xs
xsm
sm
md
lg

ภาพวาดของ ความรัก ชีวิต และความตาย ของราชนิกูลไทยในฝรั่งเศส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



โดย ... ฮักก้า

ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่แวะเวียนไปชมผลงานศิลปะ ณ ห้องศิลปนิทรรศมารศี บนชั้น 2 ของศิลปาคารจุมภฏ – พันธุ์ทิพย์ ภายในวังสวนผักกาด ไม่ทราบมาก่อนว่าชื่อของห้องนิทรรศการดังกล่าว มีที่มาจากพระนามของ หม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร พระธิดาพระองค์เดียวในพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต และหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์บริพัตร

ทราบข่าวว่าจะมี นิทรรศการ MARSI เกิดขึ้น ณ ฮอลล์ ออฟ มิเรอร์ ชั้น เอ็ม ศูนย์การค้าสยามพารากอน ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 29 มีนาคม พ.ศ.2553 เพื่อแสดงผลงานจิตรกรรมในหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร จึงขอนำเรื่องราวของ “ท่านหญิง” ราชนิกูลไทยผู้ไปใช้ชีวิตและสร้างงานศิลปะอยู่ที่ฝรั่งเศสมาเล่าสู่กันฟัง

ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ได้ยินได้ฟังมาจาก ศาสตราจารย์ ดร. หม่อมราชวงศ์ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ (โอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจันทรกานต์มณี (บริพัตร) และหม่อมเจ้าอรชุนชิษณุ สวัสดิวัตน์) ลูกพี่ลูกน้องที่ได้เอื้อเฟื้อดูแลท่านหญิงมาตั้งแต่ครั้งที่ท่านหญิงประชวรลงเมื่อ พ.ศ.2547 และเป็นผู้ดำเนินการตามพระประสงค์ของท่านหญิงในการจัดตั้งมูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์บริพัตร ตลอดจนจัดนิทรรศการแสดงผลงานของท่านหญิงขึ้นในประเทศไทยในครั้งล่าสุดนี้

หลังจากเมื่อนานแล้วท่านหญิงเคยจัดแสดงผลงานที่หอศิลป์พีระศรี เมื่อครั้งที่หอศิลป์ฯสร้างเสร็จใหม่ๆทว่าผลงานที่จัดแสดงในครั้งนั้น ยังเป็นช่วงเริ่มต้นของการทำงานศิลปะ ผลงานจึงยังไม่ได้รับการพัฒนามากเท่าที่ควร


บ้านของท่านหญิงที่ Annot ประเทศฝรั่งเศส

หม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์บริพัตร
หม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ปัจจุบันทรงมีพระชนมายุ 78 พรรษา ทรงจบการศึกษาในระดับมัธยมปีที่ 6 ที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย จากนั้นเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และสเปน จนได้รับปริญญา Docteur ès Lettres สาขาวรรณคดี จากมหาวิทยาลัย ณ กรุงปารีส และปริญญาเอกสาขา ประวัติศาสตร์ศิลปะ จากมหาวิทยาลัยแห่งมาดริด ประเทศเสปน

หลังสำเร็จการศึกษาทรงเคยสอนวิชาศิลปะโลกตะวันออกไกล ที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมาดริด และเมื่อเสด็จกลับมาประทับในประเทศไทย ทรงเคยเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปกรรมตะวันตก ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทรงสมรสกับศาสตราจารย์ชาวฝรั่งเศสชื่อ Jacques Bousquet ซึ่งเคยทำงานประจำ ณ องค์การ UNESCO กรุงมาดริด ประเทศเสปน

เมื่อพระชนมายุ 30 ปี ท่านหญิงทรงเริ่มศึกษาศิลปะด้วยพระองค์เอง จากผลงานศิลปะของบรรดาศิลปินต่างๆ และทรงได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับหลัก ในการวาดภาพจิตรกรรมยุค Renaissance และเทคนิคการใช้สีจากเพื่อนศิลปินชื่อ André Poujet และอีกหลายท่าน กระทั่งมีผลงานจัดแสดงในกรุงปารีสหลายครั้ง

ต่อมาเสด็จไปทรงแสดงภาพตาม พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ต่าง ๆ ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ทรงพบเมืองเล็ก ๆ ชื่อ Annot ซึ่งอยู่ในภูเขาบริเวณ Alpes de Haute Provence ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง Nice ทรงตกหลุมรักในเสน่ห์ของเมือง และตัดสินพระทัยซื้อที่ดินบนเนินเขาสร้างสตูดิโอ และประทับเป็นตำหนักถาวร มาตั้งแต่ พ.ศ. 2513 จนถึงปัจจุบัน

นอกเหนือจากงานศิลปะ ท่านหญิงทรงโปรดการทำสวนด้วย ทั้งสวนครัวและสวนดอกไม้ และโปรดการเลี้ยงสัตว์เป็นอย่างมาก บริเวณตำหนักที่ประทับ จึงแวดล้อมไปด้วย ดอกไม้ ผักหญ้า และ ลำธาร ตลอดจนสิงห์สาราสัตว์ อาทิ แมว สุนัข และนก ที่ท่านหญิงได้ใช้เป็นแบบในการวาดภาพตลอดมา



คุณชายชิษณุสรรบอกเล่าว่า ในเมืองไทยภาพวาดของท่านหญิงมีให้เห็นที่วังสวนผักกาด, พระที่นั่งวิมานเมฆ และถูกเก็บรักษาไว้ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

“เพราะว่าท่านเป็นพระสหายของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เคยประทับอยู่ยุโรปในช่วงเวลาเดียวกัน และท่านก็เคยวาดภาพถวายสมเด็จฯ

นิทรรศการของท่านหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นองค์ประธานเปิดนิทรรศการ เพราะทรงรู้จักกับท่านหญิงมาเป็นเวลานาน และทุกครั้งที่สมเด็จพระเทพฯ เสด็จฝรั่งเศส ท่านหญิงจะไปเข้าเฝ้าทุกครั้งและถวายคำแนะนำให้ไปชมนิทรรศการศิลปะบ้าง”

ส่วนในต่างประเทศภาพวาดส่วนหนึ่งอยู่ในการครอบครองของเจ้านายในยุโรปที่ซื้อภาพวาดของท่านหญิงไปเมื่อประมาณยี่สิบปีก่อนรวมไปถึงพ่อค้าขายเนื้อเจ้าประจำในเมือง Annot ที่ท่านหญิงมักไปอุดหนุนซื้อเนื้อเพื่อนำมาเป็นอาหารให้กับสุนัขพันธุ์เซ็นต์เบอร์นาร์ดที่ทรงเลี้ยง

“ท่านวาดภาพเพื่อแสดงความรู้สึกของตัวเองมากกว่าจะหารายได้ และในหมู่บ้านที่ฝรั่งเศสที่ท่านประทับอยู่ ก็อยู่กันแบบครอบครัว เป็นเมืองเล็กๆมีคนไม่กี่คน ที่ทุกคนต่างรู้จักกันดี บางครั้งพ่อค้าก็อยากได้ภาพวาดของท่านไว้ เมื่อไม่คิดสตางค์ค่าเนื้อ ท่านก็จะประทานภาพเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน”

เมื่อท่านหญิงประชวรลงใน ปี พ.ศ. 2547 ทำให้ไม่สามารถวาดภาพได้ เหมือนเดิม แต่ก่อนหน้านั้นท่านทรงมีพระประสงค์ที่จะรวบรวมภาพวาดทั้งหมด ของท่านไว้ด้วยกัน โดยจะสร้างเป็นแกลเลอรี่ที่เชิงเขาบริเวณตำหนักของท่านที่ Annot เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ไปเยี่ยมชม และใช้เป็นแหล่งส่งเสริมการศึกษาด้านศิลปะต่อไป อีกทั้งทรงมีพระประสงค์ที่จะตั้งมูลนิธิฯขึ้นเพื่อดูแลแกลเลอรี่




แต่แล้วราวหนึ่งปีที่ผ่านมามูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้ถูกก่อตั้งขึ้นที่ประเทศไทย และเช่นเดียวกันเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ผลงานภาพวาดกว่า 100 ชิ้นของท่านหญิงได้ถูกเคลื่อนย้ายจากฝรั่งเศสสู่ประเทศไทย เพื่อมาอยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯ ที่กำลังอยู่ในช่วงดำเนินการจัดนิทรรศการ MARSI และหาสถานที่จัดสร้างแกลเลอรี่เก็บผลงานของท่านหญิงอย่างถาวร

“ที่ฝรั่งเศส ค่าใช้จ่ายเยอะมาก ต้องมีกองทุนสูง กว่าจะตั้งมูลนิธิได้ และท่านก็ไม่ได้จดทะเบียนเป็น professional artist ท่านทำงานศิลปะด้วยใจรัก ไม่ได้ยึดเป็นอาชีพ ผลงานของท่านก็มีทั้งที่ขายบ้างไม่ได้ขายบ้าง เพราะฉะนั้นในเมื่อไม่ได้จดทะเบียน และค่าใช้จ่ายสูง มูลนิธิฯก็เลยไม่ได้ตั้งขึ้นที่ฝรั่งเศส ต่อมาท่านก็เลยคิดว่าอยากจะตั้งมูลนิธิฯและสร้างแกลเลอรี่ที่เมืองไทย เพราะทรงมีญาติ และมีเพื่อนหลายคนที่จะช่วยดูแล”

คุณชายชิษณุสรร ผู้ถูกเลือกให้เป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของท่านหญิงในประเทศไทยมานานบอกเล่าถึงเหตุผล ในวันที่อยู่พร้อมหน้ากับคู่สมรส หม่อมราชวงศ์พร้อมฉัตร วุฒิชัย (ธิดาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตรและหม่อมเจ้าอุทัยเฉลิมลาภ วุฒิชัย) และบุตรสาวคนเล็ก ม.ล. จันทราภา สวัสดิวัตน์ ที่บ้านย่านสุขุมวิท 26

และเวลานี้คุณชายกำลังทำหน้าที่ประธานมูลนิธิฯ ดำเนินการตามพระประสงค์ของท่านหญิงในด้านการส่งเสริมศิลปะให้ลุล่วง ทั้งที่นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์เช่นคุณชายจะออกตัวอยู่เสมอว่าถนัดทางวิทยาศาสตร์มากกว่าศิลปะเป็นไหนๆ


จากขวา - ศ.ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ และม.ร.ว.พร้อมฉัตร วุฒิชัย
แต่หากถามว่าอะไรคือสิ่งที่คุณชายสามารถรู้สึกและรับรู้ได้มากไปกว่าการที่ท่านหญิงพยายามถ่ายทอดความรักที่ทรงมีต่อสิ่งต่างๆรอบๆตัวออกมาผ่านภาพวาดในแนวเหนือจริงและในแนวแฟนตาซี จากการที่ได้มีโอกาสชมผลงานของท่านหญิงก่อนใคร ก่อนที่ผลงานบางส่วน ซึ่งถูกคัดสรรโดย Michel Steve เพื่อนชาวฝรั่งเศสที่เคยช่วยท่านหญิงจัดนิทรรศการมาแล้วหลายครั้ง เพื่อนำไปจัดแสดงในนิทรรศการ MARSI ในระยะเวลาอันใกล้ คุณชายตอบว่า

“ท่านทรงใช้สีสันได้สวยงาม ทรงวาง composition วางตัวละคร วางเนื้อเรื่อง หรืออะไรต่ออะไรได้เหมาะสม และแม้บางภาพท่านจะทรงวาดในธีมของ beauty and the beast (โฉมงามกับเจ้าชายอสูร) แต่ beast ของท่านก็ไม่น่าเกลียด เป็น beast ที่น่ารัก ตรงนี้ท่านอาจจะเห็นว่าชีวิตท่านได้เจอคนหลายประเภท มีทั้งสิ่งที่ดีงามและสิ่งที่สร้างความไม่พอใจ หรือสร้างความเดือดร้อนให้แก่ท่าน

อีกธีมหนึ่งที่เห็นชัดคือเรื่องของชีวิตและความตาย จะมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ เป็นภาพของกำแพงสองข้าง ข้างหนึ่งเป็นคนที่มีชีวิต อีกข้างหนึ่งเป็นคนที่เสียชีวิต เป็นโครงกระดูกโผล่ขึ้นมา หรือจะเป็นภาพของผู้หญิงที่ยังมีชีวิตอยู่ส่องกระจกเห็นโครงกระดูกของตัวเอง และโครงกระดูกส่องกระจกเห็นตัวเองตอนที่ยังมีชีวิต ผมคิดว่าท่านคงคิดถึงเรื่องของชีวิตและความตายว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังนั้นเรื่องของความรัก ชีวิตกับความตาย ความงามกับความน่าเกลียด เหล่านี้คือสิ่งที่ผมมองเห็นจากงานของท่าน”

และมันก็ช่างไม่ต่างกับสิ่งที่ท่านหญิง ที่เวลานี้ ยังทรงประทับรักษาตัวอยู่ที่ฝรั่งเศส และได้ส่งเพียงผลงานมาทักทายผู้ชมงานศิลปะในเมืองไทย เคยเขียนข้อความสั้นๆถึงผลงานของตัวท่านเองไว้ว่า

“ศิลปะ สะท้อนชีวิตและความตาย ฉันจะใช้ความสามารถของฉัน ถ่ายทอดมันออกมา”




กว่าจะมาเป็น...ศิลปิน
จากคอลัมน์ “ห้องศิลป์” โดย..หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร
http://suanpakkad.com


ดิฉันสนใจเรื่องการวาดภาพมาตั้งแต่เล็กๆ และก็วาดภาพมาเรื่อย ระหว่างที่อยู่เมืองนอกก็ได้เข้าไปดูพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วไป ของยุโรป กลับมาเมืองไทยก็พอสอนได้ และได้ทำตำราให้นักเรียนเรื่องศิลปะประวัติตะวันตก สอนได้ 2 ปี ก็ได้ลาออกไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศสที่มหาวิทยาลัย Sorbone และทำดอกเตอร์ในอักษรศาสตร์ฝรั่งเศสแล้วไปอยู่สเปน ไปทำดอกเตอร์ทางศิลปะการวาดภาพจีนโบราณ สมัยนั้นสเปนยังอยู่ในความควบคุมของมองโกล เขาไม่ได้เปิดประตูให้อาจารย์ต่างประเทศเข้ามาสอนมากนัก ดิฉันก็เลยได้สอนเรื่องวัฒนธรรมตะวันออกที่มหาวิทยาลัยมาดริกเป็นเวลาประมาณ 2 ปี เพราะไม่มีคนที่เชี่ยวชาญ ในสมัยนั้นก็ได้สอนนักเรียนชั้นพิเศษที่เข้ามาเรียนต่อ

ต่อจากนั้นก็กลับมาอยู่ที่ปารีส 5 ปี เพื่อนที่คบโดยมากเป็นนักศึกษาหรือศิลปิน และก็ได้วาดภาพมากขึ้น วันหนึ่งก็มีคนมาชวนเข้ากรุ๊ป คือ การเปรียบเทียบ ซึ่งเขาเคยมาเมืองไทยด้วย แต่ครั้งนี้เขาจะโชว์ที่ Museum of moutan art ที่ปารีส เพื่อชวนไปเข้ากรุ๊ป Museum of moutan art เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ฉันได้โชว์รูปต่อจากนั้นก็ได้โชว์ร่วมกับเขาทุกปี ทำได้ 2-3 ครั้ง และเพื่อนในกรุ๊ปนั้นก็ชวนไปเข้ากรุ๊ปโชว์ที่ Gallery เล็กๆ ที่ปารีส มีการทำรูปจิ๋วประมาณ 30-40 คน งานนี้รูปฉันได้ขายรูปออกเป็นรูปแรก ก็ทำให้ภาคภูมิใจมากและอยากทำการวาดภาพต่อไป และฉันก็ลองถามเขาว่าถ้าเราอยากจะมีรูป One man show ใน Gallery เขาจะรับไหม เผอิญเขาบอกว่ารับ ความจริงตอนนั้นก็มีรูปไม่มากเท่าไหร่ แต่ก็รีบทำรูปเพราะมีกำลังใจ จะได้โชว์กับเขา เมื่อได้โชว์ครั้งแรกก็ขายได้ดี และก็มีหนังสือพิมพ์ต่างๆ ในปารีส นำไปลงคอลัมน์เขียนให้ดี ทาง Gallery ก็พอใจขอให้ทำงานร่วมกันต่อไป สมัยนั้นทาง Gallery เป็นคนตั้งราคา เป็นคนขาย เสร็จแล้วแบ่งกัน 50 % ดิฉันก็ทำงานกับเขาต่อไปอีก 15 ปี

ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เพราะว่าดิฉันไม่ชอบอยู่ในเมือง โดยตั้งใจจะหาบ้านนอกเมือง และก็ได้บ้านอยู่ใน Annot ซึ่งเป็นบ้านนอกแท้ๆ ของฝรั่งเศส อยู่ในป่า และอยู่ไกลบ้านคนอื่นมาก มีที่สำหรับเลี้ยงสิงสาราสัตว์มาก สัตว์ที่ดิฉันชอบ เช่น นก หมา แมว ฯลฯ ได้ยินเสียงนกร้องเมื่อมาอยู่ที่ Annot แล้ว ดิฉันก็ทำงานต่อกับ Gallery ในเมือง เริ่มที่ Nice ฯลฯ ที่มากที่สุดก็ที่ Monaco เป็นเวลาประมาณ 20 ปี

ตอนนี้พยายามสะสมรูปมากกว่าให้เป็น Collection ได้ออกตามพิพิธภัณฑ์ เพราะว่าทำงานกับ Gallery จะต้องมีรูปเล็กให้เขามากๆ และก็มีอะไรที่เขาไม่ชอบ เช่น เรื่องความตาย ซึ่งเราทำให้เขาไม่ได้ เราจะชอบทำเรื่อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วย เวลานี้อยากทำรูปใหญ่ๆ ซึ่งจะกินเวลาถึง 2 ปีกว่า จึงทำงานกับ Gallery ต่อไปไม่ได้ อยากทำงานกับพิพิธภัณฑ์เท่านั้น ดิฉันก็โชคดีเรื่องการติดต่อกับพิพิธภัณฑ์ที่ส่วนมากเป็นเพื่อนที่เคยทำงาน บุคคลที่เกี่ยวข้อง นักหนังสือพิมพ์ซึ่งเคยร่วมงานกันจะติดต่อให้ เมื่อ 2 ปีที่แล้วก็ได้ออกโชว์ที่พิพิธภัณฑ์เมือง Monaco พิพิธภัณฑ์นี้เป็นตำหนักเก่าของพระราชวงศ์โมนาโค เป็นวังที่สวยงาม ในสมัยศตวรรษที่ 18 ซึ่งเข้ากับรูปดิฉันได้ดี และก็มีคนนำไปเขียนในคอลัมน์เขียนให้ดีเช่นเดียวกัน ความจริงดิฉันไม่ตั้งใจขายรูปเท่าใดนัก ทำเป็นวินัย นอกจากจะมีใครสั่งเป็นพิเศษอย่างสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ หรือคนไทยบางคนที่กรุงเทพฯ ที่สนใจในงาน

เราทำงานกับพิพิธภัณฑ์ เขาจะออกค่าใช้จ่ายให้แต่จะไม่ขายให้ คือ เป็นการให้เกียรติเราเท่านั้น ดิฉันมีแผนว่าจะโชว์ภาพต่อไปในพิพิธภัณฑ์ แต่ไม่แน่ใจว่าที่ไหน จะเห็นว่าการอยู่เมืองนี้ไม่ได้มีชีวิตทางสังคมเลย ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเจ้านายเมืองไทย อาจจะเป็นการเห็นแก่ตัวนิดหน่อย แต่ก็มีญาติที่ทำงานแทนดีกว่า ดีกว่าเราจะทำเองได้ เพราะดิฉันเองถือว่าไม่มีพรสวรรค์ อย่างหนึ่งก็มีหน้าที่จะต้องทำ ต้องมีวินัย ทำงานอย่างน้อย 5-6 ชั่วโมง และดิฉันก็โชคดี มีเพื่อนดี ข้าหลวง มหาดเล็กดี ทั้งฝรั่ง ทั้งไทย คอยช่วยเหลือปกป้องไม่ให้มีภาระมากมาย ทำให้เก็บเวลาทำงานวาดรูปได้

อยากจะพูดกับนักศึกษาที่ตั้งใจจะเป็นจิตรกรต่อไปว่า การเป็นศิลปินไม่ใช่ของง่าย เพราะว่ามันไม่ใช่เป็นอาชีพจริงๆ จะเป็นการสมัครใจ รักงาน และมีพรสวรรค์ การหาเงินก็ยาก หาความรู้จักนับถือจากคนก็ยาก เราต้องเริ่มต้นด้านนึกคิดว่าตนเองเป็นช่าง ให้รู้จักการเขียนที่ดี เขียนอย่างธรรมดาได้ จึงจะมีสิทธิ์เขียนอย่างเลอะเทอะหรือตามสมัยแฟชั่นตามที่ตัวเองเลือก

สำหรับดิฉันเองไม่คิดเขียนตามสมัยเลย จะเขียนในเรื่องเก่าแก่ของมนุษย์ เป็นเรื่องที่มนุษย์มีความสนใจ ตั้งแต่มีศิลปะ ด้านวรรณคดี ดนตรีฯลฯ ซึ่งเป็นศตวรรษมาแล้ว มีชีวิต ความตาย ความฝัน ธรรมชาติ รวมถึงสัตว์ ดอกไม้ ต้นไม้ ทั้งทุกอย่างที่มี ที่ทำให้คนสนใจแต่อธิบายไม่ได้ ทำให้เกิดเรื่องนิยายต่างๆ อาจจะเปลี่ยนชื่อนิยาย แต่ก็เรื่องเดียวกันเสมอไป อีกอย่างก็คือความรัก จะเป็นความรักระหว่างเพศ หรือ มนุษย์กับสัตว์ก็ต้องจากธรรมชาติ มันเป็นเรื่องเก่าของธรรมชาติ แต่ก็มีคนเขียนใหม่มาเยอะ แต่ว่าไม่โบราณ เพราะเราเขียนตามความรู้สึกของเราใหม่ได้

ขอให้ตัวอย่างเป็นในรูปท้ายๆ ที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินาถ รับสั่งให้ดิฉันทำจะเป็นรูปฤดูต่างๆ เช่น Spring ,Summer,Atumn,Winter สำหรับหน้าหนาวดิฉันก็ใช้ฟิล์มเก่าอยู่ในเพลงของนักดนตรี Simbo ศตวรรษที่ 19 เรื่องหญิงสาวและความตายในเพลงนั้น เรื่องหญิงสาวไม่อยากตาย เพราะยังเป็นสาวสวยอยู่ แต่ความตายก็บอกว่า ฉันไม่ได้โหดร้ายขอให้นอนหลับในอ้อมแขนฉัน ในรูปที่เล่ามาจะมีรูปโครงกระดูกอยู่ในรูป และมือถือดอกฝิ่นเพื่อจะให้นางสาวนั้นนอนหลับสบายตามที่เขาพูด

อีกอย่างดิฉันคิดว่าศิลปะทุกอย่างมันจะโยงกันเพราะฉะนั้นหาความรู้ได้ทางวรรณคดี ดนตรี และศิลปะทุกชนิดมาช่วยเพิ่มความฝันของเรา จะช่วยทำให้มีความคิดสร้างสรรค์วาดรูปมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น