xs
xsm
sm
md
lg

Rail Away to the Sky : ผจญภัยบนหลังคายุโรป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เพียงชั่วข้ามคืนร่างกายของผมก็ต้องทำการปรับเปลี่ยนอย่างหนัก จากอากาศที่ร้อนสูงเกือบ 39 องศาเซลเซียสในประเทศไทย ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับอากาศบนยอดเขา ยุงค์ฟราว (Jungfrau) ที่ติดลบกว่าศูนย์องศา แต่กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้ผมลืมเลือนภาพความทรงจำอันงดงามบนเทือกเขาแอลป์ที่มีเพียงหิมะขาวพิสุทธิ์ ปกคลุมอยู่ราวกับภาพวาดเหนือจินตนาการบนยอดเขาที่เรียกขานว่าเป็น หลังคายุโรป (Top of Europe)

ต้องยอมรับว่านี่เป็นครั้งแรกและครั้งที่พิเศษสุดที่ผมได้มีโอกาสมาเยือนบนยุงค์ฟราวยอร์ค หลังคายุโรปที่ระดับระดับความสูง 3,345 เมตร หรือราว 11,333 ฟิตเหนือระดับน้ำทะเล ทอดอยู่ใจกลางแนวเทือกเขาแอลป์ โดยมีเมือง อินเตอร์ลาเกน (Interlagen) เป็นหัวใจของดินแดน ที่ทุกยอดเขาปกคลุมด้วยหิมะตามแนวเขายาวกว่า 18 กิโลเมตร หรือราว 11 ไมล์

พลันที่ผมเดินทางถึงสนามบินในเมือง ซูริก (Zurich) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้นั่งรถไฟที่จัดว่าเป็นรถไฟที่ดีที่สุดในโลกไปยังกรุงเบิร์น (Bern) เมืองหลวงของประเทศก่อนที่จะเปลี่ยนรถไฟอีกขบวนเพื่อต่อไปยังเมืองอินเตอร์ลาเกนอันเป็นจุดหมายของการเดินทางครั้งนี้

ในวันแรกผมใช้เวลาชมเมืองอินเตอร์ลาเกนก่อนที่รุ่งขึ้นจะต้องเดินทางขึ้นไปเยือนยุงค์ฟราวแต่เช้า เมืองนี้เป็นศูนย์กลางของดินแดนยุงค์ฟราวที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เป็นเมืองขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ระหว่างสองทะเลสาบ จูน (Thun) และเบรียนซ์ (Brienz) ล้อมรอบด้วยภูเขา ตอกย้ำถึงความจริงที่ความเจริญไม่สามารถครอบงำความงดงามทางธรรมชาติได้ เพราะขณะที่คุณเดินชอปปิ้ง วิ่งจ็อกกิ้ง ดูซีรีส์เรื่องโปรดอยู่ในห้องพักภายในโรงแรม หรือนั่นจิบกาแฟร้อนๆ บริเวณกลางแจ้งหน้าร้าน ก็สามารถสัมผัสกับธรรมชาติที่เป็นเสมือนวอลล์เปเปอร์เทือกเขาสูงระฟ้า ปกคลุมไปด้วยหิมะอันขาวพิสุทธิ์ได้อย่างมีความสุข


จากบริเวณสวนสาธารณะกลางใจเมือง มองเห็นวิวของภูเขาไอเกอร์ (Eiger) มองช์ (Monch) และยุงค์ฟราว ได้อย่างชัดเจน โดยรถม้าพาผมกินลมชมวิวได้บรรยากาศดีทีเดียว จากนั้นก็แวะไปชอปปิ้งที่ เคียร์คอเฟอร์ (Kirchhofer) ร้านจำหน่ายสินค้านาฬิกาสูงค่าหายาก รวมถึงรุ่นที่ผลิตจำนวนจำกัด ซึ่งหากใครมาเยือนอินเตอร์ลาเกนแล้วไม่มาชอปปิ้งที่นี่ขอบอกว่ามาไม่ถึง
ที่เคียร์คอเฟอร์มีนาฬิกาสวิสแบรนด์ดังจำหน่ายมากกว่า 100 แบรนด์ เช่น ปาเทก ฟิลิปเป้ คาร์เทียร์ และโอเมก้า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสินค้าแฟชั่นเครื่องหนังให้เลือกชอปอีกด้วย อาทิ กุชชี ปราด้า เฟอร์รากาโม่ และเบอร์เบอร์รี เป็นต้น ที่สำคัญคุณจะได้รับคำแนะนำดีๆ จากพนักงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยไว้ใจได้


รุ่งเช้าวันต่อมา รถไฟขบวนไม่ด่วนนัก แล่นช้าๆ เลาะไปตามระดับไหล่เขา จากสถานี Interlaken Ost ในเมืองอินเตอร์ลาเกน จุดเริ่มต้นของขบวนรถไฟไต่ระดับที่จะนำผมไปยัง หลังคายุโรป หรือที่เรียกกันว่า Top of Europe ดูจะวุ่นวายไม่น้อยในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิย่างเข้าฤดูร้อนเช่นนี้ เพราะมีนักท่องเที่ยวและนักเล่นสกีต่างมุ่งหน้าสู่ยอดเขายุงค์ฟราวกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นดินแดนที่ได้ชื่อว่าดีเยี่ยมสำหรับตัวเลือกหลากหลายของกีฬากลางแจ้งแบบเมืองหนาว

อากาศในรถไฟถูกปรับให้อุ่นสบายท่ามกลางอากาศภายนอกอยู่ที่ประมาณ 7-8 องศาเซลเซียสตอนที่ขบวนรถค่อยๆ เคลื่อนออกไปอย่างช้าๆ ที่นั่งหนานุ่มนั่งสบาย ผมเลือกนั่งริมหน้าต่างเพื่อชมวิวสวยจับใจตอนที่เพ่งมองผ่านกระจก หรือถ้าต้องการสัมผัสอากาศจริงๆ ก็สามารถเปิดกระจกพับเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ภายนอกได้อย่างเพลิดเพลิน รถไฟขบวนยาวเลื้อยเลาะผ่านหมู่บ้านน้อยใหญ่ที่สร้างจากไม้อันมีเอกลักษณ์ เอียงตามองศาของภูเขาที่สูงชันขึ้นเรื่อยๆ ก้อนหิมะที่กำลังละลาย หรือลำธารที่มีน้ำไหลอย่างต่อเนื่องจากการที่หิมะละลายเพื่อไหลลงสู่ทะสาบในเมืองอินเตอร์ลาเกน


รถไฟใช้เวลาวิ่งมาประมาณหนึ่งชั่วโมง จึงมาเปลี่ยนขบวนที่สถานี กรินเดลวอลด์ (Grindelwald) ก่อนมาหยุดตรงสถานีต้นทาง ไคล์เน่ ไชเดกก์ (Kleine Scheidegg) เพื่อเปลี่ยนไปขึ้นรถไฟล้อเฟือง ที่ความสูง 2,061 เมตร รถไฟขบวนใหม่ค่อยๆ ไต่ระดับความสูงมากขึ้นเรื่อยๆ เส้นทางสู่หลังคายุโรปยาว 12 กิโลเมตร จนถึง ไอเกอร์ กลาเซียร์ (Eiger Glacier) ไต่ไปตามไหล่เขาประมาณ 2 กิโลเมตร แล้วค่อยมุดเข้าอุโมงค์บนเขาแล้วมาหยุดพักอีกประมาณ 5 นาที เพื่อให้ผู้โดยสารได้ปรับร่างกายให้ชินกับระดับความสูงที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็คอยรับนักเล่นสกีที่มาหยุดพักบริเวณนี้

นอกจากนี้ ยังได้จอดชมวิว 2 จุด คือ สถานี ไอเกอร์วอลด์ (Eigerwald) (ที่ความสูงราว 2,865 เมตร) ซึ่งในวันที่ฟ้าเปิดจะได้เห็นวิวที่สวยงามของหุบเขากรินเดลวอลด์, ไคลเน่ ไชเดกก์, อินเตอร์ลาเกน และทะเลสาปจูน ก่อนจอดอีกครั้งที่ สถานีไอส์เมียร์ (Eismeer) (ที่ความสูงราว 3,160 เมตร) ซึ่งจะเห็นธารน้ำแข็งและโขดหิน ก่อนเชิดหน้าวิ่งสู่สถานีที่ใกล้กับท้องฟ้ามากที่สุด คือ ยุงค์ฟราวยอร์ค (Jungfraujoch) ที่ความความสูง 3,454 เมตร


ยุงค์ฟราวยอร์ค ได้ชื่อว่าเป็นหลังคายุโรป หรือ Top of Europe เป็นสถานีรถไฟที่สูงที่สุดในทวีปยุโรป โดยผู้บุกเบิกการรถไฟยุงค์ฟราวชาวสวิสชื่อ อดอล์ฟ กอเยอร์-เซลเลอร์ (Adolf Guyer-Zeller) เป็นคนที่มีไอเดียกระฉูดในขณะที่ไม่มีโครเคยคิดถึงเรื่องนี้มาก่อน และในช่วงเวลานั้นไม่มีเทคโนโลยีชั้นสูงช่วยทุนแรงอย่างเช่นปัจจุบัน แต่ทว่าความฝันของเขากลับกลายเป็นความจริงได้ในอีก 20 ปีต่อมา

จะว่าไปแล้วชายคนนี้มีชื่อเสียงในเรื่องการสร้างรถไฟอยู่แล้ว โดยก่อนหน้านั้นเขากับลูกสาวได้ออกสำรวจไปรอบๆ บริเวณเทือกเขายุงค์ฟราว ในช่วงหนึ่งที่หยุดพักเขาก็ได้กล่าวออกมาว่า “นึกออกแล้ว!” ไม่มีใครรู้ว่าเขาหมายถึงอะไร? แต่เมื่อกลับไปถึงโรงแรม เขาก็ใช้เวลาทั้งคืนวาดแบบความคิดให้ออกมาเป็นโครงการ นั่นก็คือ การสร้างรถไฟสู่ท้องฟ้า!


หากย้อนกลับไป จะพบว่า ประวัติศาสตร์การสร้างรถไฟนี้น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะกลุ่มคนที่สร้างทางรถไฟนี้ขึ้นมาต้องใช้ความพยายามมหาศาลกว่าที่โครงการจะแล้วเสร็จ ในศตวรรษที่ 19 นั้นยอดเขาทั้งหลายเริ่มเข้าถึงได้ง่ายขึ้นโดยรถไฟ แต่สำหรับกอเยอร์-เซลเลอร์กลับคิดว่ามันจะไปได้ไกลและสูงกว่านั้น ซึ่งไอเดียของเขาดีกว่าโครงการที่ผ่านมาตรงที่เขาจะไม่เริ่มต้นสร้างทางรถไฟจากเชิงเขาซึ่งเท่ากับการนับหนึ่งใหม่ แต่จะเริ่มจากสถานีใกล้ๆ ที่มีอยู่แล้ว คือ ไคล์เน่ ไชเดกก์ นั่นเท่ากับเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายที่ควรจะเสียไปมหาศาลเหมือนกัน

สำหรับเวลานั้นนอกจากรถไฟไม่ต้องวิ่งไปท่ามกลางบรรยากาศที่เลวร้าย เพราะสามารถสร้างอุโมงค์ได้ในบางช่วง ยังมีสถานีที่สามารถแวะหยุดพักได้ก่อนที่จะขึ้นไปถึงยอดเขาอีกต่างหาก เมื่อโครงการเป็นรูปเป็นร่าง เขาก็ได้ขออนุญาติทำการก่อสร้างทางรัฐสภาสวิส และได้รับอนุมัติ แต่อุปสรรคยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะว่ากว่าที่จะสร้างทางรถไฟเสร็จก็ต้องใช้เวลาอีก 16 ปี ในขณะที่ช่วงเริ่มต้นสร้างในปี พ.ศ.2439 ช่างก่อสร้างหลายร้อยคนต้องตั้งแคมป์พักแรมบนภูเขา เปลี่ยนเวรกันทำงานตลอด 24 ชั่วโมง


ที่สำคัญเขาต้องเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับธรณีวิทยา สภาพคล่องทางการเงิน อุบัติเหตุในอุโมงค์ และปัญหาในกลุ่มคนงานด้วยกัน งบประมาณจึงพุ่งสูงถึง 15 ล้านฟรังก์ ถูกใช้หมดกว่าที่โครงการจะแล้วเสร็จ (เทียบค่าเงินทุกวันนี้ก็มหาศาล) แต่ในที่สุดรถไฟสู่ท้องฟ้าขบวนนี้ก็เสร็จสมบูรณ์ และได้เปิดบริการเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2455 ซึ่งตรงกับวันชาติของสวิตเซอร์แลนด์พอดี

ด้วยความตั้งใจที่จะไม่ทำลายธรรมชาติและอนุรักษ์ระบบนิเวศน์วิทยา น้ำที่ใช้จะได้มาจากการนำหิมะมาละลาย น้ำเสียทั้งหมดจากยุงค์ฟราวยอร์คจะถูกทิ้งลงมาตามท่อยาวกว่า 9.4 กิโลเมตร เพื่อทำการบำบัดน้ำเสียที่เมืองกรินเดลวอลด์ ซึ่งเป็นการลงทุนที่มหาศาลเป็นครั้งแรกของเทือกเขาแอลป์ที่องค์การยูเนสโกประกาศ Jungfrau-Aletsch เป็นมรดกโลกในปี พ.ศ.2544

บนสถานียุงค์ฟราวยอร์คที่ได้ชื่อว่าสูงที่สุด มีจุดที่น่าสนใจหลายจุด ไม่ว่าหอสังเกตุการณ์ สฟิงซ์ (Sphinx) จุดชมวิวพาโนรามาที่สามารถมองเห็นวิวไปถึง แบล็ก ฟอร์เรส (Black Forest) ในประเทศเยอรมนี และ โวกส์ (Vogese) ในประเทศฝรั่งเศส และยังเป็นสถานีวิจัยปฏิมากรรมแกะสลักน้ำแข็งในถ้ำน้ำแข็ง ไอซ์ พาเลซ (Ice Palace) ที่อยู่ใต้ธารน้ำแข็ง 30 เมตร


จุดชมวิวเหนือธารน้ำแข็งที่สามารถมองเห็นธารน้ำแข็งยาวกว่า 22 กิโลเมตร ลานกิจกรรมกลางแจ้ง ไอซ์ แพลตู (Ice Plateau) สัมผัสปุยนุ่นของหิมะ นั่งลากเลื่อนโดยสุนัขฮัสกี้ จานหิมะ สกี สโนว์บอร์ด และหวาดเสียวสุดๆ กับ ไทโรเลียนน์ (Tyrolienne) ห้อยตัวไปกับสายเคเบิลผ่านธารน้ำแข็งกว่า 200 เมตร ห้องแสดงนิทรรศการประวัติและการวิจัย

และมื้อกลางวันนั้นผมฝากท้องไว้ที่ร้านอาหารที่มีกว่า 5 ร้านให้เลือกสรร ร้านอาหารที่ผมเลือกถูกปูด้วยกระจกใสสามารถมองเห็นวิวเวิ้งว้างของหุบเขากับทะเลหิมะขาวโพลน พอกินอิ่มด้วยไก่ทอดแบบสวิสแล้วก็เดินออกมาชอปปิ้งของที่ระลึก และที่พลาดไม่ได้เลยก็คือโปสต์การ์ดถึงเพื่อนๆ และน้องๆ ที่ทำงาน ซึ่งคุณสามารถติดแสตมป์ประทับตรา Top of Europe ได้อย่างเก๋ไก๋

กลับมาที่สถานีรถไฟไคล์เน่ ไชเดกก์ ซึ่งตั้งอยู่บนเชิงผาไอเกอร์ นอร์ธ วอลล์ (Eiger North Wall) ซึ่งเป็นสถานีใหญ่จุดสำคัญ เพราะต้องใช้เปลี่ยนรถไฟปกติไปเป็นรถไฟล้อเฟือง นอกจากจะมีร้านอาหารและที่พักแบบเกสต์เฮาส์เปิดให้บริการแล้ว ยังสามารถชมการฝึกเหยี่ยว หรือตื่นตากับ คอนเสิร์ต สโนว์เพนแอร์ (SnowPenAir) ส่งท้ายฤดูหนาวที่การรถไฟยุงค์ฟราวจัดขึ้น เช่นเดียวกับรายการกอล์ฟโฮล์-อิน-วัน แข่งหวดลูกกันท่ามกลางอากาศหนาวบนกรีนที่เป็นหิมะ หากนักกอล์ฟคนใดบังเอิญเดินทางขึ้นยุงค์ฟราวยอร์คในช่วงเวลาดังกล่าว จะลองวัดดวงเผื่อได้รางวัลกลับบ้านเป็นนาฬิกาพีเจต์ (Piaget) มูลค่ากว่า 100,000 สวิสฟรังก์ ก็ลองดูได้ครับ


ขากลับจากไคล์เน่ ไชเดกก์ ผมยังไม่ได้นั่งรถไฟกลับเมืองอินเตอร์ลาเกน แต่ผมเลือกนั่งรถไฟสู่อีกเส้นทางก่อนแล้วค่อยวกกลับที่เมืองกรินเดลวอลด์ เพื่อแวะไปเล่นกีฬาสุดเร้าใจ เฟียร์สต์ (First) หรือกีฬาท้าใจเก้าอี้ลอยฟ้า ซึ่งเพิ่งเปิดให้บริการเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้เอง กีฬาชนิดนี้สามารถเล่นได้พร้อมกัน 4 คน โดยผู้เล่นจะมีเก้าอี้และลู่วิ่งแยกจากกันเป็น 4 สาย ความยาวกว่า 800 เมตร ที่ความเร็ว 84 กิโลเมตร/ชั่วโมง ดังนั้น ความฝันที่จะโบยบินในอากาศจึงไม่ใช่เรื่องเกินจริงอีกต่อไป ด้วยความเร็วและความสูง 45 เมตรเหนือพื้นดินโดยไม่มีอะไรป้องกันขณะแล่นผ่านอากาศ เก้าอี้ที่นั่งเป็นแบบเดียวกับกีฬาพาราไกลดิ้ง (Paragliding) โดยบังเหียนจะถูกต่อกับลู่ไฟฟ้าที่รับประกันความปลอดภัย

ตรงปลายทางนอกจากทัศนียภาพเวิ้งว้างของหุบเขาแล้ว ยังมีทะเลสาปบาแชลป์ซี (Bachalpsee) ที่สวยนิ่งสงบรอให้คนที่รักการออกกำลังกายได้รูปสวยๆ เก็บไว้เป็นที่ระลึกและเอาไว้อวดคนไม่เคยมาให้แปลกใจว่าบนภูเขาสูงชันขนาดนี้ยังมีโอเอซิส คือ ทะเลสาปแอ่งน้อยอยู่อีกด้วย


หลังจากเล่นเฟียร์สต์เสร็จแล้ว ผมก็นั่งกระเช้าลงมายังเมืองกรินเดลวอลด์ ก่อนที่จะนั่งรถไฟเพื่อลงมายังเมืองอินเตอร์ลาเกน ตกค่ำก็มากินข้าวที่ร้านอาหารชื่อดังของเมืองนี้ นั่นคือ ร้านชูห์ (Schuh) ซึ่งนอกจากนี้จะมีอาหารนานาชาติ อย่าง ไทย จีน ฝรั่ง แล้ว ยังมีชื่อเสียงในเรื่องของรสชาติช็อกโกแลตอีกด้วย หรือถ้าคุณอยากหัดทำช็อกโกแลต ก็มีโปรแกรมพิเศษที่ทางร้านจัดขึ้น นอกจากจะได้รู้เรื่องความเป็นมาของช็อกโกแลตแล้ว ยังได้ชิมบางส่วนในชั้นเรียนสุดหอมหวานและน่าอร่อยนี้ครบครันในหนึ่งเดียวอีกด้วย

การเดินทางนอกจากจะช่วยสร้างความเพลินเพลิน ตื่นเต้น และความประทับใจแล้ว ยังช่วยสร้างแนวคิดใหม่ๆ ที่ผุดขึ้นมาอย่างไม่มีวันหมดสิ้น ที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตการทำงาน หรือในชีวิตประจำวัน ซึ่งที่หาซื้อที่ไหนไม่ได้นอกจากเกิดขึ้นจากตัวเรา ยังไงลองหาเวลาออกไปเดินทางสัมผัสโลกภายนอกดูบ้าง แล้วคุณจะรู้ว่าชีวิตของเรายังมีอะไรให้สัมผัสอีกมากมาย



Travel Info.
::
ในปี 2001 คณะกรรมการมรดกโลกแห่งยูเนสโก้ ได้ประกาศให้เขต Jungfrau-Aletsch-Bietschhorn ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นหนึ่งในมรดกโลก นับเป็นเขตแรกในเทือกเขาแอลป์ ซึ่งรางวัลดังกล่าวเปรียบเสมือน “รางวัลโนเบลสาขาธรรมชาติ” เลยทีเดียว
:: ทางรถไฟสายยุงค์ฟราว ซึ่งได้เปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี 1912 ทำหน้าที่ขนส่งอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในการนำผู้มาเยือนสู่ยุงค์ฟราวยอร์ค ที่ระดับความสูง 3,454 เมตร หรือราว 11,333 ฟิต
:: บนยอดเขายุงค์ฟราวยอร์คคุณสามารถเก็บเกี่ยวความทรงจำสุดพิเศษได้ที่จุดชมวิวอื่นๆ เช่น อาคารหอสังเกตการณ์สฟิงซ์ ถ้ำน้ำแข็งไอซ์ เกตเวย์ และที่ราบสูงหิมะ ห้องนิทรรศการโสตทัศน์ ห้องแสดงนิทรรศการงานวิจัยเทือกเขาแอลป์ ในฤดูร้อน การนั่งสุนัขลากเลื่อน เล่นสกี และสโนว์บอร์ด กิจกรรมกลางแจ้งบนลานหิมะ รวมถึงร้านอาหารที่มีให้เลือกกว่า 5 แห่ง และร้านขายของที่ระลึก สถานที่ส่งอีเมล หรือแม้กระทั่งห้องสัมมนา
:: การเดินทางสู่เมืองอินเตอร์ลาเกน ที่สะดวกสุดคือ รถไฟ ถ้านั่งเครื่องบินลงที่สนามบินซูริก สามารถนั่งรถไฟมายังกรุงเบิร์น แล้วมาต่อรถไฟอีกขบวนมายังอินเตอร์ลาเกน
:: ในเมืองอินเตอร์ลาเกนมีโรงแรมและเกสต์เฮาส์ให้เลือกพักมากมาย ตั้งแต่ราคาย่อมเยาว์ไปจนถึงสุดหรูแพงระยับ
:: ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวยุงค์ฟราว สามารถติดต่อได้ที่ตัวแทนประเทศไทย โทรศัพท์ 0-2630-5732, 081-909-6966 หรือแวะชมได้ที่เว็บไซต์ www.jungfrau.ch


มาแล้วควรเที่ยวอะไรบนยุงค์ฟราว

> สฟิงซ์ เพื่อคอยสังเกตการณ์ความเป็นไปนอกโลก
> ถ้ำน้ำแข็ง แหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวของเทือกเขาแอลป์ในสวิส
> ประตูน้ำแข็ง หรือ Ice Gateway จุดเชื่อมต่อลานน้ำแข็งสูงที่ราบสูงแห่งหิมะ
> ขบวนรถไฟสันถวไมตรี ไอเกอร์ เพื่อเดินทางสู่ที่ราบสูงแห่งหิมะกับแชมเปญ
> ไอเกอร์ กำแพงหน้าผาด้านทิศเหนือ หนึ่งในหน้าผาที่มีชื่อเสียงของโลก
> ไอเกอร์ เส้นทางเดินเขา ซึ่งสามารถเดินเขาไต่หน้าผาไอเกอร์
> และการผจญภัยบนหลังคายุโรป
> สุ่ยอดเขามองช์และอีกมากมาย
> สุนัขกรีนแลนด์ แห่งธารน้ำแข็งไอเกอร์
> สวนพฤกษศาสตร์เทือกเขาแอลป์ ไชนิก แพลตต์ ที่มีกว่า 80 ปี แต่ยังคงความงดงาม
> รถกระเช้าลอยฟ้ากรินเดลวอลด์-เฟียร์สต์ สู่ปลายสุดแห่งยอดเขา

กำลังโหลดความคิดเห็น