ต้อนรับปีใหม่แบบร้อนแรงด้วยบทความรีวิวคู่หูสมาร์ทโฟนและสายรัดข้อมือสมาร์ทแบนด์ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ตอนนี้กับ Sony Xperia Z3 และ Sony SmartBand Talk SWR30 โดยทั้งสองยังคงเดินตามแนวทางของโซนี่ยุคใหม่อย่างมั่นคง แม้หลายคนจะตั้งข้อสังเกตทั้ง Xperia Z3 และ SmartBand Talk SWR30 ว่าเหมือนเป็นการอัปเกรดจากรุ่นก่อนหน้าที่ไม่มีสิ่งใดแปลกใหม่ก็ตาม
การออกแบบ Sony Xperia Z3
เริ่มจากพี่ใหญ่สมาร์ทโฟน Sony Xperia Z3 ที่โซนี่ยังคงยึดแนวทางการออกแบบเหมือนรุ่นก่อนหน้าคือ “Omni balance design” บอดี้เครื่องเป็น Bar type สัดส่วนความหนาตัวเครื่องเท่ากันทุกส่วน
ส่วนขนาดตัวเครื่องอยู่ที่ 146x72 มิลลิเมตร หนา 7.4 มิลลิเมตร น้ำหนักถูกปรับใหม่ให้เบาเพียง 153 กรัมจากเดิมอยู่ที่ 163 กรัม
หน้าจอแสดงผลเป็นมัลติทัช ขนาด 5.2 นิ้วความละเอียด 1,920x1,080 พิกเซล (FullHD) TRILUMINOS พร้อมชิปประมวลผลภาพ X-Reality
ในส่วนกล้องหน้าความละเอียด 2.2 ล้านพิกเซลรองรับการถ่ายวิดีโอ FullHD 1080p พร้อมลำโพงแบบสเตอริโอที่โซนี่ติดตั้งใหม่อยู่บริเวณด้านหน้าจอภาพซึ่งให้เสียงที่ดีขึ้นจากรุ่นก่อนหน้ามาก
ด้านหลังไม่มีความแตกต่างจาก Xperia Z2 แต่อย่างใด ส่วนของกล้องถ่ายภาพด้านหลังยังคงรองรับความละเอียดภาพสูงสุด 20.7 ล้านพิกเซลพร้อมไฟแฟลชแบบ LED ตรงกลางเป็นส่วนสัมผัส NFC โลโก้ SONY และ Xperia
สำหรับสีตัวเครื่องมีให้เลือก 4 สีคือ ขาว ดำ ทองแดงและสีเงินออกเขียว (Silver Green)
มาดูสันเครื่องด้านซ้ายจะเป็นช่อง MicroUSB 2.0 (มีฝาปิดป้องกันน้ำเข้า), ส่วนสัมผัสกับ Docking และช่องร้อยสายคล้องข้อมือ
ส่วนสันเครื่องด้านขวาจากซ้ายมือของภาพจะเป็นปุ่มชัตเตอร์กล้อง, ปุ่มเพิ่มลดเสียง, ปุ่มเปิดปิดเครื่องและช่องใส่นาโนซิม (NanoSIM) และการ์ด MicroSD เพิ่มความจุรองรับพื้นที่สูงสุด 128GB (ทุกช่องมีฝาปิดป้องกันน้ำเข้า)
สุดท้ายสันเครื่องด้านบนจะเป็นที่อยู่ของช่องเชื่อมต่อหูฟัง/Smalltalk ขนาด 3.5 มิลลิเมตร และรองรับหูฟังที่มาพร้อมระบบตัดเสียงรบกวนแบบดิจิตอลด้วย
การออกแบบ Sony SmartBand Talk SWR30
ต่อด้วยคู่หู SmartBand Talk SWR30 ที่โซนี่พัฒนาต่อยอดจาก SmartBand SWR10 โดยการปรับเปลี่ยนที่เห็นชัดสุดก็คือ มาพร้อมหน้าจอ E Ink ขาวดำขนาด 1.4 นิ้ว ไม่มี Backlight ความละเอียด 296x128 พิกเซล 192dpi มีให้เลือก 2 สีคือ ขาวและดำ
ในส่วนสายรัดข้อมือจะเป็นยางมีให้เลือก 2 ขนาดคือ S ความยาว 52 มิลลิเมตรและ L ความยาว 68 มิลลิเมตร อีกทั้งส่วนของสายรัดข้อมือสามารถถอดเปลี่ยนได้
มาดูที่ปุ่มกดสั่งงาน SWR30 สีเงินจะติดตั้งอยู่ด้านข้างนาฬิกา โดยปุ่มกดแถบสั้นจะทำหน้าที่รับคำสั่ง ส่วนแถบยาวจะใช้เลื่อนเมนู ส่วนรูสีดำที่อยู่ระหว่างปุ่มคำสั่งทั้งสองด้านหนึ่งจะเป็นลำโพงสำหรับฟังเสียงสนทนาโทรศัพท์ส่วนอีกด้านจะเป็นไมโครโฟน
สำหรับการชาร์จพลังงานจะทำผ่านช่อง MicroUSB ที่ติดตั้งอยู่ด้านข้างเครื่องฝั่งตรงข้ามกับปุ่มคำสั่ง โดยผู้ใช้สามารถชาร์จไฟจากแหล่งพลังงานทั้ง USB จากคอมพิวเตอร์หรืออะแดปเตอร์ชาร์จไฟจากสมาร์ทโฟนก็ได้
สเปก
เริ่มจาก Sony Xperia Z3 โซนี่ปรับไปใช้ซีพียู Qualcomm Snapdragon 801 Quad Core ความเร็ว 2.5GHz กราฟิกใช้ Adreno 330 แรมให้มา 3GB รอม 16GB เหลือใช้งานจริง 11.57GB รองรับ 3G/4G ที่มีในบ้านเราทุกคลื่นความถี่
ในส่วนระบบปฏิบัติการเลือกใช้แอนดรอยด์ 4.4.4 KitKat จากโรงงานครอบด้วยอินเตอร์เฟสจากโซนี่อีกครั้ง
ด้านสเปกส่วนอื่นตัวเครื่องรองรับการเล่น Hi-Res Audio ควบคู่กับอุปกรณ์ DAC จากโซนี่ผ่านพอร์ต USB ได้ รองรับการเล่นไฟล์เสียงความละเอียดสูงด้วย Clear Audio+ และ Sony VPT ระบบเสียง 3 มิติ รวมถึงรองรับระบบเพิ่มคุณภาพเสียง (“up-scaling” technology) DSEE HX
ในส่วนกล้องถ่ายภาพด้านหลังโซนี่ปรับให้รองรับค่าความไวแสงสูงสุด ISO 12,800 และปรับปรุงคุณภาพการถ่ายวิดีโอ 4K ให้ดีขึ้น
สำหรับสเปกการเชื่อมต่อเครือข่าย ตัวเครื่องรองรับ aGPS/GLONASS, ANT+, บลูทูธ 4.0, DLNA, NFC, WiFi Hotspot/WiFi ที่รองรับการเชื่อมต่อกับ PlayStation 4 Remote Play ด้วย
มาถึงสายรัดข้อมือ SmartBand Talk SWR30 สเปกจอ E Ink มีความสามารถพิเศษคือสามารถเปิดหน้าจอแสดงผลตลอดเวลาได้โดยไม่บริโภคแบตเตอรีเหมือนจอสมาร์ทวอตซ์ทั่วไป โดยภายในยังมาพร้อมเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวและเซนเซอร์วัดความสูง อีกทั้ง SWR30 ยังรองรับระบบสั่งงานด้วยเสียง รวมถึงมีไมโครโฟนและลำโพงสำหรับเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนพร้อมแบตเตอรีภายในขนาด 70 mAh สามารถใช้งานได้นาน 3 วัน
ในส่วนฟีเจอร์ความสามารถของสายรัดข้อมือ SmartBand Talk SWR30 หลักๆ จะสามารถใช้เป็นนาฬิกาข้อมือบอกเวลา ตรวจนับก้าวเดินและตรวจจับวิเคราะห์การนอนหลับในแต่ละคืนได้
นอกจากนั้นทางโซนี่ยังเพิ่มความสามารถให้ SWR30 สามารถซิงค์กับสมาร์ทโฟนที่รองรับเพื่อรับสายและสนทนาโทรศัพท์ได้ที่ข้อมือ รวมถึงสามารถดูการแจ้งเตือนจากสมาร์ทโฟนได้ (รองรับภาษาไทยสมบูรณ์แบบ)
ด้านการควบคุม SmartBand Talk SWR30 ต้องทำผ่านแอปฯ SmartBand Talk SWR30 และ Lifelog รองรับเฉพาะ Android 4.4 ขึ้นไป
มาถึงไม้ตายเด่นด้านสเปกของทั้งสองคือ “ความสามารถในการป้องกันน้ำและฝุ่น” ที่ในครั้งนี้โซนี่อัปเกรด Sony Xperia Z3 และ SmartBand Talk SWR30 ให้สามารถป้องกันน้ำและฝุ่นได้ดียิ่งขึ้นด้วยมาตรฐาน IP65/68 พร้อมรองรับการใช้งานใต้น้ำลึก 1.5 เมตรได้นาน 30 นาที
ฟีเจอร์เด่น Sony Xperia Z3 และ SmartBand Talk SWR30
เริ่มจาก Sony Xperia Z3 โซนี่เลือกใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์คิทแคทครอบด้วย UI ของโซนี่ที่ยังคงหน้าตาเหมือนเดิมแต่ปรับเรื่องความเสถียรใหม่ให้ลื่นไหลขึ้น โดยแอปพลิเคชันที่ติดตั้งมากับตัวเครื่องยังคงเน้นเรื่องบริการของโซนี่เป็นหลักไม่ว่าจะเป็น Walkman, Lifelog, Sociallife พร้อมความพิเศษในส่วนของแอปฯ PlayStation ที่สามารถ Remote ผ่าน WiFi จากเครื่องคอนโซล PlayStation 4 มาเล่นบน Z3 ได้
ในส่วนฟีเจอร์ที่โซนี่เพิ่มเข้ามาใหม่และสามารถใช้งานได้โดดเด่นได้แก่ Ultra STAMINA ที่พัฒนาจากโหมด STAMINA เดิมโดยโหมดแบบ Ultra จะช่วยยืดอายุแบตเตอรีให้ใช้งานในหนึ่งวันได้ยาวนานเป็นวันหลังจากสถานะแบตเตอรีฟ้องใกล้จะหมด ระบบ Ultra STAMINA จะเริ่มทำงานด้วยหน้า UI แบบพิเศษรวมถึงปิดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตและปิดการทำงานของ Background Apps ทั้งหมดเหลือให้ผู้ใช้เลือกใช้งานได้เฉพาะโทรศัพท์ ถ่ายภาพและฟังวิทยุหรือตรวจเช็คข้อความเท่านั้น
Screenshots Video Record จากเดิมผู้ใช้ทำได้แค่จับภาพหน้าจอแบบภาพนิ่งเท่านั้น แต่ใน Xperia Z3 ผู้ใช้จะสามารถบันทึกวิดีโอสกรีนซ็อตพร้อมลูกเล่นพิเศษคือเปิดกล้องหน้าบันทึกในรูปแบบวิดีโอพร้อมกันได้ด้วย
กล้องถ่ายภาพ มาถึงเรื่องกล้องถ่ายในครั้งนี้โซนี่ปรับซอฟต์แวร์กล้องถ่ายภาพใหม่ โดยเฉพาะโหมดถ่ายภาพอัตโนมัติที่ปรับเปลี่ยนใหม่เกือบทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น
ตัวอย่างภาพที่ได้จากโหมด AR Fun
AR Fun ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถสร้างเอฟเฟ็กต์แบบ 3 มิติบนภาพถ่ายแบบ Realtime ได้ด้วยตัวเอง
กล้องมัลติ ผู้ใช้สามารถนำกล้องถ่ายภาพโซนี่ที่รองรับ NFC มาเปิดใช้งานร่วมกับกล้องหลังของ Z3 และถ่ายภาพสองมุมมองจากกล้องสองตัวได้
Face in เป็นการเปิดใช้กล้องหน้าและกล้องหลังถ่ายภาพเซลฟี่ตัวเองร่วมกับภาพวิวทิวทัศน์
Live on YouTube เป็นโหมดถ่ายทอดสด (On-air) ผ่านบริการของ YouTube
ส่วนใครที่ชอบการถ่ายภาพแบบปรับแต่งด้วยตัวเองเพื่อรีดประสิทธิภาพกล้องหลังได้สูงสุด โซนี่ก็ยังให้โหมด Manual มาเหมือนเดิม โดยสามารถตั้งความละเอียดภาพสูงสุด 20.7 ล้านพิกเซลได้
วิดีโอตัวอย่าง SteadyShot ใหม่
โหมดป้องกันภาพสั่นไหว SteadyShot ใหม่ ทุกท่านคงทราบดีว่าระบบป้องกันภาพสั่นไหว SteadyShot มีในอุปกรณ์กล้องถ่ายภาพของโซนี่ทุกรุ่น แต่สำหรับตลาดสมาร์ทโฟน เดิมที SteadyShot จะเป็นแค่ซอฟต์แวร์เท่านั้น แต่สำหรับ Xperia Z3 โซนี่เพิ่มความสามารถของ SteadyShot ให้สามารถทำงานแบบ Active ในชื่อ SteadyShot with Intelligent Active Mode ได้ ทำให้การถือสมาร์ทโฟนถ่ายวิดีโอทำได้นิ่งขึ้น
มาที่ฟีเจอร์และการใช้งาน SmartBand Talk SWR30 อย่างแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่า SWR30 ใช้งานได้เฉพาะแอนดรอยด์ 4.4 ขึ้นไปเท่านั้น และตัวสายรัดข้อมือไม่จำเป็นต้องใช้ร่วมกับสมาร์ทโฟนโซนี่อย่างเดียว สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์บางรุ่น เช่น Nexus 5 ก็สามารถทำงานร่วมกับ SWR30 ได้
โดยแอปฯควบคุมการทำงานของ SWR30 จะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งการทำงานได้ตั้งแต่เรื่องการแจ้งเตือน สีของหน้าจอและเป็นศูนย์กลางในการติดตั้งแอปพลิเคชันลงในสายรัดข้อมือ
ส่วนแอปฯ Lifelog จะใช้เก็บสถิติที่สายรัดข้อมือตรวจจับได้ เช่น จำนวนก้าวเดินในแต่ละวัน การนอนหลับที่สามารถดูได้ว่าช่วงเวลานี้เราหลับลึกหรือนอนครึ่งหลับครึ่งตื่นกี่ชั่วโมงรวมถึงความสามารถในการตรวจจับการใช้สมาร์ทโฟน เช่น เล่นโซเชียล ชมภาพยนตร์ ถ่ายภาพกี่ชั่วโมงรวมถึงสามารถตรวจจับการเดินทางในแต่ละช่วงเวลาได้ค่อนข้างละเอียด
ทดสอบประสิทธิภาพ
มาถึงการทดสอบประสิทธิภาพเริ่มจากตัวสมาร์ทโฟน Sony Xperia Z3 ผลคะแนนที่ได้ถือว่าเป็นไปตามมาตรฐานทั่วไปของไฮเอนด์สมาร์ทโฟนในปัจจุบัน ส่วนการใช้งานจริงถือว่าสอบผ่าน โดยเฉพาะความลื่นไหลที่ทำได้ยอดเยี่ยมและโซนี่ปรับความเข้ากันได้ระหว่างระบบการทำงานของตนกับแอนดรอยด์ 4.4 ได้ดีกว่ารุ่นก่อนหน้าจนกลายเป็น Xperia Z ที่ลงตัวสุดในปัจจุบัน
นอกจากนั้นด้วยอานิสงส์ของแอนดรอยด์คิทแคทและการปรับแต่งระบบใหม่ ถึงแม้โซนี่จะให้แบตเตอรีความจุไม่ต่างจากเดิมคือ 3,100mAh แต่เมื่อใช้งานจริงแบบหนักหน่วงตั้งแต่เปิด 3G/WiFi ตลอดวัน เล่นเว็บบราวเซอร์ เกม 3 มิติและพยายามเปิดหน้าจอใช้งานทุกชั่วโมง แบตเตอรีสามารถอยู่ได้นานถึง 12 ชั่วโมงแบบสบายๆ ส่วนถ้าใช้งานปกติทั่วไป (เปิด 3G มีสแตนบายหน้าจอบ้าง เช็คเมล์ แชทไลน์บ้างตลอดทั้งวัน) แบตเตอรีสามารถอยู่ได้ยาวนานถึง 14-18 ชั่วโมง เรียกได้ว่าใช้งานทั้งวันได้สบายหายห่วง
สุดท้ายกับการทดสอบเล่นเกม 3 มิติ ส่วนนี้ถือว่าเป็นไปตามมาตรฐานสมาร์ทโฟนไฮเอนด์คือเล่นได้ทุกเกม ส่วนเรื่องความละเอียดหน้าจอที่โซนี่ยังไม่เลือกใช้แบบ 2K Quad HD เหมือนคู่แข่งก็ถือว่าไม่ได้เป็นข้อด้อยแต่อย่างใด เพราะปัจจุบันทั้งเกม 3 มิติและแอปพลิเคชันหลายตัวก็ยังรองรับความละเอียดหน้าจอ 2K ได้ไม่ดีนัก
ทดสอบเรื่องกล้องถ่ายภาพกันบ้าง ทีมงานมองว่า Xperia Z3 ให้ผลลัพท์ภาพไม่ต่างจาก Xperia Z2 แต่อย่างใด เพราะจากการทดสอบด้วยโหมดถ่ายภาพอัตโนมัติ Superior Auto ซึ่งเป็นโหมดเริ่มต้นและเป็นโหมดถ่ายภาพที่คนทั่วไปใช้มากที่สุดจะเห็นว่าภาพที่ได้ด้านความคมชัดเหมือนถูกซอฟต์แวร์ดึงขึ้นให้ภาพคมกว่าปกติเล็กน้อย เนื้อไฟล์เมื่อซูม 100% ค่อนข้างแตก สีและคอนทราสต์ค่อนข้างจัดไม่เป็นธรรมชาติเท่าที่ควร
ส่วนเรื่องระบบวัดแสงแบบเฉลี่ยทั้งภาพจะพยายามดึงส่วนมืดขึ้นจนส่วนสว่างติดโอเวอร์ในบางสถานการณ์ ส่วนภาพกลางคืนแม้สัญญาณรบกวนจะต่ำแต่สีที่ได้จะออกตุ่นๆ
แต่ทั้งนี้จุดเด่นของกล้อง Xperia Z3 ที่ให้ความละเอียดมากถึง 20.7 ล้านพิกเซลจะมีข้อดีในเรื่องการทำ Digital Zoom แบบ Clear Zoom ที่ให้คุณภาพดีกว่าสมาร์ทโฟนทั่วไปพอสมควร ส่วน Manual Mode ถ่ายที่ 20.7 ล้านพิกเซลก็ถือว่าทำได้ดี คุณภาพไฟล์นำไปใช้งานต่อยอดได้จริงๆ
มาถึงการทดสอบสุดท้ายกับสายรัดข้อมือ SmartBand Talk SWR30 ต้องถือว่าการมาของ SWR30 ช่วยลดช่องว่างของ SWR รุ่นเก่าได้ดีมาก การที่โซนี่เลือกใช้หน้าจอเป็น E Ink นอกจากช่วยเรื่องประหยัดพลังงานแล้ว หน้าจอยังสามารถเปิดตลอดเวลาและแสดงผลได้เหมือนนาฬิกาข้อมือจริงๆ แถมแบตเตอรีก็ใช้ได้นาน 3 วันต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้งด้วย
นอกจากนั้นฟีเจอร์ภายในที่ให้มา เช่น กดรับสายสนทนาผ่านตัวสายรัดข้อมือได้หรือการแสดงแจ้งเตือนเป็นภาษาไทยได้ก็ถือว่าตอบสนองการใช้งานของผู้ใช้ยุคใหม่ที่ถวิลหาสมาร์ทวอตซ์ได้ดีมาก
ในส่วนแอปฯ Lifelog ที่ปรับปรุงใหม่จากรุ่นเดิมซึ่งค่อนข้างบริโภคแบตเตอรีสมาร์ทโฟนมาก ในรุ่นใหม่นี้ แอปฯดังกล่าวทำงานได้คล่องตัวขึ้น การตรวจจับและแสดงผลทำได้แม่นยำขึ้น (แม้จะไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟนของโซนี่ก็ตาม) จุดที่น่าสนใจของ Lifelog ตัวใหม่คือการบอกพิกัดเดินทางของเราตลอดทั้งวันด้วยการใช้ Location History จากแอนดรอยด์คิทแคทในการระบุพิกัดจึงช่วยลดการใช้งาน GPS และแบตเตอรีสมาร์ทโฟนลงอย่างมาก
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป?
ข้อดี Sony Xperia Z3
- ลำโพงสเตอริโอแบบใหม่ได้เสียงที่ใสและมีมิติขึ้น
- งานประกอบดี พรีเมี่ยมขึ้นโดยเฉพาะขอบเครื่องแบบอลูมิเนียมค่อนข้างแข็งแรง ปุ่มกดต่างๆ แน่นหนา
- หน้าจอถึงแม้ไม่ใช่ 2K แต่ให้ภาพที่สวย สดใส เอนจิ้นจอภาพทำงานได้ดีโดยเฉพาะการรับชมวิดีโอ
- ซอฟต์แวร์กล้องมีลูกเล่นมากขึ้น
- กันน้ำ กันฝุ่นได้ดียิ่งขึ้น
ข้อสังเกต Sony Xperia Z3
- กล้องหลังคุณภาพไม่ต่างจากรุ่นก่อนหน้า
- ซิมการ์ดโทรศัพท์ที่รองรับเป็น NanoSIM
ข้อดี Sony SmartBand Talk SWR30
- หน้าจอ E Ink ประหยัดพลังงานและไม่ต้องปิดหน้าจอ
- สามารถดึงระบบแจ้งเตือนจากสมาร์ทโฟนมาแสดงผลที่นาฬิกาได้พร้อมสั่นเตือน
- รองรับการติดตั้งแอปฯเพิ่มเติมได้
- สามารถเปลี่ยนสายรัดข้อมือได้
- Lifelog รุ่นใหม่ทำงานได้ดีขึ้น
ข้อสังเกต Sony SmartBand Talk SWR30
- หน้าจอไม่มีไฟส่องสว่าง เวลาใช้ในที่มืดทำได้ลำบาก
- หน้าจอ E Ink บางครั้งเวลาเปลี่ยนหน้าเมนูจะเกิดภาพซ้อนกัน
สำหรับราคาเปิดตัว Sony Xperia Z3 อยู่ที่ 23,990 บาท Sony SmartBand Talk SWR30 ราคาเปิดตัวอยู่ที่ 6,700 บาท ถือเป็นราคาเปิดตัวที่สูงและจับตลาดไฮเอนด์โดยเฉพาะ โดยถ้ามองถึงสเปกเทียบราคาแล้วต้องเรียนตามตรงว่า ถ้าปัจจุบันคุณมี Xperia Z2 อยู่แล้วและกำลังคาดหวังว่า Xperia Z3 จะมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในทุกด้าน ต้องขอให้คิดใหม่ครับ เพราะ Z3 ก็เหมือนเป็นสมาร์ทโฟน Xperia Z รุ่นก่อนหน้าที่ถูกเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปจากรุ่นที่แล้วเพื่อให้ตลาด Xperia Z ไม่ล้มหายตายจากผู้ใช้ไปในยุคที่สมาร์ทโฟนแข่งขันกันดุเดือด ซึ่งในอนาคตโซนี่ก็มีแผนปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ให้กับตระกูล Xperia Z แน่นอน
แต่ทั้งนี้ถ้าผู้อ่านเป็นคนที่ไม่เคยสัมผัส Sony Xperia มาก่อน การหา Xperia Z3 มาไว้ครอบครองก็ถือเป็นสิ่งที่ดีเพราะคุณจะได้รับประสบการณ์การใช้งานสมาร์ทโฟนตระกูล Xperia ได้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบที่สุดจาก Z3 เครื่องนี้จนอาจติดใจและกลายเป็นสาวกโซนี่ได้อย่างง่ายดาย
ส่วน Sony SmartBand Talk SWR30 ถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ตระกูล SmartBand ได้อย่างน่าสนใจและเป็นการเปิดตลาดสายรัดข้อมือเพื่อสุขภาพที่มีความชัดเจนในตัวเองสูงกว่าทุกรุ่นในตระกูล SmartBand โดยเฉพาะแอปฯติดตามชีวิต Lifelog ที่ปรับเปลี่ยนใหม่ได้น่าสนใจและรูปแบบหน้าจอแบบ E Ink ที่ทำให้สายรัดข้อมือกลายเป็นนาฬิกา (หน้าจอสามารถติดตลอดเวลา) ที่ดีเรือนหนึ่งได้ แถมประหยัดพลังงานด้วย
ผู้อ่านท่านใดกำลังมองหาสายรัดข้อมือเพื่อสุขภาพที่สามารถเก็บข้อมูลการใช้ชีวิตประจำวันได้หลากหลายและสร้างสรรค์ SmartBand Talk SWR30 ให้สิ่งเหล่านั้นได้อย่างยอดเยี่ยมถ้าสู้ราคาระดับ 6 พันบาทปลายๆ ได้
Company Related Link :
Sony Mobile