สินค้าตระกูล Forerunner ถูกออกแบบมาเพื่อจับกลุ่มนักวิ่งทั้งมืออาชีพและผู้เริ่มต้น โดยจุดเด่นของ Forerunner ทุกรุ่นคือการจับเวลารอบที่วิ่งและบางรุ่นสามารถใช้งานร่วมกับเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจแบบเรียลไทม์ได้ด้วย
โดยในวันนี้การ์มินได้เข็น Forerunner รุ่นท็อปตัวใหม่ออกมาในรหัส 620 กับความโดดเด่นในเรื่องการติดตั้ง GPS ในตัวพร้อมฟีเจอร์วัด VO2 max (วีโอทู แม๊กซ์) หรือความสามารถในการวัดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้อ็อกซิเจนเพื่อดูความอึดของร่างกาย รวมถึงฟีเจอร์อื่นๆ ที่น่าสนใจ
สำหรับ Garmin Forerunner 620 ที่ทีมงานได้รับมาทดสอบในวันนี้จะเป็นชุด Bundle Set ที่มาพร้อม HRM-Run หรืออุปกรณ์วัดอัตราการเต้นของหัวใจขณะวิ่งด้วย
การออกแบบและสเปก
Garmin Forerunner 620 ออกแบบมาในลักษณะของนาฬิกาข้อมือขนาดกว้างxสูงxลึก อยู่ที่ 4.5 x 4.5 x 1.25 เซนติเมตร น้ำหนัก 43.6 กรัม มาพร้อมหน้าจอสี Chroma Display ขนาด 1 นิ้วแบบสัมผัสโดยใช้แรงกด ความละเอียดหน้าจอ 180x180 พิกเซล ตัวเครื่องป้องกันน้ำลึก 50 เมตรและป้องกันฝุ่น
ส่วนบริเวณสายรัดข้อมือจะใช้วัสดุเป็นยางกันน้ำและกันเหงื่อได้ดี สามารถปรับขนาดสายให้รัดข้อมือได้หลายขนาด (ข้อมือคนอ้วนอย่างผมใส่ได้สบายๆ)
ด้านหลังจะเป็นส่วนของพอร์ตแม่เหล็ก 4 พินไว้เชื่อมต่อกับอะแดปเตอร์ Garmin Connect เพื่อใช้ชาร์จแบตเตอรีจากพอร์ต USB และซิงค์ข้อมูลกับคอมพิวเตอร์ (รองรับทั้ง Mac และ Windows)
สำหรับแบตเตอรีที่บรรจุอยู่ภายในจะเป็นลิเธียมไอออนมีอายุใช้งานต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้งสำหรับโหมดนาฬิกาอยู่ที่ 6 อาทิตย์ ส่วนการใช้งานในโหมดเทรนนิ่งอยู่ที่ 10 ชั่วโมง
นอกจากนั้นตัวเครื่องยังรองรับการเชื่อมต่อกับบลูทูธ WiFi สำหรับซิงค์ข้อมูลร่วมกับสมาร์ทโฟนได้ทันที (คล้าย ViVo fit), GPS และเซ็นเซอร์ภายนอกผ่านระบบ ANT+ เช่น เครื่องวัดอัตราการเต้นการหัวใจ เป็นต้น
มาถึงชุด HRM-Run ที่ให้มากับ Forerunner 620 Bundle Set จะเป็นเซ็นเซอร์ภายนอกสำหรับวัดอัตราการเต้นของหัวใจ โดยวิธีการใช้งานก็เพียงนำ HRM-Run ติดเข้ากับสายรัดหน้าอก โดยรัดอุปกรณ์ HRM ให้อยู่ตำแหน่งใกล้กับหัวใจจะทำให้การอ่านค่าเป็นไปอย่างเที่ยงตรง และขณะวิ่งข้อมูลจะแสดงผลแบบเรียลไทม์ผ่านหน้าจอ Forerunner 620
อีกทั้งตัว HRM-Run ยังสามารถใช้วิเคราะห์จังหวะการวิ่ง (Cadence) ช่วงเวลาที่เท้าหนึ่งข้างแตะพื้นในการก้าวหนึ่งรอบ (ground contact time) และสามารถวัดความสั่นในแนวตั้ง (vertical oscillation) ได้พร้อมแสดงผลผ่านหน้าจอนาฬิกาหรือใช้ดูข้อมูลหลังซิงค์ผ่าน Garmin Connect เข้าสู่คอมพิวเตอร์เพื่อวิเคราะห์การวิ่งในแตะละครั้งได้ละเอียดมากขึ้น
ในส่วนปุ่มกดรอบตัวเครื่องเริ่มจากด้านขวามือจะเป็นปุ่มสำหรับเข้าสู่โหมดวิ่ง (รูปคนวิ่ง) และกดอีกครั้งเพื่อหยุด ส่วนด้านล่างถ้ากดระหว่างวิ่งจะเป็นตัดรอบ (Lap) สำหรับใช้เวลาวิ่งรอบสนามเพื่อจะได้รู้ว่าเราวิ่งได้กี่รอบและในแต่ละรอบการวิ่งของเราเป็นอย่างไร
มาที่่ด้านซ้ายปุ่มบนสุดจะถ้ากดค้างไว้จะสามารถปิดและเปิดเครื่องได้ ส่วนถ้ากดครั้งเดียวระหว่างใช้งานจะเป็นคำสั่งเรียกไฟส่องสว่างด้านหลัง (Backlight - ต้องเปิดใช้งานในเมนู Settings ก่อน) ขึ้นสำหรับใช้งานในที่มืด ส่วนปุ่มล่างสุด (รูปนาฬิกา) จะเป็นการเข้าสู่โหมดนาฬิกาบอกเวลาสำหรับใช้งานในชีวิตประจำวัน
ฟีเจอร์เด่น
อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า Garmin Forerunner 620 สามารถใช้งานได้ทั้งเป็นนาฬิกาบอกเวลาพร้อมวันที่เดือนไปถึงใช้งานสำหรับเก็บข้อมูลการวิ่งตั้งแต่ออกกำลังกายทั่วไป หรือวิ่งแบบอาชีพ อีกทั้งอัปเดตเฟริมแวร์ล่าสุดกับความสามารถในการเก็บข้อมูลสำหรับการปั่นจักรยานได้ (เก็บข้อมูลระยะทาง เส้นทางปั่นจากแผนที่ดาวเทียม และข้อมูลเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่เชื่อมต่อผ่านระบบ ANT+)
โดยโหมดที่ Forerunner 620 รองรับจะมี 3 โหมดคือ Race, Run และ Ride โดยระหว่างใช้งานสามารถกดดูรายละเอียดข้อมูลการกิจกรรมต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์ตั้งแต่ระยะทาง เวลา จำนวนก้าว รอบ และที่สำคัญสามารถดูอัตราการเต้นของหัวใจเมื่อใช้ร่วมกับเซ็นเซอร์ภายนอกได้ว่าอยู่ใน Zone ไหนหรือหัวใจเต้นกี่ bpm แบบเรียลไทม์ พร้อมระบบแจ้งเตือนเมื่อหัวใจเต้นเร็วเกินค่าที่กำหนดไว้ (แจ้งเตือนด้วยเสียงและระบบสั่น) อีกทั้งระหว่างพักเหนื่อย ตัวเครื่องยังมีระบบแจ้งเตือนเมื่ออัตราการเต้นของหัวใจกลับมาอยู่ในภาวะปกติสามารถวิ่งต่อได้ด้วย
และเมื่อการออกกำลังกายทั้งหมดสิ้นสุดลง ผู้ใช้สามารถกดดูรายละเอียดของกิจกรรมได้ตั้งแต่ ระยะทาง เวลา ส่วนถ้าเชื่อมต่อกับ HRM-Run จะแสดงข้อมูลของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดและค่าเฉลี่ย รวมถึงยังสามารถคำนวณ VO2 Max และที่สำคัญสุดก็คือคำนวณเวลาพักฟื้นร่างกาย (Recovery Time) อย่างเหมาะสมให้ผู้ใช้ด้วยการคำนวณจากน้ำหนัก ส่วนสูง เพศ อัตราการเต้นของหัวใจต่อระยะทางที่วิ่งและจำนวนก้าวที่เกิดขึ้นในแต่ละวินาที
ส่วนถ้าต้องการดูข้อมูลที่ละเอียดขึ้น ผู้ใช้ต้องเชื่อมต่อกับ Garmin Connect ผ่านแอปฯ Garmin Express หรือเชื่อมต่อผ่านระบบ WiFi กับสมาร์ทโฟนที่ติดตั้งแอปฯ Garmin Connect Mobile ไว้
โดยค่าที่สามารถรับชมได้จะเริ่มตั้งแต่พิกัดที่ออกกำลังกายโดยแสดงผลในรูปแบบแผนที่พร้อมค่าเฉลี่ยในการเคลื่อนไหว จำนวนแคลอรี่ ระดับความสูงจากน้ำทะเล ต่ำสุดและสูงสุด รวมถึงกราฟแสดงรายละเอียดทุกช่วงเวลาที่ร่างกายมีการเคลื่อนไหวทั้งหมดไปถึงสภาพอากาศ อุณหภูมิและความเร็วลมที่เกิดขึ้นระหว่างที่เราออกกำลังกาย (ข้อมูลดึงจากอินเตอร์เน็ต)
นอกจากนั้นสำหรับผู้ใช้ที่อยากให้เพื่อนๆ ติดตามการทำกิจกรรมแบบเรีบลไทม์ เช่น วิ่งหรือขี่จักรยานยังสามารถใช้คุณสมบัติ live tracking ร่วมกับสมาร์ทโฟนเพื่อส่งพิกัด ระยะทางและความเร็วไปให้เพื่อนๆ คุณได้เห็นแบบสดๆ อีกด้วย
ทดสอบประสิทธิภาพและสรุป
สำหรับ Garmin Forerunner 620 ถือว่าเป็นนาฬิกานักวิ่งที่ให้ฟีเจอร์ใช้งานมาอย่างครอบคลุมมากที่สุด และสามารถใช้งานได้ตั้งแต่ผู้ใช้ที่กำลังคิดออกกำลังกายด้วยการวิ่งอย่างจริงจังไปถึงนักวิ่งอาชีพ ด้วยการเก็บข้อมูลที่สามารถเชื่อมต่อกับเซ็นเซอร์ภายนอกผ่านระบบ ANT+ ได้ ทำให้อุปกรณ์ชิ้นนี้สามารถแสดงข้อมูลการออกกำลังกายได้ค่อนข้างละเอียดและมีผลต่อการนำไปใช้วางแผนการวิ่งในครั้งต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกทั้งตัวนาฬิการยังรองรับกีฬาปั่นจักรยานเพื่อเก็บสถิติด้วย แต่คงไม่ละเอียดเท่ากับข้อมูลการวิ่งที่ Forerunner ทำได้ยอดเยี่ยมที่สุดตามชื่อของตัวเอง
ในส่วนราคาค่าตัว Garmin Forerunner 620 Bundle Set ที่มาพร้อม HRM Run จะอยู่ที่ 15,500 บาท ส่วนรุ่นขายเฉพาะตัวนาฬิกาอย่างเดียวจะอยู่ที่ 13,300 บาท
ตอนนี้ CyberBiz ของเราได้เปิด Instagram เพิ่มอีก 1 ช่องทาง ผู้อ่านทุกท่านสามารถไปกดติดตามได้ครับที่ http://instagram.com/cbizonline
Company Related Link :
Garmin
CyberBiz Social