xs
xsm
sm
md
lg

Review : Garmin VIRB Elite แอ็คชั่นแคมผนวก GPS พร้อมเซ็นเซอร์ตรวจจับเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




ระยะหลังมานี้กล้องแอ็คชั่นแคมขนาดเล็ก น้ำหนักเบาถูกเลือกใช้ในวงการกีฬาเพื่อเก็บภาพวิดีโอขณะแข่งขันด้วยมุมมองที่แปลกใหม่เพราะกล้องจำพวกนี้สามารถยึดติดกับวัตถุได้หลากหลายรูปแบบรวมถึงยึดติดกับร่างกายมนุษย์ได้ด้วย ทำให้กล้องประเภทนี้ถูกเลือกใช้เพื่อถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกของผู้ใช้งานขณะแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ หรือทำกิจกรรมที่น่าตื่นเต้นได้ดีกว่ากล้องตัวใหญ่



และในวันนี้ถึงแม้ตลาดแอ็คชั่นแคมจะมีกล้องประเภทนี้อยู่เป็นจำนวนมาก เช่น GoPro, Sony แต่รูปแบบการใช้งานส่วนใหญ่จะทำได้เพียงแค่ถ่ายวิดีโอด้วยเลนส์มุมกว้างพิเศษเพียงอย่างเดียว ต่างจากการ์มิน เวริบ (Garmin VIRB ) ที่ขอสร้างความแตกต่างด้วยแอ็คชันแคมผนวก GPS และเซ็นเซอร์ตรวจจับต่างๆ เพื่อสร้างความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์สำหรับตลาดกล้องสปอร์ตขนาดเล็กแนวใหม่บนแนวคิด “Life Camera Action”

การออกแบบและสเปก



Garmin VIRB จะแบ่งขายเป็น 2 รุ่นได้แก่ รุ่นธรรมดากับรุ่น Elite โดยรุ่นธรรมดาหรือรุ่นประหยัดจะไม่มีฟีเจอร์ GPS และเซ็นเซอร์จับการเคลื่อนไหวต่างๆ ส่วนรุ่น Elite ที่เรานำมาทดสอบในวันนี้จะเป็นรุ่นที่มีฟีเจอร์ครบถ้วน

โดยรูปทรงตัวเครื่องถูกออกแบบมาให้แตกต่างจากคู่แข่งโดยมีลักษณะเป็นทรงยาว ด้วยเหตุผลคือ “ออกแบบตามหลัก Aerodynamic ให้ตัวกล้องลู่ลมเวลาติดตั้งกับวัตถุที่ต้องเคลื่อนไหวเพื่อลดอาการต้านลม” ขนาดลำตัวกว้าง x ยาว x สูงอยู่ที่ 32x53x111 มิลลิเมตร น้ำหนัก 177 กรัมรวมแบตเตอรี ซึ่งถือว่ามากกว่าคู่แข่งที่ส่วนใหญ่จะอยู่ไม่เกิน 120 กรัม

ด้านเลนส์กล้องการ์มินเลือกใช้ WideVü Lens มุมกว้างพิเศษ ร่วมกับเซ็นเซอร์รับภาพ 1/2.3" CMOS สามารถถ่ายวิดีโอที่ความละเอียดสูงสุด 1080p ที่ความเร็ว 30 เฟรมต่อวินาที ถ่ายภาพนิ่งที่ความละเอียดสูงสุด 16 ล้านพิกเซล และรองรับการถ่ายภาพสโลโมชั่นที่ความเร็วเฟรมสูงสุด 120 เฟรมต่อวินาทีบนความละเอียด 480p

นอกจากนั้นตัวเครื่องยังมาพร้อมระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบดิจิตอล (Digital Stabilization) และระบบแก้ไขความผิดเพี้ยนของเลนส์มุมกว้าง (Lens Distortion Correction) ซึ่งเมื่อเปิดใช้งานทั้งสองระบบพร้อมกันภาพวิดีโอที่ได้จะมีความลื่นไหล ลดอาการภาพซ้อนเวลาเกิดการสั่นไหวหรือเคลื่อนไหวรวดเร็วแต่ต้องแลกมากับมุมมองภาพที่แคบลงเล็กน้อย




ในส่วนวัสดุรอบตัวเครื่องเป็นพลาสติกผสมยางกันลื่นทั้งหมด ทุกรอยต่อถูกหุ้มด้วยยางกันน้ำกันฝุ่น มาพร้อมมาตรฐานป้องกันน้ำ (water resistant) ฝุ่นและกันกระแทก IPX7 สามารถถ่ายใต้น้ำความลึก 1 เมตรได้นาน 30 นาที และทนอุณหภูมิได้ตั้งแต่ -15 ถึง 60 องศาเซลเซียส



ด้านหน้าจอสีมีขนาด 1.4 นิ้วแบบ Chroma Display ไม่มีไฟส่องสว่างด้านหลังจอมาให้ทำให้เวลากลางคืนจะมองไม่เห็นหน้าจอ (ต้องใช้ไฟฉายส่องถึงมองเห็น) มาพร้อมไฟแสดงสถานะการทำงานขนาดใหญ่อยู่เหนือจอ



มาถึงปุ่มคำสั่งรอบตัวเครื่อง การ์มินออกแบบและจัดวางปุ่มมาได้ดีโดยเฉพาะปุ่มบันทึกวิดีโอที่เป็นลักษณะสวิตซ์เลื่อนขึ้นลง ซึ่งช่วยลดความผิดพลาดในการสั่งบันทึกวิดีโอเวลาติดตั้งกล้องอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถมองเห็นปุ่มคำสั่งต่างๆ ได้ (ใช้มือคลำแล้วดันสวิตซ์เท่านั้นกล้องจะเริ่มบันทึกวิดีโอทันที)




ส่วนช่องเชื่อมต่อใน Garmin VIRB Elite จะอยู่ใต้บริเวณยางสีดำที่ครอบกันน้ำเข้าไว้ ประกอบด้วยช่อง miniHDMI และ miniUSB สำหรับชาร์จไฟและโอนถ่ายข้อมูลลงคอมพิวเตอร์

โดยภายในชุด Garmin VIRB จะไม่มีการแถมอะแดปเตอร์ไฟบ้านมาให้ แต่จะมีเพียงสาย miniUSB สำหรับให้ผู้ใช้เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เพื่อชาร์จไฟและโอนถ่ายข้อมูลเท่านั้น ซึ่งผู้อ่านหลายท่านอาจกังวลใจและตั้งคำถามว่าถ้าแบตเตอรีหมดระหว่างใช้งานจะต้องลำบากวิ่งหาโน้ตบุ๊กเพื่อชาร์จไฟหรือไม่

คำตอบคือไม่ต้องครับ คุณสามารถหา Power Bank หรืออะแดปเตอร์ไฟบ้านจากสมาร์ทโฟนมาใช้งานร่วมกันได้ทันที เพราะ VIRB ต้องการไฟ Input แค่เพียง 5V เท่ากับอะแดปเตอร์สมาร์ทโฟน



มาถึงความจุแบตเตอรีที่การ์มินกล่าวว่าเป็นไฮไลท์ที่โดดเด่นของ VIRB Elite อีกหนึ่งอย่างเพราะให้ความจุมาถึง 2,000mAh ทำให้สามารถถ่ายวิดีโอความละเอียด 1080p ได้นานกว่า 3 ชั่วโมง และด้วยการที่แบตเตอรีสามารถถอดแยกได้ ทางการ์มินก็มีแบตเตอรีสำรองแยกขายในราคาก้อนละประมาณ 970 กว่าบาทเท่านั้น คนที่ต้องออกทริป Outdoor Adventure ถ้าซื้อแบตเตอรี 2 ก้อนหรือไม่ก็หา PowerBank ไว้สักหนึ่งตัวก็ใช้งานได้ลื่นไหลตลอดทั้งวันแล้ว



ส่วนช่องใส่การ์ดความจำ MicroSD จะติดตั้งอยู่ใต้แบตเตอรีรองรับการ์ดความจุสูงสุด 64GB การ์มินแนะนำให้ใช้การ์ดที่มีความเร็วอ่าน-เขียน Class 10




สุดท้ายกับชุดขาตั้งที่แถมมาในชุด VIRB Elite ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์สุดท้ายที่การ์มินจัดเต็มมาได้อย่างยอดเยี่ยม ชุดขาตั้งตัวนี้มีส่วนขายึดมาให้ 2 รูปแบบ สามารถใช้ยึดติดกับวัตถุได้แน่นหนามากทั้งคอนโซลรถยนต์ ฝากระโปรงรถ หมวกกันน็อคและอื่นๆ สามารถปรับองศากล้องได้ทั้งแนวตั้ง (แหงนหน้าขึ้นลง) และแนวนอน (เอียงกล้องซ้ายขวา) รวมถึงสามารถใช้ร่วมกับขายึดที่ออกแบบมากับแอ็คชั่นแคมทั่วไปได้

ฟีเจอร์เด่น



เซ็นเซอร์ตรวจจับเพียบ นอกจากหน้าจอ Chroma Display สำหรับเป็น Live View ในการถ่ายวิดีโอแล้ว ตัวเครื่องยังมาพร้อมเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวตั้งแต่

- GPS ที่สามารถระบุพิกัดและใช้วัดความเร็วในการเดินทาง (เวลาใช้งานร่วมกับรถยนต์) แบบเรียลไทม์
- Accelerometer สำหรับวัดความลาดเอียง
- Altimeter สำหรับวัดระดับความสูง
- Compass เข็มทิศ

นอกจากนั้นยังสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์วัดร่างกายภายนอกผ่านระบบ ANT+ ได้ เช่น อุปกรณ์วัดรอบขาสำหรับจักรยาน อุปกรณ์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ รวมถึงรีโมทสำหรับสั่งงานผ่านระบบไร้สายได้ด้วย




โดยไฟล์วิดีโอ, GPS และไฟล์ Activity จะบันทึกแยกกันเป็น 3 โฟลเดอร์และผู้ใช้สามารถนำข้อมูลที่กล้องบันทึกไว้ทั้งหมดมารวมกันได้ผ่านโปรแกรม VIRB Edit (เป็น Desktop App มีทั้งบน Mac และ Windows) ที่แถมมาให้กับกล้องรุ่นนี้ โดยข้อมูลที่กล้องบันทึกไว้เหล่านั้นจะถูกแปลงค่าและแสดงเป็น User Interface สวยงามผ่านโปรแกรม VIRB Edit ซึ่งผู้ใช้สามารถปรับแต่งได้ตามต้องการ

และนอกจากนั้นถ้าผู้ใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ตรวจวัดร่างกายภายนอกก็ยังสามารถนำค่าเหล่านั้นมาแสดงเป็น UI ผ่านโปรแกรม VIRB Edit ได้ดังตัวอย่างในหัวข้อทดสอบประสิทธิภาพ

และเมื่อปรับแต่งเสร็จเรียบร้อยแล้วผู้ใช้จะต้องกด Export หรือแชร์ขึ้น YouTube เสียก่อน ข้อมูลและภาพวิดีโอจาก VIRB ถึงจะรวมกันเป็นไฟล์วิดีโอไฟล์เดียว (MP4) ที่สามารถนำไปเผยแพร่ให้เพื่อนๆ รับชมได้



7 โหมดครอบคลุมทุกการใช้งาน โหมดกล้องวิดีโอใน VIRB มีให้เลือกใช้ถึง 7 โหมดหลัก (สามารถปรับเปลี่ยนได้จากเมนู ตั้งค่า > วิดีโอ) ได้แก่

- 1080p เป็นการบันทึกวิดีโอปกติที่ความละเอียด 1,920x1,080 พิกเซล อัตราส่วน 16:9 30 เฟรมต่อวินาที
- Tall HD บันทึกวิดีโอแบบ 4:3 960p ที่ความเร็ว 48 เฟรมต่อวินาที
- Fast HD บันทึกวิดีโอที่ความละเอียด 1,280x720 พิกเซล อัตราส่วน 16:9 60 เฟรมต่อวินาทีเพื่อนำไปต่อยอดสำหรับการทำสโลโมชั่นด้วยตัวเองผ่านซอฟต์แวร์ในคอมพิวเตอร์ หรือต้องการบันทึกกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวรวดเร็วเพื่อนำมาทำภาพช้าแล้วนำมาวิเคราะห์แบบ Shot ต่อ Shot ภายหลัง
- Economy HD บันทึกวิดีโอความละเอียด 1,280x720 พิกเซล อัตราส่วน 16:9 30 เฟรมต่อวินาที สำหรับผู้ใช้ที่มีการ์ดความจำความจุน้อยแต่ต้องการบันทึกวิดีโอเป็นเวลานาน อีกทั้งโหมดนี้ยังช่วยยืดอายุแบตเตอรีให้บันทึกได้นานกว่า 3 ชั่วโมงด้วย
- Slow Mo HD บันทึกวิดีโอความละเอียด 1,280x720 พิกเซล อัตราส่วน 16:9 60 เฟรมต่อวินาทีและซอฟต์แวร์ในตัวกล้องทำภาพสโลโมชั่นให้เลย
- Super Slow Mo บันทึกวิดีโอความละเอียด 480p อัตราส่วน 16:9 120 เฟรมต่อวินาทีและซอฟต์แวร์ในตัวกล้องทำภาพสโลโมชั่นที่ละเอียดกว่าโหมด Slow Mo HD แต่ต้องแลกกับคุณภาพวิดีโอที่ต่ำกว่า
- Time Lapse ถ่ายภาพ Time Lapse สำหรับการเฝ้าดูการเคลื่อนไหวของท้องฟ้า วัตถุเป็นเวลานาน โดยสามารถตั้งเวลาถ่ายได้



Garmin Vibe App for Smartphone (iOS/Android) เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้สำหรับแอ็คชั่นแคมยุคใหม่ต้องมี WiFi Built-in มาให้ภายในสำหรับใช้เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนสำหรับใช้ควบคุม VIRB จากระยะไกลรวมถึงใช้เป็นช่องมองภาพเวลาติดตั้ง VIRB ในมุมมองที่ไม่สามารถมองเห็นหน้าจอได้

ทดสอบประสิทธิภาพ



การทดสอบประสิทธิภาพสำหรับวิดีโอตัวแรกที่ให้ชม เราติดตั้ง Garmin VIRB Elite บริเวณคอนโซลหน้ารถยนต์แบบเดียวกับกล้องติดหน้ารถ ซึ่งต้องยอมรับว่าขาตั้งที่แถมมาในชุดแข็งแรงดีมาก ตลอดการใช้งานไม่พบอาการกล้องสั่นแม้จะขับเร็วถึง 160-170 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็ตาม

ส่วนระยะกล้องทีมงานเลือกปิดระบบกันภาพสั่นไหวและแก้ไขความผิดเพี้ยนของเลนส์ทั้งหมดเพื่อจะได้เห็นระยะกว้างสุดที่เลนส์รับได้พร้อมรวมข้อมูลทุกอย่างที่กล้องบันทึกไว้ออกมาให้ชมกันผ่านวิดีโอนี้ ซึ่งผลลัพท์ที่ได้ค่อนข้างน่าพอใจ GPS จับความเร็วได้ดี อาจมีดีเลย์เล็กน้อยแต่ไม่มาก เซ็นเซอร์ตรวจจับความสูงและความลาดเอียง เข็มทิศ ทำงานได้ดี แถมเมื่อเลือก UI แบบรถยนต์ผ่าน VIRB Edit แล้วโปรแกรมมีการแปลงค่าตรวจจับแรงจี (มุมซ้ายบนของวิดีโอ) ให้ผู้ใช้ทราบด้วยว่าตอนนี้เรากำลังเร่งหรือเบรกอยู่ แต่ก็ไม่ถึงกับเที่ยงตรง 100% ค่ามีดีเลย์บ้างเล็กน้อยตามเข็มความเร็วจาก GPS



มาถึงการทดสอบที่ 2 กับคลิปวิดีโอ “moments” เน้นการทดสอบฟีเจอร์เด่นที่มากับ Garmin VIRB Elite ทั้งหมด โดยช่วงเวลาแรกของคลิปเป็นการทดสอบ Time Lapse 1 วินาทีเป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง เมื่อบันทึกเสร็จกล้องรวมไฟล์รวดเร็วและแสดงผลออกมาเหลือเพียง 3 นาทีกว่าๆ ส่วนช่วงเวลาถัดไปจะเป็นการทดสอบสโลโมชั่นไล่ตั้งแต่ที่ความเร็ว 60-120 เฟรมต่อวินาที ที่น่าสังเกตและถือว่า VIRB ให้ผลลัพท์ที่น่าประทับใจคือที่ความเร็ว 120 เฟรมต่อวินาทีที่ความละเอียดภาพแค่ 480p ให้คุณภาพวิดีโอที่ดี ไฟล์ภาพไม่แตกเละแต่อย่างใด ส่วนการป้องกันน้ำและฝุ่นส่วนนี้ถือว่าสอบผ่านฉลุยโดยเฉพาะการแยกปุ่มกดอยู่ติดกับตัวเครื่องภายนอกทำให้สั่งงานเวลาอยู่ใต้น้ำได้สะดวกสบาย จะเสียอย่างเดียวก็เรื่องหน้าจอที่ไม่มีไฟส่องสว่างด้านหลังมาให้ เวลาใช้งานในที่มืดไม่สามารถมองเห็น Viewfinder ได้เลย (เหมือนกรณีเดียวกับ Garmin Vivofit ที่เคยตั้งข้อสังเกตไป)

ส่วนการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนผ่าน WiFi Direct (ไกลสุด 100 เมตร) ส่วนนี้ทำได้ดีเหมือนคู่แข่งและใช้งานแทน Viewfinder ได้เหมือนกัน การเชื่อมต่อทำได้ง่าย โดยตัว VIBE จะให้ SSID และรหัสผ่านมา จากนั้นบนสมาร์ทโฟนผู้ใช้ก็เพียงแค่ค้นหา SSID ของ VIRB และใส่รหัสผ่านที่อุปกรณ์กำหนดมาให้เท่านั้น

ส่วนการใช้งานโดยภาพรวมของแอปฯ จะสามารปรับตั้งโหมดกล้องและปรับแต่งระบบเหมือนกับตั้งผ่านตัวกล้องโดยตรง ส่วนเวลาบันทึกภาพจะไม่มีภาพจากกล้องปรากฏแต่จะเหลือเพียงเลขเวลาที่บันทึกและสถานะแบตเตอรีเท่านั้น

แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันแอปฯ ไม่รองรับการรับชมพรีวิวภาพหรือคัดลอกวิดีโอและภาพนิ่งจากกล้องทำให้ไม่สามารถเช็คไฟล์ที่ถ่ายจากกล้องผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟนได้



มาถึงการทดสอบสุดท้ายกับ 4 เรื่องที่คาใจทีมงานคือ 1.เสียง 2.ภาพในที่แสงน้อย 3.ระบบขจัดสัญญาณรบกวน และ 4.การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ตรวจวัดภายนอก ซึ่งในคลิปวิดีโอตัวนี้คงให้คำตอบเหล่านั้นได้อย่างดี เริ่มจากเสียงส่วนนี้ถือว่าเป็นไปตามมาตรฐานกล้องแอ็คชั่นแคม ส่วนเรื่องภาพวิดีโอที่ได้ถือว่าปานกลางเพราะในที่แสงน้อยมากๆ กล้องจะใช้การลดสัญญาณรบกวนด้วยระบบ auto-enhancers จากซอฟต์แวร์ภายใน (สังเกตว่าหน้าผู้ถ่ายจะเนียนๆ ฟุ้งแปลกๆ) ส่วนระบบ Digital Stabilization และ Lens Distortion Correction ส่วนนี้ถือว่าสามารถแก้ไขปัญหาภาพบิดเบี้ยวจากเลนส์ไวด์ได้ดีเหมือนคู่แข่ง (เสียความกว้างของภาพไปเล็กน้อย) แต่ถึงอย่างไรถ้ากล่าวถึงระบบป้องกันภาพสั่นไหวผ่านระบบดิจิตอล (ซอฟต์แวร์) ก็ถือว่ายังดีเทียบเท่ากับระบบออปติคอล (ฮาร์ดแวร์แท้ๆ) ไม่ได้อยู่ดี

สุดท้ายกับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ตรวจวัดภายนอก ในที่นี้คือ “เครื่องตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ” แบบคาดอก โดยการบอกค่าแบบเรียลไทม์ทำได้ดีปานกลางเพราะมีอาการดีเลย์ให้เห็นอยู่พอสมควร

ส่วนแบตเตอรีที่ทางการ์มินเครมว่าใช้ได้ 3 ชั่วโมง ส่วนนี้ทีมงานทดสอบแล้วถือว่าใกล้เคียงตามที่การ์มินได้เครมไว้ (ประมาณ 2 ชั่วโมง 40-50 นาที) และถ้าปิด GPS พร้อมลดความละเอียดภาพลงมาเหลือ 720p จะทำให้ใช้งานได้ยาวนานขึ้นด้วย

ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป?

ข้อดี

- มี GPS, Altimeter, Accelerometer, Compass Sensor ติดตั้งมาให้ภายใน ใช้งานได้จริง
- รองรับเซ็นเซอร์ตรวจวัดภายนอกผ่าน ANT+
- เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนเพื่อใช้เป็นช่องมองภาพผ่าน WiFi ได้
- ปุ่มบันทึกวิดีโอแบบสวิตซ์แค่คลำๆ แล้วเลื่อนขึ้นก็บันทึกวิดีโอทันทีไม่ว่าจะอยู่ในหน้าเมนูไหนก็ตาม
- ซอฟต์แวร์ VIRB Edit ช่วยนำข้อมูลใน VIRB ออกมาเป็น UI รวมกับไฟล์วิดีโอได้สวยงามมาก
- ตัวเครื่องกันน้ำ กันฝุ่น กันกระแทกตามมาตรฐาน IPX7
- แบตเตอรีก้อนใหญ่
- รองรับการชาร์จไฟจากอะแดปเตอร์สมาร์ทโฟนและ PowerBank ระหว่างใช้งาน
- แบตเตอรีสามารถถอดออกได้ สามารถหาซื้อแบตเตอรีสำรองมาใช้ได้
- ปุ่มกดตั้งค่าใช้งานทั้งหมดติดตั้งอยู่ภายนอกตัวเครื่อง ทำให้สั่งงานได้แม้อยู่ใต้น้ำ
- มีโหมดสำหรับใช้งานกล้องกลับหัว (เวลายึดติดกับเพดาน)
- สามารถใช้อุปกรณ์จากการ์มินบางประเภท เช่น Edge 810 เป็นรีโมทสั่งงานกล้องได้
- ขาตั้งที่แถมมาแข็งแรงมาก

ข้อสังเกต

- เซ็นเซอร์ตรวจวัดต่างๆ ยังแสดงผลดีเลย์เล็กน้อย ทางการ์มินควรออกอัปเดตเฟริมแวร์มาแก้ไข
- กล้องมีอาการค้างให้พบเจอบ้างเวลาเชื่อมต่อ WiFi กับสมาร์ทโฟน แต่สามารถแก้ปัญหาได้โดยการถอดแบตเตอรีออกแล้วใส่ใหม่
- หน้าจอ Chroma Display ไม่มีไฟส่องสว่างด้านหลัง ใช้งานกลางคืนหรือในที่มีแสงน้อยลำบาก
- อุปกรณ์เสริมจากผู้ผลิตรายอื่นยังน้อย
- น้ำหนักมาก รูปทรงใหญ่โต

สำหรับราคาค่าตัว Garmin VIRB Elite อยู่ที่ 14,900 บาท เป็นราคาที่การ์มินเปิดมาได้ใกล้เคียงกับคู่แข่งมาก แต่ทั้งนี้ VIRB Elite มีดีเหนือกว่าคู่แข่งตรงที่คอนเซปแบบ Life + Camera Action ที่มีเซ็นเซอร์ตรวจวัด หน้าจอ Liveview และ GPS มาให้ภายใน ช่วยให้การบันทึกวิดีโอมีสีสันมากขึ้น รวมถึงรูปแบบการนำเสนอคลิปจาก Garmin VIRB Elite ผ่านโปรแกรม VIRB Edit ที่ดูแล้วน่าสนใจกว่าเจ้าอื่นบนท้องตลาดอยู่มาก

แต่ทั้งนี้ก็ต้องแลกกับน้ำหนักที่มากและรูปทรงเครื่องที่ใหญ่โตจนเหมาะจะเป็นกล้องแอ็คชั่นแคมสำหรับติดกับวัตถุเช่น รถยนต์หรือจักรยานมากกว่าจะมายึดติดกับร่างกายมนุษย์ และด้วยความหนักของตัวกล้อง การใช้ยึดติดกับมุมวัตถุที่มีความแคบและต้องต้านลมตลอดเวลา เช่น บริเวณใต้ท้องรถยนต์จะทำได้ยากแม้การ์มินจะบอกว่ากล้องออกแบบมาตามหลักอากาศพลศาสตร์แล้วก็ตาม โอกาสร่วงหล่นเพราะน้ำหนักตัวบวกความใหญ่และแรงลมปะทะก็มีมากอยู่

ตอนนี้ CyberBiz ของเราได้เปิด Instagram เพิ่มอีก 1 ช่องทาง ผู้อ่านทุกท่านสามารถไปกดติดตามได้ครับที่ http://instagram.com/cbizonline

Company Related Link :
Garmin

CyberBiz Social




ตัวอย่างภาพนิ่ง
ตัวอย่างภาพนิ่ง เปิด Lens Distortion Correction
ตัวอย่างภาพนิ่ง ปิด Lens Distortion Correction ภาพจะบิดเบี้ยวมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น