เรื่องโดย... ฮักก้า ภาพโดย... วรงค์กร ดินไทย
ชื่นชมผลงานของอื่นมานาน คราวนี้ได้โอกาสยิ้มแก้มปริชื่นชมผลงานของทายาทบ้างแล้ว สำหรับ บุญชัย เบญจรงคกุล อดีตเจ้าพ่อ DTACและนักสะสมผลงานศิลปะชื่อดัง ผู้มีผลงานศิลปะของ ถวัลย์ ดัชนี เก็บสะสมอยู่มากที่สุด และเวลานี้กำลังปลุกปั้น พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย บนถนนโลคัลโรดเลียบขนานทางรถไฟและถนนวิภาวดีรังสิต
เพราะลูกชายวัย 20 ปี คิด – คณชัย เบญจรงคกุล น้องชายต่อจากสาว เพชร –บุญญาภาณิ์ เบญจรงคกุล ที่กำลังควงคู่อยู่กับพระเอกหนุ่ม ชาคริต แย้มนาม หันมาเอาดีด้านการถ่ายภาพจนมีผลงานจัดแสดงเป็นนิทรรศการและตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือชื่อ eye to eye ที่มีบรรดาผู้ชื่อเสียงในแวดวงสังคมตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรี จนถึงดารานักแสดงชื่อดังกว่า 100 คนเต็มใจเป็นนายแบบนางแบบให้ลั่นชัตเตอร์โดยไม่คิดสตางค์
ด้วยรายได้จากการจำหน่ายหนังสือเล่มนี้โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ หนุ่มคิดจะมอบให้กับ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ และโรงเรียนสอนคนตาบอด พระมหาไถ่ พัทยา ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
ภายในงานเปิดตัวหนังสือที่สยามพารากอนซึ่งมีทั้งแขกของบุญชัยและแขกของคิดไปร่วมงานกันอย่างคับคั่ง นอกจากคิดจะขึ้นร้องเพลง "เธอผู้ไม่แพ้" ของพี่เบิร์ด ร่วมกับน้องๆคนตาบอดและมีหนังสือมาจำหน่ายในราคาพิเศษเล่มละ 1,800 บาท คิดยังนำหนังสือเล่มที่มีลายเซ็นต์ของนายแบบและนางแบบภายในเล่มกำกับไว้ทุกคนขึ้นประมูลด้วย โดยมีผู้ใจดีที่ต้องการร่วมทำบุญกับคิดคือ สมศักดิ์ สุริยบูรพกุล ประมูลไปได้ในราคา 300,000 แสนบาท จากราคาประมูลเริ่มต้น 50,000 บาท
เหตุผลที่ทำให้หนุ่มคนนี้มีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือหน่วยงานที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือคนตาบอดโดยเฉพาะก็คือ
“เกิดมารู้สึกว่าเป็นโชคที่มีโอกาสได้มองเห็น ถ้าเราไม่มีสายตา ก็คงไม่สามารถที่จะถ่ายรูป ไม่ชื่นชอบการถ่ายรูปจึงอยากจะนำรายได้จากการจำหน่ายหนังสือเล่มนี้มอบให้กับคนที่ด้อยโอกาสในด้านนี้”
ส่วนที่เลือกถ่ายภาพคนแทนที่จะเป็นภาพธรรมชาติ หรือสิ่งอื่น เพราะคิดรู้สึกสนุกกับการ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากกว่า
ตอนนึ้คิดกำลังศึกษาด้านสถาปนิกอยู่ที่ The Architectural Association School of Architecture ประเทศอังกฤษ แต่ความสนใจในการถ่ายภาพของเขาเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว เมื่อคุณพ่อเขาซื้อกล้องตัวแรกให้เป็นของขวัญในระหว่างไปท่องเที่ยวในต่างประเทศกับครอบครัว ซึ่งบุญชัยเองก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าลูกชายจะหันมาชื่นชอบการถ่ายภาพเป็นพิเศษ แม้จะรู้ดีว่ามีอยู่ในสายเลือดของตระกูลเบญจรงคกุลมานาน นับแต่รุ่นพ่อของบุญชัยคือ สุจินต์ เบญจรงคกุล ที่เคยทำงานเป็นผู้จัดการร้านขายอุปกรณ์ถ่ายภาพ
“เพราะผมเองเป็นคนสะสมกล้อง สะสมภาพถ่าย ไม่เคยเห็นเขามาดูกล้องของเรา มาดูภาพถ่ายที่เราเก็บไว้ หนังสือภาพถ่ายเขาไม่เคยดู แต่วันดีคืนดีเขาก็มีความคิดมีความตั้งใจอยากจะทำ
ประมาณสักสามปีที่แล้ว ผมซื้อกล้อง ซื้อเลนส์ ให้เขาที่ญี่ปุ่น ไปซื้อด้วยกัน ออกจากร้านปุ๊ปเขาก็เริ่มถ่ายแล้ว ถ่ายคุณพ่อคุณแม่ ถ่ายพี่ๆน้องๆ และลูกพี่ลูกน้อง ถ่ายจนดึก พอถึงตอนเช้าเราขึ้นรถบัสไปเที่ยวกัน เราก็มานั่งดูภาพที่เขาถ่าย แล้วเขาก็เริ่มสนุกกับกล้อง”
คิดชื่นชอบในผลงานภาพถ่ายของช่างภาพชาวต่างชาติอย่าง Patrick Demarchelier และ Milano และช่างภาพไทยอย่าง จอร์จ – ธาดา วาริช ,ศักดิ์ชัย กาย,ใหญ่ - อมาตย์ นิมิตภาคย์ และณัฐ ประกอบสันติสุข
แม้ผลงานของคิดจะได้รับการการันตีระดับหนึ่งจากคุณพ่อผู้เสพผลงานศิลป์ชิ้นคุณภาพของศิลปินมานักต่อนักว่า
“ผมภูมิใจที่เขามีความสามารถในการสร้างโครงสร้างของภาพ สร้างเรื่องราวในการที่จะถ่ายทอดภาพแต่ละภาพ สนุกดีที่จะได้เห็นเขาทำอะไรแต่ละวัน บางวันขึ้นมาบนออฟฟิศ เฮ้ย... โชว์ฟาในห้องเราหายไปไหน (คิด...เขายืมไป) อะไรในออฟฟิศเราหายไปไหนครึ่งหนึ่ง (คิดเขาเอาไปถ่าย)”
แต่คิดก็ถ่อมตัวว่า ยังเป็นแค่มือสมัครเล่น ที่ยังไม่มีสไตล์เป็นของตัวเอง และยังต้องใช้เวลาเพื่อพิสูจน์ตัวเองอีกมาก
“จริงๆก็คงไม่มีสไตล์ของตัวเอง เพราะว่ายังไม่ได้เป็นช่างภาพมืออาชีพ เรียกได้ว่าเป็นมือสมัครเล่น ที่กำลังเรียนรู้และค้นหาสไตล์ของตัวเองมากกว่า”
เพื่อเป็นชดเชยความฝันของตัวเองที่เคยอยากเป็นคนทำงานศิลปะ แต่หมดโอกาสที่จะได้เดินไปตามเส้นทางนั้น และเพื่อเป็นการสนับสนุนลูกชายให้ไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ บุญชัยที่ล่าสุดเพิ่งประมูลลายเซ็นต์ของราชาเพลงป็อบ ไมเคิล แจ็คสัน มาได้ จึงได้กันพื้นที่ส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ศิลปะฯ ไว้เป็นร้านขายภาพถ่ายและจัดแสดงผลงานของลูกชายด้วย นอกเหนือจากผลงานของช่างภาพชื่อดังทั้งไทยและต่างประเทศที่เขาสะสมไว้จำนวนมาก
“อยากให้เขาไปนู่นเลย ไปอินเตอร์ ไปปารีส ไปโตเกียว อยากให้เขาเป็นคนถ่ายภาพให้กับวงการแฟชั่น เป็นหนึ่งในช่างภาพที่ในอนาคตวงการอยากจะเรียกตัวไปใช้งาน เพราะเขามีจิตนาการ มีวิสัยทัศน์ มีความสามารถ
ผมบอกลูกว่าอย่างอื่นลูกไม่ต้องห่วงหรอก เพราะว่าชีวิตเราก็สบายๆอยู่แล้ว อยากให้เขาทำอะไรที่ตื่นเช้ามาแล้วเขามีความสุข ไม่ต้องไปบริหารบริษัทที่ ทำแล้วไม่สนุก คือเขาได้ใช้ชีวิตที่ผมอยากทำ และผมก็ดีใจว่า เขาได้ทำในสิ่งที่เขามีความสุข”
ได้ฟังคุณพ่อพูดนี้หนุ่มคิดผู้เชื่อในคำกล่าวที่ว่า “ชีวิตหาใช่การแข่งขัน แต่เป็นการเดินทางที่มีรสชาติหลากหลายให้เราลิ้มลองไปตลอดเส้นทาง” น่าจะมีความสุขบนเส้นทางที่ลองแวะเข้าไปเดินเล่นอยู่ไม่น้อย