ข่าวการจากไปอย่างสงบด้วยโรคชราของ ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์ ในวัย 96 ปี ทำให้ทุกคนที่ทราบข่าวทั้งตกใจและแสนจะอาลัยปูชนียบุคคลท่านนี้
ม.ล.เนื่อง อดีตข้าหลวงประจำห้องเครื่องในพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ทายาทหนึ่งเดียวผู้สืบทอดตำรับกับข้าวในวัง อาทิ สะเต๊ะลือ ทอดมันสิงคโปร์ แกงรัญจวน ข้าวตัง-เมี่ยงลาว น้ำพริกลงเรือ ฯลฯ จาก ม.จ.หญิงสะบาย นิลรัตน์ (ท่านย่า) หัวหน้าห้องเครื่องคาวในพระวิมาดาเธอฯ ม.ล.เนื่อง เชี่ยวชาญเรื่องทำเครื่องถวายทั้งคาวหวาน จนได้รับยกย่องให้เป็น “แม่ครัว 4 แผ่นดิน” ซึ่งท่านก็ได้ถ่ายทอดสูตรอาหารชาววัง พร้อมทั้งสอดแทรกเกร็ดความรู้ต่างๆ เป็นตัวอักษรสู่หนังสือ “ตำรากับข้าวในวัง สูตร ม.ล.เนื่อง” จนกลายเป็นมรดกอันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมการกินของชาววังโบราณให้แก่คนไทยรุ่นหลังที่กินเป็นแต่อาหาร “ฟิวชั่น” ได้รับรู้ถึงความละเมียดของอาหารไทยดั้งเดิม
ม.ล.วารี-ม.ล.สมจิตต์ นิลรัตน์ น้องสาว กล่าวรำลึกถึงพี่สาวผู้จากไปว่า ม.ล.เนื่อง เข้าไปอยู่ในวังตั้งแต่วัยเด็ก แต่จะออกจากวังกลับมารับประทานข้าวด้วยกันที่บ้านเดือนละครั้ง ซึ่งทุกครั้งที่ลูกสาวกลับมาบ้าน คุณพ่อ (ม.ร.ว.อั้น นิลรัตน์) จะรีบไปซื้ออาหารโปรดมาให้ลูกสาวคนนี้รับประทานเสมอ อาทิ เป็ดย่างที่เยาวยื่น หมี่กรอบที่วัดมหรรณพ์ การใช้ชีวิตในวังมาตั้งแต่เล็กๆ ทำให้ท่านได้ซึมซับเรื่องราวต่างๆ ที่อยู่ภายในรั้วในวังมามากมาย รวมทั้งวิชาการครัวและการเย็บปักถักร้อยในวัง จนถึงยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านจึงได้ออกจากวังมาอยู่กับครอบครัวและยึดอาชีพเป็นครู
มรดกล้ำค่าอีกเรื่องคือ ท่านได้ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ของในรั้วในวังในชื่อ “ชีวิตในวัง” เล่ม 1-2 เมื่อตอนท่านอายุ 72 ปี ทำให้ชาวบ้านที่อยู่นอกวังได้เปิดหูเปิดตาเหมือนได้รับรู้สิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน จนทำให้หนังสือเล่มนี้ขายดีมากในยุคนั้น ต่อด้วยหนังสือ “ชีวิตนอกวัง” รวม 17 เล่ม ซึ่งบอกเล่าถึงเรื่องราวในอดีตที่ควรค่าแก่การบันทึกไว้
“พี่เนื่องเป็นเหมือนพี่สาว เป็นเหมือนเพื่อน คอยให้คำตอบได้ทุกอย่าง ไม่เคยดุน้อง คอยสั่งสอนว่าอะไรดีไม่ดี คอยให้ความห่วงใยมาตลอด” นั่นคืออุปนิสัยอันดีงามของท่านที่มีเมตตาต่อทุกคน ไม่เฉพาะแต่คนในครอบครัว
ด้วยความที่ ม.ล.เนื่องมีอายุยืนยาว ทำให้ผู้หญิงร่างเล็กท่านนี้ ผ่านการสูญเสียอย่างใหญ่หลวงมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ คุณวิชัย ไวชนะ สามี และบุตรชาย 2 คนไปจนถึงคนที่รักนับถือรอบข้าง แต่ก็สามารถยืนหยัดเผชิญสถานการณ์ต่างๆ มาได้อย่างแข็งแกร่ง และสามารถทำคุณประโยชน์ให้สังคม แม้วัยจะล่วงมาถึงบั้นปลายชีวิต แต่ก็ยังยินดีถ่ายทอดสรรพวิชาและประสบการณ์ให้แก่อนุชนรุ่นหลังอย่างสุดความสามารถ
ม.ล.เนื่อง เสียชีวิตด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา ณ โรงพยาบาลบำราศนราดูร แม้ว่าท่านจะเป็นผู้มีชื่อเสียงและมีผู้คนเคารพนับถือมากมาย แต่งานพระราชทานเพลิงศพของท่านกลับแสนเรียบง่าย เป็นไปตามคำปรารภไว้ของเจ้าตัวก่อนเสียชีวิต คือ ให้สวดศพเพียง 3 วันและเผาเลย
นอกจากนี้คุณข้าหลวงผู้ทรงคุณต่อแผ่นดินท่านนี้ ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทาน “หีบทองลายองุ่น” หีบบรรดาศักดิ์พิเศษที่น้อยคนนักจะได้รับ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ พระราชทานและประทานพวงมาลาวางหน้าหีบศพ แม้ที่ผ่านมาจะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย โดยมิได้หวังลาภยศสรรเสริญอันใด
ภายในงานได้รับพระกรุณาจาก ม.จ. มงคลเฉลิม ยุคล พระนัดดาในพระวิมาดาเธอฯ เสด็จมาเป็นประธานในงานพระราชทานเพลิงศพ พร้อมด้วย ม.ร.ว. เฉลิมฉัตร วุฒิชัย และ ม.ร.ว. พร้อมฉัตร สวัสดิวัตน์ โอรส-ธิดา ในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร เจ้านายซึ่งเคยประทับในวังสวนสุนันทา เขตพระราชฐาน ที่ ม.ล.เนื่อง เคยใช้ชีวิตในฐานะข้าหลวง และยังมีสมาชิกใน ราชสกุลนิลรัตน์ อาทิ ม.ล.วารี-ม.ล.สมจิตต์ นิลรัตน์,นิจ เหลี่ยมอุไร (บุตรบุญธรรม), ขันธพงษ์-กระมลลมัย-สมุทรไทย ไวชนะ ผู้เป็นทายาท ฯลฯ มาร่วมงานด้วย
ด้วยยามมีชีวิตอยู่นั้น ม.ล.เนื่องจะเป็น “ขาประจำ” ของละครกรมศิลปากร ดังนั้น เมื่อท่านเสียชีวิตบรรดานักแสดงของกรมศิลปากร จึงพร้อมใจกันมาเล่นมหรสพหน้าไฟในวันพระราชทานเพลิงศพ มีทั้ง โขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด สำมนักขาก่อศึก โดยการนำของ อ.สมรัตน์ ทองแท้ นักวิชาการระดับชำนาญการ และ การแสดงฉุยฉายบุเรงนอง จากเรื่องผู้ชนะสิบทิศ บทประพันธ์ ที่ ม.ล.เนื่อง ชื่นชอบ แสดงโดย ปกรณ์ พรพิสุทธิ์ นาฏศิลปินอาวุโสที่โปรดปราน ซึ่งออกมาร่ายรำในชุดบุเรงนองที่สวยงาม ฝีมือการออกแบบตัดเย็บของ พีรมณฑ์ ชมธวัช เจ้าของคณะละครอาภรณ์งาม ในระหว่างพิธีการจนถึงการแสดง ในงานพระราชทานเพลิงศพครั้งนี้ ยังมีการประโคมโดยวงปี่พาทย์มอญ ตามประเพณีนิยมมาแต่โบราณที่หาชมได้ยากแล้วในปัจจุบัน
จากนั้น เมื่อเวลา 17.00 น. ม.จ. มงคลเฉลิม ยุคล ประธานในพิธีเสด็จขึ้นไปทรงวางข้าวตอกดอกไม้ ดอกไม้จันทน์หน้าหีบศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ และ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประทานดอกไม้จันทน์ มาในการนี้ด้วย บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยความอาลัยคิดถึง ซึ่งแขกที่มาร่วมงานต่างกล่าวรำลึกถึงผลงานด้านต่างๆ ทั้ง งานเขียน ตำรับกับข้าวในวัง รวมถึงอัธยาศัยไมตรีของ ม.ล.เนื่อง ที่มีต่อคนทุกวัยเรื่อยมา
ส่วนของที่ระลึกในงาน เจ้าภาพยังได้จัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ มอบให้แก่ผู้มาร่วมงานเป็น หนังสือชีวประวัติของ ม.ล.เนื่อง โดยภาพปกเป็นภาพท่านในชุดครุย เมื่อครั้งเข้ารับพระราชทาน ปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อปี 2545
ภายในเล่มประกอบด้วย คำสัมภาษณ์ถึงตำรับอาหารในวัง และ สูตรอาหาร 6 ตำรับที่ได้รับความนิยม ในเนื้อหาสอดแทรกด้วยเกร็ดความรู้เกี่ยวกับอาหารในวัง ซึ่ง ม.ล.เนื่อง ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า สูตรอาหารในวังที่คนเอาไปทำกันทั่วไป มักตัดของบางอย่างออก แล้วเติมสิ่งที่ตนเองชอบลงไป ก็จะทำให้ไม่อร่อยตามสูตรอาหารนั้นๆ ส่วนเรื่องที่คนชอบพูดกันว่า ชาววังกินหวานนั้น แท้ที่จริงแล้ว ชาววังจะกินรสชาติที่เสมอ กลมกล่อมกัน คือ เปรี้ยว เค็ม หวาน
หนังสืองานศพบางๆ เล่มนี้ คงพอจะบอกเล่าเรื่องราวเพียงย่อๆ ถึงสิ่งที่ ม.ล.เนื่อง ได้ฝากไว้ต่อแผ่นดินเพื่ออนุชนรุ่นหลัง