xs
xsm
sm
md
lg

Review : LG G3 นวัตกรรมเด่น ดีไซน์หรู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




หลังจากแอลจี (LG) ประสบความสำเร็จกับ LG G2 ไปเมื่อปีก่อน ในปีนี้ก็ถึงเวลาการอัปเกรดสมาร์ทโฟนท็อปฟอร์มของตนเองตามตลาดโลกอีกครั้งกับ “LG G3” ที่นอกจากการปรับเพิ่มสเปกให้เป็นไปตามตลาดสมาร์ทโฟนโลกแล้ว ใน LG G3 ยังมาพร้อมเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ครั้งแรกที่แอลจีคาดหวังจะให้เป็นไม้ตายสำคัญในการต่อกรกับคู่แข่งและถือเป็นครั้งแรกที่แอลจีสามารถสร้างเอกลักษณ์และตัวตนได้ชัดเจนที่สุดตั้งแต่เคยผลิตสมาร์ทโฟนขึ้นมา ถึงขนาดเชื่อมมั่นว่าตนจะสามารถทำยอดขายเพิ่ม 3 เท่าจาก G2 ได้ในปีนี้


วิดีโอพรีวิวการใช้งาน LG G3

การออกแบบ



การออกแบบ LG G3 ยังคงเป็นไปตามแนวคิด “Usability, Simplified” เน้นความเรียบง่ายและการใช้งานตามหลักสรีระศาสตร์ด้วยการย้ายปุ่มคำสั่งด้านข้างไปอยู่ด้านหลังทั้งหมดเหมือนใน G2 เพราะแอลจีเชื่อมว่าการวางปุ่มคำสั่งลักษณะนี้จะเป็นไปตามการจับถือที่ถูกต้องพร้อมปรับดีไซน์จาก G2 ใหม่ให้ดูหรูหราและทันสมัยขึ้น โดยตัวเครื่องมีความบางเหลือเพียง 8.9 มิลลิเมตร สูง 146.3 มิลลิเมตรและกว้าง 74.6 มิลลิเมตร ส่วนน้ำหนักอยู่ที่ 149 กรัม มีให้เลือก 5 สี ได้แก่ Metallic Black (ดำโลหะ), Silk White (ขาวผ้าไหม), Shine Gold (ทองอร่าม), Moon Violet (ม่วง) และ Burgundy Red (แดงออกชมพู)



ด้านหน้าจอยังเลือกใช้พาเนลเป็น IPS+ LCD (TrueHD 24 บิต) ขนาด 5.5 นิ้วความละเอียด Quad HD 2,560x1,440 พิกเซล ความละเอียดพิกเซลต่อตารางนิ้วเพิ่มเป็น 538 ppi นอกจากนั้นกล้องหน้ามาพร้อมความละเอียด 2.1 ล้านพิกเซลพร้อมปรับปรุงเซ็นเซอร์ถ่ายภาพให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและมาพร้อมเทคโนโลยี Flash UI ช่วยให้การถ่ายภาพเซลฟี่สว่างชัดเหมือนมีไฟแฟลชติดตั้งอยู่ด้านหน้า



ส่วนด้านหลังใช้วัสดุฝาปิดเป็นพลาสติกแต่พื้นผิวถูกออกแบบให้เป็นลักษณะ Metallic Design มาพร้อม Rear Key ได้แก่ปุ่มวงกลมตรงกลางคือปุ่มเปิด-ปิดเครื่องล้อมรอบด้วยปุ่มคำสั่งเพิ่ม-ลดเสียง ส่วนด้านบนสุดเป็นกล้องถ่ายภาพหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซลประกบระบบป้องกันภาพสั่นไหวระดับฮาร์ดแวร์ (Advanced OIS+) ถัดมาด้านซ้ายจะเป็นช่องยิงแสงอินฟาเรดสำหรับช่วยโฟกัสภาพ (Laser Focus) ถัดอีกด้านจะเป็นไฟแฟลชแบบ Duo Tone และช่องด้านล่างสุดจะเป็นลำโพง 1 วัตต์พร้อมเทคโนโลยี Boost Amp



นอกจากนั้นฝาหลังยังสามารถแกะออกได้ โดยจะพบกับแบตเตอรีขนาด 3,000mAh บรรจุอยู่ภายในและสามารถถอดเปลี่ยนได้ด้วย ส่วนช่องใส่ซิมจะติดตั้งอยู่ด้านขวาใกล้กับปุ่ม Rear Key แบบ Micro Sim พร้อมช่องเพิ่มความจุเครื่อง MicroSD Card (ติดตั้งทับซ้อนเหนือช่องใส่ซิมการ์ด) ที่สามารถใส่ได้สูงสุด 2TB




มาดูด้านบนของตัวเครื่องจะเป็นที่อยู่ของช่องยิงแสงอินฟาเรดสำหรับใช้งานเป็นรีโมทควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ส่วนด้านล่างเป็นช่องเชื่อมต่อสาย MicroUSB สำหรับชาร์จไฟและซิงค์ข้อมูลพร้อมช่องเชื่อมต่อหูฟังและเฮดเซ็ทขนาด 3.5 มิลลิเมตร




และนอกจากนั้นทางแอลจียังได้วางจำหน่ายเคส G3 รุ่นใหม่ในชื่อ “LG Quick Circle Case” ที่มาพร้อมความโดดเด่นในเรื่องการแสดงผล UI ที่สามารถปรับเปลี่ยนตามช่องวงกลมของเคสได้เมื่อปิดฝาลงพร้อมความสามารถในการรับโทรศัพท์ ถ่ายรูป ดูจำนวนก้าวเดิน ดูนาฬิกา ฟังเพลงและอ่านข้อความได้โดยไม่ต้องเปิดฝาเคสแต่อย่างใด

สเปก



สำหรับสเปก LG G3 หน่วยประมวลผลขับเคลื่อนหลักเป็น Qualcomm Snapdragon 801 Quad-core ความเร็วสูงสุด 2.5GHz กราฟิก Adreno 330 แรมสำหรับรุ่นที่ขายในไทยให้มา 2 GB หน่วยเก็บข้อมูลในตัวเครื่องสำหรับโมเดลขายให้ประเทศไทยปัจจุบันให้มา 16GB (เหลือให้ใช้จริงประมาณ 10GB) แต่สามารถเพิ่มความจุโดย MicroSD Card ภายนอกได้

ในส่วนระบบปฏิบัติการที่ติดตั้งมาจากโรงงานเป็นแอนดรอยด์ 4.4.2 KitKat ครอบด้วย Optimus UI จากแอลจีรุ่นใหม่ล่าสุดรองรับหน้าจอความละเอียด 2K



ด้านสเปกปลีกย่อย LG G3 รองรับเครือข่ายโทรศัพท์ทั้ง 3G และ 4G ทุกคลื่นความถี่ที่มีในไทยตอนนี้ทั้งหมด บลูทูธเป็นรุ่นใหม่สุด 4.0 LE WiFi รองรับมาตรฐาน 802.11 a/b/g/n/ac แบบ Dual Band พร้อม WiFi Direct สามารถเป็น WiFi Hotspot ได้ ส่วน GPS รองรับทั้ง A-GPS และ GLONASS มี NFC และรองรับการเชื่อมต่อสัญญาณภาพและเสียงออกจอทีวีผ่าน HDMI SlimPort

ฟีเจอร์เด่น




Optimus UI ใหม่ถูกออกแบบมาให้แสดงผลบนหน้าจอ 2K ได้คมชัดตั้งแต่ไอคอน Widget ไปถึงฟอนต์และภาพพื้นหลังทั้งหมด

เริ่มจากเรื่องของ UI ที่มีการปรับเปลี่ยนใหม่หมดตั้งแต่การออกแบบความละเอียดของไอคอนต่างๆ ให้รองรับกับหน้าจอความละเอียด 2K 538ppi ในภาพรวมทางแอลจียังเปลี่ยนดีไซน์ของ UI ให้เป็นในลักษณะเรียบแบนสไตล์มินิมัลลิสต์ตามสมัยนิยม พร้อมแอปพลิเคชันพื้นฐานจากโรงงานตั้งแต่ เครื่องบันทึกเสียง, Opera Mini, BOX (ล็อกอินแล้วจะได้รับพื้นที่คลาวด์สตอเรจฟรี 50GB) เป็นต้น



ส่วนหน้าล็อกสกรีนแอลจีปรับเปลี่ยนใหม่ให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่การปลดล็อกหน้าจอแบบ Swipe และมีระบบแจ้งเตือนสภาพอากาศแบบภาพเคลื่อนไหวเพื่อรองรับกับการแสดงผลผ่านเคส LG Quick Circle ด้วย



Smart Notice จะทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้ช่วยของคุณตั้งแต่ความสามารถในการตรวจเช็คสภาพอากาศรายวันแล้วแจ้งให้คุณทราบ หรือบอกถึงสิ่งที่ควรทำเช่น “ตอนนี้คุณอยู่ที่ออฟฟิซแล้วต้องการเปิด WiFi หรือไม่?” หรือ “เมื่อสักครู่มีสายโทรเข้ามาแต่คุณไม่ได้รับจะโทรกลับหรือไม่” ไปถึงเวลาระบบเครื่องมีไฟล์ขยะหรือแจ้งเตือนจากบันทึกภายในเครื่อง Smart Notice จะแจ้งเตือนคุณในทันที

โดยความสามารถทั้งหมดเหล่านี้ระบบจะเก็บข้อมูลจาก GPS, ข้อมูลภายในตัวเครื่องทั้งหมดรวมถึงข้อมูลจากระบบออนไลน์ส่วนกลางแล้วมาวิเคราะห์แสดงผลโดยอ้างอิงจากช่วงเวลาและพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนของเราคล้ายหลักการทำงานของ Google Now



Knock Code ใน LG G2 ทางแอลจีได้คิดค้นระบบเปิดปิดหน้าจอที่สะดวกสบายสำหรับผู้ใช้ที่ไม่ชอบปุ่ม Rear Key ด้านหลังรวมถึงผู้ใช้ที่อยากถนอมปุ่มกดด้วย “Knock on” หรือรูปแบบการเปิดปิดหน้าจอด้วยการใช้นิ้วเคาะที่หน้าจอสองครั้งติดกันเพื่อสั่งให้หน้าจอปิดและเปิด มาวันนี้แอลจีเพิ่มความสามารถของระบบ Knock on ด้วย ”Knock Code” กับความสามารถในการใช้ระบบเคาะหน้าจอเป็นจังหวะเพื่อกำหนดแทนรหัสผ่านปลดล็อกหน้าจอ

โดยระบบ Knock Code จะแบ่งพื้นที่หน้าจอออกเป็น 4 ส่วนและการกำหนดจังหวะเคาะหน้าจอในหนึ่งแพทเทิร์นสามารถเคาะต่อเนื่องได้ตั้งแต่ 3-8 ครั้งตามใจชอบถึง 8 หมื่นรูปแบบ



ส่วนการปลดล็อกหน้าจอเมื่อหน้าจอดับอยู่ก็เพียงเคาะหน้าจอตามแพทเทิร์นที่กำหนดไว้เท่านั้น ระบบถึงปลดล็อกและใช้งานต่อได้ แต่ทั้งนี้ถ้าผู้ใช้ลืมจังหวะการเคาะและเคาะผิดติดต่อกันเกิน 5 ครั้งระบบจะเรียกให้ผู้ใช้ใส่พินโค้ดหรือ Backup Password ที่ใส่ร่วมกับ Knock Code แทน



Laser Auto Focus จากเดิมเทคโนโลยีโฟกัสในสมาร์ทโฟนจะเป็นลักษณะ Contrast Detection (Passive Autofocus) หรือการโฟกัสแบบหาจุดคอนทราสต์โดยเลนส์ต้องเลื่อนเข้าออกจนสุดก่อนถึงจะหาระยะชัดได้ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการโฟกัสภาพที่ช้าไม่ทันใจ โดยเฉพาะเมื่อต้องเจอกับสภาพแสงน้อยหรือการถ่ายย้อนแสงที่ทำให้การจับโฟกัสภาพทำได้ยากขึ้น

โดยปัจจุบันปัญหานี้กำลังถูกแก้ไขด้วยการนำระบบออโต้โฟกัสแบบ Active มาใช้ตั้งแต่ Phase Detection ที่คู่แข่งร่วมชาติเลือกไปติดตั้งและทำให้โฟกัสทำงานได้เร็วขึ้นมาก แต่แอลจีกลับคิดต่างและพัฒนา “Laser Auto Focus” ประกบระบบเก่าอย่าง Contrast Detection พร้อมความเชื่อที่ว่า “เลเซอร์จะทำให้ออโต้โฟกัสมีความแม่นยำและรวดเร็วกว่า” ด้วยหลักการคือ ระหว่างถ่ายภาพระบบจะยิงแสงอินฟาเรดสีแดงจากฮาร์ดแวร์ (แถบสีดำติดตั้งอยู่ข้างกล้องหลัง) ไปยังวัตถุเพื่อวัดระยะห่างและยิงกลับเข้ามาเพื่อนำค่ามาคำนวณและปรับโฟกัสที่เลนส์กล้อง ทำให้การอ่านค่ามีความแม่นยำและรวดเร็วมากขึ้นไม่เกิน 1/3 วินาที อีกทั้งการยังไม่มีปัญหาในที่แสงน้อยเพราะแสงเลเซอร์สามารถตรวจจับได้ทุกสภาพแสง




จบจากฮาร์ดแวร์มาถึงส่วนของซอฟต์แวร์กล้องถ่ายภาพที่ในครั้งนี้ทางแอลจีตัดฟีเจอร์และลูกเล่นถ่ายภาพออกไปพอสมควร โดยเฉพาะ Manual Mode และเอ็ฟเฟ็กต์ตกแต่งภาพต่างๆ ซึ่งถูกแทนที่ด้วยโหมดถ่ายภาพอัตโนมัติรวมถึง HDR ที่สามารถทำงานแบบอัตโนมัติด้วยเช่นกัน

ส่วนการถ่ายวิดีโอ 4K UHD 3,840x2,160 พิกเซลสามารถทำได้ไม่เกิน 5 นาทีต่อ 1 คลิปวิดีโอ ภาพนิ่งสามารถถ่ายได้สูงสุด 13 ล้านพิกเซล 4,160x3,120 พิกเซล และที่ขาดไม่ได้กับโหมดถ่ายภาพ Dual ที่สามารถถ่ายภาพจากกล้องหน้าและกล้องหลังได้พร้อมกันในหนึ่งเฟรม



นอกจากนั้นทางแอลจียังให้โหมดถ่ายภาพตัวใหม่มาในชื่อ Magic Focus หรือความหมายคือ “ถ่ายภาพก่อนค่อยโฟกัส” โดยหลังจากถ่ายภาพเสร็จผู้ใช้สามารถกดเพื่อเลือกส่วนชัดที่ต้องการได้และส่วนที่ไม่ถูกเลือกจะกลายเป็นระยะ Out of Focus ไปในทันที



LG Health เพราะปีนี้เป็นเทรนด์รักษ์สุขภาพ ทางแอลจีก็ได้ใส่แอปพลิเคชันนับก้าวเดินและคำนวณแคลอรี่มาให้ โดยแอปฯ จะทำงานแบบ Background ตลอดเวลา อีกทั้งระบบของ Health ยังสามารถคำนวณค่า BMI ของร่างกายและสามารถบอกน้ำหนักที่เหมาะสมกับร่างกายเราพร้อมตั้งเป้าหมายในการลดน้ำหนักให้ด้วย



Guest mode สำหรับผู้ใช้ที่มีลูกหลานหรือผู้อื่นมาใช้งานโทรศัพท์อยู่บ่อยครั้งและกลัวว่าพวกเขาเหล่านั้นจะเข้าไปวุ่นวายกับบัญชีที่ซิงค์ไว้ส่วนตัว Guest mode จะเข้ามาช่วยคุณได้ โดยสามารถกำหนดแอปฯ ที่ให้ใช้งานในโหมดดังกล่าวได้เท่าที่ต้องการและส่วนการปรับตั้งค่าอื่นๆ จะถูกปิดไว้ไม่สามารถปรับแต่งได้นอกจากเจ้าของเครื่อง



คีย์บอร์ดปรับความสูงได้ เป็นอีกจุดขายสำหรับผู้ใช้นิ้วใหญ่ เพราะระบบ Keyboard height จะสามารถปรับความสูงเพื่อขยายแป้นอักษรให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นได้ตามต้องการ



Quiet mode เป็นโหมดห้ามรบกวน โดยเมื่อเปิดใช้งาน ระบบจะปิดการแจ้งเตือนและเสียงริงโทนทั้งหมดเพื่อไม่ให้รบกวนผู้ใช้ในเวลานอนหรืออยู่ในที่ประชุม อีกทั้งโหมดดังกล่าวยังสามารถตั้งให้ทำงานอัตโนมัติได้ตามเวลาที่ตั้งไว้รวมถึงตั้งให้แสดงเสียงแจ้งเตือนเฉพาะเบอร์โทรศัพท์ที่ต้องการได้



มาถึงอีกส่วนที่น่าสนใจและเป็นส่วนพิเศษที่หลบซ่อนอยู่ก็คือ “ส่วนการตั้งค่า (Settings)” ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งได้หลากหลายและค่อนข้างอิสระ รวมถึงเป็นแหล่งซ่อนตัวของฟีเจอร์พิเศษต่างๆ มากมาย เช่น สามารถเลือกใช้รันไทม์ ART (Android Runtime) ได้ สามารถปรับ Shortcut key หรือปุ่มลัดเข้าใช้งานแอปฯ และที่สำคัญสามารถเปลี่ยนธีมได้ด้วย

นอกจากนั้นถ้าสังเกตในส่วน Settings > General จะพบว่าทางแอลจีได้ให้ระบบเคลียร์แคชไฟล์มาให้ในชื่อ Smart cleaning ที่จะช่วยกำจัดไฟล์ขยะต่างๆ ทำให้ได้พื้นที่ใช้งานกลับคืนมา




ในส่วนการตั้งค่าอื่นที่น่าสนใจ เริ่มจาก Gestures ที่สามารถเปิดปิดความสามารถการใช้โทรศัพท์ร่วมกับเซ็นเซอร์ในเครื่อง เช่น เมื่อมีสายโทรเข้าแล้วริงโทนดัง เมื่อผู้ใช้ยกเครื่องขึ้น เสียงริงโทนจะเงียบ หรือเปิดความสามารถในการหยุดวิดีโอเมื่อคว่ำหน้าจอลง เป็นต้น อีกทั้งใน G3 ยังรองรับระบบการใช้งานมือเดียวหรือ One-handed operation โดยเฉพาะการปรับตำแหน่งคีย์บอร์ดให้สามารถกดมือเดียวได้รวมถึงความสามารถในการปรับแต่งความแรงของมอเตอร์สั่นสะเทือนภายในได้อย่างอิสระด้วย

นอกจากนั้นยังมีฟีเจอร์เด่นอีกจำนวนมากที่น่าสนใจแต่ทีมงานขอคัดมาบอกเล่าเฉพาะที่โดดเด่น เช่น

ความสามารถในการปรับปุ่มคำสั่ง Vitual Key ใต้จอภาพโดยสามารถเพิ่มคำสั่งอื่นๆ ได้ตามต้องการ
Clip Tray หรือแหล่งรวมเอกสาร รูปภาพและอื่นๆ ที่เราคัดลอกทิ้งไว้เพื่อสะดวกเวลาเราต้องการวางข้อความที่คัดลอกมาจะได้ค้นหาข้อความเก่าๆ ได้
QSlide หรือความสามารถในการใช้ Multitasking เปิดหน้าต่างแอปฯ ขนาดเล็กได้หลายหน้าต่างซ้อนกัน
IR Remote ใช้สมาร์ทโฟนแทนรีโมทควบคุมอุปกรณ์ความบันเทิงในบ้าน
QuickMemo+ ที่สามารถเขียนข้อความที่ต้องการได้หลังจากจับภาพหน้าจอเสร็จสิ้นพร้อมแชร์ไปยังเพื่อนหรือครอบครัวหรือจะแชร์ขึ้นโซเชียลมีเดียก็ได้
Universal touch เหมาะสำหรับผู้ใช้ที่มีปัญหาเรื่องปุ่มกด โดยจะเป็นที่รวมปุ่มคำสั่งตั้งแต่เพิ่มลดเสียง ปิดเครื่อง ปุ่มโฮม รวมถึงสามารถใช้ Gesture วาดเป็นตัวอักษรเพื่อเลือกเปิดแอปฯ ได้
Voice Mate ระบบสั่งงานตอบโต้กับผู้ใช้ด้วยเสียง


Clip Tray


QSlide


QuickMemo+


รีโมทอินฟาเรด


Universal touch

ทดสอบประสิทธิภาพ



ถือว่า LG G3 สามารถทำคะแนนในส่วนทดสอบประสิทธิภาพได้ดีตามมาตรฐานสมาร์ทโฟนท็อปฟอร์ม ส่วนการใช้งานจริงตลอดเวลา 1 อาทิตย์ถือว่าทำได้ดีไม่พบอาการค้างให้เห็น แต่จะมีเพียงอาการหน่วงเวลาอยู่ในหน้าโฮมสกรีนเกิดขึ้นบ้างคล้ายกับกรณีเดียวที่เกิดขึ้นกับ OPPO Find 7 ที่ทดสอบไป โดยตรงจุดนี้น่าจะเป็นปัญหามาจากความละเอียดหน้าจอที่มากและซอฟต์แวร์ยังปรับปรุงมาไม่ดีเท่าที่ควร แต่โดยภาพรวมถือว่าไม่พบอาการ Force Close ตลอดการทดสอบ

และที่น่าชื่นชมแอลจีมากที่สุดคงเป็นเรื่องของหน้าจอ IPS ที่คมชัด สีสวยธรรมชาติรวมถึง UI ที่ปรับแต่งมารับกับหน้าจอ QuadHD ได้อย่างยอดเยี่ยม

20140702_181406_HDR20140702_182713_HDR20140703_132226_HDR20140704_094049_HDR20140704_123330_HDR20140704_153530_HDR20140704_154352_HDR20140706_153603_HDR20140706_205920

กดที่ภาพเพื่อรับชมภาพขนาดใหญ่

ในส่วนกล้องถ่ายภาพที่มาพร้อมเทคโนโลยีโฟกัสใหม่ Laser auto Focus ฮาร์ดแวร์ทั้งหมดถือว่าใช้งานได้ดีโดยเฉพาะโฟกัสที่จับได้เร็วและแม่นยำในที่แสงน้อยมากแม้ไม่ได้จิ้มโฟกัสที่หน้าจอและปล่อยให้กล้องจับโฟกัสเองตั้งแต่ระยะมาโครไปชัดทั้งภาพ เลนส์สามารถขยับจับโฟกัสได้เร็วอย่างน่าพอใจ หรือแม้แต่การทดสอบโฟกัสภาพระยะใกล้แต่วัตถุมีการเคลื่อนไหวไปมาเพราะแรงลม กล้องยังจับโฟกัสได้เร็วและแม่นพอสมควร ส่วนคุณภาพไฟล์ที่ออกมาก็อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะ AutoHDR ทำงานอัตโนมัติได้ค่อนข้างดีไม่มีรอยต่อ และภาพที่ถ่ายออกมาซอฟต์แวร์กล้องจะแอบเพิ่มความคมชัดให้เล็กน้อย

โดยฮาร์ดแวร์ถือว่าสอบผ่าน แต่ซอฟต์แวร์อาจไม่หวือหวาเหมือนเก่า เพราะใน G3 แอปฯ กล้องได้ตัดฟีเจอร์ตกแต่งภาพและโหมดถ่ายภาพออกไปแทบทั้งหมดจะเหลือก็เพียงโหมดถ่ายภาพอัตโนมัติเสียส่วนใหญ่ แถมระหว่างถ่ายวิดีโอก็ไม่สามารถล็อกค่าแสงได้ด้วย



มาถึงการถ่ายวิดีโอ 4K ถือว่าเป็นไปตามมาตรฐาน เพราะด้วยสเปกฮาร์ดแวร์ปัจจุบันโหมดวิดีโอ 4K ก็เป็นได้เพียงโหมดทดลองเล่นที่ไม่สามารถปรับแต่งค่าอะไรมากนัก และถือเป็นโหมดวิดีโอที่ทำให้สมาร์ทโฟนเกิดความร้อนสูงแทบทุกรุ่น แถมบางรุ่นวิดีโอ 4K ยังทำเครื่องค้างเพราะบันทึกข้อมูลไม่ทัน ซึ่งแอลจีก็แก้ปีญหานี้ด้วยวิธีการล็อกให้ถ่ายวิดีโอ 4K ได้แค่ 5 นาทีต่อคลิป



ส่วนการทดสอบสุดท้ายเรื่องแบตเตอรีก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ไม่หวือหวาตามความจุที่ให้มามากถึง 3,000 mAh และจากการทดสอบสมาร์ทโฟนหน้าจอ 2K มาแทบทุกรุ่น มักประสบปัญหาเรื่องแบตเตอรีหมดเร็วเหมือนกันหมด โดย LG G3 สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง 9-12 ชั่วโมง สำหรับการใช้งานทั่วไป (เล่นอินเตอร์เน็ตผ่าน 3G/4G WiFi เช็คอีเมล์ รับสาย โทรออกเป็นต้น) ส่วนถ้าใช้งานอย่างหนักหน่วง เช่น เล่นเกม 3 มิติจะใช้งานได้ประมาณ 6-7 ชั่วโมงเท่านั้น

สรุปส่วนทดสอบประสิทธิภาพโดยรวมถือว่า LG G3 เป็นอีกหนึ่งสมาร์ทโฟนหน้าจอ 2K ที่ให้ประสิทธิภาพที่ดี แอลจีได้ปรับปรุงพัฒนาฟังก์ชันหลายส่วนไปมาก โดยเฉพาะกล้องถ่ายภาพด้านหลังที่พัฒนาได้ดีจนสามารถขึ้นไปติดอันดับ 1 ใน 10 สมาร์ทโฟนที่มีกล้องเยี่ยมที่สุดในโลกได้เลยทีเดียว ส่วนเรื่องประสิทธิภาพความลื่นไหลก็ถือว่าใช้ได้โดยเฉพาะการออกแบบ UI ใหม่ทั้งหมดที่มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น แม้มีปัญหาเรื่องความเสถียรเล็กน้อยเมื่อต้องมาแสดงผลผ่านหน้าจอ 2K แต่เชื่อว่าอีกไม่นานแอลจีน่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป?

ข้อดี

- บาง น้ำหนักเบา การสร้างลวดลายฝาหลังดูหรูหรามีราคา
- หน้าจอ IPS+ LCD QuadHD 2K ให้สีสวย ธรรมชาติและมีความคมชัดสูงมาก
- ระบบสามารถซูมไฟล์วิดีโอ 4K ได้
- Laser auto Focus จับโฟกัสเร็วและแม่นยำ สามารถทำงานได้ดีทั้งในที่แสงน้อยและแสงธรรมชาติ
- มีระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบฮาร์ดแวร์
- รองรับ MicroSD ความจุสูงระดับ 2TB
- รองรับ 3G/4G ทุกเครือข่ายในไทย
- UI ออกแบบมาสวยงามรวมถึงเคสแบบ Quick Circle ออกแบบมาดีเป็นเอกลักษณ์เด่นของแอลจีมาก
- Knock Code ใช้งานได้จริง
- ฟีเจอร์ ลูกเล่นหลบซ่อนมีให้เลือกใช้งาน เลือกเล่นมากมายจนไม่สามารถบอกได้หมด

ข้อสังเกต

- ลูกเล่นในแอปฯ กล้องมีน้อยลงและไม่มีฟีเจอร์ถ่ายภาพแปลกใหม่
- เครื่องมีอาการหน่วงบ้างโดยเฉพาะในหน้าโฮมสกรีน
- แบตเตอรี 3,000mAh ถึงจะดูความจุมากแต่ก็ไม่ได้ทำให้ G3 ใช้งานได้นานขึ้นกว่าสมาร์ทโฟนทั่วไป
- การออกแบบตัวเครื่องมีความโค้งมนของขอบที่มาก รวมถึงพื้นที่หน้าจอที่เพิ่มขึ้น ทำให้เวลาไม่ใส่เคสจับถือลำบากพอสมควร

LG G3 ถือเป็นสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ตัวท็อปใหม่จากแอลจีที่มาพร้อมความโดดเด่นทั้งดีไซน์และการออกแบบฮาร์ดแวร์-ซอฟต์แวร์ภายในที่เรียกได้ว่า “เป็นสมาร์ทโฟนที่ดีที่สุดตั้งแต่แอลจีเคยมีมา” ทั้งความลงตัวในเรื่องการออกแบบและเทคโนโลยีที่ใส่มาแบบพอดีและเป็นเอกลักษณ์ได้อย่างยอดเยี่ยมโดยเฉพาะ Knock Code, Knock On และ Laser auto Focus ที่ถือเป็นไม้ตายเด่นฆ่าคู่แข่งในตลาดปัจจุบันให้ตายได้เลย ถ้าไม่ติดปัญหาเรื่องหน้าจอ 2K ที่ในปัจจุบันบริโภคพลังงานและทรัพยากรบางส่วนของเครื่องมากเกินไปและดูเหมือนแอลจีจะยังจัดการได้ไม่ดีพอ

ฮาร์ดแวร์ดีอยู่แล้ว ราคาก็ตั้งมาได้กึ่งกลางคู่แข่งมาก (20,990 บาท) เหลือแค่ซอฟต์แวร์และเฟริมแวร์ภายในหลายส่วนที่เมื่อแสดงผลกับหน้าจอความละเอียดสูงแล้วต้องปรับปรุงพัฒนาให้เสถียรกว่านี้ แต่โดยภาพรวมถ้าผู้อ่านอยากเปิดใจหาซื้อสมาร์ทโฟนโดยไม่ยึดติดกับแบรนด์ตลาด และต้องการเทคโนโลยีสดใหม่ที่สุดในตอนนี้ LG G3 เป็นตัวเลือกที่ดีและน่าจะเป็นสมาร์ทโฟนตระกูลหน้าจอความละเอียดสูง 2K ที่ดีอันดับต้นๆ ในตอนนี้

Company Related Link :
LG

ตอนนี้ CyberBiz ของเราได้เปิด Instagram เพิ่มอีก 1 ช่องทาง ผู้อ่านทุกท่านสามารถไปกดติดตามได้ครับที่ http://instagram.com/cbizonline

CyberBiz Social







กำลังโหลดความคิดเห็น