8 มีนาคม วันสตรีสากล สัมภาษณ์พิเศษ สุภาวดี หาญเมธี ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทรักลูกกรุ๊ป ผู้อุทิศตนกับงานแม่และเด็กร่วม 30 ปี จนโยงใยไปถึงกลุ่มผู้หญิงวัย40+
ทว่าขอบข่ายงานของเธอ ไม่ใช่แค่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ ทีวี ออนไลน์ หากรวมไปถึงการออกแบบจัดสร้างและบริหารแหล่งเรียนรู้ อย่างพิพิธภัณฑ์เด็ก การสร้างกิจกรรมจัดอบรมสัมมนาเรื่องสตรี-ครอบครัว ไม่ว่าจะในเมือง และชนบทห่างไกล
…ไปสัมผัสมุมมองความคิดของผู้หญิงคนที่ไม่ได้รักเด็กมาก่อนเลย แต่ทำไมประสบความสำเร็จกับตลาดแม่ลูกจัง
“…ตั้งใจสร้างคน เป็นพื้นที่หนึ่งในการสร้างสังคมเช่นกัน”
สุภาวดีเป็นนิสิตจุฬาฯซึ่งร่วมกิจกรรมทางการเมืองยุคตุลาฯและเข้าป่ามาก่อน พออกจากป่าปั๊บเธอก็พลิกแนวงาน แทนที่จะยึดงานเปลี่ยนบ้านแปลงเมือง กลับมุ่งทำงานเรื่องเด็กเพื่อสร้างคนดีกว่า
“ไอ้ที่เราเคยคิดอยากเปลี่ยนแปลงสังคม เรามาพบว่ามันไม่จริง มันไม่ง่ายอย่างนั้นหรอก และเรื่องใหญ่ที่ทำได้คือ การสร้างคน”
พื้นฐานเธอไม่ใช่คนรักเด็ก ตรงกันข้าม ออกจะรำคาญด้วยซ้ำ
“มีน้องเยอะ เลี้ยงน้องยั้วเยี้ย ไม่เคยรู้สึกรักเด็กเลย เบื่อน้องด้วยซ้ำ ตอนนั้นเป็นวัยรุ่นด้วยมั้ง ทีนี้ช่วงเข้าป่าพี่ประทับใจเด็กคนหนึ่งชื่อ เปี้ยก เป็นลูกของผู้หลักผู้ใหญ่ ตัวเล็กแต่เก่งจริงเจ้าหมอนี่ ปีนขึ้นต้นไม้ จัดการโน้นนี่ เดินขึ้นภูได้เป็นชั่วโมง เรารู้สึกเด็กคนนี้มหัศจรรย์ เขามีอารมณ์เด็กวัย 2 ขวบ เดี๋ยวปฏิเสธ เดี๋ยวชอบ ซึ่งน่ารักมาก เรารู้สึกเราเข้ากับเขาได้
ออกป่า พี่ก็เขียนเรื่องให้เขา “ผมชื่อเปี้ยก”..หลายตอน เพื่อนที่ทำหนังสือ‘ลูกรัก’ เห็นเราตั้งแต่สมัยเรียนทำกิจกรรมเกี่ยวกับหนังสืออยู่แล้ว มาชวนเป็นกองบก.‘ลูกรัก’ ทำได้ 3 เดือน คุณพิภพ ธงไชย ก็ชวนไปทำงานมูลนิธิเด็ก เราได้เห็นเรื่องเด็ก และบังเอิญตอนนั้นไปเป็นผู้จัดการบ้านทานตะวัน ไปรับเด็กขาดอาหารจากต่างจังหวัดมาทำให้แข็งแรง โภชนาการดี ก็ได้ไปเรียนรู้วิธีดูแลเด็ก ความสัมพันธ์แม่ลูกเป็นยังไง เห็นระบบพี่เลี้ยง ได้เข้าใจพัฒนาการเด็ก เพราะมีหมอเด็กมาแนะนำ ท่านบอกไม่ใช่ให้แต่อาหาร แต่อุ้มเขาบ้างกอดเขาบ้าง เราก็ค่อยๆ เรียนรู้”
จังหวะนั้นเอง เพื่อนจุฬาฯมาชวนทำบริษัทแปลนพับลิชชิ่ง ซึ่งเป็นที่ให้กำเนิด‘รักลูก’
“พี่คนหนึ่งอยากทำหนังสือสถาปัตยกรรม อีกคนอยากทำหนังสืออาหาร ก็คุยกันเยอะว่าใครอยากทำอะไร ตัวพี่บอกอยากทำหนังสือเด็ก เพราะตอนทำ‘ลูกรัก’ เรารู้สึกสนุก จึงประเมินกันว่า อันไหนมีความเป็นไปได้ทางการตลาด หนังสือแม่ลูกน่าจะไปได้ ทุกคนก็เลยยอมทำ‘รักลูก’ ตามเรา”
กว่าจะคัดออกมาเป็นชื่อ‘รักลูก’ ง่ายๆ ตรงๆ โดนใจคุณแม่ทุกยุคสมัย เธอเล่าพร้อมเสียงหัวเราะว่า
“ตบตีกันเยอะเหมือนกัน มี‘ลูกแม่’ ‘แม่จ๋า’ ตอนนี้แฟนเก่าๆ บอกน่าออกหนังสือ‘รักหลาน’นะ คือ เริ่มเป็นย่าเป็นยายกันแล้ว”
สุภาวดีหมายถึงกลุ่มคุณแม่ผู้ซื้อ‘รักลูก’อ่านประจำเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว
“บางทีเดินตามห้างฯเจอคนอ่านบอก เลี้ยงลูก โตมากับหนังสือ‘รักลูก’ พี่ก็ภูมิใจนะ เพราะตอบโจทย์ที่เราตั้งใจสร้างคน เป็นพื้นที่หนึ่งในการสร้างสังคมเช่นกัน เวลาผ่านมา 27-28 ปี พ่อแม่ในกลุ่มที่อ่าน‘รักลูก’มาตั้งแต่ช่วงโน้น พี่ว่าเค้าเป็นกลุ่มที่เลี้ยงลูกด้วยดี 90% เลยมีความรักความเอาใจใส่ หรือหนังสือ‘คู่มือเลี้ยงลูก’(โดยคุณหมอชนิกา ตู้จินดา) 25-26 ปียังไม่ล้าสมัย หลายคนไม่ทิ้งเลย มีคุณแม่คนหนึ่งตอนนี้เป็นยายแล้วบอกว่า เก็บหนังสือนี้ให้ลูกสาวที่มีลูก”
ขอบอก‘คู่มือเลี้ยงลูก’กว่า 400 หน้าหนาเตอะนี้ กลายเป็นคัมภีร์คลาสสิกสำหรับคุณแม่มือใหม่ พิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก
“เรามีหน้าที่ให้พ่อแม่ตั้งสติ …ของเล่นที่ดีที่สุดคือ ตัวพ่อแม่เอง”
“รักลูกพัฒนาตัวงานไปตามความสนใจของทีม”
หลังจากแยกตัวจากแปลนพับลิชชิ่ง สุภาวดีก็ขยายงาน ไม่ว่าจะเป็นนิตยสาร, พอกเก็ตบุ๊ค, ตอลดจนสื่อทีวี-วิทยุ ตลอดจนออกแบบจัดสร้างและบริหารแหล่งเรียนรู้ ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ สถาบัน-มูลนิธิ กระทั่งลงพื้นที่ชุมชน จัดกิจกรรมอบรมสัมมนา ในนาม‘รักลูกกรุ๊ป’
“ทำหนังสือ‘รักลูก’ได้ 13 ปี พบว่าผู้อ่านรักลูกของเราโตขึ้น บางคนบอกลูกโตแล้ว ไม่รู้จะอ่าน‘รักลูก’ยังไงแล้วล่ะ แต่ยังอยากสื่อสารตามความคิดกัน
เลยออก‘Life&Family’ ลูกโตแล้วควรทำไง ตัวเองก็โตขึ้น เรื่องความสัมพันธ์กับสามีที่อยู่กันมา 10 ปีแล้วจะจัดการยังไงกันต่อ และยังภาระหน้าที่การงานอีกซึ่งโตไปด้วย คนอ่านของ‘Life&Family’เป็นพวกผู้บริหาร หรือคนที่ประกอบกิจการส่วนตัวก็แก่กล้าพอสมควรแล้ว แต่ตลาดโฆษณาไปไม่ได้ ไปแบบเตาะแตะ มันไม่เจาะจงแบบลูกเล็ก มีสินค้าเด็ก ผ้าอ้อม นม ฯลฯ คือ ‘Life&Family’กว้างไปจนไม่รู้จะขายอะไร”
จึงขายโฆษณาไม่ค่อยได้ เธอยอมรับว่า
“ไม่ไหว ต้องเลิกไป”
หลังจากพยายามประคับประคองมาถึง 10 ปีแล้ว
“แต่ความสนใจตรงนี้ยังมีอยู่ คนทำงานวัย 40 กว่าสนุกจะตาย ยิ่งตอนหลังมานี้มีเทรนด์ว่า คนเริ่มมีอายุมากขึ้น ตายช้าลง ก็ดูกันว่าหลังอายุ 40 ไปใช้ชีวิตกันยังไงให้สนุกกับชีวิต มีความสุขกับชีวิต โดยไม่ใช่แค่เตรียมเป็นยายเป็นย่า ไม่ต้องหงอยขนาดนั้น”
ดังนั้น โปรเจกต์ Women Business หมั่นจัดกิจกรรมสำหรับผู้หญิงวัย40+ และสำนักพิมพ์ More of Life เน้นออกพอกเก็ตบุ๊คเกี่ยวกับสุขภาพกายและใจของผู้หญิงจึงเกิดขึ้น
“เราไม่ได้อยากทำนิตยสารแนวผู้หญิง แต่อยากทำเรื่องการเรียนรู้ของผู้หญิง”
เธอให้ความสำคัญคำว่า ‘เรียนรู้’ หรือ ‘Learning’ มาก
“Learning เป็นหัวใจ ออกไปเป็นสื่อประเภทต่างๆ เรามีบริษัทที่ทำ Rukluke Education, Museum Creation, Museum Management กลายเป็นต่อยอดไปเรื่อยๆ ทั้ง Offline Online สื่อสารกับผู้หญิง กับคนที่เป็นพ่อแม่ มีอะไรให้ทำเยอะแยะ คิดแต่ว่าทำไงให้พวกเขาได้มีโอกาสรับข่าวสารได้มากที่สุด
ซึ่งคำว่า Learning มันใหญ่นะ เป็นอุทยานการเรียนรู้ เราเลยขยายงานไปจัดอบรมเยอะ อบรมเรื่องยุทธศาสตร์ชุมชน อบรมให้กับหน่วยงานต่างๆ อยากทำชนบท ก็ไปหาทุนจากองค์กรใหญ่ๆ ที่เขาอยากทำ ไปมั้ย ไปสร้างการเรียนรู้ให้ โดยทำในนามของคุณ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เรามีพื้นที่ทำงานตั้ง 80-90 ชุมชน ทุกวันนี้ยังเชื่อมกันอยู่ เพียงแต่ว่าเราไม่ได้รับทุนเข้าไปทำโดยตรง ตอนนี้ก็เป็นเพื่อนเป็นที่ปรึกษา
พี่ชอบไปจัดอบรมต่างจังหวัด ไม่ได้จัดบรรยาย แต่จัดเป็นรูปแบบการมีส่วนร่วม ตั้งเป็น Group Process คุยกัน ตั้งคำถาม ละลายพฤติกรรมกัน มันสนุกตรงที่มันเห็นการเปลี่ยนแปลงชัด เช่น เราตั้งโจทย์ว่า ทุกข์ของครอบครัวคืออะไร บ้านนี้ทุกข์อย่างนี้ บ้านนั้นทุกข์อย่างนั้น ก็มาแชร์กันสามารถแก้ไขได้ด้วยยังไง บางเรื่องต้องแก้ด้วยตนเอง บางเรื่องเพื่อนบ้านต้องช่วยกัน มันทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลง จึงมีเรื่องให้สนุก”
สำหรับผู้ปกครองคนเมือง บ่อยครั้งเธอใช้วิธีจู่โจมเลยค่ะ
“บางทีเราไปเลยที่โรงเรียน มีประชุมครูผู้ปกครอง เราก็ดึงวิทยากรเข้าไปคุยตือนสติผู้ปกครอง เพราะพ่อแม่บางคนไม่สนใจแต่ถูกบังคับให้ไปประชุม เราถือโอกาสใส่เข้าไปเลย”
ประเด็นเตือนสติพ่อแม่สมัยใหม่ ไม่พ้นเรื่องความรักการดูแลเอาใจใส่ลูก
“จริงอยู่ พ่อสมัยนี้หันมาสนใจเรื่องลูกมากขึ้นถ้าเทียบกับสมัยก่อนที่เราเริ่มทำอบรมใหม่ๆ พ่อมา1 คน แม่มา 3 คน แต่เดี๋ยวนี้พ่อกับแม่มาเกือบละครึ่งๆ ซึ่งสะท้อนว่าพ่อแม่สนใจเรื่องลูก เริ่มคิดอะไรเยอะขึ้น มีการวางแผนครอบครัวอะไรกันมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันพ่อแม่ที่ไม่มีเวลาให้ลูกก็เยอะ ยุ่งทำมาหากิน ใช้เงินเลี้ยงลูก ซื้อของเล่นแพงๆ ให้ลูก
เรามีหน้าที่ให้พ่อแม่ตั้งสติให้ได้ บางครั้งลูกไม่ได้ต้องการของเล่นสารพัดอย่างอะไรเลย ของเล่นที่ดีที่สุดคือ ตัวพ่อแม่เอง เล่นกับลูกสักหน่อย ไม่มีของเล่น ..จ๊ะเอ๋ พาลูกไปเดินเที่ยว วิ่งไล่จับกันในสวนสาธารณะ ลูกจะมีความสุขมากกว่าได้ของเล่นแพงๆ”
แหม ช่างเป็นความคิดเห็นกระตุ้นต่อมจิตวิญญาณความเป็นพ่อแม่ทีเดียวเชียวค่ะ
“เรามีหน้าที่เตือนสติผ่านงานของเรา พ่อแม่อาจไม่ซื้อหนังสือไปอ่าน แต่เราจะพยายามเข้าไปให้พวกเขาได้คิดเรื่องนี้ เราสามารถสร้างเวทีไปทำงานกับพวกเขาได้ โดยคิดสร้างรูปแบบที่เหมาะสม” เธอเน้นย้ำอีกครั้ง
“ทำสิ่งที่เราชอบให้ได้ดี เป็น expert professional ด้านการเรียนรู้จริงๆ แม่นเรื่องนี้จริงๆ”
นั่นคือ ปณิธานของเธอค่ะ สุภาวดี หาญเมธีคุณ สุภาพสตรีผู้เชื่อมั่นในพลังของสถาบันครอบครัว เพื่อสร้างสังคมที่แข็งแรงต่อไป: by Lady Manager