรองมาตรฐานความสะอาดจากหน่วยงานใดหรือไม่ มีการทำความสะอาดเครื่องมือและอุปกรณ์ทุกครั้งก่อนจะนำมาสัมผัสใช้กับเรารึเปล่า อย่างน้อย ทำให้เห็นจะจะ..ก็รู้สึกดีนะ รวมทั้งใช้ผลิตภัณฑ์ยี่ห้ออะไร คุณภาพขึ้นชื่อเป็นที่ยอมรับมั้ย

อันตรายข้อ2 : ถึงเลือดไม่ออก ก็ไม่ได้หมายความว่า..ไม่ถูกบาด

สาวน้อยนางหนึ่งไปทำเล็บในร้านทำผมชื่อดัง ชีไปทำประจำแต่มีครั้งหนึ่งขณะที่ช่างเล็บกำลังก้มหน้าก้มตางัดแงะปลายเล็บเท้าของเธอ เกิดพลาด..บาดเข้าเนื้อนิ้วเท้าเล็กน้อย เลือดไหลซึม ช่างฯก็หยิบยาใส่แผลสดมาหยดให้ตามปกติ ..ไม่นานเลือดก็หยุด ทั้งช่างฯกับลูกค้าชินซะแล้ว..นึกว่าไม่เป็นไร

แต่รุ่งขึ้นปรากฏว่า นิ้วเจ้ากรรมบวมเป่งถึงกับใส่รองเท้าไม่ได้ แถมมีหนองซึมออกมาอีกแน่ะ ชีทนปวดไม่ไหว จึงไปหาหมอ โดยหมอฟันธงว่า ติดเชื้อแบคทีเรียจากการทำเล็บและบาดเข้าเนื้อเมื่อวานนั่นแหล่ะ ชีต้องกินยาฆ่าเชื้อ และทำแผลทุกวัน ใส่รองเท้าเปิดหัวเดินกระโผลกกระเผลก 2 สัปดาห์กว่าจะหาย

เห็นหมอบอกว่า รายนี้ยังเบาะๆ บางรายติดเชื้อขั้นรุนแรงถึงขนาดต้องขึ้นเขียงผ่าตัดเลย ที่สำคัญ บางรายถึงเลือดไม่ซึม ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่ถูกบาด เชื้อโรคเข้าไม่ได้

ตรงกับหมอ Spalding ท่านชี้ว่า ทุกขั้นตอนการทำความสะอาดเล็บ ตั้งแต่ตัดเล็บ ตัดหนัง งัดแงะตรงมุมซอกเล็บ กระทั่งตะไบตกแต่งเล็บ ล้วนทำให้เกิดการเสียดสีโดนเนื้อผิว

“บางครั้งเลือดซึม บางครั้งเลือดไม่ซึม ก็แค่ไม่เห็นเลือด แต่จริงๆ แล้ว มันเกิดประตูทางเข้าสำหรับเชื้อโรคต่างๆ แล้วล่ะ สังเกตถ้าคุณรู้สึกเจ็บตอนช่างกำลังทำ แม้เพียงเจ็บจี๊ดๆ 2-3 วินาที คุณรู้ไหมว่า ชั้นผิวเนื้อของคุณแยกแตกออกแล้ว พร้อมให้เชื้อโรคเข้าได้ทันที”

อันตรายข้อ3 : ใช้อุปกรณ์ร่วม ก็มีโอกาสติดเชื้อสูง

ยิ่งถ้าอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือไม่ได้รับการทำความสะอาดฆ่าเชื้อทุกครั้งที่ใช้เสร็จ นึกภาพสิคะ แงะขี้เล็บจากซอกเล็บนิ้วเท้าลูกค้าคนก่อน แล้วมางัดหนังเส้นขุดที่มุมข้างเล็บหัวแม่โป้งนิ้วเท้าคุณต่อ ..ยี้! ขี้เล็บดำๆ เชื้อโรคยั้วเยี้ยตามมาด้วย

หมอ Spalding พูดว่า อันตรายอันน่ากลัวที่สุดคือ “การแพร่เชื้อจากลูกค้าคนหนึ่งสู่ลูกค้าอีกคนหนึ่ง”

จริงด้วย เพราะเราไม่อาจรู้เลยว่า ลูกค้าที่เข้าร้านมาทำเล็บแต่ละนาง ใครมีโรคประจำตัวอะไรติดมาด้วย หรือเท้ากำลังเป็นเชื้อราอยู่รึเปล่า

“อาจมีคนเป็นโรคเบาหวาน ไวรัสตับอักเสบ ร้ายแรงไปถึงเชื้อ HIV” หมอเตือนอีกว่า

“เชื้อโรคบางตัวไม่อาจถูกฆ่าได้ง่ายๆ ช่างเล็บส่วนมากคิดว่า เอาอุปกรณ์ไปสเตอริไรส์ (sterilize) ก็พอ แต่จริงๆ แล้ว กรรมวิธีฆ่าเชื้อโรคด้วยความร้อนไม่ทรงอานุภาพพอที่จะฆ่าเชื้อไวรัสได้ทั้งหมด”

ปกติ ร้านเล็บที่มีจิตสำนึกที่สุดจะพิถีพิถันทำความสะอาดอุปกรณ์ด้วยสบู่กับน้ำหลังการใช้แต่ละครั้ง แถมสเตอริไรส์ด้วยความร้อน หรือจุ่มในน้ำยาฆ่าเชื้อโรคประมาณ 10 นาที ก่อนนำไปเก็บรักษาในที่แห้ง สะอาด มีฝาปิด

“พวกช่างเล็บไม่ได้รับการอบรมความรู้ทางการแพทย์ มันไม่ใช่งานของพวกเค้า ดังนั้นพวกเค้าจะทำความสะอาดแบบพื้นฐาน ทั้งๆ ที่สิ่งแวดล้อมตอนทำเล็บเอื้อต่อการติดเชื้อได้ง่ายมาก และอาจเป็นเชื้อที่ถูกฆ่าได้ยากมากด้วย”

ฟังดูแล้ว น่ากลัวจัง ถ้างั้นวิธีที่ดีที่สุด เราแนะให้คุณผู้หญิงผู้รักการทำเล็บเป็นชีวิตจิตใจซื้ออุปกรณ์ชุดทำเล็บเก็บไว้ส่วนตัวเลยค่ะ ครั้นไปร้านเจ้าประจำ ก็พกติดตัวไปด้วย ไว้ใจร้านฯก็ทิ้งไว้ที่นั่นแหล่ะ ให้ทิปส์ช่างฯทำความสะอาดทุกครั้งหลังใช้แล้ว กรณีไม่ชัวร์ใจ ก็นำกลับมาทำความสะอาดเอง

อยากเล็บสวยอินเทรนด์ปลอดเชื้อ ต้องใส่ใจความสะอาดของอุปกรณ์ เลือกร้านที่ผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพ รวมทั้งช่างเล็บมีฝีมือความชำนาญแท้จริงค่ะ



*ของฝากจากช่างเล็บ

- การตัดเล็บที่ถูกต้อง หากเป็นเล็บมือควรตัดให้มีความโค้งมนไปตามนิ้วมือ ส่วนเล็บเท้าต้องพยายามตัดให้เป็นเส้นตรงมากที่สุด เพื่อลดการสะสมขี้เล็บสกปรกตามซอกเล็บ และลดโอกาสการเกิดเล็บขบ แน่นอน ไม่ควรตัดสั้นจนชิดเนื้อมากเกินไป

- การตัดหนังที่ด้านแข็งก็ต้องระวัง เพราะหากพลาดพลั้งเป็นแผล โอกาสติดเชื้อสูง ยิ่งคนที่มีโรคประจำตัว อย่าง เบาหวาน และไม่ควรใช้วัสดุใดๆ แงะงัดขอบเล็บ จมูกเล็บ เนื่องจากอาจเกิดบาดแผลและการอักเสบได้

- ตะไบเล็บให้สวย ถ้าใช้ตะไบเล็บที่ทำจากเหล็ก ควรตะไบเล็บไปในทิศทางเดียว ไม่ควรถูกลับไปกลับมา เพราะจะทำให้เล็บเป็นเสี้ยนคมหรือฉีก แต่ถ้าใช้ตะไบเล็บที่ทำจากเซรามิคสามารถตะไบสวนทางกันได้ และควรตะไบจากขอบเล็บเข้าหาปลายเล็บเสมอ

- การขูดผิวเล็บ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการผลัดเซลล์ผิวทำให้เล็บเงางามขึ้น ผิวเล็บเรียบ และดูมีสุขภาพดีขึ้น โดยใช้อุปกรณ์ขูดลอกหน้าเล็บ ดันจากปลายเล็บเข้าหาโคนเล็บ หลังจากนั้นใช้แผ่นขัดเล็บ ซึ่งคล้ายกระดาษทราย ขัดหน้าเล็บเบาๆ เพื่อให้ผิวหน้าเล็บเรียบสม่ำเสมอ แล้วใช้แผ่นขัดทำความสะอาดเล็บ ถูเบาๆ เพื่อให้ฝุ่นและเศษเล็บที่มองไม่เห็นหลุดออกไป จากนั้นใช้แผ่นขัดเงาซึ่งมีเจลาตินเคลือบอยู่ ขัดถูบนหน้าเล็บเบาๆ ก็จะได้เล็บที่เงางามดูมีสุขภาพดี การขัดเงาเล็บแต่ละครั้งจะอยู่ได้ประมาณ 2 สัปดาห์

- การเปลี่ยนสีเล็บบ่อยๆ มากกว่าหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ทำให้ต้องล้างเล็บมากขึ้น และน้ำยาล้างทำความสะอาดเล็บ จะเป็นตัวกัดหน้าเล็บให้กร่อน เป็นหลุมเป็นขุยได้ ดังนั้นควรมีเวลาให้เล็บได้ว่างเว้นจากการทาสี เพราะนอกจากเล็บจะได้พักหรือฟื้นสภาพที่เสียไปแล้ว ยังเป็นโอกาสให้ได้สังเกตความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเล็บด้วย เช่นว่า เล็บเกิดจุดดำ หรือเปลี่ยนสี ช้ำ ราขึ้นรึเปล่า!
 


>>
อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ 
 http://www.celeb-online.net
 
กำลังโหลดความคิดเห็น