xs
xsm
sm
md
lg

สุกี้-กมล สุโกศล แคลปป์ ...นักเดินทางสู่ ‘จุดเริ่มต้น’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
     เขาคือหนึ่งในอดีตผู้บริหารค่ายเพลง ‘เบเกอรี่ มิวสิค’ ที่รวบรวมคนทำเพลงคุณภาพไว้ไม่น้อย ผลงานที่เขาและเพื่อนร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นยังอยู่ในความจดจำของคนฟังเพลงอย่างไม่มีวันล้าสมัย 
 
    
     เขาคือ สุกี้-กมล สุโกศล แคลปป์ คนทำเพลงที่บอกว่าการทำเพลงคือ ‘ชีวิต’ที่เขาไม่เคยคิดวาดถึงวันที่ต้องเลิกรา เพราะเหตุนั้น เมื่อค่ายเพลงที่เขาและเพื่อนร่วมกันสร้างขึ้น ไม่อาจฝืนทานต่อการแข่งขันในโลกธุรกิจ สุกี้จึงรู้สึกสูญเสีย ด้วยความที่เป็นคนซีเรียส จริงจัง ทุ่มให้งานแบบเต็มร้อยเสมอมา จึงทำให้สมองไม่เคยหยุดครุ่นคิด ว่า
 
    
     “ผมไม่รู้จะทำอะไรดี คิดยังไงก็คิดไม่ออกว่าผมจะไปทำอะไร? ผมจะอยู่ยังไง? 
    
     “ถ้าไม่ทำเพลง ไม่เขียนเพลง แล้วผมจะไปทำอะไร? เพราะชีวิตผมที่ผ่านมาผมทุ่มให้กับการทำเพลงมาตลอด ” 
 
    
     เขาทั้งเหนื่อยล้า กังวล ร้อนรน ไม่อาจทำใจให้คุ้นชินได้ กับวิถีชีวิตที่ต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง 
 
    
     “ตื่นเช้ามา ผมไม่ต้องไปทำงานแล้วเหรอ? ไม่ต้องทำเพลง ไม่ต้องเขียนเพลงแล้วเหรอ? มันไม่ใช่ตัวผมเลย” 
 
    
     กระทั่งเพื่อนคนหนึ่ง บอกกล่าวกับเขาด้วยประโยคสั้นๆ 
     
    
     “ไม่เห็นต้องกังวลเลย ไม่ได้ทำงานก็ดีแล้ว ใช้ชีวิตให้สนุกสิ เต็มที่ไปเลย”
และทั้งที่ฟังแล้ว เขายังค้างคาใจ ‘เฮ้ย ! ไม่ทำงานแล้วชีวิตมันสนุกได้ด้วยเหรอวะ’

 
     แต่ในที่สุด เขาก็เรียนรู้ที่จะ ‘หยุดคิด’ พักสมอง แล้วปล่อยให้ใจนำทาง ปลดปล่อยสัญชาตญาณให้ผลักดันเขาก้าวออกมาจากสิ่งเดิมๆ ที่เก็บกักอัดแน่นในใจ 
 
    
     “นั่นสิ เรียนจบผมก็ออกมาทำงาน ผมยังไม่เคยใช้ชีวิตเลย ผมมองเห็นทุกอย่างเป็นงาน มองเป็นเพลง เพลง เพลง ผมไม่เคย ‘หยุด’ เพื่อให้ตัวเองเรียนรู้ชีวิตด้านอื่นๆ เลย” 
 
    
     สัญชาตญาณและเสียงในใจ ชักนำให้เขาคว้ามอร์เตอร์ไซค์วิบากออกท่องโลก... และนับแต่นั้น...โลกในใจของเขาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง มันกว้างขึ้น เย็นขึ้น สงบเงียบยิ่งขึ้น คล้ายทุกสิ่งในใจที่เคยหนาหนักเริ่มคลายตัวสู่ ‘จุดเริ่มต้น’ 
 
    
     “การขี่มอร์เตอร์ไซค์ท่องเที่ยวครั้งนั้น ทำให้ผมรู้ว่า ชีวิตต้องบาลานซ์ ต้องหยิน-หยาง ต้องสมดุล ไม่ใช่ทำแต่งานแล้วไม่ยอมให้ชีวิตหยุดพัก หรือเอาแต่เที่ยวไม่ยอมทำงานทำการก็ไม่ได้ เชื่อไหม? ผมชอบหาคำตอบให้ชิวิตอยู่เสมอ หาจากการอ่านหนังสือปรัชญามากมาย แต่ผมไม่เคยพบเลย จนเมื่อผมได้ลองถอยออกจากชีวิตเดิมๆ ได้ลองไปสัมผัสอะไรใหม่ๆ จึงทำให้ผมค้นพบว่า ชีวิตต้องสมดุล ดังนั้น ทุกวันนี้ผมก็ยังทำงานของผมไป แต่ผมจะบังคับตัวเองให้ขี่มอร์เตอร์ไซค์ท่องเที่ยวเดือนละ 2 ครั้ง บางคนสงสัยว่า ผมไปคนเดียวไม่อันตรายเหรอ? แต่ผมไม่กลัวนะ ”

 
 
     สุกี้บอกว่า การออกเดินทางสัมผัสโลกกว้างด้วยมอเตอร์ไซค์ซึ่งผู้ขับขี่สามารถสูดกลิ่นดิน ฝน ลม ฟ้า ได้อย่างใกล้ชิดยิ่งกว่าเดินทางด้วยยานพาหนะอื่นๆ นั้น...ยิ่งนับวัน ก็ยิ่งส่งให้สัญชาตญาณของเขาถูก ‘ลับ’ ให้ ‘คม’ จนกระทั่งจิตใจพร้อมเปิดกว้างและปล่อยวางได้อย่างเต็มที่ ไร้ความกังวลในแต่ละครั้งที่ออกเดินทางจากเหนือจรดใต้ จากผืนทะเล หาดทรายจรดผืนฟ้าริมขอบดอย 
 
    
     “คนเรามี ‘ใจ’ และมี ‘สมอง’ แน่นอนเวลาผมดีลธุรกิจ ผมต้องใช้สมองขับเคี่ยว ใช้ใจไม่ได้หรอก ถ้าใช้ใจผมก็แพ้ แต่เวลาคุยกับศิลปิน ผมก็ต้องใช้ใจช่วยเขาหน่อย แต่รู้ไหม? ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่ง เวลาที่ผมไม่แน่ใจว่าผมจะใช้ใจหรือใช้สมอง ผมจะเชื่อ ในสัญชาตญาณของตัวเอง และบ่อยมากที่ผมใช้สัญชาตญาณแล้วทุกอย่างเป็นไปอย่างที่ผมเชื่อมั่น หลายๆ ที่ที่ผมไป เมื่อผมใช้สัญชาตญาณ มันก็เป็นไปอย่างที่ผมคิดจริงๆ น่าประทับใจทั้งผู้คน สถานที่”
 
    
     แต่ใช่เพียงปล่อยใจไปตามสัญชาตญาณ หากเป็น ‘สัญชาตญาณที่เปี่ยมด้วยสติสัมปชัญญะ’ นั่นต่างหาก จึงถือเป็นเครื่องคุ้มภัยอันเปี่ยมประสิทธิภาพ นำไปสู่การวางใจ...พร้อมเปิดทุกประสาทสัมผัสเพื่อรับรู้ทุกรายละเอียดข้างทาง

 
     “ผมขอย้ำว่า 'สติ' สำคัญที่สุด ถ้าคุณไม่มีเมื่อไหร่ คุณ ‘หลุด’ เมื่อนั้น คุณต้องไม่ลืมว่าสิ่งสำคัญในการขี่มอเตอร์ไซค์ อย่างแรกที่ผมถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดคือ สติ 
 
    
     "อย่างที่สองคุณต้องรู้ลิมิตของตัวเอง และอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้และเป็นสิ่งที่ผมอยากจะเตือนที่สุดก็คือ คุณต้องจำไว้ว่า มอร์เตอร์ไซค์ไม่ใช่ของเล่น ดังนั้น ทุกครั้งที่ขี่มัน คุณต้องระวัง ต้องมีสติอยู่เสมอ” 
 
    
     สุกี้ยืนยันถึงสิ่งเหล่านี้ เพราะตัวเขาเองเคยเผชิญหน้า กับภาวะเผลอไผล ปล่อยสติ ‘หลุด’ จนเกือบปางตายมาแล้ว
     สุกี้บอกว่า มันคืออุบัติเหตุอันมีที่มาจากความชะล่าใจ ผนวกกับความเหิมเกริม อหังการ เผลอใจ หลงคิดว่าตัวเอง ‘คุมอยู่’ ไม่ฉุกคิดว่ารถที่แรงสูบไม่ต่ำกว่า 200 แรงม้า กลับฉาบหน้าไว้ด้วยความนิ่ง เรียบ จนหลงตายใจ 
 
    
     ความเมามันส์เพียงชั่วขณะ ทำให้‘ดูกาติ’ มอร์เตอร์ไซค์คู่ใจที่เขาตั้งชื่อให้เพราะพริ้งว่า ‘เจสสิก้า’ กลับพาเขาลอยลิ่วพุ่งลงแม่น้ำแถวเมืองกาญจนบุรีจนต้องนอนพักรักษาอยู่นานนับ 8 เดือน ร่างกายและจิตใจจึงกลับมาแข็งแรง เป็นปรกติ เพราะต้องใช้เวลาไม่น้อย ในการปรับสภาพกายและใจให้พร้อมออกเดินทางอีกครั้ง 
 
    
     และนั่น...คือเหตุการณ์สำคัญที่ย้ำเตือนเขาอยู่เสมอทุกขณะจิต ก่อเป็นอุปนิสัย เป็นสิ่งที่เขาจดจำไว้ในทุกครั้งที่ควบขี่มอร์เตอร์ไซค์ซึ่งถือเป็นเพื่อนร่วมทาง ซึ่งอุปนิสัยข้อนี้ ทำให้ใจของเขาพร้อมเปิดรับสัมผัสกับทุกสิ่งรอบกายทั้งมองเห็นถึงรายละเอียดข้างทางได้อย่างแจ่มชัด
 
     
     “เวลาใช้รถยนต์ เราเหมือนนั่งอยู่ในกล่อง เหมือนอยู่ในตู้เย็น เราไม่โดนลม ไม่รู้ว่าลมมีกลิ่นยังไง ฝนตกเราก็ไม่โดนฝน ไม่ได้กลิ่น เราสัมผัสมันไม่ได้ แต่กับมอเตอร์ไซค์ เรารับรู้ได้หมดทุกประสาทสัมผัส ดังนั้น มันเทียบกันไม่ได้เลย แล้วมันก็ง่ายเวลาที่เราอยากจะแวะไปไหน มันทำให้เราสัมผัสกับสิ่งรอบข้างได้มากขึ้น”

 
 
     เขาย้ำอย่างชัดเจน ว่า
 
     “สำหรับผม การขี่มอร์เตอร์ไซค์ท่องเที่ยว มันคือ ‘กายภาพบำบัดทางสมอง’ มันทำให้ผมกลับมาเริ่มต้นที่ ‘ศูนย์’ ใหม่อีกครั้ง มันเหมือน ‘รีเซต’ ใหม่ พาเรากลับสู่ความเงียบ สู่ความสงบ พบเจอสิ่งใหม่ๆ พบเจอผู้คน สถานที่ ประสบการณ์ที่ประทับใจ แต่ประเด็นมันไม่ใช่แค่การเดินทางท่องเที่ยว มากกว่านั้น มันทำให้เรารู้ว่าโลกนี้ยังมีอะไรอีกเยอะแยะ ไม่ได้มีแค่เพลง จากที่เมื่อก่อนผมมีแต่เพลง เพลง เพลงอยู่ในหัว การเดินทางมันทำให้เราเห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น"

 
     “ตอนเราขี่มอร์เตอร์ไซค์ มันบังคับให้เราอยู่กับปัจจุบัน ค่อนข้าง ‘พุทธ’ นะแม้ผมไม่ใช่พุทธก็ตาม วินาทีที่ขี่มอร์เตอร์ไซค์เราไม่ต้องนึกถึงอนาคต ไม่ต้องคิดถึงอดีต แต่เราอยู่กับปัจจุบัน
 
     “สมัยผมอยู่เบเกอรี่ฯ ผมทำงานหนักมาก ทำงานทั้ง 7 วัน ไม่มีวันหยุด แต่เมื่อผมผ่านจุดนั้นมาแล้ว ผมก็บอกตัวเองว่าผมจะไม่ทำแต่งานจนลืม ‘ใช้ชีวิต’ ซึ่งการเดินทางท่องเที่ยว มันทำให้ชีวิตผมสมดุล”

 
     ทุกวันนี้ เขาจึงยัง ‘เดินทาง’ เพื่อแสวงหาและครอบครอง ‘สมดุล’ แห่งชีวิต
 
                   ….............
             เรื่องโดย : นางสาวยิปซี
               ภาพโดย : วรงค์กรณ์ ดินไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น