เป็นสมาร์ทโฟนแฟลกชิปของตลาดระดับบนอีกหนึ่งรุ่นที่ทุกคนต่างจับตามองมากที่สุด โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพัฒนาในส่วนกล้องถ่ายภาพที่ในครั้งนี้ซัมซุงเน้นปรับปรุงกล้องหลังของ Galaxy S6 และ S6 edge ใหม่หมดบนคอนเซป “กล้องถ่ายภาพที่ใช้งานในที่แสงน้อยได้ดีเยี่ยมรวมถึงเป็นกล้องที่ดึงความสามารถของหน่วยประมวลผล 64 บิตและชุดคำสั่ง API กล้องบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 5.0 Lollipop ออกมาใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ”
โดยสมาร์ทโฟน Galaxy S6 รุ่นที่ผม “เป๋า @dorapenguin” จะนำมาทดสอบเป็นรุ่นขอบจอโค้ง edge ที่มีสเปกภายในไม่แตกต่างจากรุ่นธรรมดา ซึ่งในบทความทดสอบนี้ผมจะเน้นทดสอบกล้องหลังเป็นหลัก
สำหรับสเปกกล้องด้านหลังตัวใหม่ทั้ง Galaxy S6 และ S6 edge (ต่อจากนี้ผมจะขอเรียกแค่ S6 เฉยๆ) จากเดิมตอน S5 ที่ซัมซุงเลือกใช้เซ็นเซอร์รับภาพ ISOCELL ที่ตนผลิตเองและเปลี่ยนมาใช้บริการ Sony Exmor IMX240 ในรุ่นหลังบางรุ่นสลับกับ ISOCELL จนมาถึง S6 ที่สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานตรงกันว่าซัมซุงได้กลับไปเลือกใช้บริการเซ็นเซอร์รับภาพ Sony Exmor IMX240 ขนาด 1/2.6 นิ้วบนความละเอียดภาพสูงสุด 16 ล้านพิกเซล (อัตราส่วน 16:9)
ในส่วนสเปกอื่นๆเพื่อให้เป็นไปตามคอนเซปกล้องที่ถ่ายในที่มืดได้ดีเยี่ยม ซัมซุงเลือกปรับรูรับแสงจากเดิม f2.0 เป็น f1.9 มาพร้อมระบบป้องกันภาพสั่นไหว OIS (Optical image stabilization) จาก InvenSense IDG-2030 จำนวน 2 แกนและหน่วยประมวลผลภาพ Samsung C2N89U ที่คาดว่าออกแบบใหม่ให้สามารถทำงานร่วมกับหน่วยประมวลผลหลักและซอฟต์แวร์กล้องแบบ 64 บิตสำหรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 5.0 โดยเฉพาะ
ซอฟต์แวร์กล้อง
ไม่ใช่แค่ฮาร์ดแวร์ที่ปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ในส่วนซอฟต์แวร์ควบคุมการทำงานของกล้องถ่ายภาพก็มีการปรับปรุงด้วยเช่นกัน โดยซอฟต์แวร์กล้องใน S6 จะถูกออกแบบใหม่ให้เน้นการใช้งานง่ายและอัจฉริยะด้วยโหมดถ่ายภาพอัตโนมัติที่มาพร้อมระบบตรวจจับสภาพแวดล้อม
ส่วนผู้ใช้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพแบบปรับแต่งค่ากล้องเอง ในครั้งนี้ทางซัมซุงก็ได้ให้โหมด Pro ที่จะใช้ส่วนเชื่อมต่อ API กล้องตัวใหม่บนแอนดรอยด์ 5.0 Lollipop (ที่ผมเคยรีวิวไปแล้วในบทความ เค้นพลังกล้องด้วยเอนจินใหม่ในแอนดรอยด์ Lollipop ผ่าน “Camera FV-5”)
โดยสิ่งที่ผู้ใช้สามารถปรับแต่งได้จากโหมด Pro ก็คือ สามารถปรับล็อคออโต้โฟกัสแยกกับส่วนวัดแสงได้อย่างอิสระ, ปรับชดเชยแสง +/- 2.0, ปรับค่าความไวแสง ISO ได้ตั้งแต่ง 100-800, ปรับระบบโฟกัสเป็นแบบแมนวลได้เอง, ปรับแต่ง White Balance และสุดท้ายสามารถปรับโทนภาพได้ตามต้องการ เช่น ปรับเพิ่มลดอุณหภูมิสี ปรับระดับสี เพิ่มไฮไลท์หรือเงา เป็นต้น
แต่ทั้งนี้น่าเสียดายที่ซัมซุงไม่อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งความเร็วชัตเตอร์ได้เอง ทั้งที่ในชุด API กล้องบนแอนดรอยด์ 5.0 อนุญาตให้สามารถทำได้
ฟีเจอร์/โหมดถ่ายภาพเด่น
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าสมาร์ทโฟนซัมซุงในยุคหลังจะตัดฟีเจอร์กล้องที่เกินความจำเป็นออกไปหมด โดยใน S6 ก็เช่นกัน ฟีเจอร์และโหมดถ่ายภาพจะถูกใส่มาจากโรงงานแค่ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งถ้าผู้ใช้ต้องการก็สามารถเข้าไปดาวน์โหลดมาติดตั้งได้เองจาก Samsung Apps
โดยฟีเจอร์เด่นตัวแรกที่เราไม่พูดถึงไม่ได้เพราะซัมซุงคุยไว้อย่างใหญ่โตตั้งแต่งานเปิดตัวไปถึงวิดีโอโฆษณาก็คือ Track AF หรือออโต้โฟกัสติดตามวัตถุ (สามารถดูตัวอย่างการใช้งานได้จากคลิปวิดีโอด้านบน) ภายหลังจากซัมซุงปรับภาคฮาร์ดแวร์ส่วนซีพียูและซอฟต์แวร์ให้เข้าสู่ยุค 64 บิตเต็มตัว โหมด Track AF จึงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและให้ผลลัพท์ที่ดีมากเมื่อผู้ใช้ถ่ายวิดีโอการเล่นกีฬาต่างๆ เพราะโฟกัสสามารถล็อคกับคนหรือวัตถุที่เราต้องการให้ติดตามได้ตลอดเวลา ทำให้ช่วยลดอาการโฟกัสวืด
มาดูโหมดถ่ายภาพเด่นกันบ้างกับ ”Virtual Shot” หรือภาษาไทยคือ “ช็อตเสมือนจริง” ที่ซัมซุงพัฒนาต่อยอดมาจาก Virtual Tour Shot โดยจุดเด่นของโหมดถ่ายภาพนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถถ่ายภาพรอบวัตถุแบบ 360 องศาทุกมุมมองหรือจะนำไปประยุกต์ใช้ถ่ายภาพ 360 องศารอบสถานที่ท่องเที่ยว ในอาคารหรือในรถยนต์ก็สามารถทำได้
ในส่วนรูปแบบไฟล์ที่ออกมาจะเป็นไฟล์วิดีโอ MP4 สามารถแชร์ไปยังยูทูปและส่งให้เพื่อนดูได้
สำหรับกล้องถ่ายภาพด้านหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล ที่ถึงแม้ในส่วนสเปกฮาร์ดแวร์จะไม่แตกต่างจาก Note 4 มากนักแต่ในส่วนซอฟต์แวร์ซัมซุงมีการปรับเปลี่ยนใหม่ให้ใช้งานได้ง่ายและให้ผลลัพท์ภาพที่ดีขึ้น โดยโหมดเด่นอย่าง Wide Selfie จาก Galaxy Note 4 ก็ยังมีให้เลือกใช้งานเช่นเดิม พร้อมโหมดถ่ายภาพใหม่อย่าง Virtual Shot ก็มีให้เลือกใช้งานผ่านเซลฟีโหมด หรือการใช้เสียงสั่งลั่นชัตเตอร์ด้วยคำพูดเช่น Shoot, Capture, Smile ก็สามารถทำได้เหมือนเดิม
และสุดท้ายที่โดดเด่นเป็นพิเศษก็คือ “สามารถใช้เซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจที่ติดตั้งอยู่ข้างกล้องหลังเป็นปุ่มลั่นชัตเตอร์เมื่ออยู่ในโหมดเซลฟีได้ด้วย”
ทดสอบประสิทธิภาพกล้องหลัง
แค่เห็นสเปกกล้องที่ปรับเปลี่ยนไปก็ทำให้ผมรู้สึกได้ทันทีว่า ในครั้งนี้ซัมซุงจัดเต็มเรื่องกล้องหลังมากกว่าทุกครั้ง โดยสิ่งหนึ่งที่ซัมซุงใส่ใจมากเป็นพิเศษนอกจากเรื่องรูรับแสงที่กว้างขึ้นเพื่อการเก็บภาพในที่แสงน้อยได้ดีมากขึ้น เรื่องไดนามิกและการเก็บรายละเอียดภาพก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมสัมผัสได้จากการทดลองถ่ายภาพจาก S6 เป็นเวลาร่วมอาทิตย์
ภาพบน - ภาพระยะปกติ / ภาพกลาง - ใช้ Digital Zoom ประมาณ 4 เท่า / ภาพล่างสุด - ใช้ Digital Zoom ประมาณ 8 เท่า
ความประทับใจแรกที่เกิดขึ้นก็คือเรื่อง “Digital Zoom” ที่เริ่มใช้งานได้จริงจากคุณภาพไฟล์ระดับ 6-7MB ต่อไฟล์รวมถึงความละเอียดระดับ 16 ล้านพิกเซลที่ช่วยได้มากเมื่อต้องครอปผ่านระบบ Digital Zoom ทำให้ภาพที่ได้มีอาการภาพเบลอและแตกน้อยลง อย่างน้อยที่ซูมระดับ 4 เท่าในสภาพแสงกลางวันก็สามารถเลือกใช้เวลาจำเป็นได้
แต่ถึงอย่างไรผมก็ยังคงหนักแน่นกับคำแนะนำเดิมๆก็คือ ถ้าสถานที่ไม่ยากลำบากต่อการเดินเข้าไปถ่ายวัตถุหรือแบบก็จงเดินไปถ่ายด้วยระยะปกติเถอะครับ คุณภาพไฟล์ดีกว่ากันเยอะมาก
มาดูผลลัพท์จากโหมดถ่ายภาพ “Pro” กันบ้าง หลังจากอธิบายการทำงานไปแล้ว ภาพนี้ผมต้องบอกว่าผมเลือกถ่ายในสภาพแสงที่น้อยมาก เพราะผมตั้งใจจะรีดเค้นประสิทธิภาพทั้งเรื่องเซ็นเซอร์ 1/2.6 นิ้วและเลนส์รูรับแสง f1.9 ผมจึงเลือกเปิดให้ไฟจากข้างนอกส่องผ่านหน้าต่างเข้ามาเพียงเล็กน้อย จากนั้นผมเลือกชดเชยแสงให้ติดลบประมาณ -1.7 ISO 100 พร้อมเลือกปรับโทนสีแบบเน้นลดความเข้มสีลงจนหมด เพราะผมต้องการอารมณ์ภาพหม่นๆเล็กน้อย
สุดท้ายผลลัพท์ที่ออกมาถือว่าทำได้น่าประทับใจอย่างมาก คุณภาพไฟล์ความคมชัดทุกอย่างอยู่ครบทั้งหมด f1.9 กับระบบป้องกันภาพสั่นไหวทำงานได้ดี
ลองเค้นประสิทธิภาพของกล้องหลังในที่แสงน้อยอีกครั้ง สำหรับภาพวิวทิวทัศน์เยาวราชกับสภาพแสงยามเย็มพร้อมไฟจากป้ายห้างร้านต่างๆ S6 ยังสามารถเก็บรายละเอียดของภาพ สีและแสงได้ค่อนข้างสมดุลกัน
เรื่องแฟร์จากแสงที่ส่องออกมาจากหลอดไฟและป้ายไฟกับรูรับแสงเลนส์ f1.9 ไม่มีอาการแสงฟุ้งให้เห็น
ส่วนภาพต่อมาถือว่าถ่ายในที่แสงน้อยมาก เพราะมีเพียงแค่ไฟซีนอนจากรถยนต์ที่จอดอยู่ริมถนนเท่านั้น แต่กล้องหลัง S6 ก็ถือว่ายังทำงานได้น่าประทับใจโดยเฉพาะออโต้โฟกัสและระบบวัดแสงที่ทำงานได้รวดเร็วมากประมาณจิ้มจอแล้วโฟกัสพร้อมปรับแสงให้ในเวลาไม่เกิน 1 วินาที ทำให้การสแนปภาพทำได้เร็วและไม่พลาดแอ็คชันสำคัญ
มาที่ภาพล่างสุดน้องแมวนอนอยู่หน้าประตู ภาพนี้แสงน้อยสุดและถือเป็นภาพที่มองเห็น Noise และระบบจัดการ Noise ได้ดีสุดแล้ว (อยากชมแบบเห็นชัดทุกรูขุมขนให้กดที่ภาพเพื่อชมแบบ 100% แล้วลองพิจารณาเองว่าชอบหรือไม่)
มาถึง 12 ภาพสุดท้าย ตลอดหนึ่งอาทิตย์ที่ผมได้ทดสอบกล้องหลัง Galaxy S6 สิ่งที่ผมประทับใจนอกจาก 3 เรื่องข้างบนที่กล่าวไปแล้ว สิ่งแรกคือ Skin Tone and Detail เมื่อเรานำกล้องหลังไปถ่ายภาพบุคคลทั้งในสภาพแสงปกติและในที่มืดมีแสงจากหลอดไฟสร้างความสับสนให้กล้อง แต่ S6 ก็ยังเก็บรายละเอียดและสีผิวออกมาได้อย่างน่าประทับใจ
ตัวอย่างจากภาพผมขอเปรียบเทียบกับสมาร์ทโฟนที่มีราคาค่าตัวไล่เลี่ยกันและถือเป็นไฮเอนด์ในกระแสสังคมเหมือนกันกับ iPhone 6 Plus (ตั้งความละเอียดภาพ 8 ล้านพิกเซลเท่ากัน) ในสภาพแสงจากหลอดไฟนีออนหลอดเดียว จะเห็นว่าด้านรายละเอียดเล็กๆน้อยอย่างตรงแก้มที่เป็นช่วงแสงสะท้อน S6 จะเก็บรายละเอียดมาได้ดีกว่า ในขณะที่ iPhone 6 Plus จะสูญเสียรายละเอียดไปพอสมควร ซึ่งเมื่อประกบรวมกับโทนสีภาพรวมทั้งหมดแล้วจะพบว่า S6 ให้โทนสีผิวทั้งเสื้อผ้า หน้า ผมได้อิ่มตัวเหมือนธรรมชาติมากกว่า iPhone 6 Plus ที่ติดอมเหลือง
สิ่งประทับใจที่สองคือ f1.9 Macro Mode และมิติภาพ เป็นสามเรื่องหลักที่เกิดจากเซ็นเซอร์ 1/2.6 นิ้วรวมกับชิ้นเลนส์กล้องตัวใหม่ ทำให้การถ่ายภาพระยะใกล้จะสร้างฉากหลังที่ละลายได้ค่อนข้างสวยงาม และช่วยให้ภาพมีมิติเหมือนถ่ายจากกล้องดิจิตอลมากขึ้น
และสิ่งประทับใจสุดท้ายก็คือ การทำงานของตัวกล้องที่รวดเร็วกว่าเดิม ส่วนนี้ซัมซุงทำได้ดีสุดในตระกูล Galaxy จากเดิมหลายคนมักหงุดหงิดกับโหมดกล้องที่เชื่องช้า ชอบค้างและไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้นักเพราะปุ่มคำสั่งเยอะใน Galaxy รุ่นก่อนหน้า แต่ใน S6 โหมดกล้องถูกปรับมาใหม่ให้เป็นยูสเซอร์เฟรนลี่มากขึ้น ความน้อยอย่างของออปชันที่เหลือแค่โหมดกล้องจำเป็นและการปรับตั้งค่าที่ไม่ยุ่งยากสร้างความน่าใช้และการกดถ่ายภาพที่แม่นยำมากขึ้น อีกทั้งด้วยฮาร์แวร์และซอฟต์แวร์ 64 บิตยังสร้างความลื่นไหลให้กับระบบออโต้โฟกัสและวัดแสงที่ทำงานได้เร็วเวอร์ระดับไม่ถึง 1 วินาทีทั้งในที่แสงน้อยและแสงปกติอีกด้วย
จบเรื่องถ่ายภาพนิ่งมาเรื่องโหมดวิดีโอกันบ้าง สิ่งแรกที่ซัมซุงปรับแต่งมาได้ดีนอกจากโฟกัสที่รวดเร็วจากสเปกฮาร์ดแวร์ที่ปรับเปลี่ยนไปแล้ว รวมถึง Track AF ที่กล่าวไปแล้ว เรื่อง ”ไมโครโฟนสเตอริโอ” สามารถบันทึกแยกเสียงซ้ายขวาได้ชัดเจนและให้มิติเสียงดีมาก (ไม่เชื่อลองเสียบหูฟังแล้วกดดูคลิปแรกได้)
แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าโหมดวิดีโอจะดีทั้งหมดเหมือนโหมดถ่ายภาพนิ่ง เพราะตอนบันทึกวิดีโอผมพบปัญหาวิดีโอสะดุดอยู่บ่อยครั้งรวมถึงการปรับแสงและโฟกัสจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่งที่ทำได้ไม่นุ่มนวลเหมือนคู่แข่งอย่าง iPhone 6 Plus ที่ผมมองว่าอแอปเปิลทำได้ดีสุดในตลาดสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ปัจจุบันนี้
และทั้งหมดก็คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญแบบ Next Level ของกล้องถ่ายภาพด้านหลัง โดยเฉพาะการถ่ายภาพนิ่งจาก Samsung Galaxy S6/S6 edge ที่โดดเด่นมากที่สุดในตลาดตอนนี้แล้ว
ในส่วนรีวิวประสิทธิภาพและซอฟต์แวร์ภายในโปรดติดตามเร็วๆนี้...