xs
xsm
sm
md
lg

Review : LG Optimus G Pro ทีเด็ดจอใหญ่สเปกสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




ความคาดหวังของแอลจีกับสมาร์ทโฟนรุ่นใหญ่อย่าง Optimus G Pro ที่สามารถทำยอดขายในเกาหลีใต้ได้อย่างถล่มทลาย ส่งผลให้ทางแอลจีเชื่อว่า Optimus G Pro จะมาพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศไทยได้ไม่มากก็น้อย แถมยังจูงใจกับการตั้งราคาเครื่องที่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท กับสเปกขั้นสูง และหน้าจอใหญ่ถึง 5.5 นิ้ว

โดยความสามารถหลักที่แอลจีใส่เพิ่มเข้ามาใน Optimus G Pro คงหนีไม่พ้นฟังก์ชันของกล้องที่สามารถ่ายภาพจากกล้องหน้าและหลังพร้อมกันได้ ระบบ QuickRemote ที่ใช้ควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้า QuickNote ไว้จดรายละเอียดตามต้องการ ส่วนที่เหลือก็เป็นไปตามความสามารถของแอนดรอยด์โฟนทั่วๆไป

การออกแบบและสเปก

ในมุมของการออกแบบด้านหน้าของ Optimus G Pro อาจจะไม่มีอะไรที่ดึงดูดใจให้รู้สึกแปลกแตกต่างไปจากบรรดาสมาร์ทโฟนหน้าจอใหญ่ค่ายเกาหลีที่ออกมามากนัก เพราะทั้งวัสดุที่ใช้ก็จะเป็นพลาสติกคุณภาพสูงผสมกับขอบเครื่องที่เป็นโครมเมียมให้ความรู้สึกดูแล้วแข็งแรงขึ้น จุดที่น่าสนใจกลับอยู่ที่ขอบของตัวเครื่อง และลวดลายบนฝาหลังมากกว่า

โดยขนาดของตัวเครื่อง Optimus G Pro อยู่ที่ 150.2 x 76.1 x 9.4 มิลลิเมตร น้ำหนัก 172 กรัม ซึ่งถือว่าเหมาะมือกับผู้ชาย แต่ถ้าผู้หญิงจับถือแล้วอาจจะรู้สึกหนักสักหน่อย สีที่วางจำหน่ายมีด้วยกันทั้งหมด 2 สี คือ ดำ และ ขาว



ด้านหน้า - สิ่งที่น่าสนใจคือเรื่องของขอบกระจกแบบโค้งรอบตัวเครื่อง ที่ทำให้การสัมผัสไม่มีขอบเครื่องมากวนใจ รวมถึงการฝังลำโพงสนทนาเข้าไปที่มุมขอบบน ถัดลงมาเป็นโลโก้ LG โดยมีกล้องหน้าความละเอียด 2.1 ล้านพิกเซลอยู่ข้างๆ

ถัดลงมาเป็นหน้าจอ True HD IPS+ จากเทคโนโลยีของแอลจี ที่เคลมว่าให้สีสันสมจริงมากที่สุดในท้องตลาด ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียด 1080p โดยมีความละเอียดเม็ดสีอยู่ที่ 401 ppi ล่างหน้าจอก็จะมีปุ่มกดโฮมอยู่ตรงกลาง และมีปุ่มสัมผัสย้อนหลัง และเมนูอยู่ทางซ้ายและขวาตามลำดับ



ด้านหลัง - ถ้าสังเกตที่ลายฝาหลังจะพบว่าทางแอลจีมีการนำลวดลายคล้ายเพชร ใส่เข้าไปข้างใน ทำให้เวลามองที่ฝาหลังแล้วจะเกิดมิติ คล้ายๆกับการนำลายกระเป๋ามาใส่ในรุ่นแอลจี Prada ส่วนประกอบอื่นๆก็จะมีกล้องความละเอียด 13 ล้านพิกเซล นูนออกมาจากฝาหลังเล็กน้อย โดยมีไฟแฟลช และลำโพงกระจายอยู่ฝั่งซ้าย และขวา ถัดลงมาก็จะเป็นโลโก้แอลจีสีเงินที่ฝังลงไปในเนื้อพลาสติก



เมื่อเปิดฝาหลังออกมา (มีช่องสำหรับงัดฝาหลังทางฝั่งขวา) จะพบกับแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ถึง 3,140 mAh โดยมีช่องใส่ไมโครซิมการ์ดอยู่ส่วนล่าง และช่องใส่ไมโครเอสดีการ์ดที่รองรับได้สูงสุดถึง 64 GB แบบถอดเปลี่ยนได้ทันที ซึ่งในจุดนี้จะเผยให้เห็นถึงโครงเครื่องโครเมียมที่ดูแล้วทนทานแข็งแรงใช้ได้




ด้านซ้าย - ประกอบไปด้วย ปุ่มลัดสำหรับเรียกใช้งานแอปฯด่วน (เบื้องต้นตั้งมาให้เป็น QuickNote) และปุ่มปรับระดับเสียง ด้านขวา - มีเพียงปุ่มเปิด - ปิดเครื่อง ซึ่งจะอยู่ตรงกับบริเวณนิ้วชี้ของมือซ้าย หรือไม่ก็นิ้วโป้งของมือขวา แล้วแต่ใช้มือไหนจับพอดี




ด้านบน - เป็นช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. โดยมีพอร์ตอินฟาเรตสำหรับใช้งาน Quick Remote อยู่ข้างๆ กะช่องไมโครโฟนตัดเสียงรบกวน ด้านล่าง - มีพอร์ตไมโครยูเอสบี สำหรับเสียบสายชาร์จ เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ และสายแปลงเพื่อต่อกับจอภาพก็ได้



สำหรับสเปกภายในของ Optimus G Pro มาพร้อมกับหน่วยประมวลผลควอดคอร์ 1.7 GHz ของ Qualcomm Snapdragon 600 หน่วยประมวลผลภาพ Adreno 320 RAM 2 GB หน่วยเก็บข้อมูล 16 GB ใส่ไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มเติมได้ ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.1.2 Jelly Bean

ด้านการเชื่อมต่อรองรับ ไวไฟ มาตรฐาน 802.11 a/b/g/n/ac บลูทูธ NFC จีพีเอส ส่วน 3G ให้ความเร็วการดาวน์โหลดสูงสุด 42 Mbps อัปโหลดสูงสุด 5.76 Mbps โดยจะแยกรุ่นจำหน่ายคือที่รองรับ 3G 900 / 2100 MHz และ 850 / 2100 MHz

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ

ถ้าถามว่า Optimus G Pro มีลูกเล่นเพิ่มเติมมาจาก
Optimus G
มากจนผิดหูผิดตาไปหรือไม่ ก็คงตอบได้ว่าไม่ได้ถึงกับมีการยกเครื่องใหม่ทั้งหมด แต่เป็นการนำฟีเจอร์ที่เด่นๆในรุ่นเก่า มาทำงานบนเฟิร์มแวร์ที่สเถียรขึ้น ประกอบกับสเปกภายในที่สูงขึ้น จึงทำให้การใช้งานลื่นไหลขึ้นเป็นอย่างมาก




เริ่มกันที่ในส่วนของหน้าจอหลัก การปลดล็อกเครื่องยังทำได้โดยการใช้นิ้วสไลด์ส่วนใดก็ได้บนหน้าจอ หรือถ้าต้องการเข้าสู่แอปพลิเคชันด่วนที่ตั้งไว้ ก็สามารถใช้นิ้วลากแอปฯนั้นๆได้ทันที เมื่อเข้ามาสู่หน้าจอหลักก็จะเจอกับหน้าต่าง 7 อันให้เลือกนำวิตเจ็ตมาใส่ โดยที่ล่างสุดจะมี 5 ไอค่อนหลัก (สามารถย้ายได้) เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานอยู่



ที่เสริมเพิ่มเข้ามาจุดแรกเลยคงหนีไม่พ้นในแถบ Notification ที่มีให้เลือกทั้งการตั้งค่าด่วน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดใช้งาน QuickMemo QuickRemote เปิด-ปิด เสียง ดาต้า ไวไฟ บลูทูธ จีพีเอส เอ็นเอฟซี การหมุนหน้าจอ ซิงค์ข้อมูล ฮ็อตสป็อต โหมดประหยัดพลังงาน ใช้งานบนเครื่องปิดเป็นต้น

ถัดลงมาในส่วนของ QSlide apps ก็จะเป็น 5 แอปพลิเคชันที่ผู้ใช้สามารถลากออกมาเป็นอีกหนึ่งหน้าต่าง ในการใช้งานไปพร้อมๆกับได้ ประกอบไปด้วยเครื่องเล่นวิดีโอ เว็บเบราว์เซอร์ สมุดจดโน้ต ปฏิทิน และเครื่องคิดเลข

นอกจากนี้ก็ยังมีแถบปรับความสว่างหน้าจอ และในกรณีที่เปิดใช้งาน QuickRemote ก็จะมีแถบที่เป็นปุ่มปรับเสียง เลื่อนช่องทีวีเพิ่มขึ้นมา ในจุดนี้ต้องไปตั้งค่าเริ่มต้นที่แอปพลิเคชัน QuickRemote ก่อนด้วย



สำหรับแอปพลิเคชันที่ติดตั้งให้มาในเครื่องจะประกอบไปด้วย นาฬิกาปลุก ตัวจัดการแอปฯ เครื่องคิดเลข ปฏิทิน กล้อง เว็บเบราว์เซอร์ รายชื่อผู้ติดต่อ ดิกชันนารี อีเมล ตัวจัดการไฟล์ รูปภาพ ระบบสำรองข้อมูล แผนที่ สมุดจดโน้ต ข้อความ เครื่องเล่นเพลง แอปจัดการเอกสาร

ระบบแปลคำศัพท์จากภาพ รีโมททีวี ระบบแจ้งเตือนกรณีฉุกเฉิน SmartShare ไว้เชื่อมต่อกับ DLNA แอปรวบรวมแอปฯจากทางแอลจี เครื่องเล่นวิดีโอ โปรแกรมตัดต่อวิดีโออย่างง่าย ที่อัดเสียง พยากรณ์อากาศ และยูทูป



มาดูกันในส่วนของ QuickRemote หน้าแรกจะมีให้เลือกเลยว่าผู้ใช้จะนำรีโมทไปใช้กับอุปกรณ์ใด ตั้งแต่ทีวี กล่องดาวเทียม เครื่องเสียง เครื่องเล่นดีวีดี บลูเรย์ โปรเจกเตอร์ ไปจนถึงแอร์ หลังจากนั้นก็จะให้ทำการเลือกยี่ห้อให้ตรงกับในฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน เมื่อเรียบร้อยแล้วก็จะพร้อมให้ใช้งานได้ทันที

โดยผู้ใช้สามารถแบ่งการใช้งานออกเป็นห้องต่างๆได้ อย่างห้องนั่งเล่นจะมีรีโมทอะไรบ้าง ก็สามารถใส่ข้อมูลไว้รวมกันเพื่อให้สะดวกในการใช้งานได้ ช่วยลดระยะเวลาในการหารีโมท หรือการหยิบสลับรีโมทเปลี่ยนไปมาระหว่างทีวี กล่องเคเบิลต่างๆได้



ขณะที่ในส่วนของ QuickMemo ก็เริ่มมีให้ใช้มาตั้งแต่สมัย Optimus Vu โดยผู้ใช้สามารถขีดเขียนข้อความลงไปบนหน้าจอ หลังจากนั้นสามารถเซฟ และแชร์ไปยังเครื่องข่ายสังคม ส่งผ่านอีเมลได้ทันที ช่วยลดความยุ่งยากกรณีที่ต้องจดข้อมูลอย่างรีบด่วน



การใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ที่แอลจีมีให้มา 2 อันทั้งเบราว์เซอร์ธรรมดา และโครม ถือว่าไม่แตกต่างกันมากนัก ความเร็วในการใช้งานลื่นไหลดี ประกอบกับจอขนาด 5.5 นิ้ว ที่ถือเป็นขนาดที่ใช้งานได้สะดวก จึงเหมาะกับการอ่านข้อมูลบนเว็บไซต์ได้



จุดขายสำคัญของแอลจีคงหนีไม่พ้นโหมดกล้องถ่ายภาพ ที่มีการเพิ่มทั้งโหมด Duall Camera ที่ผู้ใช้สามารถใช้กล้องหน้า และกล้องหลังถ่ายภาพพร้อมกันได้ โดยสิ่งที่แอลจีทำมาเหนือกว่าคู่แข่งอย่าง Galaxy S4 คือสามารถปรับขนาดรูปที่มาแทรกอยู่ได้แทบจะเต็มจอ กับอีกฟังก์ชันหนึ่งคือการถ่ายวิดีโอพร้อมกันทั้งกล้องหน้าและหลัง

ส่วนโหมดการใช้งานกล่องถ่ายภาพของแอลจีนั้น จะมีแถบลัดด้านซ้ายมือให้ผู้ใช้เลือกนำไอค่อนลัดการตั้งค่าเข้าไปวางไว้ได้ด้วยตนเอง ช่วยอำนวยความสะดวกในการปรับแต่งให่แก่ผู้ใช้งาน สำหรับโหมดถ่ายภาพก็จะมีทั้งโหมดปกติ โหมดชดเชยแสง พาโนราม่า VR panorama ก็เป็นการถ่ายภาพรอบตัวแบบ 360 องศา โหมดถ่ายภาพต่อเนื่อง และหน้าใส



การตั้งค่าของกล้องถ่ายรูปสามารถเลือกตั้งได้ทั้งสมดุลแสงขาว ปรับ ISO ได้สูงสุด 800 มีเอฟเฟกต์สีให้เลือก ไปพร้อมกับการเลือกฉากถ่ายรูป ถือว่าเป็นการตั้งค่าปกติที่พึงมีในกล้องถ่ายรูปบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน



อีกโหมดที่น่าสนใจในการบันทึกวิดีโอคือโหมด WDR หรือการถ่ายภาพวิดีโอแบบชดเชยแสง เพราะปกติจะเห็นกันแต่โหมด HDR ในการถ่ายภาพนิ่ง แต่แอลจีกลับนำรูปแบบดังกล่าวมาใช้กับโหมดถ่ายภาพเคลื่อนไหวด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีการใส่เอฟเฟกต์ต่างๆบนวิดีโออีกด้วย



เมื่อถ่ายภาพเสร็จแล้วระบบการตกแต่งรูปที่ให้มาใน Optimus G Pro ก็ถือว่าครอบคลุมอยู่พอสมควรผู้ใช้สามารถปรับแสง เลือกใส่เอฟเฟกต์แนวๆ ครอบภาพ แก้ตาแดง หมุนภาพจากในโหมดนี้ได้ทันทีก่อนที่จะแชร์ไปยังเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม



สำหรับคีย์บอร์ดที่ให้มาภายในเครื่องของแอลจีนั้น ยังเป็นแบบเดิมอยู่คือการรวม 3 ตัวอักษรไว้ในปุ่มเดียว ทำให้เวลาพิมพ์ต้องกดซ้ำที่แต่ละปุ่มเพื่อให้ได้ตัวอักษรถัดๆไป ซึ่งในจุดนี้ต้องใช้เวลาในการสร้างความเคยชินสักพักแทนการกด Shift เพื่อพิมพ์ในคีย์บอร์ดปกติ แต่ทั้งนี้ถ้าไม่ชอบก็สามารถไปดาวน์โหลดคีย์บอร์ดรูปแบบอื่นจากเพลย์ สโตร์ได้



โหมดการใช้งานโทรศัพท์ยังมาพร้อมกับระบบคาดเดารายชื่อผู้ติดต่อจากหมายเลขที่พิมพ์ไป หน้าจอขณะสนทนามีการแสดงผลทั้งเวลาโทร ชื่อ หมายเลข และรูปภาพ ส่วนเมนูที่ให้เลือกก็จะมีทั้งกดเข้าไปดูรายชื่อเพื่อน วางสาย เรียกปุ่มกด เปิดลำโพง ปิดเสียง และบลูทูธ ขณะที่สายเรียกเข้ากรณีที่ปิดหน้าจออยู่ก็จะมีขึ้นมาให้สไลด์เลือกรับสาย ตัดสาย และส่งข้อความกลับ แต่ถ้าใช้อยู่ก็จะเป็นปุ่มให้กดแบบในรูป



ในส่วนของการตั้งค่าก็จะมีการแบ่งหมวดหมู่ตาม Jelly Bean กล่าวคือมีทั้งการเชื่อมต่อ ตัวเครื่อง ข้อมูลส่วนบุคคล และการตั้งค่าระบบโดยจุดที่น่าสนใจใน Optimus G Pro ไล่กันตั้งแต่ระบบ Share & Connect ที่สามารถใช้งาน NFC ในการส่งต่อไฟล์ให้เพื่อนๆได้ ระบบการแชร์หน้าจอผ่าน Miracast และ DLNA



นอกจากนี้ก็ยังจะมีการตั้งเวลาไม่ให้ตัวเครื่องรบกวนเวลานอน รวมถึงระบบในการแสดงผลอย่าง Smart Screen ที่จะตรวจจับดวงตาว่ามีการใช้งานหน้าจออยู่หรือไม่ หรือ Smart Video ที่ใช้หยุดวิดีโอเวลาที่เล่นวิดีโอแล้วหน้าผู้ใช้หันไปทางอื่นเป็นต้น



แล้วก็ยังมีการตั้งค่าเล็กๆน้อยๆอย่างการโชว์ไฟที่ปุ่มล่างหน้าจอ การเปิดใช้งานโหมด Quick Cover ให้หน้าจอติดเมื่อเปิดเคสออกมาัทนที และการตั้งแอปฯสำหรับปุ่มลัดที่อยู่มุมซ้ายบนของเครื่อง



ส่วนของแบตเตอรี ก็ยังถือว่าแอลจีทำออกมาได้ค่อนข้างน่าสนใจ กล่าวคือมีการระบุชั่วโมงใช้งานที่คาดว่าจะใช้งานได้ถ้าแบตเตอรี่ลดลงในระดับนี้ต่อไป หรือแม้แต่เวลาชาร์จแบตก็จะมีบอกว่าจะเต็มภายในเวลาเท่าใด ส่วนโหมดประหยัดพลังงานก็จะมีทั้งให้เลือกปรับการตั้งค่าต่างๆ และเลือกควบคุมการทำงานของซีพียูให้ใช้เฉพาะเท่าที่จำเป็น



ในส่วนของผลการทดสอบ ผ่านโปรแกรมทดสอบประสิทธิภาพบนแอนดรอยด์อย่าง Quadrant Standart และ Antutu ได้คะแนน 8,845 คะแนน และ 19,170 คะแนน ตามลำดับ หน้าจอรองรับการสัมผัส 10 จุดพร้อมกัน

ทดสอบการใช้งาน HTML 5 ผ่าน Vellamo ได้ 2,510 คะแนน ส่วนประสิทธิภาพตัวเครื่องได้ 748 คะแนน ทดสอบกราฟิกผ่าน Nenamark1 ได้ 60 fps Nenamark2 60 fps An3dBench 7,451 คะแนน และ An3dBenchXL 39,102 คะแนน



ขณะที่การทดสอบด้วยโปรแกรม Passmark PerformanceTest Mobile ได้คะแนน System 2,984 คะแนน CPU 9,493 คะแนน Disk 10,722 คะแนน Memory 2,714 คะแนน 2D Graphics 1,737 คะแนน และ 3D Graphics 1,091 คะแนน

ส่วนการทดสอบ CF-Bench และ 3Dmark ดูรายละเอียดได้จากรูปด้านล่าง




จุดขาย

- สเปกสูง หน้าจอเนียบ ดีไซน์สวย ราคาเปิดตัวต่ำกว่า 2 หมื่นบาท
- ฟีเจอร์กล้องมีการพัฒนาขึ้น รวมถึงการถ่ายวิดีโอกล้องหน้าหลังพร้อมกันได้ด้วย
- การเพิ่มปุ่มลัดมาด้านข้างเครื่องช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียกใช้แอปพลิเคชันที่ใช้ประจำๆ
- ตัวเฟิร์มแวร์มีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ให้ความรู้สึกกลื่นไหลดีไม่มีสะดุด

ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่

- ลูกเล่นบางอย่างมีการนำแนวคิดมาจากแบรนด์คู่แข่ง
- ปุ่มโฮมค่อนข้างแข็งทำให้กดลำบาก
- ต้องระวังในการเลือกซื้อเครื่องว่ารับ 3G คลื่นความถี่ใด

ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป



ต้องยอมรับว่าแอลจีเลือกช่วงเวลาทำตลาด Optimus G Pro ได้ค่อนข้างถูกจังหวะ เนื่องจากแบรนด์คู่แข่งในตลาดอย่างซัมซูง เอชทีซี มีการปล่อยรุ่นแฟลกชิปมาทำตลาดสักพักแล้ว กระแสความนิยมเริ่มลดลง การที่แอลจีนำเครื่องเข้ามาจำหน่ายในช่วงเวลานี้ จึงทำให้กลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆในเครื่องระดับราคาใกล้เคียง 2 หมื่นบาททันที

แม้ว่า Optimus G Pro จะมีข่าวหลุดออกมาตั้งแต่ช่วงต้นปี แต่การที่แอลจีสามารถทำยอดขายในเกาหลีได้หลักล้านเครื่องในเวลาไม่เท่าไหร่ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของแอลจี ที่ยังมุ่งมั่นพัฒนาสมาร์ทโฟนที่โดนใจผู้ใช้งานออกมา ซึ่งแน่นอนว่ายังไม่ถึงในเรื่องของดีไซน์ฝาหลังที่ถือว่าประสบความสำเร็จในยุค Prada และ Nexus 4 อานิสงค์ของลายหลังเครื่องจึงมีอยู่ในรุ่นนี้ด้วย

โดยภาพรวมของ Optimus G Pro ถือว่าเป็นเครื่องที่มีสเปกให้มาครบครันดีทีเดียว ซึ่งในจุดนี้แอลจีเลือกสร้างความต่างจากแอนดรอยด์โฟนรุ่นอื่นๆ ด้วยการใส่คีย์ลัดเพิ่มเข้ามาให้เรียกใช้งานแอปพลิเคชัน เพิ่มเติมฟีเจอร์ในโหมดกล้อง และที่สำคัญที่สุดคือหน้าจอแสดงผลที่เคลมว่าให้ภาพมีสีสันสมจริงมากที่สุด

ในแง่ของการใช้งานโทรศัพท์เสียงสนทนาที่ได้ออกมาอยู่ในเกณฑ์ดี เรื่องของแบตเตอรีที่ให้มาก็ถือว่าเพียงพอกับความต้องการ เพราะในการใช้งานจริงสามารถเข้าไปเปิดโหมดควบคุมการทำงานของซีพียูช่วยยืดระยะเวลาใช้งานบนแบตเตอรีได้เพิ่มเติมด้วย

ประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องเกาะอยู่ในระดับไฮเอนด์ได้เป็นอย่างดี สามารถใช้งานได้ทันเทียมกับคู่แข่งได้ในช่วงระดับราคาใกล้เคียงกัน แต่ท้ายที่สุดก็ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคว่าจะชอบดีไซน์ และฟังก์ชันการใช้งานใด และเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งาน

Company Related Link :
LG














รูปที่ปรับแต่งจากในโหมดตกแต่งภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น