หาก “การอ่าน” คือหัวใจสำคัญของการเรียนรู้
เช่นนั้น “นักเขียน” ผู้ที่ประดิษฐ์ถ้อยคำ สรรค์สร้างประโยค ร้อยเรียงออกมาเป็นเรื่องราวให้เราได้อ่านกัน ก็คือส่วนสำคัญไม่แพ้ผู้เสพสารอย่าง “นักอ่าน” เลย
มูลนิธิอมตะ เล็งเห็นถึงความสำคัญในจุดนี้ รางวัล “นักเขียนอมตะ” จึงเกิดขึ้น โดยมีแนวความคิดมาจาก ประภัสสร เสวิกุล นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เสนอต่อ วิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะ ซึ่งในขณะนั้นได้ทำงานร่วมกันในการจัดทำหนังสือชีวประวัติเชิงนวนิยาย “ผมจะเป็นคนดี”
ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อยกย่องนักเขียนไทยที่มีความสามารถ ผู้สร้างสรรค์ผลงานอันมีคุณค่าควรแก่การเผยแพร่ชื่อเสียงสู่สังคมไทยและสากล รางวัล “นักเขียนอมตะ” จึงถือเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศ ซึ่งเปี่ยมด้วยคุณค่าและมาตรฐาน คงไว้ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ อิสระและเชิดชูประวัติแห่งผู้อุทิศตนที่ทุ่มเทสร้างผลงาน
และในปีนี้ ทางมูลนิธิอมตะ ได้มอบรางวัลนักเขียนอมตะครั้งที่ 5ให้แก่ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อ. แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ โดยคณะกรรมการพิจารณารางวัลเห็นชอบร่วมกันว่า
“พระไพศาล วิสาโล เจ้าของผลงานกว่าร้อยเรื่อง อาทิ สันติวิธีวิถีแห่งอารยะ ไม่ผลักไสไม่ใฝ่หา พุทธศาสนาไทยในอนาคต และขอคืนพื้นที่ธรรม เป็นต้น พระไพศาลผู้นี้ คือปราชญ์แห่งยุคสมัยของแผ่นดิน เป็นนักคิด นักเขียน ผู้นำวิถีแห่งพุทธธรรมมาสร้างสรรค์ผลงานอันล้ำค่า สะท้อนแง่มุมของปรากฏการณ์สังคมด้วยนัยแห่งจิตวิญญาณ ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาอันเนื่องมาจากข้อขัดแย้งต่างๆ บนวิถีแห่งสันติ และก่อเกิดศรัทธาแห่งธรรมะขึ้นในจิตใจ” จึงเป็นผู้เหมาะควรแก่รางวัลนักเขียนอมตะทุกประการ
ด้านประธานมูลนิธิอมตะ วิกรม กรมดิษฐ์ กล่าวถึงรางวัลนักเขียนอมตะว่า ตนจะขอสนับสนุนรางวัลนี้ไปตลอด ๑๐ ปี ตามที่ตั้งใจไว้ และหากในวันข้างหน้าแรงกายแรงใจยังพร้อมก็จะขอเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันวงการนักเขียนต่อไป เพราะทราบดีถึงความลำบาก และเต็มไปด้วยขวากหนามของการผลิตผลงานดีๆ สักเล่มหนึ่งให้สังคม
ทั้งนี้ พระไพศาล วิสาโล ได้บริจาคเงินสนับสนุนจำนวน 1,000,000บาท ที่ได้รับในฐานะนักเขียนอมตะคนที่ 5 ให้แก่ “มูลนิธิโกมลคีมทอง” เพื่อเป็นทุนสนับสนุนคนรุ่นใหม่ในด้านงานคิดงานเขียน ด้านงาน สนพ.ของมูลนิธิ และองค์กรชาวบ้านอื่นๆ ที่กำลังต่อสู้โดยสันติวิธีเพื่ออนุรักษ์วิถีชีวิตและชุมชนเกษตรกรรมของตน เนื่องด้วยตระหนักดีว่า ชีวิตการเขียนของท่านเริ่มต้นอย่างจริงจัง และเจริญงอกงามด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิตั้งแต่ท่านยังเป็นนักศึกษาเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ทั้งยังให้โอกาสตีพิมพ์หนังสืออีกหลายเล่ม รวมทั้งหนังสือเล่มแรกในชีวิตของท่านด้วย
อนึ่ง มูลนิธิอมตะได้มอบรางวัลนักเขียนอมตะให้แก่นักเขียนผู้พร้อมด้วยความทุ่มเท มีผลงานต่อเนื่องตีพิมพ์เป็นภาษาไทย เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี มาแล้วถึง 4 ท่านด้วยกัน ได้แก่ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ นามปากกว่า “เสนีย์ เสาวพงศ์” ได้รับรางวัล “นักเขียนอมตะ” ปี 2547, โรจ งามแม้น นามปากกา “เปลว สีเงิน” ปี 2548, อาจารย์โกวิท อเนกชัย หรือ “เขมานันทะ” ปี 2549-2550 และ อาจารย์สมบัติ พลายน้อย หรือ “ส.พลายน้อย” ได้รับรางวัลปี 2551
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net