xs
xsm
sm
md
lg

“หญิงแมงมุม-ม.ร.ว.ศรีคำรุ้ง ยุคล” เผยวิธีคิดวิธีอยู่กับโรคพุ่มพวง แม้ไม่หายขาดแต่พลังใจเพียบ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

By Lady Manager

ย้อนไปราว 2 ปีก่อน หลายคนคงคุ้นหูกับกระแสข่าว หญิงแมงมุม-ม.ร.ว.ศรีคำรุ้ง ยุคล ไฮโซสาวสวย ธิดาคนโตของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล และ หม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา ป่วยเป็นโรคพุ่มพวง ซึ่งทำให้เกิดภาวะบวมน้ำ รูปร่างเปลี่ยน จนต้องเฟดตัวออกจากแวดวงสังคมไปพักใหญ่

ณ วันนี้ คุณแมงมุมกลับมาอีกครั้ง ด้วยรูปร่างเพรียวบาง พร้อมใบหน้าและแววตา ที่สดใสขึ้นอย่างเห็นได้ชัด …เลยต้องมาอัพเดทกันเสียหน่อยว่า กว่า 2 ปีที่ผ่านมานั้น ชีวิตของเธอเป็นอย่างไร แล้วโรคร้ายที่ประสบนั้นหายดีแล้วหรือยัง?

เมื่อโรคพุ่มพ่วง เข้าถ่วงดุลชีวิต

หญิงแมงมุมย้อนความให้ฟังถึง อาการป่วยด้วยโรค SLE (Erythematosus) หรือ โรคลูปัส (Lupus) ว่า คือโรคที่คนไทยมักเรียกว่า 'โรคพุ่มพวง' เพราะสืบเนื่องมาจากอดีตราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ เสียชีวิตด้วยโรคนี้ และตัวเธอเริ่มถูกเจ้าโรคดังกล่าวเข้ามากล้ำกรายเมื่อราว 7 ปีก่อน

“โรคลูปัสเป็นอาการที่ร่างกายแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง คือ ภูมิคุ้มกันตัวเองแข็งแรงเกินไป จึงส่งผลกระทบต่อเซลล์ในร่างกาย ทั้งเซลล์ดีและไม่ดี เลยเกิดเป็นภาวะไม่ปกติในร่างกาย

แมงมุมเริ่มเป็นโรคนี้เมื่อ 7 ปีก่อน ตอนนั้นแมงมุมเรียนอยู่ต่างประเทศ พอปิดเทอมกลับมาเมืองไทย จู่ๆ ก็ไข้ขึ้น พอไปโรงพยาบาล คุณหมอคิดว่าเป็นไข้ ก็ให้ยากลับมา แต่ทานแล้วก็ไม่หาย พอกลับไปตรวจซ้ำ เลยรู้ว่าเป็นโรคนี้”

คุณแมงมุมเล่าต่อว่า แม้จะเป็นโรคลูปัสนี้มานาน ทว่าอาการก็ไม่ได้หนักหนาจนน่าวิตก กระทั่ง 2 ปีก่อน โรคนี้ได้ลุกลามไปที่ไต ทำให้เกิดภาวะไตรั่ว มีอาการบวมน้ำ และเหตุการณ์นั้นเองทำให้เธอ ต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานถึง 1 เดือน และกลับมาพักฟื้นที่บ้านอีกกว่า 1 ปี

“แมงมุมเป็นหนักเมื่อไม่นานนี้เอง ประมาณ 2 ปีกว่า เพราะว่าโรคมันลงไปที่ไต เกิดภาวะไตรั่ว ช่วงนั้นต้องดื่มน้ำตามปริมาณที่คุณหมอบอก คุณหมอให้ดื่มได้เท่าไหร่ก็ต้องดื่มเท่านั้น แล้วห้ามทานเค็มเลย ส่วนผิวจะแพ้ง่ายมากโดนอะไรนิดหน่อยก็จะช้ำ เพื่อนมาเล่นด้วย แค่ดึงแขนก็ช้ำเป็นรอยนิ้วแล้ว หรือเวลาไปอยู่ในที่มีฝุ่นนิดเดียวก็จะคัน แดงไปหมด ตอนนั้นคุณหมอก็ไม่ทราบว่า มันกำเริบเพราะอะไร คือ โรคนี้มันเป็นโรคที่ยังต้องเรียนรู้อีกเยอะ การรักษาก็ยังเป็นการรักษาตามอาการ ถ้าลงไต ก็หาหมอไต บางคนลงตับ ก็ต้องหาหมอเกี่ยวกับตับ ยารักษาโรคโดยตรงยังไม่มี ก็เลยต้องเข้ารักษาด้วยภาวะไตรั่ว นอนอยู่ที่โรงพยาบาล 1 เดือน และกลับมาพักอยู่บ้านอีก 1 เดือน

หลังออกจากโรงพยาบาลช่วงแรก ออกจากบ้านไม่ได้ค่ะ หมอให้อยู่บ้านเดือนนึง พอหลังจากนั้น ออกจากบ้านได้บ้าง แต่ก็ยังห้ามเดินห้างสรรพสินค้า ห้ามเข้าโรงหนัง ต้องเลี่ยงสถานที่ที่มีคนเยอะ เพราะร่างกายเราอ่อนแอมาก จะติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นถึงออกจากโรงพยาบาล ก็ไปไหนไม่ได้อีกเกือบปีเหมือนกัน”


มรสุมโรคร้ายทำน้ำหนักขึ้น 10 กิโลฯ ในเวลา 3 วัน!
“คุณหญิงแมงมุม” เมื่อครั้งอยู่ในระยะพักฟื้นร่างกาย จากภาวะไตรั่ว
ต้องยกนิ้วให้ความแข้มแข็ง และเด็ดเดี่ยวของคุณหญิงแมงมุมจริงๆ เพราะเธอเล่าด้วยน้ำเสียงมั่นใจว่า ตั้งแต่ถูกโรคร้ายรุมเร้ามากว่า 7 ปีนั้น เธอเคยร้องไห้ให้กับมันเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

“ตั้งแต่ป่วย แมงมุมร้องไห้ครั้งเดียว อาจเป็นเพราะว่า ตอนแรกที่รู้ว่าเป็น เราไม่เข้าใจว่าโรคนี้จริงๆ แล้วมันคืออะไร ที่ร้องไห้คือวันที่ไม่สบายมากๆ ไม่นานนี้เองค่ะ ตอนที่ร้องก็คือ ตอนที่ลงไต แล้วทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปเลย เหมือนไม่ใช่เรา คือ ตัวมันจะบวมน้ำ น้ำหนักขึ้นมา 10 กิโลฯ ภายใน 3 วัน พอเราดูกระจกแล้วเราตกใจ เพราะเราช็อก

เวลาเป็นโรคข้างในเราไม่รู้ เราไม่เห็น เพราะเราไม่ใช่หมอ เราก็ไม่ได้รู้สึกอะไร อาจจะรู้สึกป่วยนิดหน่อย แต่เราทนได้ แต่พอรูปร่างเปลี่ยนมันเห็นน่ะ ดูกระจกแล้วเห็นว่าหน้าเป็นเรา แต่ตัวไม่ใช่เรา มันตกใจ เลยรู้สึกเครียด แต่พอมาคิดว่า เอ๊ะ! ยิ่งเราเครียด มันก็จะยิ่งเป็นหนักนะ ก็เลยต้องทำใจให้เข้มแข็ง"

ผ่านพ้นโรคร้าย ด้วยหลากหลายกำลังใจ

หลังเล่าเรื่องราวในอดีต ที่เธอฝ่าฟันมาได้ ธิดาแห่งราชสกุลยุคลเล่าต่อว่า ณ เวลานั้น เธอผ่านพ้น ช่วงเวลาวิกฤติมาได้ ก็ด้วยกำลังใจทั้งของตัวเอง และผู้คนรอบข้าง

“ช่วงที่ป่วยหนักเมื่อ 2-3 ปีก่อน ระหว่างที่อยู่โรงพยาบาลก็ออกแบบกระเป๋า Mangmoom (แบรนด์กระเป๋าของคุณแมงมุมเอง) แล้วก็ดูหนังบ้าง หรือมีเพื่อนมาหาก็คุยกับเพื่อน คือ แมงมุมคิดว่าต้องหาอะไรทำ อย่าให้เราต้องไปหมกหมุ่นกับมัน หรือถ้าจะหมกมุ่น ก็ต้องหมกมุ่นกับมันในทางที่ดี กลับมาดูแลตัวเอง กลับมาดูตัวเองสิว่า จะทำอย่างไรให้เราดีขึ้น ไม่ใช่ไปนั่งคิดแต่ว่า ทำไมเราถึงป่วย ทำไม...ทำไม อันนั้นไม่ต้องคิด ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหมอผู้รักษา เพราะเราคิดไป ก็ไม่ได้ช่วยทำให้ร่างกายดีขึ้น สิ่งที่เราทำได้ก็คือต้องดูแลตัวเองมากขึ้นเท่านั้นเอง”

แน่นอน ไม่เพียงแต่กำลังใจอันเข้มแข็งของตัวเองเท่านั้น อีกพลังใจสำคัญ ที่ร่วมผลักดันให้เธอยิ้มสู้ความเจ็บป่วยมาได้ ก็คือ แรงใจจากครอบครัวที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นของเธอ

“แมงมุมได้กำลังใจจากครอบครัวเยอะมาก ตอนที่อยู่โรงพยาบาล ท่านพ่ออยู่ด้วยตลอดเลย ตอนเช้าก็มาแล้ว มานั่งอ่านหนังสือ มาอยู่ในห้องเป็นเพื่อน ส่วนคุณแม่ก็ดูแลตลอด อย่างเรื่องยา คุณแม่จำได้ยิ่งกว่าแมงมุมอีก จัดยาโปรฯ (Professional) มาก จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังคอยจัดยาให้แมงมุมตลอด แมงมุงโชคดี ที่มีท่านพ่อกับคุณแม่ และเพื่อนๆ อยู่ด้วยตลอด ทำให้อะไรมันง่ายขึ้น สุขภาพจิตดีขึ้น ตอนนั้นในห้องแมงมุมที่โรงพยาบาลจะครึกครื้นมาก มีคนอยู่ตลอดเวลา ทั้งคุณตา คุณยาย และครอบครัวจะรู้ว่าแมงมุมชอบเล่นกับเด็ก ที่บ้านก็จะเอาหลานๆ มาอยู่ด้วย เพื่อให้เราไม่เครียด”

ด้านน้องชายสุดเลิฟของเธอ ก็รักพี่สาวถึงขนาดทุ่มเท ย้ายที่เรียนเพื่อหวังตามติด ดูแลสุขภาพพี่สาวคนสวย

“น้องชาย (คุณชายอดัม-ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล) เป็นอีกคนสำคัญ ที่อยู่เป็นเพื่อนตลอด ตอนที่แมงมุมไม่สบาย เขาจะทำให้แมงมุมทุกอย่างเลย อย่างตอนที่แมงมุมไม่สบายช่วงแรกๆ แต่แมงมุมต้องไปเรียนมหาวิทยาลัยที่ออสเตรเลีย ตอนแรกอดัมเขาต้องไปเรียนที่อังกฤษ เพราะเขาสอบได้ที่อังกฤษ แต่เขาก็ตัดสินใจย้ายมาเรียนที่ออสเตรเลีย เพื่อมาอยู่เป็นเพื่อน เผื่อแมงมุมไม่สบายตอนกลางคืน จะได้มีคนพาไปโรงพยาบาล เพราะโรคนี้เวลาเป็นหนักๆ มันจะชักด้วย ก็เลยต้องมีคนอยู่ด้วยตลอด

อดัมเขาจะดูแลตลอด เวลาช่วงไหนสอบ ช่วงไหนที่ทำรายงานเยอะๆ ไม่ได้นอน เราก็จะไม่สบายมาก ตัวบวมไปสอบไม่ได้ เขาก็ต้องไปเอารับรองแพทย์ พาหมอมาหาที่บ้านเพื่อฉีดยาให้ เคยเป็นเหมือนอัมพาตอยู่ครั้งนึง ลุกไม่ได้เลย มันเหมือนผีอำเลย แต่โชคดีมาก วันนั้นออกมานอนที่ห้องรับแขก เพราะดูทีวีเพลิน นอนดูแล้วหลับไป ตื่นขึ้นมาก็ขยับตัวไม่ได้ จนน้องชายตื่นขึ้นมาเจอเขาก็ตกใจ ถามว่าทำไมไม่ไปเรียน เราก็บอกขยับตัวไม่ได้เลย เขาเลยต้องไปตามคุณหมอมาฉีดยาให้ ถ้าเราอยู่คนเดียว ทำไงล่ะ.. ก็ถือว่าเป็นโชคดี ที่เขาไปอยู่ด้วย”

เข้มแข็งเต็มเปี่ยม แม้ต้องทานยานับสิบ เลี่ยงสารพัดปัจจัยเสี่ยง

หลังผ่านวันฟ้าหม่น ที่โรครุมเร้า สาวสังคมเแสนเปรี้ยวบอกอย่างมั่นใจว่า ในวันนี้เธอใช้ทุกนาทีอย่างมีความสุข แม้โรคนี้จะไม่หายขาด ส่งผลให้ต้องเข้า-ออกโรงพยาบาลอยู่เป็นนิจ, ต้องควบคุมอาหารสารพัด หรือกระทั่งต้องทานยาเป็นกำมือ แต่เธอก็พร้อมยิ้มสู้เสมอ

“อาการตอนนี้ดีขึ้นเยอะเลยค่ะ แต่ยังต้องไปตรวจอยู่ทุกเดือน ทั้งตรวจค่าไต ตรวจเลือด อย่างช่วงนี้เริ่มรู้สึกมึนๆ ศีรษะ คุณหมอก็นัดให้ไปตรวจแล้ว เพราะโรคนี้ ความดันมันอาจจะสูง หรือไขมันอาจจะสูงขึ้นได้ตลอด มันมีปัญหาสุขภาพหลายส่วนตามมาเยอะ ก็ต้องคอยตรวจว่าเกิดอะไรขึ้น

ส่วนอาหารการกิน จริงๆ มันควรจะระวังกว่านี้ ตอนนี้แมงมุมเริ่มเกเรแล้ว พอรู้สึกว่าตัวเองดีขึ้น จากที่เคยเก็บกด ก็เริ่มทานแล้ว (หัวเราะ) เพราะแมงมุมเป็นคนทานเยอะมาก เป็นชอบทาน ซึ่งจริงๆ แล้วคุณหมอห้ามทานของข้างถนน อย่างเช่นส้มตำ เพราะคุณหมอบอกว่า ไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่บ้าง หรืออย่างห้ามทานเค็ม แต่แมงมุมชอบค่ะ ก็มีแอบทานบ้าง แต่ช่วงที่ป่วยหนักๆ จะไม่มีเลยนะคะ ทุกมื้อจะทานอาหารที่บ้านหมดเลย แต่พออาการดีขึ้นก็เริ่มมีทานนอกบ้านบ้างแล้ว”

ถึงจะอาการดีขึ้นมาก แต่เมื่อได้ทราบจำนวนยาที่เธอต้องทานแล้ว เราต้องอึ้งไปเล็กน้อย..

“ทุกวันนี้ยังทานยาอยู่ตลอดค่ะ มีทั้ง สเตียรอยด์ (Steroids) ยาลดไขมัน ยาลดความดัน ยาฆ่าเชื้อ เยอะมากค่ะ ประมาณ 20 กว่าเม็ดต่อมื้อ แต่ไม่ถึง 20 ทุกมื้อนะคะ มื้อแรกของวันจะประมาณ 20 กว่าเม็ด มื้อรองๆ ก็น้อยหน่อย อาจแค่ 3-5 เม็ด”

เห็นเราทำหน้าอึ้ง คุณแมงมุมรีบบอกด้วยน้ำเสียงสดใสว่า การทานยาเยอะไม่ใช่เรื่องน่าวิตก และเธอก็เป็น “นักทานยามืออาชีพ” ไปแล้ว

“แมงมุมโปรฯ มาก แมงมุมทานยาเก่งนะคะ ไม่ต้องใช้น้ำเลย กินเป็นขนมได้เลย ทานยาอิ่มค่ะ (หัวเราะ) แต่คุณหมอก็พยายามจะลดลงมาเรื่อยๆ จากแต่ก่อนที่ต้องทานสเตียรอยด์เป็นสิบๆ เม็ดต่อวัน ตอนนี้ก็เหลือแค่ครึ่งเม็ดแล้ว

เวลามีคนถามว่ากินยาเยอะรู้สึกแย่มั้ย แมงมุมไม่คิดอย่างนั้นนะ รู้สึกแค่ว่า ถ้าเราทานแล้ว เราดีขึ้น เราก็ต้องทาน แมงมุมลองมาหมดแล้ว ทั้งฝังเข็ม นวดรัสเซีย ทานยาต้ม ลองมาหมดแล้ว มันไม่ดีขึ้น แต่พอทานยาแผนปัจจุบันแล้วมันดีขึ้น บวกกับการดูแลตัวเองมากขึ้นด้วยนะคะ ก็เลยตกลงว่าเราจะรักษาทางนี้ คือ มีคนหวังดีเอาสมุนไพรมาให้ทาน เราก็ลองแล้ว กับบางคนอาจจะหาย แต่กับแมงมุม มันไม่ดีขึ้น เลยคิดว่าเลือกรักษาทางแผนปัจจุบันนี้ดีกว่า”

แข็งแรงกายใจ เพื่ออยู่ร่วมกับโรคที่ไม่สามารถหายขาด

แม้โรคร้ายลูปัสจะเป็นโรคดื้อแพ่ง ที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถประคองอาการไม่ให้กำเริบได้ ทว่าคุณแมงมุมยอมรับว่า สาวเปรี้ยวอย่างเธอก็มีแอบซน ฝืนคำสั่งหมอบ้าง เพื่อให้ตัวเองไม่รู้สึกว่าเป็นคนป่วย นี่แหละ..อีกเคล็ดลับ ทำให้อยู่กับเจ้าโรคร้ายได้อย่างมีความสุข

“ตอนนี้โรคไม่ค่อยกำเริบแล้ว มีบ้างแต่น้อยลงเยอะ น้อยลง 70-80% แล้ว ซึ่งคุณหมอบอกว่าโรคนี้ไม่มีทางที่จะหายขาด แต่ว่ามีทางที่จะทำให้มันสงบ วิธีการทำให้มันสงบก็คือ ทำร่างกายให้แข็งแรง ดูแลตัวเอง ไม่เครียด ไม่โดนแดดแรงๆ สำหรับแมงมุมนะคะ เพราะแมงมุมเป็นคนแพ้แดด การโดนแดด จะทำให้โรคนี้กำเริบ เพราะแสงยูวีไม่ถูกกับโรคนี้ ไปไหนแมงมุมก็ต้องกางร่ม

แต่แมงมุมเป็นคนชอบทะเล แต่ก่อนชอบอาบแดดมาก แมงมุมชอบดำน้ำ ชอบว่ายน้ำ พอสุขภาพเริ่มดีขึ้นก็มีแอบไปว่ายน้ำบ้างนิดหน่อย ไม่งั้นเดี๋ยวเครียด พอหมอถามทำไมคล้ำลง ก็อ๋อ! ไอแดดค่ะหมอ (หัวเราะ) แต่จริงๆ หมอท่านก็คงรู้แหละ แต่มันก็ต้องมีบ้างนิดหน่อย ให้เรารู้สึกว่า เราไม่ใช่คนป่วย แต่อย่าทำมากเกินไป จนเราไม่สบาย เท่านั้นเอง”

ม.ร.ว.ศรีคำรุ้ง ยิ้มหวาน ปิดป้ายการสนทนาครั้งนี้ ...ที่ไม่เพียงทำให้ได้รู้ความเป็นไปในปัจจุบันของเธอ หากแต่ยังทำให้เราพลอยสดชื่น เพราะได้เห็นยิ้มมั่นใจ ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังความเข้มแข็งของเธอด้วย

>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net
กำลังโหลดความคิดเห็น